ตอนนี้เด็กไทยเริ่มพกโน้ตบุ๊ก (คอมพิวเตอร์พกพา; laptop) หรือแท็บเล็ตไปเรียน ไปอัดเสียง และไปจดโน้ตที่ครูสอนบ้างแล้วใช่ไหมคะ ที่ต่างประเทศนักเรียนและนักศึกษาก็นิยมพกโน้ตบุ๊กไปเรียนเหมือนกันค่ะ เขานิยมจดโน้ตด้วยการพิมพ์ต๊อก ๆ แต๊ก ๆ เป็นเรื่องปกติในชั้นเรียนเลยค่ะ ซึ่งก็ทำให้นักวิจัยบ้านเขาเกิดความสงสัยว่า การจดบันทึกด้วยมือลงบนกระดาษตามวิถีดังเดิมกับการพิมพ์ในโน้ตบุ๊กแบบไหนมันได้ผลและดีต่อการเรียนรู้จดจำมากกว่ากัน
การศึกษาที่ว่านี้มาจาก the Journal of Psychological Science โดยคุณ Pam A. Mueller แห่งมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ( Princeton University) และคุณ Daniel M. Oppenheimer จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียลอสแอนเจลิส (University of California, Los Angeles: UCLA)
ผู้วิจัยอธิบายว่า เมื่อคนเราเริ่มจดบันทึก จะมีแนวโน้มว่าจะพยายามจดทุกคำทุกประโยคที่ได้ยินให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะจดได้ก็จริง แต่การจดด้วยมือก็ยังต้องมีการจับใจความและเลือกจดเฉพาะประเด็นตามความเข้าใจของตัวเองอยู่ดี เพราะมือไม่สามารถจดทุกอย่างได้ทันก็ต้องสรุปเองให้สั้นเข้าไว้ ซึ่งการจดตามความเข้าใจของตัวเองนี่แหละที่ได้ผลดีมากกว่า
ผู้วิจัยได้แบ่งรูปแบบคนจดบันทึกออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ (1)คนที่จับใจความแล้วจดด้วยสำนวนของตัวเอง คือมีการสรุปความ เรียบเรียงข้อความ และสร้างความคิดรวบยอดของตัวเอง และ (2)คนที่พยายามจดทุกอย่างทุกคำที่ได้ยินไปตรง ๆ เลย แต่โดยทั่วไปแล้วคนที่คุ้นชินกับการใช้คอมพิวเตอร์จะพิมพ์เร็วกว่าเขียนมือ ดังนั้นการใช้โน้ตบุ๊กจะทำให้คนเราจดทุกสิ่งที่ได้ยิน มากกว่ามานั่งจับใจความสำคัญ แล้วค่อยเขียนลงไปบนกระดาษ
ผู้วิจัยจึงตั้งสมมติฐานว่าน่าจะมี 2 ประการที่สำคัญในกระบวนการจดบันทึก คือ “การจับใจความข้อมูล” และ “การทบทวนข้อมูล” ซึ่งพอเป็นการจดบันทึกด้วยมือ คนจดจะต้องจับใจความก่อนแล้วค่อยจด จึงอาจจะจดเนื้อหาได้ไม่ครบถ้วนทั้งหมด แต่คนจะจำเรื่องที่ตัวเองจดไว้ได้ แม้ไม่ได้ทบทวนข้อมูลใด ๆ ในขณะเดียวกันการพิมพ์ในโน้ตบุ๊กจะทำให้เก็บเนื้อหาส่วนใหญ่ไว้ได้ และสามารถกลับมาทบทวนได้ทั้งหมด แต่ก็อาจไม่ได้จับใจความหรือทำความเข้าใจเนื้อหา เพราะมัวเพ่งแต่การเก็บข้อมูล วิธีการจดแต่ละแบบจึงดูน่าจะมีข้อดีต่างกัน
ดังนั้นผู้วิจัยจึงตั้งประเด็นไว้อีกว่า ในเมื่อโน้ตบุ๊กมันจดได้ทุกอย่าง ก็น่าจะมีเป็นข้อดีที่พอลบข้อด้อยในแง่การไม่ทันจับใจความสำคัญของเนื้อหาก็ได้ เพราะยังสามารถกลับไปอ่านทบทวนได้ทั้งหมด แต่ผลลัพธ์ก็ยังบ่งบอกว่า “จดด้วยมือดีกว่า” ตามนี้ค่ะ
ผู้วิจัยแบ่งนักศึกษาออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่จดด้วยโน้ตบุ๊กและจดด้วยมือ ในการเก็บข้อมูลครั้งแรกผู้วิจัย เปิด TED talks ให้นักศึกษามหาวิทยาลัยดู 15 นาที และครึ่งชั่วโมงต่อมาก็ให้ตอบคำถามจากการดูรายการนั้น ผู้วิจัยพบว่านักศึกษาที่ใช้โน้ตบุ๊ก สามารถจดบันทึกได้มากกว่าคนใช้มือ และเมื่อทดสอบว่าจำข้อมูลได้แค่ไหน ก็พบว่าหากเป็นคำถามประเภทคีย์ความจำข้อเท็จจริง เช่น วันเดือนปีที่เกิดเหตุ ทั้งคนที่จดด้วยโน้ตบุ๊กและจดด้วยมือก็ตอบได้เท่า ๆ กัน แต่พอเป็นคำถามประยุกต์เชิงสรุปความคิดรวบยอดหรือความเห็น เช่น ญี่ปุ่นกับสวีเดนมีความแตกต่างกันอย่างไรในแง่ความเท่าเทียมทางสังคม ฝั่งใช้มือจดสามารถตอบสาระประเด็นได้ถูกต้องมากกว่า แสดงว่าฝั่งใช้มือจดมีความเข้าใจในเนื้อหามากกว่าค่ะ
และในการเก็บข้อมูลครั้งที่สอง แม้ว่าจะมีการบอกนักศึกษาที่ใช้โน้ตบุ๊กก่อนว่า อย่าพยายามจดทุกอย่างลงในบันทึกก็ตาม แต่ผลลัพธ์ก็ยังเหมือนเดิม
นักวิจัยกล่าวว่า “แม้จะบอกว่าอย่าจดทุกคำแล้วก็ตาม แต่คนใช้โน้ตบุ๊กก็ยากที่จะไปจดแบบวิถีดังเดิม” ยังคงพบว่าคนใช้คอมฯ ยังพิมพ์ตามทุกคำมากกว่าจะจับใจความและจดตามความเข้าใจของตนเองอยู่ดี และพอให้ตอบคำถามทดสอบก็ยังทำได้ดีน้อยกว่าคนใช้มือจดเช่นเดิม ยิ่งเป็นตัวพิสูจน์ว่า คนจดโน้ตด้วยมือก็ยังเรียนรู้ได้เข้าใจมากกว่า เพราะมีการจับใจความสำคัญของเนื้อหาที่เรียนได้ดีกว่า
แต่ประเด็นสำคัญที่ผู้วิจัยพบเลยคือ “ช้า ๆ ได้พร้าสองเล่มงาม” แม้ว่าคนที่ไม่ใช้คอมฯ และจดโน้ตด้วยมือ จะจดได้ช้ากว่าพิมพ์คอมฯ ก็ตาม แต่ก็จะจำได้ในระยะยาวมากกว่า และก็มีแนวโน้มว่าจะไม่ถูกรบกวนจากโซเชียลมีเดีย อย่าง Facebook ที่อาจเด้งเตือนดึงความสนใจขณะกำลังเรียนอีกด้วย (ลองเลื่อนกลับไปดูภาพชั้นเรียนรูปแรกของบทความนี้นะคะ หากสังเกตในภาพนี้ดี ๆ คนที่ใช้โน้ตบุ๊กในห้องเรียนใช้ Facebook อยู่จริง ๆ ด้วยค่ะ >//< )
การจดบันทึกด้วยมือ
เป็นการลงรหัสความรู้ใหม่ใส่สมอง
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยอีกเรื่องหนึ่งที่บอกว่ากระบวนการจดบันทึกด้วยมือตัวเองนั้น จะช่วยกระตุ้นสมองส่วน Reticular Activating System (RAS) ที่เป็นตัวกรองข้อมูลที่เรากำลังได้ยินได้ฟังให้ส่งไปยังสมองส่วนรับรู้และจดจำได้ ดังนั้น การจดบันทึกด้วยมือจะทำให้เราจดจ่อกับสิ่งที่กำลังเรียนรู้ ได้ความรู้ใหม่ และจำข้อมูลได้จริง
อย่างไรก็ดีเทคโนโลยีเองก็มีการปรับตัวตลอด มีนวัตกรรมการจดโน้ตเสมือนจริง มีสไตลัส (ปากกาที่เขียนบนแท็บเล็ตหรือโทรศัพท์มือถือ) ที่เหมือนปากกาจริง ๆ มากขึ้น เจ้าเทคโนโลยียังคงพัฒนาเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับการเรียนรู้ของผู้คนอยู่ตลอด
แต่ก็นั่นแหละค่ะ ถึงแม้เทคโนโลยีจะมีประโยชน์มากมายสุดคณานับและรวดเร็วกว่ามากก็จริง เราก็ยังต้องเลือกใช้ให้ถูกกับงานกับโอกาสอีกด้วย บางครั้งวิถีดังเดิมก็ยังได้ผลดีกว่า เหมาะกับพัฒนาการของมนุษย์มากกว่า ความดั้งเดิมไม่ใช่อะไรที่ด้อยคุณค่าแม้ยุคสมัยจะเดินหน้าไปเรื่อยๆ ก็ตาม…เนอะ !
_________________________
ข้อมูลอ้างอิง
– lifehacker.com/5738093/why-you-learn-more-effectively-by-writing-than-typing
– npr.org/2016/04/17/474525392/attention-students-put-your-laptops-away
– theguardian.com/science/2014/dec/16/cognitive-benefits-handwriting-decline-typing