Home สอนลูกเขียนโปรแกรม วิทยาการคำนวณ รู้จักวิชา “วิทยาการคำนวณ” วิชาบังคับใหม่ ที่เริ่มเรียนตั้งแต่ปี 2561 นี้

รู้จักวิชา “วิทยาการคำนวณ” วิชาบังคับใหม่ ที่เริ่มเรียนตั้งแต่ปี 2561 นี้

0
25980

เทอมใหม่ปี 2561 นี้ คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้จักวิชาใหม่ “วิทยาการคำนวณ” ที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศให้เป็นวิชาบังคับใหม่กันแล้วนะคะ ลูกหลานใคร ชั้นเรียนไหน ต้องเจอ ต้องเรียนอะไรบ้าง เรามีคำตอบค่ะ

รองศาสตราจารย์ ยืน ภู่วรวรรณ วิทยาการคำนวณ
รองศาสตราจารย์ ยืน ภู่วรวรรณ

เพื่อให้รู้ลึกถึงที่มาที่ไปของวิชานี้ “สอนลูกเขียนโปรแกรม” ได้สัมภาษณ์รองศาสตราจารย์ ยืน ภู่วรวรรณ ที่ปรึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ และที่ปรึกษาของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาหลักสูตร วิทยาการคำนวณ

โดย รศ.ยืน เล่าถึงความเป็นมาของวิชานี้ว่า แต่เดิมก็คือ วิชาเทคโนโลยี หรือที่เรารู้จักกันในนามวิชาคอมพิวเตอร์ ที่เป็นวิชาพื้นฐานในกลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี จุดประสงค์เดิมของวิชาก็เพื่อส่งเสริมทักษะอาชีพด้านคอมพิวเตอร์ให้แก่นักเรียนเป็นหลักเท่านั้น

วิชาวิทยาการคำนวณแต่ในโลกยุคดิจิทัล เด็กรุ่นใหม่เป็น digital native ที่สามารถใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ได้เองแม้แทบไม่มีใครสอน ดังนั้นคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีหรือเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ รอบตัวเรา จึงมิใช่แค่เครื่องมือในการประกอบอาชีพใดอาชีพหนึ่งเท่านั้นอีกต่อไป แต่ทุก ๆ คนต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อการดำรงชีวิต อย่างข้อมูลที่ปรากฎมากมายบนไทมไลน์โซเชียลมีเดียต่าง ๆ ลูกของเราต้องสามารถประเมินได้ว่าเป็นข่าวจริงหรือเท็จ เว็บที่ให้กรอกข้อมูลส่วนที่เจอตอนทำรายงานเป็นเว็บหลอกลวงหรือไม่ เนื้อหามากมายที่เจอบนอินเทอร์เน็ตนำไปใช้ทำงานแล้วขายต่อได้ไหม ผิดกฎหมายไหม ฯลฯ ดังนั้นจึงต้องมีการปรับปรุงวิชาให้สามารถตอบโจทย์การดำรงชีวิตของทุกคนได้ และตอบโจทย์ต่อการพัฒนาประเทศอีกด้วย

วิทยาการคำนวณ

วิชานี้จึงไม่ควรสอนแค่การใช้ “เครื่องมือหรืออุปกรณ์” แต่ต้องสอนเด็ก ๆ ให้มีทักษะชีวิต และทักษะชีวิตที่ว่านี้ก็คือ “กระบวนการคิดและแก้ไขปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์” ค่ะ นี่จึงเป็นที่มาของวิชา ที่เน้นการสอนทักษะกระบวนการคิดและแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวัน และสอนให้ลูกของเรารู้จักการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีนี้อย่างเหมาะสมเป็นประโยชน์ต่อตนเอง โดยไม่ทำร้ายผู้อื่นและสังคม และยังสามารถนำทักษะต่อยอดไปสู่การประกอบอาชีพใด ๆ ในอนาคตได้

ผนวกเดช สุวรรณทัต วิทยาการคำนวณ
อาจารย์ผนวกเดช สุวรรณทัต

นอกจากนี้ยังได้สัมภาษณ์ อาจารย์ผนวกเดช สุวรรณทัต จากสถาบันการเรียนรู้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้ร่วมปรับปรุงหลักสูตรและร่างแบบเรียนวิชาวิทยาคำนวณระดับประถมศึกษา อ.ผนวกเดช กล่าวว่าวิชานี้ย้ายมาอยู่ในกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ เนื่องจากเห็นว่ากระบวนการคิดของมนุษย์นั้น ควรมีขั้นตอนการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งเป็นหลักการของกระบวนการทางวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว โดยวิธีการเรียนการสอนจะเน้นการนำรูปแบบของโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาสอนเด็กอย่างเหมาะสมตามพัฒนาการแต่ละวัย เด็กเล็กจะเน้นสื่อการเรียนรู้ประเภท unplugged เช่น แบบฝึกหัด การ์ดคำสั่ง บอร์ดเกม และค่อยๆ ปรับสื่อการเรียนรู้ให้เหมาะสมขึ้นตามระดับชั้นปี อย่าง ป.4 ให้เรียนเขียนโปรแกรมอย่างง่ายผ่าน Scratch เป็นต้น

วิชาใหม่ “วิทยาการคำนวณ” นี้จะเริ่มการเรียนการสอนในปีการศึกษาแรกของปี 2561 ที่จะถึงนี้ โดยเริ่มที่ชั้นเรียนแรกของแต่ละช่วงชั้นก่อน ได้แก่ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โดยทาง สสวท. ได้วางแผนวิชา ออกแบบหนังสือเรียน แบบฝึกหัด คู่มือครู และมีการจัดการอบรมครูในรายวิชาใหม่นี้แล้ว และจะเปิดสอนให้ครบ 12 ชั้นเรียนทั้งประถมและมัธยมในปีต่อ ๆ ไป รวมถึงอาชีวศึกษา การศึกษานอกระบบโรงเรียน และการศึกษาทางเลือกอื่น ๆ ในอนาคตอีกด้วย

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าวิชานี้ ก็คือวิชาคอมพิวเตอร์ที่มีจุดประสงค์ใหม่ ที่ไม่ใช่เพียงเพื่อให้เด็กใช้คอมพิวเตอร์ในอาชีพใดอาชีพหนึ่งเท่านั้น แต่เพื่อให้เด็กใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตัวเองให้ได้ทั้งทักษะการคิดและทักษะฝีมือ เป็นวิชาเพื่ออนาคต เพื่อการเติบโตต่อไปตลอดชีวิตของลูก ๆ เราค่ะ มาเตรียมพร้อมรับมือกับวิชาใหม่นี้ไปพร้อมกันนะคะ

บทความที่เกี่ยวข้อง