เพื่อให้เยาวชนสิงคโปร์ก้าวเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า “Smart Nation” หรือยุคที่สิงคโปร์จะเป็นประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีอย่างสมบูรณ์แบบ มีการตั้งเป้าว่าทุกๆ ระบบในชีวิตประจำวันจะขับเคลื่อนไปด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล นายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง จึงวางนโยบายในการส่งเสริมให้เด็กได้เรียนเขียนโปรแกรมตั้งแต่อายุน้อยๆ เขาพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า “เราต้องสนับสนุนให้เด็กที่เก่งและสนใจในด้านนี้ สามารถต่อยอดความรู้ไปได้ไกลและพัฒนาพรสวรรค์ด้านไอทีของพวกเขาในโรงเรียนได้”
เน้นให้การเขียนโปรแกรมเป็นหลักสูตรพิเศษ ใน 19 โรงเรียนมัธยม
สิงคโปร์ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยเฉพาะในด้านวิทยาศาสตร์ ยืนยันได้ชัดเจนจากผลสอบ PISA หรือโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programme for International Student Assessment-PISA) ในปี 2559 ที่สิงคโปร์ได้คะแนนสูงสุดทั้งในการวัดผลการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ สามารถเอาชนะเด็กในกลุ่มอายุ 15 ปี ที่เข้าร่วมการประเมินผลกว่า 70 ประเทศ ทั่วโลก
เพื่อรักษามาตรฐานการศึกษาให้ดีและยั่งยืน รัฐบาลสิงคโปร์จึงวางแผนในการส่งเสริมความพร้อมด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะแห่งอนาคตอย่างการเขียนโปรแกรม และทักษะการคิดเชิงคำนวณซึ่งเป็นผลดีต่อการคิดเชิงวิเคราะห์ของเด็กในระยะยาว โดยในปี 2560 กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ประกาศให้มีการเรียนการสอนวิชาวิทยาการคำนวณสำหรับนักเรียนระดับมัธยม 3 ในโรงเรียน 19 แห่ง ทั่วประเทศ และบรรจุเป็นวิชาหนึ่งในการสอบ O levels ซึ่งเป็นการสอบที่สำคัญมากในระบบการศึกษาของสิงคโปร์ นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาแล้วจะต้องสอบ O level เพื่อเรียนต่อในหลักสูตร 2 ปี(Junior Colleges) ซึ่งเป็นหลักสูตรการศึกษาก่อนเข้ามหาวิทยาลัย
แต่การสอนวิชาวิทยาการคำนวณในสิงคโปร์ยังไม่เรียกว่าเป็นวิชาบังคับ บทบาทของวิชานี้เป็นเหมือนหลักสูตรพิเศษในโรงเรียน เช่นเดียวกับการเรียนดนตรีและบัลเล่ต์ นอกเหนือจากโรงเรียน 19 แห่ง ที่บรรจุวิชาวิทยาการคำนวณไว้ในหลักสูตรการสอนแล้ว โอกาสที่เด็กทั่วไปจะได้เรียนวิชานี้อีกทางหนึ่ง คือการเข้าร่วมกิจกรรมของชมรมด้านสารสนเทศและการสื่อสาร (infocomm) ที่ส่งเสริมให้เรียนเขียนโปรแกรม หรือการประยุกต์ความรู้ด้านวิทยาการคำนวณไว้ในการสอนวิชา Stem (Science Technology Engineering and Mathematics Education) กระทรวงศึกษาธิการของสิงคโปร์ได้วางวัตถุประสงค์ของวิชาวิทยาการคำนวณไว้อย่างชัดเจน คือไม่ได้เป็นเพียงวิชาที่เน้นการสอนเขียนโปรแกรมเพียงอย่างเดียว แต่มากกว่านั้นคือการสอนให้เด็กมีทักษะด้านการคิดเชิงคำนวณ ซึ่งจะช่วยให้เด็กคิดอย่างมีตรรกะและแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ในขณะเดียวกันวิชานี้ยังสอนเกี่ยวกับความปลอดภัยและจริยธรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศควบคู่ไปด้วย
“ทักษะในการคิดเชิงคำนวณ และการคิดอย่างมีตรรกะจะช่วยให้เด็กนำไปปรับใช้ได้กับทุกวิชา ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ “
ได้มีการอบรมครูเพื่อให้พร้อมในการสอนวิชานี้ โดยได้ รศ.เบ็น เหลียง ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาการคำนวณจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ มาช่วยอบรมความรู้เรื่องโปรแกรมภาษาไพธอน (Python) ให้ครูระดับมัธยมต้นกว่า 40 แห่ง ในปี 2560 และจะอบรมเพิ่มเติมให้กับครูระดับวิทยาลัยชุมชนต่อไป รศ.เบ็น ได้ให้เหตุผลว่า ออกจะเป็นเรื่องยากที่จะหาครูผู้สอนที่มีคุณภาพได้ในเวลาอันรวดเร็ว จึงต้องเตรียมความพร้อมให้กับครูผู้สอนเหล่านี้ไว้แต่เนิ่นๆ
ไม่เพียงแต่ทักษะด้านการเขียนโปรแกรมเท่านั้นที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญ หนึ่งในทีมผลิตหลักสูตรวิชาวิทยาการคำนวณของกระทรวงศึกษาธิการ ยังเน้นถึงความสำคัญของการส่งเสริมการคิดเชิงคำนวณให้กับเด็กๆ โดยสรุปว่า “ทักษะในการคิดเชิงคำนวณ และการคิดอย่างมีตรรกะจะช่วยให้เด็กนำไปปรับใช้ได้กับทุกวิชา ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์”
ส่งเสริมการใช้ไมโครบิต และภาษาโปรแกรมหลากหลาย เพื่อวางรากฐานอนาคต
นอกจากกระทรวงศึกษาธิการจะส่งเสริมเรื่องการเรียนวิชาวิทยาการคำนวณแล้ว กระทรวงสื่อสารและสารสนเทศของสิงคโปร์ยังทุ่มงบประมาณในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ โดยช่วงต้นปี 2560 ดร.ยาคอป อิบบราฮิม รัฐมนตรีของกระทรวงสื่อสารฯ ได้แถลงเกี่ยวกับโครงการ Digital Maker Programme ซึ่งมีแผนงบประมาณจำนวน 3 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้การเขียนโปรแกรมขั้นพื้นฐาน โดยรัฐบาลจะนำงบประมาณนี้จัดซื้อไมโครบิต(micro:bits) จำนวน 100,000 เครื่อง กระจายไปตามโรงเรียนต่างๆ ในช่วงปี 2561-2562 เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ในการสอนเขียนโปรแกรมขั้นพื้นฐาน
การแจกไมโครบิตให้แก่นักเรียนนั้นเป็นยุทธศาสตร์อย่างหนึ่ง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของนักเรียนให้พร้อมปรับตัวสู่ยุคดิจิทัล
ไมโครบิตเป็นบอร์ดอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการศึกษา ประกอบไปด้วยแผงวงจรขนาดเล็ก มีหน้าจอไฟ LED มีปุ่มกดเพื่อตั้งโปรแกรม บลูทูธ รวมทั้งระบบเซ็นเซอร์ เรียกว่าเป็นคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กที่ช่วยให้เด็กๆ เริ่มเรียนเขียนโปรแกรมเบื้องต้นได้ สิงคโปร์เลือกไมโครบิตเพื่อส่งเสริมให้เด็กเริ่มต้นฝึกเขียนโปรแกรม เช่นเดียวกับอังกฤษ อเมริกา แคนาดา เบลเยี่ยม เดนมาร์ก และอีกหลายประเทศ ด้วยเหตุผลที่ว่าระบบนี้ราคาไม่แพง เพียงชุดละ 30 ดอลล่าร์ (ประมาณ 940 บาท) และมีความยืดหยุ่นในการใช้งาน โดยนาย คุง ฮอก ยุน ผู้ช่วยผู้บริหารระดับสูงของ Infocomm Media Development Authority of Singapore (IMDA) หน่วยงานรัฐบาลของสิงคโปร์ที่ดูแลเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ กล่าวว่า การแจกไมโครบิตให้แก่นักเรียนนั้นเป็นยุทธศาสตร์อย่างหนึ่ง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของนักเรียนให้พร้อมปรับตัวสู่ยุคดิจิทัล
นอกจากนั้น IMDA ได้ทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่กลางปี 2558 ในการนำร่องหลักสูตรพิเศษชื่อ “Code for Fun” เข้าสู่โรงเรียน โดยเป็นการให้ความรู้พื้นฐานเรื่องหุ่นยนต์ เช่น Lego Wedo และ MoWay รวมทั้ง Arduino (เป็นบอร์ดไมโครคอนโทรลเลอร์ หรืออุปกรณ์ควบคุมขนาดเล็กที่บรรจุความสามารถที่คล้ายคลึงกับระบบคอมพิวเตอร์) โปรแกรมเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในโรงเรียนประถมและมัธยมต้น 128 แห่ง ส่งผลให้นักเรียนราว 56,000 คน ได้รับการอบรมทักษะการเขียนโปรแกรมเหล่านี้
“ใครจะไปรู้ วันหนึ่งเราอาจจะผลิตคนรุ่นสตีฟ จ็อบ ที่เป็นพลเมืองของเราเองออกมาก็เป็นได้”
การส่งเสริมทักษะการเขียนโปรแกรมไม่ได้มาจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว บริษัทชื่อดังอย่างกูเกิ้ลได้เข้ามามีบทบาทเรื่องการสอนเขียนโปรแกรมในสิงคโปร์ด้วย โดยอุดหนุนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการสอนเขียนโปรแกรมราวๆ 1 ล้าน ดอลล่าร์ เพื่อช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสประมาณ 3,000 คน ให้ได้เรียนเขียนโปรแกรม โครงการนี้ดำเนินการไปจนถึงปี 2563
รัฐมนตรีกระทรวงสื่อสารและสารสนเทศของสิงคโปร์ ได้กล่าวถึงจุดหมายปลายทางของโครงการต่างๆ เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมที่ภาครัฐสนับสนุนว่า “ใครจะไปรู้ วันหนึ่งเราอาจจะผลิตคนรุ่นสตีฟ จ็อบ ที่เป็นพลเมืองของเราเองออกมาก็เป็นได้” เขาย้ำว่าสิงคโปร์ต้องการคนที่กระหายใคร่รู้ และต้องการสร้างสรรค์งานด้วยตัวเอง เพื่อเป็นการเตรียมตัวให้ดียิ่งขึ้นสำหรับอนาคต ซึ่งจะเป็นโลกยุคดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ
- ตอน 1 (ฟินแลนด์) : ทำความรู้จักหลักสูตรวิทยาการคำนวณของฟินแลนด์ ที่เริ่มตั้งแต่ ป.1
- ตอน 2 (อังกฤษ) : หลักสูตรวิทยาการคำนวณในอังกฤษ
- ตอน 3 (สิงคโปร์) : หลักสูตรวิทยาการคำนวณในสิงคโปร์