คุณพ่อ คุณแม่หลายๆ ท่านคงทราบข่าววิชาวิทยาการคำนวณ ที่จะเป็นวิชาบังคับใหม่ในเทอม 1 ของปีการศึกษา 2561 นี้แล้ว พ่อแม่หลายท่านอาจจะสงสัยถึงความเหมาะสมของหลักสูตร รวมถึงกังวลใจว่าจะเตรียมความพร้อมให้ลูกสามารถเขียนโปรแกรมได้อย่างไร วันนี้สอนลูกเขียนโปรแกรม By Dek-D มีโอกาสพูดคุยกับคุณตะวัน เทวอักษร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้คร่ำหวอดในวงการการศึกษาของไทยถึงมุมมองต่อวิชาใหม่ในหลักสูตรการศึกษาไทยนี้
คุณตะวันมีความเห็นกับหลักสูตรวิชาวิทยาการคำนวณอย่างไร?
ผมคิดว่าเป็นพื้นฐาน เป็นสิ่งที่ควรรู้ มันเป็นประโยชน์แน่นอนครับ เพราะประเทศไทยเราเมื่อก่อนทำนาขายข้าว ขายทรัพยากร ขายทรัพย์ในดินของเรา พอต่อมาเราเลิกขายทรัพยากร เรามาขายแรงงาน เย็บผ้า เย็บรองเท้า พอต่อมาเราก็เริ่มขายแรงงานที่ใช้ทักษะขั้นสูง ทำรถยนต์ขาย อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ แต่ว่าวันนี้มันก็เริ่มตัน ถ้าประเทศไทยจะเดินต่อไปข้างหน้าในอนาคตในเวทีโลก ประเทศไทยจะต้องขายความคิดสร้างสรรค์ ขายสมองของคน ขายเรื่องที่มันเป็นความสามารถของคน แล้วจะเดินไปขายตรงไหนมันต้องทำให้คนของเราเป็นคนผลักดันเศรษฐกิจไทย
เปรียบเทียบวิชาวิทยาการคำนวณของประเทศไทยกับต่างประเทศ?
หากเปรียบเทียบหลักสูตรวิชาวิทยาการคำนวณของประเทศไทยกับประเทศอื่นๆ ผมว่าประเทศต่างๆ ก็เพิ่งเริ่มที่จะเอา Computing Science ใส่เข้าไปอยู่ในหลักสูตรการสอนขั้นพื้นฐาน อย่างประเทศที่ทำก่อนใครคือประเทศอังกฤษเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว ส่วนที่ประเทศสหรัฐอเมริกาก็มีประมาณ 2 ปีครึ่งที่เริ่มใส่เข้าไปในหลักสูตรอเมริกา ในประเทศต่างๆ มันก็เพิ่งเริ่ม มันเป็นช่วงที่ต่างคนต่างเรียนรู้ สำหรับประเทศไทยเราก็คิดตั้งบริษัทเพื่อดำเนินการทำให้การสอน Computing Science เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ยกตัวอย่างที่อเมริกาเขาก็พยายามจะตอบความท้าทายนี้ เพราะครูทั้งอเมริกาก็ไม่มีใครเคยสอน Computing Science เหมือนกับครูไทย ที่อเมริกาก็มีองค์กรที่ชื่อว่า Code.org ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อพัฒนาหลักสูตรทำให้ครูทั่วๆ ไปสามารถสอนเขียนโปรแกรมได้
คลิปตัวอย่างการสร้างกระบวนการเรียนรู้ Coding & Robotics ให้เกิดขึ้นในห้องเรียนไทย ที่ทำให้เห็นว่าครูที่ไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่อง Computing science ก็สามารถนำแนวคิดมาสอนให้เด็กเข้าใจได้
ฝากถึงผู้ปกครอง
ครูธรรมดาสอนได้ พ่อแม่ธรรมดาก็สอนได้ เพียงแต่ว่าพ่อแม่ต้องหาความรู้เพิ่มเติม อย่างเกมที่ไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ก็นำมาใช้สอนลูกได้ เช่นบอร์ดเกม บอร์ดเกมที่ทำให้เกิด Computational Thinking ช่วยสอนลูกให้คิดเป็นขั้นเป็นตอนได้ ตัวอย่างเช่นลองจินตนาการถึงตารางหมากรุก แต่ละตาเราต้องเดินไปทางไหน เดินหน้า เลี้ยวซ้าย หรือกระโดด มันก็เป็นวิธีคิดแบบ Logic ในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ มันคือสอนลูกให้คิดอย่างมีตรรกะที่ดี มีขั้นมีตอนในการคิด ซึ่งพ่อแม่ก็สอนอยู่แล้วนะแค่เราพัฒนาต่อยอดจากที่บ้าน เวลาเราพูดถึง Computing Science มันไม่ใช่เรื่องยานอวกาศ มันเป็นเรื่องชีวิตปกติที่เราดำรงชีวิตอยู่
“เราไม่ได้เรียนวิชาวิทยาศาสตร์เพื่อให้ทุกคนเป็นนักวิทยาศาสตร์ เราไม่ได้เรียนคณิตศาสตร์เพื่อให้ทุกคนเป็นนักคณิตศาสตร์ แต่เราเรียนรู้เพื่อเป็นพื้นฐานการเข้าใจโลก แล้วไปปรับใช้กับชีวิต อนาคต หรืออาชีพที่เราต้องการจะเป็นอนาคตได้”
อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ หากพ่อแม่ยังคงมีคำถามในใจว่ายังเร็วไปไหมที่จะเรียนวิชาวิทยาการคำนวณ ก็ต้องตอบว่าไม่เร็วเกินไป เพราะทาง สสวท. มีการวางแผนและออกแบบหลักสูตรให้สอดคล้องกับยุคสมัยและเหมาะสมตามแต่ละช่วงวัย ดังนั้น ณ วันนี้วิชาวิทยาการคำนวณจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องพื้นฐานที่พ่อแม่สามารถสอดแทรกทักษะทางเทคโนโลยีให้กับลูกได้ง่าย ๆ ด้วย เกม หรือกิจกรรมในชีวิตประจำวันต่าง ๆ ซึ่งทักษะเหล่านี้สามารถนำไปใช้ในอนาคตได้อย่างแน่นอน