Homeสอนลูกเขียนโปรแกรมเพราะโลกหมุนเร็ว ผู้ใหญ่จึงควรสอน "ทักษะที่ทำให้เด็กเอาตัวรอดได้"

เพราะโลกหมุนเร็ว ผู้ใหญ่จึงควรสอน “ทักษะที่ทำให้เด็กเอาตัวรอดได้”

เชื่อว่าตอนนี้คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คนคงได้ยินเรื่องวิชาบังคับใหม่ วิทยาการคำนวณ (Computing Science: CS) ที่จะเริ่มสอนทุกโรงเรียนในระดับ ป.1 ป.4 ม.1 และ ม.4 ในปีการศึกษาหน้า 2561 ที่จะถึงนี้ และแม้ว่าลูก ๆ ของเราอาจจะยังไม่ได้อยู่ในชั้นเรียนเริ่มต้นเทอมหน้านี้ก็ตาม แต่ในอนาคตที่เปิดสอนครบทั้ง 12 ระดับชั้นในโรงเรียนสามัญ ไม่ว่าใครก็ต้องเจอค่ะ ซึ่งก็เชื่ออีกว่าคุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองหลาย ๆ คนคงจะกังวลและสงสัยอยู่ไม่น้อยว่า วิชานี้มันจะเป็นประโยชน์จริง ๆ ในอนาคตเหมือนวิชาอื่นหรือไม่

คุณสุปิติ บูรณวัฒนาโชค

ทีมงานสอนลูกเขียนโปรแกรม by Dek-D ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณสุปิติ บูรณวัฒนาโชค (คุณแชร์) ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ Dek-D.com บริษัท ProDev Square และบริษัทด้านที่ปรึกษาผลิตซอฟต์แวร์และอื่น ๆ อีกมากกว่า 10 แห่ง สมัยมัธยมคุณแชร์เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกที่ไต้หวันและตุรกี และเป็นอดีตนักเรียนทุนธนาคารแห่งประเทศไทย ไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรีและโท คณะ Electrical and Computer Engineering (วิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์) ที่ Carnegie Mellon University ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัย Top 5 ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ และเป็นสาขาที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับวิชาใหม่ “วิทยาการคำนวณ” นี้ค่ะ

 

 

คุณสุปิติ บูรณวัฒนาโชค (คนที่ 3 จากทางขวา)

สอนลูกเขียนโปรแกรม: อะไรคือจุดเริ่มที่ทำให้คนเรามีแรงจูงใจและประสบความสำเร็จในการเรียน

สำหรับผม “จุดเริ่มต้นอยู่คือที่บ้าน” ที่บ้านมีคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ประถม รู้สึกสนใจมาตั้งแต่แรก สมัยเรียนมัธยมได้รวมกลุ่มกับเพื่อนเขียนโปรแกรมสร้างเว็บไซต์กัน แต่ก็ไม่ใช่แค่ลองสร้างเว็บไซต์ ยังได้ทำกิจกรรมอื่น ๆ ปลูกผักทำสวน ฝึกถ่ายรูป ไปแข่งขันต่างโรงเรียน และกิจกรรมอื่น ๆ อีกมาก ซึ่งการได้โอกาสทำกิจกรรมที่หลากหลาย ก็ทำให้เจอสิ่งที่ชอบ และมันเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ และยิ่งได้โอกาสไปเข้าค่ายโอลิมปิกวิชาการตอนนั้น ยิ่งคิดว่าเป็นประโยชน์จนตอนนี้ คือทางค่ายโอลิมปิกได้ปรับกระบวนการคิดนักเรียนทุกคนที่เข้าค่าย เพราะโจทย์ของโอลิมปิกวิชาการหรือที่เคยเรียนในมัธยมต่างประเทศ หลายครั้งเป็นโจทย์ปลายเปิดที่ปรับมาจากชีวิตรอบตัว ต่างจากข้อสอบโรงเรียนไทยที่เน้นทฤษฎีอย่างเดียว มันเริ่มต้นจากการ “ไม่มีความรู้เลย แล้วค่อยคิดหาคำตอบ และจึงค่อย ๆ นำทฤษฎีต่าง ๆ เข้าแก้ไขปัญหาของโจทย์”

ตัวอย่างคำถามเช่น
ต้นไม้ช่วยเป็นปอดของโลก เปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์เป็นออกซิเจนได้ ช่วงฤดูหนาวพืชเมืองหนาวบางชนิดจะผลัดใบ จริงหรือไม่ที่บริเวณนั้นในช่วงฤดูหนาวจะมีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น

เด็ก ๆ ก็จะเริ่มสนใจใคร่รู้ แล้วลองเสนอวิธีหาคำตอบ เช่น จะวัดประมาณคาร์บอนไดออกไซด์อย่างไร ซึ่งมีหลายวิธี ก็ถกกันต่อว่าจะใช้วิธีไหนดีที่สุด แล้วทั้งเด็ก ๆ และครูก็ค่อยนำทฤษฏีใส่เข้าไประหว่างการหาคำตอบนั้น แต่ในขณะเดียวกันโรงเรียนไทยทั่ว ๆ ไปแทบไม่การสอนให้ประยุกต์ความคิดแบบนี้เลย นอกจากให้ตอบข้อสอบตามท่องจำกันไป ซึ่งอาจไม่ได้เกิดความเข้าใจในทฤษฎีนั้น ๆ อย่างแท้จริง

ตอนนี้จึงเป็นโอกาสดีที่เมืองไทยจะได้เรียนวิชาวิทยาการคำนวณ (Computing Science) ที่สอนให้เด็กมีทักษะการคิด ซึ่งวิธีการคิดแก้ปัญหาแบบนี้ มันสามารถนำไปใช้ได้กับชีวิตทุกคน อย่างถ้าแฟนทิ้ง มันก็ไม่ได้มีเหตุผลหรือสูตรแก้ไขปัญหาได้เพียงข้อเดียว


สอนลูกเขียนโปรแกรม: ทักษะหรือสิ่งใดที่ควรส่งเสริมให้ลูกของเรา

1) ให้โอกาสลูกค้นหาตนเอง ด้วยกิจกรรมที่หลายหลาก การพบกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้เจอความชอบที่แท้จริง ซึ่งความชอบที่แท้จริงจะเป็นแรงจูงใจในการเรียนรู้ของลูก ๆ เป็นพื้นฐานของการประสบความสำเร็จในชีวิต

“ทำอะไรแล้วมีความสุข

เราจะทำสิ่งนั้นได้ดี โดยไม่ย่อท้อ”

2) สอนให้ลูกคิด พ่อแม่ควรส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ลูกได้พัฒนา “การแก้ไขปัญหาด้วยตรรกะและกระบวนการคิดที่ถูกต้อง” โลกปัจจุบันมันหมุนเร็ว การมีทักษะการคิดแบบ Computational Thinking จะไม่ทำให้ลูกเป็นง่อย ง่อยในที่นี้ หมายถึง ไม่ว่าลูกของเราจะเจอปัญหาใด ๆ ก็เอาตัวรอดได้ คือ สามารถ “คิด” แก้ไขปัญหาและลงมือแก้ไขมันได้อย่างเหมาะสม เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ ดังนั้น ผู้ปกครองจึงความมีความตระหนักรู้ในเรื่องการปลูกฝัง “ทักษะการคิด” ให้ลูก เป็นความคิดสร้างสรรค์ที่มีแบบแผนและนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน

สอนลูกเขียนโปรแกรม: คิดอย่างไรกับวิชา CS วิชาใหม่ของไทยตอนนี้

รู้สึกตื่นเต้นกับวิชานี้มาก เพราะมันสอนให้คนคิดเป็น คนที่คิดเป็นสามารถทำอะไรได้เจริญก้าวหน้ากว่าคนอื่น และจากที่ได้ลองอ่านข้อมูลวิชานี้ คิดว่าเป็นวิชาเวอร์ชันแรกที่ดีมาก ในตัววิชานำปัญหาในชีวิตประจำวันมาสอนเลย มันพลิกให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพ และวิชานี้ยังสนับสนุนนโยบายประเทศให้เป็นไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นการปูทางการพัฒนาทรัพยากรบุคคลไทยและนำสังคมไทยไปสู่ยุค 4.0 ที่แท้จริง

“อุปสรรค คือ ทางที่ถูกต้อง คือหนทางของชีวิต”

สุดท้ายสิ่งที่คุณแชร์กล่าวไว้ คือ พ่อแม่ควรสอนให้ลูกมองโลกในแง่บวก ไม่ว่าคนเราจะรู้สึกลำบากในการเรียนหรือการทำงานเพียงใด แต่อย่าไปมองว่านั่นคือความลำบาก หรือเป็นอุปสรรคใด ๆ จงเรียนรู้จากมัน ให้เชื่อว่า Obstacle is the way. ให้อุปสรรคนั้นเป็นหนทางพัฒนาตนเอง เป็นทางเรียนรู้ไปสู่อนาคตค่ะ

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular

Recent Comments