Homeสอนลูกเขียนโปรแกรมพัฒนาสมอง7 เทคนิคพัฒนาสมอง...สร้างลูกให้เป็นเด็กอัจฉริยะ

7 เทคนิคพัฒนาสมอง…สร้างลูกให้เป็นเด็กอัจฉริยะ

หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการสร้างลูกให้เป็นเด็กฉลาด ความจำดี มีกระบวนการคิดที่ดี และเป็นเด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์ สอนลูกเขียนโปรแกรม By Dek-D มี 7 เทคนิคพัฒนาสมองจากอาจารย์พรพิไล เลิศวิชา นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการเรียนรู้โดยสอดคล้องกับการทำงานของสมอง เมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย  (สกว.) และผู้เขียนหนังสือออกแบบกระบวนการเรียนรู้โดยเข้าใจสมองมาแนะนำค่ะ

อาจารย์พรพิไล เลิศวิชา นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการเรียนรู้โดยสอดคล้องกับการทำงานของสมอง และเมธีวิจัยอาวุโส (สกว.)

1. สมองเรียนรู้ได้ดีเมื่อผ่านการปฏิบัติ 

เด็กๆ กำลังเรียนทักษะการคิด ด้วยการนำดินน้ำมันมาปั้นเป็นลูกกลมๆ เพื่อสร้างบ้านและคอนโด

การเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ นอกจากจะช่วยเรื่องความจำแล้ว การลงมือปฏิบัติจะช่วยเสริมสร้างการคิดและวิธีคิด และผู้เรียนยังได้มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นด้วย นอกจากนี้การเรียนที่ลงมือปฏิบัติมักเป็นการเรียนรู้ที่มีเป้าหมายชัดเจน ผู้เรียนจะต้องไปถึงเป้าหมาย ดังนั้น “ความตั้งใจ” จะเกิดขึ้นอัตโนมัติระหว่างกระบวนการเรียนรู้ เช่น

  • ในห้องทดลองปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์
  • การทำโครงงานต่างๆ
  • การลงสนามในพื้นที่
  • การสร้างวัสดุ อุปกรณ์ชิ้นงานต่างๆ
  • การลงมือปฏิบัติการในกิจกรรมการเรียนรู้ เช่น การตัด การวัด การผสม การวาด การนับ
  • การเขียนเรียงความ เขียนบรรยาย เขียนบทกลอน เกี่ยวกับเรื่องที่เรียน และความนึกคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เรียน

2. สมองเรียนรู้ได้ดีเมื่อข้อมูลที่เรียนมีลักษณะเข้มข้น (Intensity)

เด็กๆ กำลังเรียน การนับ เช่น นับเรียงลำดับ นับข้าม นับถอยหลัง นับทีละ 5 จำนวนที่มาก่อน จำนวนที่มาหลัง ผ่านตารางร้อย

ข้อมูลที่มีความแตกต่างไปจากเดิม ข้อมูลที่ไม่ซ้ำซาก ไม่จำเจ จะถูกเรียกว่าข้อมูลที่มีลักษณะเข้มข้น ซึ่งข้อมูลที่มีความเข้มข้นจะช่วยกระตุ้นให้เด็กสามารถเรียนรู้และจดจำเนื้อหาที่เรียนได้ดีขึ้น

  • หากนักเรียนเรียนเรื่องประโยคในภาษาไทย การเรียนที่เขียนไปบนกระดานจะเป็นข้อมูลที่มีลักษณะไม่เข้มข้น แต่หากลองใช้สีเมจิก 3 สี เขียนโดยการแบ่งเป็น 3 ช่อง ช่องแรกเป็นประธาน ช่องที่สองเป็นกริยา และช่องที่สามเป็นกรรม การที่เด็กจะสามารถแยกข้อมูลออกมาเป็น 3 สี นั่นก็เป็นการจัดระเบียบข้อมูลที่มีลักษณะเข้มข้น ซึ่งการเรียนรู้แบบนี้เด็กก็จะสนุก และทำให้ความเข้าใจง่ายมากขึ้น
  • การเรียนเรื่องอักษรสูงกลางต่ำ ก็อาจจะเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ด้วยการใช้ลูกบอล 3 สี มาติดเป็นอักษรชนิดเดียวกัน ก่อนจะนำมาใส่ไว้ในตะกร้า ซึ่งการทำแบบนี้ก็ทำให้ข้อมูลที่เรียนรู้มีลักษณะน่าตื่นเต้น ก็จะทำให้ดึงดูดการเรียนรู้มากขึ้นด้วย

3. สมองเรียนรู้ได้ดีเมื่อท่องจำ-ทำซ้ำ-ฝึกทักษะ

Photo credit : https://www.pexels.com

กระบวนการนี้จะใช้กลไกคือ ออกเสียง ท่องจำ ลงมือทำซ้ำๆ เพราะเจ้าของสมองจะได้ยินเสียงตัวเอง ได้ลงมือ และเห็นสิ่งที่ตัวเองทำ ซึ่งสิ่งที่ปรากฏกลายเป็นข้อมูลย้อนกลับเข้าไปในสมองใหม่อีก เรียกว่าเป็นการลงมือสอนตัวเองด้วยตัวเอง การฝึกทักษะมีหลายวิธีและหลายประเภทของทักษะที่ต้องฝึก ได้แก่

  • การเล่นกีฬา
  • การเล่นดนตรี
  • การฝึกพิมพ์ดีด
  • การเล่นเกม
  • การใช้คอมพิวเตอร์ (เด็กที่ใช้คอมพิวเตอร์จะมีทักษะเกี่ยวกับการอ่านภาพ และการทำงานหลายเรื่องในเวลาเดียวกันสูง)
  • การท่อง
  • การฝึกเขียน

แต่การฝึกทำซ้ำๆ ที่เรียกว่า “ฝึกฝน” ทุกชนิดต้องใช้เวลา ถ้าการใช้เวลาเป็นไปอย่างไม่เหมาะสมอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ รวมทั้งโอกาสที่จะได้อยู่ในกระบวนการเรียนรู้อื่นๆ ก็จะถูกลดลงไปด้วย

4. สมองเรียนรู้ได้ดีเมื่อข้อมูลถูกนำไปเข้ารหัส ทำให้สมอง Encoding ข้อมูลนั้นเข้าไปได้ง่าย

Photo credit : https://www.pexels.com

การนำความรู้ไปเข้ารหัสจะสร้างความจดจำให้กับผู้เรียนได้ง่ายมากขึ้น และการเข้ารหัสจะเป็นการย่อความรู้ให้สั้นขึ้น แต่ไม่ใช่ทุกความรู้จะสามารถนำไปเข้ารหัสได้ นอกจากนี้การเข้ารหัสจำเป็นต้องมีวิธีการเข้ารหัสด้วย ลองมาดูตัวอย่างการเข้ารหัส

  • ชื่อเมืองหลวงของแต่ละประเทศ การจะจำได้ทุกประเทศก็สามารถทำได้โดยการสร้างเสียงสัมผัส อย่างเช่น อังกฤษ-ลอนดอน / ลิสบอน-โปรตุเกส / ฝรั่งเศส-ปารีส / กรีซ-เอเธนส์ / สวีเดน-สต็อกโฮล์ม / โรม-อิตาลี ซึ่งนี่ก็เป็นวิธีที่ใช้ได้ผลดีมาก และสิ่งที่จดจำจะอยู่ในความทรงจำเป็นเวลานาน
  • การเข้ารหัสที่เราคุ้นชินอย่างการจดจำอักษรสูงกลางต่ำ อย่างอักษรกลางเมื่อเข้ารหัสแล้วก็จะได้ “ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่ง” ก็จะทำให้การจดจำง่ายและสามารถจำได้ยาวนานมากขึ้น

5. สมองเรียนรู้ได้ดีเมื่อสมองรับรู้ภาพและเสียงพร้อมกัน

Photo credit : https://www.pexels.com
Photo credit : https://www.pexels.com

ตาของเรามีตัวรับสัมผัสถึง 70% ของตัวรับทั้งหมดในร่างกายและมันจะส่งสัญญาณนับล้านสัญญาณไปยังศูนย์ประมวลการมองเห็น สำหรับเสียงนั้นเป็นข้อมูลที่อยู่รอบตัวเรา เราสามารถรับข้อมูลเสียงได้ทั้ง 360 x 360 ไม่ว่าเราจะทำอะไรอยู่

ส่วนเสียง เป็นคลื่นความถี่ชนิดหนึ่ง ซึ่งสมองรับรู้ได้โดยประสาทหู ถ้าสมองรับรู้เสียงพร้อมกับมองเห็นภาพที่สอดคล้องกันคลื่นเสียงก็จะไปเปลี่ยนแปลงหรือทำให้เกิดสัญญาณอารมณ์ ซึ่งตามมาด้วยการเพิ่มขึ้นของระดับสารเคมีต่างๆ ในสมอง สารเคมีเหล่านี้บางตัวเกี่ยวข้องกับระบบการคิด ความจำในสมอง และมีส่วนทำให้สมองมีประสิทธิภาพมากขึ้นในกระบวนการเรียนรู้

เมื่อสมองรับรู้เสียง ตำแหน่งที่รับรู้ภาษาในสมองจะทำงาน เมื่อสมองรับรู้ภาพ ตำแหน่งที่รับรู้ภาพในสมองจะทำงาน การกระตุ้นสมองสองตำแหน่งพร้อมกันแบบนี้ ทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพ

  • การใช้ภาพมีความจำเป็นมากในการสอนเกี่ยวกับการคิดหรือสัญลักษณ์แทนสิ่งที่เป็นนามธรรม อย่างการสอนเรื่องจำนวนในคณิตศาสตร์

6. สมองเรียนรู้ได้ดีเมื่อสร้างแผนภาพความคิด (graphic organizers)

Photo credit : https://www.pexels.com

แผนภาพเป็นการจัดระบบเชื่อมร้อยความคิดของเราที่กระจัดกระจายขึ้นมาเป็นระบบมีจุดตั้งต้น มีบทลงท้าย และมีกระบวนการชัดเจน  การคิดเป็นแผนภาพจะทำให้สิ่งที่กระจัดกระจายอยู่ถูกจัดระเบียบ ทำให้พัฒนาความคิดขึ้นสู่นามธรรมซับซ้อนได้ แต่ข้อมูลใหม่นั้นกลับปรากฏออกมาบนกระดาษเป็นสิ่งที่ดูคล้ายรูปธรรมใหม่อีกครั้งหนึ่ง เช่น เป็นตาราง เป็นแผนภูมิ เป็นต้น

  • mindmap ที่จริงไม่ใช่เทคนิค แต่ mindmap ก็คือแผนที่แห่งความคิดของคนเรา ตัวเทคนิค mindmap ที่นิยมใช้กันอยู่เป็นเพียงวิธีการ ส่วนเนื้อหาของ mindmap อยู่ในสมองของเราเอง เด็กและผู้ใหญ่สามารถคิดสร้างแผนภาพในสมองโดยที่ยังไม่ได้เรียนวิธีทำ mindmap แต่การเรียนรู้วิธีทำ mindmap ก็ช่วยให้เด็กสามารถทำแผนภาพได้หลากหลายวิธีขึ้น

7. สมองเรียนรู้ได้ดีเมื่อเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ที่คล้ายจริง (สถานการณ์จำลอง)

Photo credit : https://www.pexels.com

สถานการณ์จำลองจะต้องมีลักษณะสำคัญ คือ เหตุการณ์ที่เด็กจะเข้าไปอยู่ในเวลานั้นต้องคล้ายจริงที่สุด

  • สถานการณ์จำลองผ่านการฟัง การอ่านนิทานให้เด็กเล็กฟังจะอยู่ในประเภทนี้ด้วย ก็เพราะระหว่างอ่านนิทานพร้อมชี้ภาพให้เด็กดู เด็กไม่ได้ฟังความหมายของนิทานแต่เด็กจะสร้างจินตนาการไปกับสิ่งที่เห็นและได้ยิน เป็นเสมือนว่าเด็กอยู่ในสถานการณ์จำลองจากจินตนาการที่เด็กสร้างขึ้นมา
  • สถานการณ์จำลองผ่านการลงมือทำ อ่าง การจัดฉาก บทบาทสมมุติ เล่นละคร การเลียนแบบธุรกิจ กิจกรรมที่เป็นกิจวัตรในชีวิต เช่นเปิดบูธขายของ การทำหนังสือพิมพ์ การจัดรายการวิทยุ การทดลองในห้องปฏิบัติการ อย่างการจำลองสถานการณ์ต่างๆ เพื่อหาคำตอบทางวิทยาศาสตร์ การใช้เทคโนโลยีกลไกตอบสนองเลียนแบบ อย่างการฝึกขับเครื่องบินในห้องจำลองขับเครื่องบิน
โดยทั้ง  7 เทคนิคนี้ จะเห็นว่าเป็นเทคนิคใกล้ตัวที่สามารถทำได้จริงโดยไม่ต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมืออะไรมากนัก  และบางเทคนิคคุณพ่อคุณแม่อาจจะเคยนำไปใช้กับลูกๆ อยู่แล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็แค่นำมาปรับใช้กับลูกให้เหมาะสมตามวัยของลูกเท่านั้นเองค่ะ โดยเทคนิคนี้จะนำไปใช้ได้กับเด็กตั้งแต่วัย 2 ขวบครึ่งจนทำงาน แต่ในช่วงเริ่มต้นพ่อคุณแม่อาจจะนำเทคนิคเหล่านี้ไปปรับสอนแบบพื้นฐาน และอาจจะเริ่มต้นเพียงไม่กี่ข้อก่อน เมื่อลูกเข้าสู่ระดับประถมฯ และมัธยมฯ วิธีการนำไปใช้อาจจะต้องมีความเข้มข้นขึ้น และสุดท้ายจะต้องนำเทคนิคทั้งหมดมาผสมรวมกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้การพัฒนาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นค่ะ

และหากจะถามว่าเมื่อพัฒนาสมองด้วยวิธีการเหล่านี้แล้วจะเห็นผลชัดเจนเมื่อไร คำตอบก็คือ หากเป็นเด็กเล็กอาจจะไม่มีความแตกต่างมากนัก แต่จะเห็นความต่างของเด็กอย่างชัดเจนในเด็กวัย  7 ขวบ เห็นความต่างอย่างเด็ดขาดในเด็ก 9 ขวบ และจะเป็นเด็กที่มีความโดดเด่นอย่างมากหรืออาจจะเรียกว่าเด็กอัจฉริยะในช่วงมัธยมฯ ค่ะ

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular

Recent Comments