Homeสอนลูกเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์กับการพัฒนาทักษะคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ เพื่อดึงศักยภาพให้ลูกของคุณ

คอมพิวเตอร์กับการพัฒนาทักษะคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ เพื่อดึงศักยภาพให้ลูกของคุณ

“ฉันทะ เป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จ ไม่ว่าเด็กจะเก่งหรือไม่เก่ง มีพรสวรรค์หรือขาดพรสวรรค์ แต่หากเขามีความชอบในสิ่งที่เขาจะทำ เขาจะอิน จะใช้เวลากับมัน  ลงมือทำมันโดยไม่ต้องให้ใครมาบังคับ และเมื่อประสบความสำเร็จ เขาก็จะภาคภูมิใจในความสำเร็จนั้นอย่างแท้จริง”

นี่คือส่วนหนึ่งจากเรื่องราวที่อาจารย์ ดร.พงษ์สิน ภูแสนคำ หรือ ดร.เพียว อดีตอาจารย์ประจำสาขา Business Information Technology  (BIT) ภาควิชาสถิติ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์พิเศษ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (MUICT) และวิทยาลัยนานาชาติ ม.มหิดล (MUIC) เล่าให้เรา “สอนลูกสอนเขียนโปรแกรม by Dek-D” ฟัง

ดร. พงษ์สิน ภูแสนคำ (เพียว)

และจากที่ได้จับเข่านั่งคุยกับ ดร.เพียวก็พบว่า “ฉันทะ” “ประสบการณ์” และ “เทคโนโลยี” สิ่งเหล่านี้ คือ สิ่งที่ผู้ใหญ่ควรสนับสนุนให้เด็ก ๆ ของเราได้เรียนรู้ค่ะ

ปัจจุบัน ดร.เพียวทำงานที่ธนาคารกรุงไทย ทีม Data Innovation Lab เป็นแล็บนวัตกรรมข้อมูลเพื่อการขับเคลื่อนธุรกิจ เคยเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิก และเป็นนักเรียนทุนไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรี โท และเอกด้าน Computer Science (วิทยาการคอมพิวเตอร์) ที่ Carnegie Mellon University ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยระดับ Top 5 ของโลกในด้านนี้ และเคยเป็นนักวิจัยด้าน Software Security ที่มหาวิทยาลัย UC Berkeley ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งมหาวิทยาลัย Top 5 ของโลกในด้านนี้เช่นกัน

ซึ่งจากประสบการณ์ด้านการเรียนและการทำงานสายวิทยาการคอมพิวเตอร์ของ ดร.เพียวนี้เอง ที่ทำให้ ดร.เพียวน่าจะตอบคำถามได้ว่า วิชาบังคับใหม่ “วิทยาการคำนวณ” (Computing Science: CS) ที่เน้นด้านการใช้เทคโนโลยี การเขียนโปรแกรมมาสอนในโรงเรียนประถมและมัธยมนั้น  จะมีประโยชน์และจำเป็นต่อลูก ๆ ของเราอย่างไร ดร.เพียวเริ่มต้นกล่าวย้อนไปถึงสมัยเด็ก ๆ ค่ะ

สมัยผมยังเป็นเด็กนั้น การเรียนเขียนโปรแกรมถือเป็นเรื่องใหม่มากในเมืองไทย แต่เป็นโชคดีของผมที่ทางโรงเรียนมองการณ์ไกล จัดเตรียมคอมพิวเตอร์ให้นักเรียนได้ใช้ ทำให้ผมได้เรียนเขียนโปรแกรมตั้งแต่สมัยนั้น ในวิชาคอมพิวเตอร์ตอน ป.3 ทางโรงเรียนได้สอนให้เขียนโค้ดภาษา LOGO ซึ่งเป็นการเขียนโค้ดเพื่อสั่งให้ “เต่า” เดินไปบนหน้าจอ ลากเป็นเส้นตามทางที่เต่าเดิน แล้วใช้เส้นมาวาดเป็นรูปภาพได้ ผมก็ลองผิดลองถูกจนวาดรูปเรขาคณิตต่าง ๆ ได้ วาดออกมาเป็นตัวการ์ตูนเลยนะ ตอนนั้นก็สงสัยว่าทำไมต้องหัน 120 องศาเพื่อวาดรูปสามเหลี่ยม หัน 90 องศาเพื่อวาดสี่เหลี่ยม หัน 72 องศาเพื่อวาดรูปห้าเหลี่ยม ฯลฯ จนพอโตขึ้น ได้มาเรียนเรขาคณิตในวิชาคณิตศาสตร์ตอน ป.6 นั่นแหละก็เลย Get แจ่มแจ้งเลยว่าตัวเลขพวกนี้มาได้ยังไง ซึ่งสำหรับผมแล้ว วิชาคอม ฯ เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงเนื้อหาความรู้วิชาอื่น ๆ ในระดับสูง ๆ ขึ้นต่อมาได้อย่างดีมาก ๆ เช่น ได้รู้ศัพท์ภาษาอังกฤษและสถานการณ์การใช้จริง ได้เห็นการนำคอนเซ็ปต์ต่าง ๆ ในวิชาเลขมาประยุกต์ใช้ พื้นฐานฟิสิกส์มัธยมปลาย อย่างเรื่องการกระจัดนี่ก็ได้พื้นมาจากภาษา Logo นี่เหมือนกัน

การวาดภาพสี่เหลี่ยมขนาด 100×100 ในโปรแกรมภาษา LOGO

อย่างตอน ม.ต้น ผมก็นั่งเขียนเกมบาสเกตบอลกันกับเพื่อน ก็พยายามเขียนให้ลูกบาสมันเคลื่อนที่ลงห่วงแบบสมจริงนะ ปรับค่าต่าง ๆ นานมาก จนพอจะดูสมจริงอยู่ แต่ก็ยังทำได้ไม่ค่อยดีนัก ปรับแรงโยนอะไรนิดหน่อยก็ดูเพี๊ยนละ แต่พอผมโตขึ้นได้มาเรียนฟิสิกส์ ม.ปลาย  มารู้จักเรื่องการเคลื่อนที่แบบโพรเจกไทล์ ได้รู้ว่าลูกบาสมันเคลื่อนที่แบบนี้แหละ ถ้าเขียนโปรแกรมต้องใช้สมการลักษณะนี้ โอ้โห คราวนี้กลับไปแก้โปรแกรมแป๊บเดียวแล้วได้ออกมาดูสมจริงเลย จะโยนเบาโยนแรงก็ยังสมจริง เฮ้ย ฟิสิกส์มันดีอย่างนี้นี่เอง! นี่แหละ คอนเซ็ปต์เหล่านี้มันเชื่อมโยงกัน คือวิชาคอมพิวเตอร์ทำให้เกิดการเชื่อมโยงกันของความรู้วิชาต่าง ๆ ทำให้เกิดความ “อิน” เกิด “ฉันทะ” เกิดความเข้าใจที่แท้จริงมากกว่าการท่องเฉย ๆ ไปตามเนื้อหาในชั้นเรียน

ผมจึงมองว่าวิชาคอมพิวเตอร์เป็นประโยชน์จริง ๆ และเมื่อมีการปรับมาเป็นวิชาวิทยาการคำนวณ (Computing Science) ของหลักสูตรใหม่นี้ วิชานี้จะช่วยฝึกให้เด็ก ๆ รู้จักคิดอย่างเป็นระบบ มีตรรกะ สามารถฟังหรืออ่านเนื้อหาความรู้ใหม่ ๆ แล้วนำมาวิเคราะห์สังเคราะห์ รวมเข้ากับความรู้เก่าได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งโดยส่วนตัวผมเชื่อนะว่า ทักษะพวกนี้เป็นทักษะที่เด็กเก่ง เด็ก “Bright” มีกันทุกคน คือ เขาถึงฟังเนื้อหาในห้องเรียนรอบเดียวแล้วเข้าใจ แทบไม่ต้องทบทวน เห็นโจทย์ข้อสอบแล้วก็ตีโจทย์แตกได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องพึ่งพาสูตรหรือวิธีลัด ซึ่งที่เขาทำได้ก็เพราะเขาคิดได้อย่างเป็นระบบ

ดังนั้น วิชาวิทยาการคำนวณนี้จะช่วย leverage (ดึงศักยภาพ) ให้เด็กไทยทุกคนมีทักษะในการเรียนรู้ที่ดี ใช้เวลาในการเรียนได้ดี เด็กที่เคยอ่อนก็กลายเป็นเก่งได้ เด็กเก่งอยู่แล้วก็เก่งยิ่งขึ้น

สอนลูกเขียนโปรแกรม: ในฐานะที่ประสบความสำเร็จด้านการเรียนและอาชีพ  คิดว่าอะไรเป็นแรงจูงใจให้คนเราเรียนได้สำเร็จ

จากที่ได้สอนนิสิตมหาวิทยาลัยพบว่า หากเขามีความตั้งใจและชอบในวิชาเรียน ไม่ว่าเนื้อหาวิชาจะยาก หรือจะให้งานมากแค่ไหน เขาก็จะทำสำเร็จและทำได้ดี เช่นเดียวกัน ไม่ว่าคุณจะเป็นเด็กเรียนเก่งหรือไม่ หากคุณมีฉันทะ (ความพอใจ/ความชอบ) เป็นที่ตั้ง แม้ว่าจะเจองานที่ลำบากขนาดไหน คุณก็จะพยายามทำงานนั้นให้ได้และให้ดี คุณจะอิน จะใช้เวลากับมัน  ลงมือทำมันโดยไม่ต้องให้ใครมาบังคับ แล้วพอคุณทำสำเร็จได้ ก็จะเกิดความฟิน คือเกิดความภาคภูมิใจในตนเองที่ทำงานได้สำเร็จ

สอนลูกเขียนโปรแกรม: แล้วพ่อแม่จะสนับสนุนให้ลูกมีความสุขกับการเรียนได้อย่างไร

พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรเปิดโอกาสให้ลูกหลานได้ค้นหาตัวเอง ได้ทำกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อให้เขาได้ค้นหาความชอบที่แท้จริงของเขา บางกิจกรรมเช่นการเล่นเกมส์ อ่านการ์ตูน ดูหนัง อาจจะดูไร้สาระ แต่จริง ๆ แล้ว ผู้ใหญ่สามารถใช้มันเปิดช่วยเปิดโลกทัศน์ของเด็กได้ ให้เขารู้จักค้นหาและเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จนในที่สุดพอเขาค้นพบแล้วว่าเขาสนใจอะไร ชอบอะไรจริง ๆ เราก็แนะนำให้เขาใช้สิ่งนั้นแหละเป็นจุดเริ่มต้นหรือเป็นตัวจุดชนวน ที่จะทำให้เขามีความพยายามในการทำเรื่องอื่น ๆ ให้สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียน เรื่องงาน หรือเรื่องอื่น ๆ ก็ตาม

“ใช้ความชอบมาเป็นตัวจุดชนวนให้มีความพยายามทำมันให้สำเร็จ”

เทคนิคนึงที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง สามารถนำมาใช้ได้ คือ “gamification” โดยเปลี่ยนการเรียนรู้และกิจกรรมอื่น ๆ ให้มีองค์ประกอบเหมือนเกม นั่นคือ ให้มีกฎเกณฑ์ มีความท้าทายและน่าสนใจ มีคะแนน มีการแข่งขัน ซึ่งเทคนิคนี้จะทำให้การเรียนรู้มีสีสันมากขึ้น ช่วยกระตุ้นการรับรู้ของเด็ก

ดร.เพียว ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า วิชา Computing Science และการเรียนเขียนโปรแกรมนั้น นอกจากจะช่วยพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบให้แก่เด็ก ๆ และเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงเนื้อหาความรู้วิชาอื่น ๆ ในระดับสูงได้แล้ว วิชานี้ยังช่วยเตรียมความพร้อมให้แก่เด็ก ๆ ที่สนใจในอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี เช่น วิศวกรซอฟต์แวร์ (Software Engineer) นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) และผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยี (Technology Entrepreneur) ซึ่งล้วนเป็นอาชีพยอดฮิตรายได้สูง ที่ตลาดงานทั่วโลกต้องการและจะต้องการมากขึ้นไปอีกในอนาคต เป็นอาชีพที่ทำแล้วรู้สึก “ฮึกเหิม” เพราะเมื่อเราพัฒนานวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ออกมาแล้วจะเห็นผลและประโยชน์ได้ชัดเจน มี Impact สูง ขยายผลสู่สังคมวงกว้างได้เร็ว

ได้ฟังอย่างนี้แล้วเชื่อได้เลยว่า วิชาวิทยาการคำนวณ (Computing Science) นี้ จะเป็นกุญแจแห่งการเรียนรู้ เปิดโลกแห่งการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ให้แก่ลูก ๆ ได้แน่นอนค่ะ

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular

Recent Comments