แม้วันนี้เด็กไทยในระดับชั้น ป.1 ป.4 ม.1 และ ม.4 จะเริ่มเรียนวิชาวิทยาการคำนวณ หรือ Computing Science กันไปแล้ว แต่เชื่อว่าหลายคนยังคงมีคำถามในใจถึงวิชานี้ ว่าจริงๆ แล้วมีความสำคัญอย่างไร และมีความจำเป็นขนาดไหน จึงทำให้ประเทศไทยถึงกับต้องเร่งบรรจุเป็นวิชาบังคับของหลักสูตรการศึกษาภาคเรียนนี้อย่างเร่งด่วน
เพื่อหาคำตอบของเรื่องนี้ สอนลูกเขียนโปรแกรม By Dek-D จะพาไปร่วมฟังทรรศนะจากผู้ทรงคุณวุฒิ ที่จะให้แนวคิดในการเรียน Computing Science ภายในงานสัมมนาวิชาการ Computing Science วิทยาการคำนวณ : องค์ความรู้สำคัญแห่งโลกอนาคตที่ทาง อักษร เอ็ดดูเคชั่น กับ CODE.Org เว็บไซต์ในการเขียน code จากประเทศสหรัฐอเมริกาจัดขึ้น เราขอสรุปสาระสำคัญในงานนี้มาฝากค่ะ
ภาพบรรยากาศงานสัมมนาวิชาการ Computing Science วิทยาการคำนวณ:องค์ความรู้สำคัญแห่งโลกอนาคต
Computing Science เรียนได้ตั้งแต่อนุบาล ไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ ครูจบสาขาอะไรก็สอนได้
นายตะวัน เทวอักษร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด
นายตะวัน เทวอักษร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด บอกว่าจริงๆ แล้วComputing Science เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวและอยู่ทุนหนทุกแห่ง เป็นการสอนกระบวนการคิด จึงทำให้ครูที่จบด้าน Computing Science หรือไม่ได้จบมาโดยตรงก็สอนเด็กได้ วิธีการสอนคือใช้ทักษะวิทยาการคำนวณ 5 ทักษะ คือ การแก้ปัญหา/การวางแผน การรู้จำแบบ การประมวลผลข้อมูล การสอนให้เด็กคิดขั้นตอนวิธี(อัลกอริทึม) และสุดท้ายคือการเขียนโปรแกรม ซึ่งแต่ละทักษะจะเห็นว่าสามารถทำได้ตั้งแต่เด็กๆ เริ่มได้ตั้งแต่ง่ายๆ ก่อนที่จะซับซ้อนเมื่อโตขึ้น จริงๆ แล้ว Computing Science สามารถเรียนได้ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลเพราะ Computing Science ในเด็กเล็กไม่จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ แต่เป็นการสอนเด็กให้ใช้การวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอนนั่นเอง
ตัวอย่างการวาดรูปไก่ก็เป็นขั้นตอนวิธี(อัลกอริธึ่ม) คือมีการคิดอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งคอมพิวเตอร์ก็ทำงานแบบนี้
Computing Science เป็นรากฐานสำคัญของทุกอาชีพ
เมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่ยุคดิจิตอลคนไทยจำเป็นต้องมีความรู้ด้านโลกสมัยใหม่ การเรียน Computing Science ไม่ได้เรียนเขียนโปรแกรมเท่านั้น แต่เป็นการเรียนด้วยการใช้สมองสร้างสรรค์ผลงานในการทำงาน รู้จักการทำงานเป็นทีมและมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ด้วย ซึ่งComputing Science จะสร้างเด็กไทยทั่วประเทศให้มีรากฐานความคิดด้าน Computing Science ที่แข็งแกร่ง เพราะว่ารากฐานความคิดด้าน Computing Science ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์หรือไม่จะเป็นรากฐานความคิดที่ดี เป็นกระบวนการความคิดที่เป็นรากฐานสำคัญของทุกเรื่อง
วิทยาการคำนวณ:องค์ความรู้สำคัญแห่งโลกอนาคต
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI
ด้านดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI บอกว่า วิทยาการคำนวณเป็นองค์ความรู้สำคัญแห่งโลกอนาคต ในหลายประเทศให้เด็กเรียน Coding ตั้งแต่ระดับประถม ที่เกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้นมาก็เพราะว่าโลกเปลี่ยนแปลงเร็ว
ตัวอย่างปรากฏการณ์เปลี่ยนโลกจึงทำให้ในหลายประเทศต้องนำเอาวิชาโค้ดดิ้งมาเรียนตั้งแต่ระดับประถม
ตัวอย่างประเทศที่นักเรียนเรียนเขียนโปรแกรม
หลักสูตร Coding เป็นเรื่องปกติสำหรับประเทศพัฒนาแล้ว
ทำไมต้องเรียนเขียนโปรแกรม
ประเทศที่พัฒนาแล้วจะมุ่งไปสู่การทำโค้ดดิ้งเพื่อสร้างทักษะให้กับประชากร ทำไมหลายประเทศให้นักเรียนเรียนเขียนโปรแกรม คำตอบก็คือโลกอนาคตคือโลกแห่งไอที คนต้องมีทักษะไอทีในระดับหนึ่ง อย่างน้อยเพื่อให้เข้าใจโลกรอบตัวว่าทำงานกันอย่างไร และวิธีที่จะทำให้เข้าใจไอทีได้ดีที่สุดวิธีหนึ่งคือการได้ลองนำไอทีไปใช้อย่างจริงจัง ก็คือการเขียนโปรแกรม เพราะการเขียนโปรแกรมจะทำให้รู้ว่าคอมพิวเตอร์ที่บางครั้งดูเหมือนเฉลียวฉลาด แต่พอลองเขียนโปรแกรมก็จะรู้ว่าคอมพิวเตอร์นั้นเซ่อกว่ามนุษย์ เพราะคอมพิวเตอร์ต้องบอกทุกอย่างขั้นตอนถึงจะทำงานได้
ไม่ต้องเป็นอัจฉริยะก็เรียน Coding ได้
ตัวอย่างผู้หญิงที่สามารถเขียนโปรแกรมได้
การเรียนเขียนโปรแกรมนอกจากจะสามารถเรียนได้ตั้งแต่เด็กๆ แล้ว คนที่เรียนเขียนโปรแกรมจะเป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเด็กผู้ชาย ไม่จำเป็นต้องเป็นเด็กเนิร์ด เพราะผู้หญิงอย่าง Linda Liukas ซึ่งเป็นผู้แต่งหนังสือ Hello Ruby ก็เป็นตัวอย่างผู้หญิงที่สามารถเขียนโปรแกรมได้ แล้วก็ยังเป็นแชมเปี้ยนในการรณรงค์ให้เด็กผู้หญิงและผู้หญิงทั่วไปเขียนโปรแกรมกันในประเทศฟินแลนด์ด้วย นี่คือตัวอย่างที่ทำให้เชื่อได้ว่า คนที่เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ไม่จำเป็นต้องเป็นเนิร์ด ไม่จำเป็นต้องเป็นอัจฉริยะ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่มีการศึกษาสูงอะไรมากมาย แต่ทุกคนสามารถเรียนได้อย่างสนุกและเรียนได้ทุกคน
การเรียนโค้ดดิ้งจะประสบความสำเร็จหากได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ความสำเร็จในการเรียนโค้ดดิ้งในประเทศเอสโตเนียเกิดขึ้นได้เพราะได้รับความร่วมมือจาก 3 ฝ่าย คือ ภาครัฐ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้ และเครือข่ายครู
วิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศเอสโตเนียที่เชื่อว่า โลกอนาคตคือโลกดิจิตอลและคนต้องมีทักษะดิจิตอลก็คือทักษะโคดดิ้ง ทำให้ในเอสโตเนียมีโครงการที่ชื่อว่าไทเกอร์หรือโปรเจคต์เสือ เป็นโครงการที่ให้โรงเรียนต่างๆ ในเอสโตเนียสามารถเรียนรู้การทำโครงการ Active learning โดยใช้คอมพิวเตอร์ และใช้การเขียนโค้ดดิ้งเป็นเครื่องมือหลัก ช่วงเริ่มต้นมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ 20 โรงเรียน ตอนนี้ขยายเป็น 440 โรงเรียนจากโรงเรียนในเอสโตเนีย 550 โรงเรียน คิดเป็น 80 เปอร์เซนต์ของโรงเรียนในประเทศ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นทำได้เพราะได้รับความร่วมมือจาก 3 ฝ่าย คือ ภาครัฐของเอสโตเนียที่ทำหลักสูตรบูรณาการโดยไม่ได้แยกการเรียนโค้ดดิ้งออกมาเป็นวิชาต่างหาก แต่เอาโค้ดดิ้งไปใส่ในวิชาต่างๆ เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ นอกจากนี้รัฐบาลก็ยังสนับสนุนงบประมาณทำให้โครงการแพร่หลายไปได้ และยังมีหน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไร ก็คือมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้ที่่ช่วยขยายผล อบรมครู จัดหาสื่อการสอน ให้โรงเรียนที่ขาดแคลน รวมถึงสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ นอกจากนี้ก็ยังมีเครือข่ายครูจำนวนมาก ที่ทดลองลองสอนวิทยาการคำนวณในแบบต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการสอนว่าแบบไหนถึงจะสอนให้เด็กเขียนโค้ดดิ้งได้ดีที่สุด
วิชาวิทยาการคำนวณสำคัญที่ไอเดียไม่ได้สำคัญที่อุปกรณ์
การเรียนวิชาวิทยาการคำนวณความสำคัญอยู่ที่ไอเดียไม่ได้สำคัญแค่อุปกรณ์ซอฟแวร์หรือฮาร์ดแวร์ ถ้าโรงเรียนไม่มีงบประมาณในการซื้ออุปกรณ์ให้กับเด็กนักเรียน ครูก็ยังสามารถสอนวิทยาการคำนวณได้ วิธีที่จะสอนเด็กให้เข้าใจวิทยาการคำนวณได้ก็คือสอนให้เด็กเข้าใจขั้นตอนการทำงานหรืออัลกอริทึม เพราะอัลกอริทึมสอนได้โดยไม่ต้องมีคอมพิวเตอร์ ซึ่งวิทยาการคำนวณจะเป็นการเปิดโลกใหม่ให้กับประเทศไทย ทำให้เด็กมีจินตนาการและมีความสามารถในการแก้ปัญหา
แนวคิดเชิงคำนวณเป็นทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21
Ms. Alice Steinglass ประธานเว็บไซต์ CODE.Org
Ms. Alice Steinglass ประธานเว็บไซต์ CODE.Org ก็บอกว่า ที่เด็กทุกคนควรเรียน Computing Science ก็เพราะในโลกนี้เราถูกล้อมรอบด้วยเทคโนโลยี มากมาย คอมพิวเตอร์เป็นรากฐานของระบบการศึกษา เป็นสิ่งที่ครูและนักเรียนต้องใช้ และเหตุผลที่สำคัญคือเราจะให้เด็กเรียนรู้ว่าจะ “สร้าง” ยังไง เพราะหากเค้าเรียนรู้ที่จะสร้างก็จะสร้างสิ่งต่างๆ ได้มากมาย และเหตุผลที่สำคัญมากๆ คือเมื่อตลาดแรงงานเปลี่ยนแปลงไป มีการคาดการณ์ว่าอีก15ปี ครึ่งหนึ่งของตลาดแรงงานจะถูกแทนที่ด้วยคอมพิวเตอร์ ดังนั้นเราจะต้องเตรียมเด็กให้พร้อมสู่การทำงานทุกๆ ปีเราจะเห็นได้ว่า Computing Science มันเพิ่มความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ อีก 5-10 ปี คาดว่างานต่างๆ จะต้องใช้ Computing Science มากขึ้น และสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือเมื่อนักเรียนเรียนจบไปจะได้รับการเตรียมพร้อม มีทักษะดีพอที่จะไปทำงานด้านดิจิตอล
ทั่วโลกกำลังตื่นตัวเพื่อให้เด็กเรียนวิชาวิทยาการคำนวณ
วิชาวิทยาการคำนวณเป็นวิชาที่เติบโตและมีคนอยากเรียนเพิ่มมากขึ้นที่สุดวิชาหนึ่ง ขณะนี้ 25 ประเทศทั่วโลกตื่นตัวที่จะเรียน ภายในเวลา 5 ปีมีเด็กๆ จากทุกประเทศทั่วโลกประมาณ 28 ล้านคนที่มาสมัครสมาชิก code.org กว่า 10 ล้านคนจากเด็กทั่วโลกได้เข้ามาร่วมชั่วโมงแห่งโค้ด ที่เรียกว่า hour of code อย่างใน code.org จะมีสื่อที่ให้เรียนรู้ตั้งแต่แรกเริ่ม เริ่มตั้งแต่อนุบาลเด็กจะได้เรียนรู้แนวคิดเชิงคำนวณก่อนที่จะอ่านออกเสียง โตขึ้นเด็กจะสามารถสร้างแอปหรือเกมด้วยตนเอง การเรียนจะมีการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาระหว่างกิจกรรมที่อยู่ในคอมพิวเตอร์ และกิจกรรมที่ไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เด็กเรียนรู้ว่ามีปัญหาอะไรบ้าง แล้วจะเอาเรื่องนี้ไปเชื่อมต่ออย่างไรเวลาใช้คอมพิวเตอร์ ส่วนในเรื่องการเรียนโค้ดดิ้งครูจะสอนให้เด็กมีความสามารถในการทำโค้ด เด็กจะสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ได้ สามารถสร้างเกมที่เป็นอินเตอร์แอคทีฟ และสุดท้ายจะสามารถสร้างแอปที่แก้ปัญหาในโลกแห่งความเป็นจริงได้
ทั้งหมดนี้ก็เป็นแนวคิดจากผู้ทรงคุณวุฒิภายในงานสัมมนาวิชาวิทยาการคำนวณ องค์ความรู้สำคัญแห่งโลกอนาคต ซึ่งแนวคิดทั้งหมดนี้ก็น่าจะตอบข้อสงสัยถึงความสำคัญของวิชาวิทยาการคำนวณ รวมไปถึงคำถามที่ว่าทำไมเด็กไทยต้องเริ่มเรียนวิชาวิทยาการคำนวณในภาคการศึกษานี้ค่ะ
สัปดาห์หน้าสอนลูกเขียนโปรแกรม By Dek-D จะพาไปสัมภาษณ์พิเศษ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ที่ยอมรับว่า ในโลกแห่งอนาคตทักษะที่จำเป็นสำหรับเด็กไทยก็คือทักษะดิจิตอล เพราะอะไรเด็กไทยจึงต้องมีทักษะดิจิตอล มาติดตามได้ในสัปดาห์หน้าค่ะ