Homeสอนลูกเขียนโปรแกรมเด็กเก่งและดีที่ “คิดเป็น” สร้างนวัตกรรมเปลี่ยนโลก

เด็กเก่งและดีที่ “คิดเป็น” สร้างนวัตกรรมเปลี่ยนโลก

วัยรุ่นที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย 3 คน ต่อไปนี้ แตกต่างจากเด็กอื่นๆ ยังไง? คำตอบคือพวกเขามีวัยเด็กที่ได้รับการฝึกฝนให้ “คิดเป็น” มีทั้งความรู้ จินตนาการ และทักษะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเริ่มเรียนเขียนโปรแกรมที่ช่วยส่งเสริม #การคิดเชิงคำนวณ และสั่งสมทักษะที่จำเป็นในการประดิษฐ์นวัตกรรมใหม่ๆ ที่ทำให้โลกทั้งใบต้องทึ่ง!

อีสตัน ลาแชปเพล

เรื่องราวของ อีสตัน ลาแชพเพล เด็กชายอายุ 14 ปี ผู้หลงไหลในการประดิษฐ์หุ่นยนต์และการเขียนโปรแกรมมาตั้งแต่เด็ก เขาเติบโตในเมืองเล็กๆ ที่โคโลราโด, อเมริกา และขวนขวายหาความรู้ผ่านคอร์สเรียนออนไลน์ ทั้งด้านการเขียนโปรแกรมและเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ต่างๆ เขาเริ่มทำมือหุ่นยนต์อันแรก ด้วยตัวต่อเลโก้ สายเบ็ด และท่อร้อยสายไฟ สิ่งประดิษฐ์ชิ้นแรกของเด็กชาย ได้รางวัลในงานแสดงผลงานด้านวิทยาศาสตร์ของโคโลราโด ในปี 2554

แต่อีสตันไม่หยุดแค่นั้น เขาค่อยๆ ปรับปรุงไปเรื่อยๆ จากมือกลายเป็นแขน ซึ่งเป็นส่วนผสมของอุปกรณ์หลายอย่างมากขึ้น เช่น การปริ้นท์จากเครื่องพิมพ์สามมิติ ยางซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้ในการทำฟัน และเฮดเซ็ทที่ควบคุมผ่านคลื่นสัญญาณในสมองเพื่อทำให้แขนหุ่นยนต์เคลื่อนไหว จนกระทั่งมีจุดเปลี่ยนสำคัญในการพัฒนาผลงานของอีสตัน เกิดจากการที่เขาได้พบกับเด็กหญิงวัย 7 ปี ที่งานแสดงผลงานด้านวิทยาศาสตร์ เธอสวมแขนเทียมที่มีราคาสูงถึง 80,000 ดอลล่าร์ (แถมยังต้องเปลี่ยนไปตามขนาดตัวเมื่อโตขึ้น) อีสตันจึงได้แรงบันดาลใจในการพัฒนาแขนหุ่นยนต์ของเขาให้ใช้งานได้จริงๆ และราคาไม่สูงเกินไป เขามุ่งมั่นกับงานชิ้นนี้มาก จนกระทั่งสามารถผลิตแขนเทียมที่ใช้งานได้มากกว่าเดิม น้ำหนักเบาแต่แข็งแรงกว่า ควบคุมด้วยอุปกรณ์ไอทีสวมหัวที่สามารถสั่งงานแขนเทียมได้ถึง 10 รูปแบบ แถมราคายังต่ำกว่า 400 ดอลล่าร์ อีกด้วย

ด้วยความสำเร็จจากนวัตกรรมดีๆ ที่เขาสร้างขึ้น ด้วยอายุเพียง 17 ปี อีสตันจึงเปิดบริษัทของตัวเองชื่อ Unlimited Tomorrow เพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ในการช่วยให้ผู้ป่วยอัมพาตเดินได้อีกครั้ง นอกจากนั้นยังเปิดกว้างให้สาธารณชนได้เรียนรู้ซอฟท์แวร์ในการสร้างหุ่นยนต์แขนเทียมของเขา โดยผู้บริหารหนุ่มน้อยคนนี้ พูดถึงความมุ่งมั่นของตัวเองว่า “ภารกิจที่ผมตั้งใจจะทำ คือใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาให้อุปกรณ์กายเทียมเข้าถึงได้ง่ายขึ้น สำหรับคนที่จำเป็นต้องใช้มัน”  

ด้วยผลงานที่โดดเด่นและเป็นประโยชน์ต่อสังคม ทำให้องค์การนาซ่าสนใจในงานของเขา และเชิญอีสตันให้มาร่วมในโครงการ Robonaut team เพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ที่สามารถควบคุมได้จากระยะไกล

แรงบันดาลใจและจุดเปลี่ยน : อีสตันลงมือทำในสิ่งที่รักตั้งแต่ยังเด็ก เขาหลงไหลเรื่องอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยี ไม่กลัวที่จะผิดพลาด เช่น หัดรื้อเครื่องไฟฟ้าเก่าๆ ที่บ้าน แล้วประกอบมันขึ้นมาใหม่ ลงเรียนคอร์สด้านการเขียนโปรแกรมทางอินเตอร์เน็ตเพื่อเพิ่มพูนความรู้  และที่สำคัญมากกว่าความรู้คือการมีจิตใจที่ดี เพราะที่อีสตันมาไกลขนาดนี้ เพราะเขาต้องการช่วยให้คนพิการมีชีวิตที่ดีขึ้น “ลองจินตนาการดูว่าเมื่อเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ได้รับอุปกรณ์แขนเทียมที่ผมสร้างขึ้น มันจะช่วยเปลี่ยนชีวิตเธอได้มากแค่ไหน รวมทั้งชีวิตของพ่อแม่เธอด้วย ทั้งหมดที่ผมทำก็เพื่อเรื่องนี้”

อเล็กซ์ ดีนส์ 

ด้วยวัยเพียง 12 ปี อเล็กซ์ ดีนส์ เด็กชายชาวแคนาดา สามารถออกแบบและสร้างนวัตกรรมที่ชื่อว่า iAid ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยในการนำทางแก่ผู้พิการทางสายตา โดยแรงบันดาลใจในการคิดค้นเนวิเกเตอร์ชิ้นนี้ เกิดจากการที่ครั้งหนึ่งอเล็กซ์ได้ช่วยหญิงตาบอดคนหนึ่งข้ามถนน ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้เขาฉุกคิดขึ้นมาว่า ยังไม่เคยมีเครื่องมือใดๆ ที่ช่วยให้คนตาบอดสามารถเดินเหินได้ด้วยตัวเองอย่างปลอดภัย เขาจึงอยากสร้างสิ่งนี้ขึ้นมา

อเล็กซ์จึงใช้ความรู้ด้านเทคโนโลยีและการเขียนโปรแกรม เพื่อสร้าง iAid อุปกรณ์ที่มีรูปทรงคล้ายๆ เข็มขัดที่ควบคุมด้วยจอยสติ๊ก มีความสามารถในการสแกนแบบอัลตร้าโซนิค เพื่อรวบรวมข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของคนตาบอด ทำให้รู้ได้ว่าจะมีอะไรกีดขวางอยู่บ้างในรัศมี 3.5 เมตร รอบตัว เพื่อให้พวกเขาเดินไปในทิศทางที่ถูกต้องได้  นอกจากนั้น iAid ยังมีแผนที่, เข็มทิศ, GPS และระบบข้อมูลบนคลาวด์เพื่อวางแผนเส้นทางเดินเท้า ข้อมูลเหล่านี้สามารถบันทึกไว้ใช้ในอนาคตได้อีก

ผลงานที่สร้างสรรค์และคำนึงถึงผู้ด้อยโอกาสของอเล็กซ์ ทำให้เขาได้รับรางวัลและโอกาสในชีวิตมากมาย เช่น การเป็นหนึ่งในเยาวชน 12 คน ที่เป็น “ผู้นำแห่งอนาคตที่อายุน้อยกว่า 25 ปี” จากนิตยสารชื่อดังในแคนาดาด้วยวัยเพียง 14 ปี และเมื่ออายุ 20 ปี ใน พ.ศ. 2560 เขามีโอกาสได้ทำงานกับบริษัทชื่อดังอย่าง Chevrolet และสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อยับยั้งเยาวชนหนุ่มสาวจากการใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ

แรงบันดาลใจและจุดเปลี่ยน : ครอบครัวของอเล็กซ์มีส่วนสำคัญที่หล่อหลอมให้เขามีความคิดที่เปิดกว้าง พ่อของอเล็กซ์เล่าว่า เด็กชายไม่ได้ถูกกดดันให้เป็นเด็กเรียนที่บ้าการแข่งขัน แต่พ่อแม่ปล่อยให้เขาได้เรียนรู้อย่างอิสระ ได้เล่น และทำในสิ่งที่เขาชอบ นอกเหนือจากนั้น เขายังเริ่มต้นเรียนในระดับประถมที่เน้นเกี่ยวกับเรื่อง STEM โดยเฉพาะด้านคณฺิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่เขาชื่นชอบ จนมีโอกาสต่อยอดเพื่อสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่เขาคิดค้นขึ้นเอง และเป็นประโยชน์กับผู้ที่ด้อยโอกาส

 

คริสติน่า ลี

ไม่ได้มีเพียงเด็กผู้ชายเท่านั้นที่สนใจในเทคโนโลยีและการเขียนโปรแกรม ตัวอย่างของเรื่องนี้คือ คริสติน่า ลี เด็กสาววัย 17 ผู้หลงไหลในความรู้ด้านนี้มาตั้งแต่เด็ก และไม่ได้หยุดอยู่เพียงความชอบของตัวเองเท่านั้น แต่ยังแบ่งปันโอกาสให้กับเด็กผู้หญิงคนอื่นๆ ด้วย

คริสติน่าเป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดค่ายที่มีชื่อว่า “Hello, World.” เป็นค่ายสำหรับเด็กผู้หญิงในระดับมัธยมต้น ซึ่งมีความสนใจในเรื่องคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนั้นเธอยังเป็นหัวหน้าโปรแกรมเมอร์ในทีม FIRST Robotics team #217 และใช้เวลาช่วงปิดเทอมซัมเมอร์ในการทำวิจัยที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ซึ่งมีชื่อเสียงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีติดอันดับโลก

สิ่งที่ผู้คนชื่นชมคริสติน่า คือการที่เธอเปิดค่ายเพื่ออบรมด้านการเขียนโปรแกรม ให้กับเด็กผู้หญิงในระดับมัธยมต้นจาก 30 โรงเรียน เด็กสาวเหล่านั้นเรียนรู้เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมด้านวิทยาการหุ่นยนต์ การสร้างแอพพลิเคชั่น, เว็บไซต์ รวมทั้งสร้างสรรค์เกม คริสติน่ายังเชิญนักวิทยาการคอมพิวเตอร์หญิงเก่งๆ มาร่วมกิจกรรมในค่าย ทั้งจากกูเกิ้ลและไมโครซอฟท์ เด็กสาวคนนี้ยังมุ่งมั่นที่จะช่วยลดช่องว่างให้กับวงการวิทยาการคอมพิวเตอร์ คือเปิดโอกาสให้เด็กผู้หญิงก้าวเข้ามาสู่แวดวงนี้ได้อย่างมั่นใจ

ผลงานและการอุทิศตัวของคริสติน่า ทำให้เธอได้รับเลือกเป็นเยาวชนหนึ่งใน 9 คน จากทั่วอเมริกาให้เป็น “ไวท์เฮาส์แชมเปี้ยนที่สร้างความเปลี่ยนแปลงสำหรับการศึกษาด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์”  

แรงบันดาลใจและจุดเปลี่ยน : นอกจากการทำในสิ่งที่รักอย่างตั้งใจและมุ่งมั่นแล้ว คริสติน่าเป็นคนที่ช่างสังเกตและลงมือทำบางสิ่งเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น นั่นคือการที่เธอลุกขึ้นมาส่งเสริมให้เด็กผู้หญิงมีโอกาสก้าวเข้่ามาในสายวิทยาการคอมพิวเตอร์มากขึ้น ตามที่เธอได้เล่าว่า “ตอนที่ฉันเรียนในคลาสที่สอนวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ฉันเริ่มสังเกตเห็นช่องว่างระหว่างนักศึกษาชายและนักศึกษาหญฺิง จากจำนวนคนที่ลงเรียนราวๆ ร้อยกว่าคน แทบจะไม่มีผู้หญิงเลย สำหรับฉันเรื่องนี้สำคัญมาก และฉันต้องการทำให้มันเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้น”

 

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular

Recent Comments