Homeสอนลูกเขียนโปรแกรมเก่งแต่ "เทคโนโลยี" ไม่เพียงพอ สำหรับเด็กยุคถัดไป

เก่งแต่ “เทคโนโลยี” ไม่เพียงพอ สำหรับเด็กยุคถัดไป

ตอนนี้เทรนด์ของโลกคนทำงาน คือ พนักงานต้องมีทักษะทางเทคโนโลยีค่ะ และสำหรับทีมงานสอนลูกเขียนโปรแกรม by Dek-D ที่สนับสนุนให้เด็กไทยเรียนรู้การใช้งานเทคโนโลยีตั้งแต่ ป.1 ก็คิดว่าทักษะนี้มีความจำเป็นและควรให้ลูกเราได้บ่มเพาะทักษะเทคโนโลยีเหล่านี้ไว้ตั้งแต่เล็ก ๆ แต่จากการศึกของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโลโนยีอย่าง Google ก็พบว่าคนเก่งเทคโนโลยีอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ต้องมีทักษะอื่น ๆ ด้วย

แต่ก่อนจะเล่าเรื่องต่อไป ขอให้ทุกท่านรู้จำคำเหล่านี้ก่อนค่ะ

  • Hard skill คือทักษะเฉพาะวิชาชีพ ในบทความนี้หมายถึงทักษะด้านเทคโนโลยี เช่น การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
  • Soft skill คือทักษะเฉพาะของตัวบุคคลที่อยู่บนพื้นฐานบุคลิกภาพและการปรับตัว เช่น การมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน การเข้าใจความคิดเห็นผู้อื่น ความเห็นอกเห็นใจ การรู้จักรับฟัง เป็นต้น

เราลองนึกภาพการรับสมัครงานของบริษัทชั้นนำของโลกทั้งหลายสิคะ บริษัทก็ต้องเลือกรับคนเก่ง ๆ เข้าทำงานอยู่แล้ว  Google ก็เช่นกัน คุณ Sergey Brin และ Larry Page 2 ผู้ก่อตั้ง Google เชื่อว่าผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเท่านั้นที่จะเข้าใจเทคโนโลยีได้ ดังนั้นจึงคัดเลือกคนเข้ามาทำงานในบริษัท จากนักศึกษามหาวิทยาลัยชื่อดัง ด้วยข้อสอบที่เด็กสายคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีเท่านั้นที่จะได้ตอบได้ ดังนั้น ตอนแรก Google ก็เลยคัดเลือกพนักงานที่จบด้วยเกรดสูงที่สุดจากมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ด้านเทคโนโลยี

ที่เหนือไปกว่านั้นคือ Google เคยทำโฆษณาประกาศสมัครงานเป็นโจทย์อัลกอริทึม ซึ่งผู้ที่สามารถตอบได้ถึงจะสามารถเข้าสู่หน้าสมัครงานได้

Photo credit: Sarah Sosiak,flickr.com
Photo credit: Sarah Sosiak,flickr.com [businessinsider.com]
จนกระทั่งทีมวิจัยทรัพยากรบุคคลของ Google ในทำการศึกษาในโปรเจ็กต์ที่ชื่อว่า Project Oxygen โดยวิเคราะห์ข้อมูลการจ้างงาน การเลิกจ้าง และการขึ้นตำแหน่งของพนักงานในบริษัทตั้งแต่ปีแรกที่ก่อตั้ง (1998) จนได้ข้อสรุปเป็น 8 คุณสมบัติสำคัญของกลุ่มพนักงานระดับหัวหน้าที่ประสบความสำเร็จของ Google ได้แก่

1.เป็นโค้ชที่ดี (สอนงานลูกทีมได้)

2.ให้อำนาจการตัดสินใจและไม่จุกจิก

3.เอาใจใส่ต่อความสำเร็จของทีม

4.ทำงานมีประสิทธิภาพ และมุ่งที่ผลลัพธ์

5.สื่อสารเป็น รู้จักรับฟังและแบ่งปันข้อมูลผู้อื่น

6.ช่วยพัฒนาความก้าวหน้าในอาชีพ

7.มีวิสัยทัศน์ และกลยุทธ์ที่ชัดเจน

8.มีเทคนิคในทักษะงานเฉพาะ และให้คำแนะนำได้

จากทั้ง 8 คุณสมบัติที่ว่านี้ข้อที่บอกว่า “เก่งเฉพาะทาง หรือเจ้า Hard skill” นั้น กลับมีความสำคัญอยู่ลำดับสุดท้ายเท่านั้น แล้วเจ้า 7 ข้อแรกก็เป็น Soft skill ทั้งหมดเลยด้วย ซึ่งมันก็ดูจะเป็นทักษะที่อยู่นอกเหนือตำราโปรแกรมเมอร์ และนักเทคโนโลยีทั้งหลายทั้งสิ้น

Photo credit: Rework.withgoogle.com
Photo credit: Rework.withgoogle.com

นั่นจึงหมายถึงว่า พนักงานที่เก่งในทักษะเทคโนโลยี เขียนโปรแกรมได้เทพสุด ๆ ก็อาจไม่ใช่คนที่ประสบความสำเร็จสูงสุดก็ได้ หลังจากนั้น Google ก็เลยมีการทดลองจ้างงานเด็กสายอื่น  ๆ ทั้งมนุษยศาสตร์ ศิลปศาสตร์ รวมถึงบริหารธุกิจ เข้ามาในทีมต่าง ๆ ของบริษัทด้วย

และ…เมื่อไม่นานมานี้ Google ก็ทำวิจัยในโปรเจ็กต์ใหม่ที่ชื่อว่า  Project Aristotle ซึ่งผลลัพธิ์ของโปรเจ็กต์นี้ก็ยิ่งสนับสนุนว่า Soft skill มีความจำเป็นมาก ๆ โดยทำการวิเคราะห์ “กลุ่มพนักงาน” จากทั่วบริษัทเกือบ 200 ทีม ว่าทีมแบบไหนทำงานได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยศึกษาถึงลักษณะของบุคคลและวิธีการมารวมกลุ่มกัน เช่น มาจับทีมกันได้อย่างไร หลังเลิกงานเคยไปเที่ยวด้วยกันไหม ชอบคุยกันทางไหน ฯลฯ จนพบแพทเทิร์นการรวมกลุ่มที่สำคัญ คือการจับทีมเฉพาะคนเก่ง และทีมคละทั่วไป

ทีมคนเก่ง ก็ประกอบไปด้วยผู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านต่าง ๆ ว่าง่าย ๆ ก็คือรวมดาวคนเก่งของบริษัท ส่วนอีกทีม เป็นทีมคนที่คละ ๆ กันไป แต่ไม่ใช่คนที่เก่งที่สุดในหมู่พนักงานนั้น ซึ่งผลก็พบว่า ทีมที่ดีมีประสิทธิภาพมากที่สุด คือกลุ่มคละ ๆ ทั่วไปนี่แหละ คือถึงแม้จะไม่ใช่คนที่โดดเด่นด้าน Hard skill สุด ๆ แต่ก็ประกอบด้วยคนที่มี Soft skill ต่าง ๆ อย่างคนที่ชอบแบ่งปันไอเดียต่าง ๆ ให้คนในทีม  คนที่ตั้งใจรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น ซึ่งพอมารวมกันแล้วก็ทำให้บรรยากาศในทีมเป็นกันเอง คนในทีมแต่ละคนรู้สึกว่ามีโอกาสในการแสดงความสามารถ กล้าออกความเห็นในทีมได้อย่างสบายใจโดยไม่ต้องกลัวผิดถูก ไม่รู้สึกด้อยหรือถูกกลั่นแกล้ง ซึ่งทำให้งานของทีมนั้นประสบความสำเร็จ และกลายเป็นทีมที่มีประสิทธิภาพมาก ๆ เพราะทุกคนในทีมรู้สึกมีบทบาทเท่าเทียมกัน และแสดงความสามารถของตนเองได้อย่างเต็มที่นั่นเอง

ซึ่งผลลัพธ์จากทั้งสองโปรเจ็กต์ของ Google นี้เองที่เป็นตัวช่วยให้บริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกพยายามหาแนวทางและปรับเปลี่ยนวิธีเฟ้นหาพนักงานที่ดีในอนาคต โดยคำนึงถึงทักษะอื่น ๆ โดยเฉพาะทักษะด้านการสื่อสาร และการตระหนักถึงคุณค่าของบริษัท นอกเหนือจากความสามารถเฉพาะทางอย่างเดียวด้วยค่ะ

คำพูดของ Steve Jobs ในงานเปิดตัว iPad 2

 

แต่ถึงอย่างไร ก็ยังปฏิเสธไม่ได้ว่าบริษัทชั้นนำก็ยังต้องการพนักงานที่เก่งที่สุด ดีที่สุด ที่จบจากมหาวิทยาลัยชื่อดังอยู่เช่นเดิม ดังนั้น ความสามารถเฉพาะด้านก็ยังจำเป็นอยู่ เพียงแต่ไม่ใช่แค่ Hard skill เท่านั้นที่จะทำให้คนเราถูกเลือกให้เข้าทำงาน

ลูกหลานของเราจึงต้องเป็นทั้งคนเก่งที่มีทักษะเฉพาะทางที่โดดเด่น และเป็นคนที่มีทักษะปรับตัวได้ในสังคมโลกด้วย

แล้วเพื่อให้ลูกหลานของเราเติบโตเป็นคนเก่งและดี กุญแจสำคัญ คือ ให้ลูกหลานได้เรียนรู้ทักษะที่หลากหลาย วิทยาศาสตร์  ดนตรี กีฬา วัฒนธรรม เทคโนโลยี ให้กลายเป็นคนที่พร้อมรับมือและปรับตัวกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ค่ะ

ดังนั้น เก่งแค่ “เทคโนโลยี” อาจไม่เพียงพอ ต้องมีทักษะในการปรับตัวต่อสังคมโลกด้วยค่ะ

________________________________

 

ดัดแปลงบางส่วนจากบทความ
washingtonpost.com
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
– newyorker.com/news/news-desk/steve-jobs-technology-alone-is-not-enough
– rework.withgoogle.com/print/guides/5721312655835136/
– rework.withgoogle.com/guides/managers-identify-what-makes-a-great-manager/steps/learn-about-googles-manager-research/
– hbr.org/2013/12/how-google-sold-its-engineers-on-management
– businessinsider.com/what-google-can-teach-us-about-solving-problems-2011-7
– flickr.com/photos/secret_canadian/3714386/

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular

Recent Comments