Homeบทความแนะนำสรุปข้อคิดจากงาน "สอนเขียนโปรแกรมตั้งแต่ป. 1 เหมาะสมหรือยังกับประเทศไทย 4.0"

สรุปข้อคิดจากงาน “สอนเขียนโปรแกรมตั้งแต่ป. 1 เหมาะสมหรือยังกับประเทศไทย 4.0”

ในวันที่เทคโนโลยีเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต และ AI กำลังจะทำงานแทนมนุษย์ ประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ในโลกที่บรรจุหลักสูตรวิชาวิทยาการคำนวณ หรือ Computing Science เข้าเป็นวิชาบังคับตั้งแต่ ป.1 – ม.6

วิชานี้สอนอะไร ยัดเยียดเด็กเกินไปหรือไม่ หลักสูตรของไทยเทียบกับนานาชาติแล้วเป็นอย่างไร และพ่อแม่จะเตรียมตัวให้ลูกให้พร้อมกับยุคหน้าได้อย่างไร  เป็นบางส่วนของคำถามที่ทีมงานเด็กดีได้รับมาจากพ่อแม่อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งคงไม่มีผู้ใดตอบคำถามเหล่านี้ได้ดีไปกว่าผู้ที่ร่วมพัฒนาหลักสูตรทั้งของประเทศไทย และในระดับโลก

แฟนเพจ “สอนลูกเขียนโปรแกรม by Dek-D.COM”  จึงได้จัดงานเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “สอนเขียนโปรแกรมตั้งแต่ ป. 1 เหมาะสมหรือยังกับประเทศไทย 4.0” ขึ้นในวันที่ 9 เมษายน 2561 โดยได้รับเกียรติจาก

  • อ.ผนวกเดช สุวรรณทัต นักวิชาการจากม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้ร่วมพัฒนาหลักสูตรวิทยาการคำนวณ และผู้เขียนแบบเรียนในระดับประถมศึกษา จากสสวท.
  • อ.แพท ยงค์ประดิษฐ์ Chief Academic Officer ของ Code.org หน่วยงานที่ผลักดัน และพัฒนาหลักสูตรการเขียนโปรแกรมในระดับ K-12 ในอเมริกา

ในงานเสวนาวิทยากรตลอดเวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่ง อาจารย์ทั้ง 2 ท่านได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์และให้คำแนะนำที่ดีกับทั้งอาจารย์และผู้ปกครอง สามารถชมย้อนหลังได้ที่คลิปด้านล่างนี้ โดยเราขอเลือกข้อมูลและคำแนะนำที่สำคัญๆ บางส่วนมาสรุปไว้ให้ในบทความนี้

Code.org  ก่อตั้งมาจากแนวคิดที่ต้องการให้เด็กทุกคนมีโอกาสได้เรียน Computer Science

ปัญหาความเหลื่อมล้ำของโอกาสทางการศึกษาเกิดขึ้นทั่วโลกรวมถึงในประเทศอเมริกาด้วย Code.org ต้องการให้เด็กในทุกโรงเรียน ได้มีโอกาสเรียน Computer Science จึงได้ดำเนินกิจกรรมหลายๆ อย่างเพื่อกระจายโอกาสนี้ เช่น

  • พัฒนาระบบที่ทำให้เด็กๆ สามารถเรียนเขียนโปรแกรมได้ง่ายขึ้น สนุกขึ้น ขอเพียงแค่มีคอมพิวเตอร์หรือแทบเลต
  • พัฒนาหลักสูตรสำหรับเด็กเล็กๆ จนถึงระดับสูงให้ครูสามารถนำไปใช้สอนนักเรียนได้
  • อบรมครูในวิชานี้ไปถึง 72,000 คน

ซึ่งจากผลการดำเนินการต่างๆ ทำให้มีนักเรียนที่อยู่ในระบบของ Code.org ถึง 27 ล้านคน โดยในจำนวนนี้เป็นนักเรียนที่ยากจนถึง 49%

เริ่มเรียนเขียนโปรแกรมตั้งแต่เด็กเพราะมันสนุก

คอร์สการเรียนเขียนโปรแกรมในเด็กนั้นถูกพัฒนาให้เด็กสนุกกับการเรียนไม่แพ้การเล่นเกม ดังนั้นแทนที่จะให้เด็กดูคลิปการ์ตูน หรือเล่นเกม ทำไมไม่ให้พวกเขามาสนุกับการเขียนโปรแกรมแทนละ นอกจากนี้ทักษะ Computer Science ยังเป็นความรู้พื้นฐานที่พวกเขาสามารถนำไปใช้ได้ในทุกสาขา ไม่ว่าจะเป็นศิลปะ ดนตรี และอาชีพอื่นๆ

ทักษะที่จำเป็นสำหรับเด็กอาจไม่ใช่สาขายอดนิยมอย่าง AI

ถึงแม้ในยุคปัจจุบันเราจะพูดถึงเทคโนโลยี AI, Machine Learning, และอีกหลายๆ สาขา แต่ในความเห็นของทั้งอ.แพท และ อ.ผนวกเดช สิ่งที่ต้องปลูกฝังให้เด็กคือ Computational Thinking หรือการคิดเชิงคำนวณ ซึ่งเป็นพื้นฐานของเทคโนโลยีต่างๆ ของคอมพิวเตอร์ และเป็นทักษะการคิดอย่างเป็นเหตุผล เป็นระบบขั้นตอน เพราะเราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเทคโนโลยีอะไรจะมีส่วนสำคัญในอนาคต แต่การมีพื้นฐานด้านการคิดเชิงคำนวณจะทำให้เด็กๆ สามารถปรับตัวและเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในอนาคตได้ และสามารถนำไปใช้ได้ในทุกอาชีพ โดยการคิดเชิงคำนวณนี้ก็เป็นหลักสำคัญหลักหนึ่งของวิชาวิทยาการคำนวณของไทย

หลักสูตรใหม่เปลี่ยนจากสอนให้เด็กเป็นผู้ใช้เป็นผู้ผลิต

การเรียนคอมพิวเตอร์ในไทยนั้นมีมากว่า 20 ปีแล้ว ในโรงเรียนใหญ่ๆ อาจมีการสอนเขียนโปรแกรม แต่การเรียนในโรงเรียนส่วนใหญ่สอนให้เด็กเป็นแค่ผู้ใช้โปรแกรม แบบเรียนเป็นเพียงแค่คู่มือการใช้งานโปรแกรมใดโปรแกรมหนึ่ง เมื่อเรียนจบไปโปรแกรมที่เรียนไปแล้วก็ล้าสมัย มีเวอร์ชันใหม่หรือโปรแกรมใหม่มาทดแทน จึงควรเปลี่ยนจากการสอนให้เด็กเป็นผู้ใช้ เป็นผู้มีทักษะการคิด และเป็นผู้สร้างเทคโนโลยี

Computational Thinking จะสอนให้เด็กเรียงลำดับการแก้ปัญหา แบ่งปัญหาใหญ่เป็นปัญหาย่อย และมีหลักต่างๆที่เด็กสามารถนำมาใช้แก้ปัญหาได้ โดยไม่ได้มีเป้าหมายให้เด็กต้องคิดแบบคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา ไม่ได้สอนให้ทุกคนเป็นโปรแกรมเมอร์ ไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์แก้ปัญหาทุกเรื่อง แต่สอนให้รู้ว่าคอมพิวเตอร์ทำอะไรได้บ้างจะได้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสาขาวิชาชีพของตน และไม่ตกเป็นเหยื่อของเทคโนโลยี

หลักสูตรของไทยพัฒนามาจากความร่วมมือของหลายหน่วยงาน

อาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น จุฬาฯ, ธรรมศาสตร์, เกษตรฯ, ลาดกระบัง, มจธ. และอื่นๆ มาร่วมกันร่างหลักสูตรตั้งแต่ปี 59 หลังจากแก้หลักสูตรหลายครั้งให้เหมาะสมกับเด็กในแต่ละช่วงวัย ก็ได้เชิญครูจังหวัดต่างๆ ทั่วภูมิภาคของประเทศ มาร่วมกันพิจารณาหลักสูตรว่าเหมาะสมกับบริบทของท้องถิ่นต่างๆ จริงๆ ไหม และได้รับคำติชมให้นักวิชาการนำกลับไปแก้ไขหลักสูตรเป็นจำนวนมาก จนออกมาเป็นหลักสูตรในปัจจุบัน และได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์จากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จากนั้นได้เชิญสำนักพิมพ์ต่างๆ มารับทราบเกี่ยวกับหลักสูตรเพื่อนำไปพัฒนาเป็นแบบเรียนและสื่อการสอน เมื่อเตรียมความพร้อมต่างๆ แล้วจึงได้ประกาศใช้หลักสูตรนี้ในปีการศึกษา 2561

หลักสูตรมีสาระสำคัญ 3 ส่วน และออกแบบให้เหมาะสมกับช่วงวัย

หลักสูตรวิชาวิทยาการคำนวณประกอบด้วย 3 ส่วน

  1. Computer Science วิทยาการคอมพิวเตอร์ เป็นการสอนให้เด็กคิดอย่างเป็นขั้นตอน โดยเอาการเขียนโปรแกรมมาเป็นเครื่องมือที่ใช้ฝึกให้เด็กคิดอย่างเป็นระบบขั้นตอนตามหลักการ Computational Thinking
  2. ICT เทคโนโลยีสารสนเทศ ไม่ได้มุ่งเน้นให้เด็กเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีแบบในอดีต แต่สอนให้เด็กเป็นผู้ที่สามารถรวบรวมข้อมูล จัดระเบียบข้อมูล ประมวลผลข้อมูล ซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลได้
  3. Digital Literacy การรู้เท่าทันดิจิตอล รู้เท่าทันโลกออนไลน์ รู้สิทธิของตนเอง ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น

ในส่วนของ Computer Science ที่สอนการเขียนโปรแกรม, อัลกอริทึม, และ Computational Thinking ซึ่งเป็นส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าเหมาะสมกับเด็ก ป.1 ไหม การสอนจะมีความยากง่ายแตกต่างกันในแต่ละชั้นปี เช่นของ ป. 1 จะเรียนเขียนโปรแกรมบนกระดานคล้ายๆ บอร์ดเกมสนุกๆ ให้เด็กๆ สนุกกับการใช้คำสั่งให้ตัวละครเดินซ้ายเดินขวา ส่วน ป.4 กระดานก็จะเริ่มมีความซับซ้อนขึ้น และเริ่มเขียนโปรแกรมในคอมฯ ในรูปแบบ block programming ซึ่งเป็นการเขียนโปรแกรมโดยการลากบล๊อกคำสั่งบนจอ ไม่ต้องพิมพ์คำสั่งเอง พอระดับชั้น ม.1 เด็กก็จะเริ่มเขียนโปรแกรมด้วยภาษาโปรแกรมที่ใช้กันทั่วไปเช่น Python และในชั้น ม.4 เด็กจะได้ใช้องค์ความรู้ที่เรียนมามาบูรณาการกับองค์ความรู้ของวิชาอื่นมาทำโครงงาน ใช้ความรู้ของ Computer Science มาเพิ่มความสนุกในการทำโครงงานวิชาอื่นๆ ได้ เช่น สร้างเกม, โครงการเก็บข้อมูลความสูงของต้นไม้ในโรงเรียน แล้ววิเคราะห์ว่าความสูงของต้นไม้มีผลต่ออุณหภูมิในโรงเรียนหรือไม่ เป็นต้น

ภาพจากแบบเรียนของสสวท.ชั้นป. 1
ภาพจากแบบเรียนของสสวท.ชั้นป. 1

 

ภาพจากแบบเรียนของสสวท.ชั้นป. 4
ภาพจากแบบเรียนของสสวท.ชั้นป. 4
ภาพจากแบบเรียนของสสวท.ชั้นป. 4
ภาพจากแบบเรียนของสสวท.ชั้นป. 4

ไม่ต้องมีคอมพิวเตอร์หรือแทบเลตก็เรียนได้

อ.แพทมีความเห็นว่าข้อดีของหลักสูตรของไทยคือมีกิจกรรมหลายอย่างที่ไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์หรือแทบเลตในการเรียน ซึ่งจะตรงกับกิจกรรมแบบ Unplugged ของ Code.org ซึ่งเด็กๆ สามารถเล่นสนุกกับเพื่อนได้ เช่นกิจกรรมที่ให้เด็กจับคู่กันโดยให้คนหนึ่งจำลองเป็นหุ่นยนต์ แล้วให้เด็กอีกคนนึงเขียนชุดคำสั่งให้หุ่นยนต์ปฎิบัติตามเพื่อทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ซึ่งเด็กจะได้สนุกและเคลื่อนไหวร่างกาย ไม่ถูกจับให้นั่งนิ่งๆ อยู่หน้าจอ และได้ปฎิสัมพันธ์กับเด็กคนอื่นด้วย

ความท้าทายของการสอนเขียนโปรแกรมทั่วโลก

ในปัจจุบันมีมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการเรียนคอมพิวเตอร์ ซึ่งอ.แพทภูมิใจที่หลักสูตรของไทยมองการณ์ไกล และเป็นประเทศแรกๆ ในโลกที่สามารถบังคับใช้หลักสูตรได้ ซึ่งจะทำให้เกิดโอกาสอย่างมากมายกับเด็กของเรา และสิ่งที่อ.แพทมองว่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้การสอนประสบความสำเร็จได้คือการดึงให้หลายๆ ฝ่ายมีส่วนร่วม ทั้งมหาวิทยาลัย, โรงเรียน, รัฐบาล และ เอกชน

สำหรับปัญหาของการสอนคือการอบรมครูให้เพียงพอต่อการสอน  อ.แพทยกตัวอย่างประเทศอังกฤษที่ได้บังคับใช้หลักสูตรตั้งแต่เมื่อ 5 ปีที่แล้วว่า ถึงแม้จะมีการจัดอบรมครูมาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา แต่รัฐบาลเพิ่งอนุมัติงบเพิ่มเติมในการอบรมครูอีกถึง 50 ล้านปอนด์ เมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมา นั่นแปลว่าการอบรมครูนั้นมีความต้องการที่สูงกว่าที่คาดไว้มาก

อ.ผนวกเดชเล่าว่าสสวท.ได้จัดอบรมครูแกนนำคอมพิวเตอร์ในเดือนสิงหาคม 2560 และทดลองทำกิจกรรมในหลักสูตรไปด้วยกัน เพื่อให้ครูแกนนำนำไปเผยแพร่ต่อกับเพื่อนๆ ครูต่อไปได้ โดยในการอบรมครั้งนั้น ได้เพื่อนๆ ที่เชี่ยวชาญมาช่วยกันอบรมเช่น ดร.ธรรมนิติ์ พิพัฒน์ศรีสวัสดิ์ ซึ่งเป็น Software Engineer อยู่ที่ Google

และเร็วๆ นี้จะมีจัดอบรมเพิ่มทั้งทางออนไลน์ และออฟไลน์อย่างต่อเนื่อง สามารถติดตามข่าวสารการอบรมได้ทางเฟซบุคเพจ สาขาคอมพิวเตอร์ สสวท.  โดยในการอบรมแบบออนไลน์ซึ่งจัดขึ้นระหว่างกลางเดือนเมษายนจนถึงกันยายน สสวท. จะอัพโหลดวีดีโอการอบรมไว้บน Youtube ให้พ่อแม่ที่สนใจสามารถเข้ามาเรียนได้เช่นกัน

นอกจากนี้อ.ผนวกเดชเล่าว่า สสวท.ได้ทำงานวิจัยกับครูในกลุ่มเครือข่ายที่เอาหลักสูตรไปทดลองสอนในโรงเรียนจริงๆ ในจังหวัดต่างๆ รวมถึงพื้นที่ทุรกันดาร และขาดแคลนคอมพิวเตอร์ ซึ่งนักวิจัยจากสสวท.ได้ลงพื้นที่ไปดูว่าการใช้กิจกรรมต่างๆ จากหนังสือเรียนแล้วเป็นอย่างไรบ้าง และได้รับฟังผลตอบรับของเด็กๆ ที่เรียนว่าเด็กๆ มีความสนุกที่ได้หัดคิดอย่างเป็นขั้นตอน เป็นระบบ และได้ใช้จินตนาการของตัวเองโดยไม่มีการปิดกั้นว่าถูกหรือผิด

อ.แพทเล่าถึงการอบรมครูของ Code.org ว่าในระดับเล็กๆ เช่น ป.1 – ป.2 ใช้เวลาอบรมครู 1-2 วัน แต่ในระดับที่สูงๆ ใช้เวลา 9-10 วัน โดยแบ่งเป็นการอบรม 5 วันในช่วงปิดเทอมฤดูร้อน และอบรมอีก 1 วันในทุกๆ 3 เดือน

โอกาสมหาศาลของประเทศไทย

อ.แพทบอกว่าเขาเห็นโอกาสมหาศาลของประเทศไทยในการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของเอเชียและโลกในอนาคต เพราะเราเป็นประเทศแรกๆ ในโลกที่เริ่มสอนวิชานี้ ซึ่งตามหลังประเทศอื่นไม่นาน เช่นอังกฤษ 5 ปี และสิงคโปร์ 2 ปี ถ้าเราสามารถพัฒนาการเรียนการสอนวิชานี้อย่างต่อเนื่อง ในอนาคตไทยสามารถเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้าน Computer Science ได้เลย ซึ่งถ้าสามารถทำได้สำเร็จ คุณแพทคาดการณ์ว่าจะเกิดผลลัพธ์มากมายในระยะ 10 ปี เช่น แรงงานไทยเป็นที่รู้จักและยอมรับในด้าน computer science ไปทั่วโลก จนพบว่าบริษัทใหญ่ๆ ระดับโลกต้องการโปรแกรมเมอร์ชาวไทยไปทำงานเป็นจำนวนมาก และทำให้เศรษฐกิจดิจิตัลของไทยเองพัฒนาขึ้น และมีบริษัทเทคโนโลยีต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนเปิดออฟฟิศหลักในไทย ใช้ไทยเป็นฐานในการวิจัยมากขึ้น

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular

Recent Comments