Homeบทความแนะนำวิทยาการคำนวณ คืออะไร? วิชาบังคับพื้นฐานใหม่ล่าสุดสำหรับเด็ก พร้อมบทสัมภาษณ์จากผู้ก่อตั้ง

วิทยาการคำนวณ คืออะไร? วิชาบังคับพื้นฐานใหม่ล่าสุดสำหรับเด็ก พร้อมบทสัมภาษณ์จากผู้ก่อตั้ง

วิชาวิทยาการคำนวณจะเริ่มบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2561 นี้ ทำไมวิชานี้จึงมีความสำคัญมากจนต้องเป็นวิชาพื้นฐานที่   ”เด็กทุกคน” ต้องเรียน “สอนลูกเขียนโปรแกรม” เจาะลึกเรื่องนี้มาฝากกัน

เป็นที่แน่นอนแล้วว่า กระทรวงศึกษาธิการได้บรรจุ วิชาวิทยาการคำนวณ ไว้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2560 และจะเริ่มบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2561 นี้

ทำไมวิชานี้จึงมีความสำคัญมากจนต้องเป็นวิชาพื้นฐานที่   ”เด็กทุกคน” ต้องเรียน?

สอนลูกเขียนโปรแกรม เจาะลึกเรื่องนี้มาฝากกัน เพื่อให้พ่อแม่เข้าใจถึงความเป็นมาและความสำคัญที่ทำให้วิชานี้กลายเป็นวิชาบังคับ เราได้สรุปความหมายของวิชาวิทยาการคำนวณไว้แล้วที่นี่

ประเทศจะก้าวสู่ยุค 4.0 ได้ ถ้าเด็กไทยมีทักษะด้านวิชาวิทยาการคำนวณ

เรามีโอกาสสัมภาษณ์ รศ.ยืน ภู่วรวรรณ นักวิชาการผู้ที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้วิชานี้กลายเป็นวิชาบังคับ  อาจารย์ยืนเป็นที่ปรึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ และที่ปรึกษาของสสวท.(สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักผู้พัฒนาหลักสูตรของวิชาวิทยาการคำนวณ อาจารย์ได้สรุปความสำคัญของวิชาวิทยาการคำนวณต่อการพัฒนาเด็กและประเทศชาติไว้ในหลายด้าน โดยเริ่มต้นจากความสำคัญของวิชานี้ต่อต่อการพัฒนาประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต

“ประเทศไทย 4.0 เน้นเรื่อง 5 อุตสาหกรรม S curve โดยหนึ่งในนั้นคือเรื่องของเทคโนโลยีดิจิตัล ซึ่งเป็นฐานของอุตสาหกรรมทุกตัว”

           “ประเทศไทยเราตกขบวนมาโดยตลอด ตั้งแต่เรื่องของการเป็นนิกส์(Newly Industrialized Country-NIC) หรือการเป็นเสือตัวที่ห้าของเอเชีย  แม้กระทั่งปัจจุบันรายได้เฉลี่ยของคนไทยยังอยู่ที่ 5 พันกว่าเหรียญ ที่เรียกว่า กับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap)  รัฐจึงดูบทเรียนจากเกาหลีใต้ที่มีแผนชาติ 20 ปี จนกระทั่งกลายเป็นประเทศที่พัฒนาได้ และมองว่าประเทศเราต้องวางแผน 20 ปี โดยใช้สโลแกน “ประเทศไทย 4.0” เน้นเรื่อง 5 อุตสาหกรรม S curve โดยหนึ่งในนั้นคือเรื่องของเทคโนโลยีดิจิตัล ซึ่งเป็นฐานของอุตสาหกรรมทุกตัว รัฐจึงเกิดคำถามว่า ประเทศไทยจะเป็น 4.0 ได้หรือ ถ้ากำลังคนยังเป็นอย่างนี้ จึงเป็นที่มาของการปฏิรูปการศึกษา ด้วยแรงกดดันต่างๆ  ทั้งความเปลี่ยนแปลงของสังคมและนโยบายรัฐบาล จึงเป็นจังหวะที่วิชาที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิตัลต้องเปลี่ยนแปลง”

เด็กในยุค digital native พร้อมพัฒนาความคิดเชิงคำนวณ

แม้ว่าความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและนโยบายจากภาครัฐจะเป็นตัวเร่งให้ต้องบรรจุวิชาวิทยาการคำนวณไว้ในหลักสูตรภาคบังคับ แต่คำถามสำคัญคือเด็กมีความพร้อมแค่ไหนที่จะเรียนวิชานี้ โดยเฉพาะเด็กประถม? ซึ่ง รศ.ยืน ผู้คร่ำหวอดในแวดวงการอบรมค่ายเยาวชนด้านวิทยาการคำนวณมากว่ายี่สิบปี ให้คำตอบว่าเด็กมีความพร้อมอย่างแน่นอน โดยยกตัวอย่างจากประสบการณ์ที่ผ่านมาให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า  

เด็กที่เกิดในยุคดิจิตอลนั้นเขาก็จะเป็น digital native หมายความว่าไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเขา ที่จะเรียนรู้หรือใช้คอมพิวเตอร์ได้เป็น”

“ผมให้ความสำคัญกับเรื่องของวิทยาการคำนวณมาตั้งแต่ประมาณ 2510 กว่าๆ เพราะตัวเองนั้นอยู่ในสายวิศวกรรมไฟฟ้า เมื่อมาเป็นอาจารย์จึงจัดกิจกรรมเด็ก ใช้ชื่อว่า “ค่ายเยาวชนสมองแก้ว” (Crystal brain camp)จัดมาทุกปีในเดือนเมษายน โดยเน้นฝึกทักษะและวิธีการคิด เพราะมีความเชื่อว่าสมองของเด็กเหมือนคริสตัลที่ให้แสงกระเจิงซึ่งเปรียบเหมือนการแสวงหาและเรียนรู้ เด็กนั้นเกิดมาพร้อมความอยากรู้อยากเห็น เป็นนักสำรวจ แต่ผู้ใหญ่หรือระบบการเรียนการสอนกลับพยายามจะกดการเรียนรู้นั้น จนทำให้เด็กเฉื่อยเฉย( passive) ไม่อยากเรียนรู้และคิดว่ามันยากเกินไป”

กว่า 20 ปี ที่ทำค่ายเยาวชนสมองแก้ว รศ.ยืนได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเด็กนั้นเรียนรู้ได้ โดยเฉพาะในเรื่องของการเขียนโปรแกรมซึ่งเป็นทักษะสำคัญของความคิดเชิงคำนวณ

“ประมาณปี 2520 กว่าๆ  ตอนนั้นเครื่องคอมพิวเตอร์ยังเป็นเครื่อง 8 บิต เป็นเครื่องแอปเปิ้ล ค่ายจึงนำภาษาโลโก้มาสอนเด็ก โดยที่เราคิดว่าเด็กที่เกิดมานั้นเขาเกิดมาในยุคที่เราเรียกว่าเป็น native ทางดิจิตอล ยกตัวอย่างเช่น เด็กไทยเกิดมาในสิ่งแวดล้อมของภาษาไทย เขาจึงพูดภาษาไทยได้โดยไม่ต้องมีใครสอน เพราะฉะนั้นเด็กที่เกิดในยุคดิจิตอลนั้นเขาก็จะเป็น digital native หมายความว่าไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเขา ที่จะเรียนรู้หรือใช้คอมพิวเตอร์ได้เป็น”

เมื่อรศ.ยืน ได้เข้ามาเป็นที่ปรึกษาของสสวท.จึงได้ร่วมผลักดันให้วิชาวิทยาการคำนวณกลายมาเป็นวิชาสำคัญที่เด็กไทยควรได้เรียนทุกคน โดยเดิมทีวิชานี้ชื่อวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ สังกัดอยู่ในกลุ่มสาระการงานพื้นฐานอาชีพ หลายฝ่ายใช้เวลาผลักดันจนกระทั่งมีการปรับปรุงครั้งล่าสุด ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560) ประกาศให้วิชาวิทยาการคำนวณย้ายมาอยู่ในกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ และเป็นวิชาบังคับที่เด็กต้องเรียนทั้ง 12 ชั้นปี ตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6

วิทยาการคำนวณ สอนให้คิดเป็น ใช้เป็น และรู้เท่าทันเทคโนโลยี

เมื่อได้ไฟเขียวจากรัฐบาล วิชาวิทยาการคำนวณ จึงจะเริ่มต้นใช้ในเทอมหน้า คือเดือนพฤษภาคม 2561 ที่จะถึงนี้ โดยมีการปรับเปลี่ยนจุดประสงค์ของวิชา เน้นในเรื่องของการคิดเชิงวิทยาการคำนวณ ซึ่งเป็นหัวใจของการพัฒนาคน โดย รศ.ยืน ได้อธิบายถึงขอบเขตของการเรียนการสอนวิชาวิทยาการคำนวณ ว่าเน้นใน 3 องค์ความรู้ ดังนี้

  • การคิดเชิงคำนวณ (computational thinking) เป็นวิธีคิดและแก้ปัญหาเชิงวิเคราะห์ สามารถใช้จินตนาการมองปัญหาด้วยความคิดเชิงนามธรรม ซึ่งจะทำให้เห็นแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอนและมีลำดับวิธีคิด โดยวิธีคิดแบบวิทยาการคำนวณนี้ ไม่ใช่เพียงแค่การเขียนโปรแกรม เพราะภาษาโปรแกรมมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่จุดประสงค์ที่สำคัญกว่าคือการสอนให้เด็กคิดและเชื่อมโยงปัญหาต่างๆ เป็น จนสามารถแก้ปัญหาได้อย่างเป็นระบบ
  • พื้นฐานความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (digital technology) เป็นการสอนให้รู้จักเทคนิควิธีการต่างๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิตัล โดยเฉพาะในยุค 4.0 จะเน้นในด้านระบบอัตโนมัติ (automation) ที่อยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตร อุตสาหกรรม หรือคมนาคม ให้เด็กได้เรียนรู้อย่างรอบด้าน และประยุกต์สร้างสรรค์งานได้อย่างเหมาะสม
  • พื้นฐานการรู้เท่าทันสื่อและข่าวสาร (media and information literacy)  เป็นทักษะเกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อและเทคโนโลยีดิจิตัล แยกแยะได้ว่าข้อมูลใดเป็นความจริงหรือความคิดเห็น โดยเฉพาะข้อมูลบนสื่อสังคมออนไลน์ นอกจากนั้นยังเป็นเรื่องของความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ รู้กฎหมายและลิขสิทธิ์ทางปัญญาต่างๆ เพื่อให้เด็กใช้ช่องทางนี้ได้อย่างรู้เท่าทันและปลอดภัย

รศ.ยืน ได้สรุปสาระสำคัญของวิชาวิทยาการคำนวณทิ้งท้ายไว้อีกครั้งว่า
“สิ่งสำคัญคือเราไม่อยากให้เด็กมองตรงนี้เป็นอาชีพ แต่มองตัวนี้เป็นพื้นฐานของความคิด ถ้าถามว่าเรียนวิชาวิทยาการคำนวณไปทำไม คำตอบคือ เรียนเพื่อเป็นพื้นฐานของความคิดอย่างเป็นระบบ (Systematic) มีจินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์ คิดแบบนามธรรมเป็น วิชานี้คือการพัฒนาความคิดของเด็ก”

 

ขอขอบพระคุณ : รศ.ยืน ภู่วรวรรณ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular

Recent Comments