ในวันที่เทคโนโลยีเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต และ AI กำลังจะทำงานแทนมนุษย์ ประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ในโลกที่บรรจุหลักสูตรวิชาวิทยาการคำนวณ หรือ Computing Science เข้าเป็นวิชาบังคับตั้งแต่ ป.1 – ม.6
วิชานี้สอนอะไร ยัดเยียดเด็กเกินไปหรือไม่ หลักสูตรของไทยเทียบกับนานาชาติแล้วเป็นอย่างไร และพ่อแม่จะเตรียมตัวให้ลูกให้พร้อมกับยุคหน้าได้อย่างไร เป็นบางส่วนของคำถามที่ทีมงานเด็กดีได้รับมาจากพ่อแม่อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งคงไม่มีผู้ใดตอบคำถามเหล่านี้ได้ดีไปกว่าผู้ที่ร่วมพัฒนาหลักสูตรทั้งของประเทศไทย และในระดับโลก
แฟนเพจ “สอนลูกเขียนโปรแกรม by Dek-D.COM” จึงได้จัดงานเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “สอนเขียนโปรแกรมตั้งแต่ ป. 1 เหมาะสมหรือยังกับประเทศไทย 4.0” ขึ้นในวันที่ 9 เมษายน 2561 โดยได้รับเกียรติจาก
- อ.ผนวกเดช สุวรรณทัต นักวิชาการจากม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้ร่วมพัฒนาหลักสูตรวิทยาการคำนวณ และผู้เขียนแบบเรียนในระดับประถมศึกษา จากสสวท.
- อ.แพท ยงค์ประดิษฐ์ Chief Academic Officer ของ Code.org หน่วยงานที่ผลักดัน และพัฒนาหลักสูตรการเขียนโปรแกรมในระดับ K-12 ในอเมริกา
ในงานเสวนาวิทยากรตลอดเวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่ง อาจารย์ทั้ง 2 ท่านได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์และให้คำแนะนำที่ดีกับทั้งอาจารย์และผู้ปกครอง สามารถชมย้อนหลังได้ที่คลิปด้านล่างนี้ โดยเราขอเลือกข้อมูลและคำแนะนำที่สำคัญๆ บางส่วนมาสรุปไว้ให้ในบทความนี้
Code.org ก่อตั้งมาจากแนวคิดที่ต้องการให้เด็กทุกคนมีโอกาสได้เรียน Computer Science
ปัญหาความเหลื่อมล้ำของโอกาสทางการศึกษาเกิดขึ้นทั่วโลกรวมถึงในประเทศอเมริกาด้วย Code.org ต้องการให้เด็กในทุกโรงเรียน ได้มีโอกาสเรียน Computer Science จึงได้ดำเนินกิจกรรมหลายๆ อย่างเพื่อกระจายโอกาสนี้ เช่น
- พัฒนาระบบที่ทำให้เด็กๆ สามารถเรียนเขียนโปรแกรมได้ง่ายขึ้น สนุกขึ้น ขอเพียงแค่มีคอมพิวเตอร์หรือแทบเลต
- พัฒนาหลักสูตรสำหรับเด็กเล็กๆ จนถึงระดับสูงให้ครูสามารถนำไปใช้สอนนักเรียนได้
- อบรมครูในวิชานี้ไปถึง 72,000 คน
ซึ่งจากผลการดำเนินการต่างๆ ทำให้มีนักเรียนที่อยู่ในระบบของ Code.org ถึง 27 ล้านคน โดยในจำนวนนี้เป็นนักเรียนที่ยากจนถึง 49%
เริ่มเรียนเขียนโปรแกรมตั้งแต่เด็กเพราะมันสนุก
คอร์สการเรียนเขียนโปรแกรมในเด็กนั้นถูกพัฒนาให้เด็กสนุกกับการเรียนไม่แพ้การเล่นเกม ดังนั้นแทนที่จะให้เด็กดูคลิปการ์ตูน หรือเล่นเกม ทำไมไม่ให้พวกเขามาสนุกับการเขียนโปรแกรมแทนละ นอกจากนี้ทักษะ Computer Science ยังเป็นความรู้พื้นฐานที่พวกเขาสามารถนำไปใช้ได้ในทุกสาขา ไม่ว่าจะเป็นศิลปะ ดนตรี และอาชีพอื่นๆ
ทักษะที่จำเป็นสำหรับเด็กอาจไม่ใช่สาขายอดนิยมอย่าง AI
ถึงแม้ในยุคปัจจุบันเราจะพูดถึงเทคโนโลยี AI, Machine Learning, และอีกหลายๆ สาขา แต่ในความเห็นของทั้งอ.แพท และ อ.ผนวกเดช สิ่งที่ต้องปลูกฝังให้เด็กคือ Computational Thinking หรือการคิดเชิงคำนวณ ซึ่งเป็นพื้นฐานของเทคโนโลยีต่างๆ ของคอมพิวเตอร์ และเป็นทักษะการคิดอย่างเป็นเหตุผล เป็นระบบขั้นตอน เพราะเราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเทคโนโลยีอะไรจะมีส่วนสำคัญในอนาคต แต่การมีพื้นฐานด้านการคิดเชิงคำนวณจะทำให้เด็กๆ สามารถปรับตัวและเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในอนาคตได้ และสามารถนำไปใช้ได้ในทุกอาชีพ โดยการคิดเชิงคำนวณนี้ก็เป็นหลักสำคัญหลักหนึ่งของวิชาวิทยาการคำนวณของไทย
หลักสูตรใหม่เปลี่ยนจากสอนให้เด็กเป็นผู้ใช้เป็นผู้ผลิต
การเรียนคอมพิวเตอร์ในไทยนั้นมีมากว่า 20 ปีแล้ว ในโรงเรียนใหญ่ๆ อาจมีการสอนเขียนโปรแกรม แต่การเรียนในโรงเรียนส่วนใหญ่สอนให้เด็กเป็นแค่ผู้ใช้โปรแกรม แบบเรียนเป็นเพียงแค่คู่มือการใช้งานโปรแกรมใดโปรแกรมหนึ่ง เมื่อเรียนจบไปโปรแกรมที่เรียนไปแล้วก็ล้าสมัย มีเวอร์ชันใหม่หรือโปรแกรมใหม่มาทดแทน จึงควรเปลี่ยนจากการสอนให้เด็กเป็นผู้ใช้ เป็นผู้มีทักษะการคิด และเป็นผู้สร้างเทคโนโลยี
Computational Thinking จะสอนให้เด็กเรียงลำดับการแก้ปัญหา แบ่งปัญหาใหญ่เป็นปัญหาย่อย และมีหลักต่างๆที่เด็กสามารถนำมาใช้แก้ปัญหาได้ โดยไม่ได้มีเป้าหมายให้เด็กต้องคิดแบบคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา ไม่ได้สอนให้ทุกคนเป็นโปรแกรมเมอร์ ไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์แก้ปัญหาทุกเรื่อง แต่สอนให้รู้ว่าคอมพิวเตอร์ทำอะไรได้บ้างจะได้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสาขาวิชาชีพของตน และไม่ตกเป็นเหยื่อของเทคโนโลยี
หลักสูตรของไทยพัฒนามาจากความร่วมมือของหลายหน่วยงาน
อาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น จุฬาฯ, ธรรมศาสตร์, เกษตรฯ, ลาดกระบัง, มจธ. และอื่นๆ มาร่วมกันร่างหลักสูตรตั้งแต่ปี 59 หลังจากแก้หลักสูตรหลายครั้งให้เหมาะสมกับเด็กในแต่ละช่วงวัย ก็ได้เชิญครูจังหวัดต่างๆ ทั่วภูมิภาคของประเทศ มาร่วมกันพิจารณาหลักสูตรว่าเหมาะสมกับบริบทของท้องถิ่นต่างๆ จริงๆ ไหม และได้รับคำติชมให้นักวิชาการนำกลับไปแก้ไขหลักสูตรเป็นจำนวนมาก จนออกมาเป็นหลักสูตรในปัจจุบัน และได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์จากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จากนั้นได้เชิญสำนักพิมพ์ต่างๆ มารับทราบเกี่ยวกับหลักสูตรเพื่อนำไปพัฒนาเป็นแบบเรียนและสื่อการสอน เมื่อเตรียมความพร้อมต่างๆ แล้วจึงได้ประกาศใช้หลักสูตรนี้ในปีการศึกษา 2561
หลักสูตรมีสาระสำคัญ 3 ส่วน และออกแบบให้เหมาะสมกับช่วงวัย
หลักสูตรวิชาวิทยาการคำนวณประกอบด้วย 3 ส่วน
- Computer Science วิทยาการคอมพิวเตอร์ เป็นการสอนให้เด็กคิดอย่างเป็นขั้นตอน โดยเอาการเขียนโปรแกรมมาเป็นเครื่องมือที่ใช้ฝึกให้เด็กคิดอย่างเป็นระบบขั้นตอนตามหลักการ Computational Thinking
- ICT เทคโนโลยีสารสนเทศ ไม่ได้มุ่งเน้นให้เด็กเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีแบบในอดีต แต่สอนให้เด็กเป็นผู้ที่สามารถรวบรวมข้อมูล จัดระเบียบข้อมูล ประมวลผลข้อมูล ซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลได้
- Digital Literacy การรู้เท่าทันดิจิตอล รู้เท่าทันโลกออนไลน์ รู้สิทธิของตนเอง ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น
ในส่วนของ Computer Science ที่สอนการเขียนโปรแกรม, อัลกอริทึม, และ Computational Thinking ซึ่งเป็นส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าเหมาะสมกับเด็ก ป.1 ไหม การสอนจะมีความยากง่ายแตกต่างกันในแต่ละชั้นปี เช่นของ ป. 1 จะเรียนเขียนโปรแกรมบนกระดานคล้ายๆ บอร์ดเกมสนุกๆ ให้เด็กๆ สนุกกับการใช้คำสั่งให้ตัวละครเดินซ้ายเดินขวา ส่วน ป.4 กระดานก็จะเริ่มมีความซับซ้อนขึ้น และเริ่มเขียนโปรแกรมในคอมฯ ในรูปแบบ block programming ซึ่งเป็นการเขียนโปรแกรมโดยการลากบล๊อกคำสั่งบนจอ ไม่ต้องพิมพ์คำสั่งเอง พอระดับชั้น ม.1 เด็กก็จะเริ่มเขียนโปรแกรมด้วยภาษาโปรแกรมที่ใช้กันทั่วไปเช่น Python และในชั้น ม.4 เด็กจะได้ใช้องค์ความรู้ที่เรียนมามาบูรณาการกับองค์ความรู้ของวิชาอื่นมาทำโครงงาน ใช้ความรู้ของ Computer Science มาเพิ่มความสนุกในการทำโครงงานวิชาอื่นๆ ได้ เช่น สร้างเกม, โครงการเก็บข้อมูลความสูงของต้นไม้ในโรงเรียน แล้ววิเคราะห์ว่าความสูงของต้นไม้มีผลต่ออุณหภูมิในโรงเรียนหรือไม่ เป็นต้น
ไม่ต้องมีคอมพิวเตอร์หรือแทบเลตก็เรียนได้
อ.แพทมีความเห็นว่าข้อดีของหลักสูตรของไทยคือมีกิจกรรมหลายอย่างที่ไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์หรือแทบเลตในการเรียน ซึ่งจะตรงกับกิจกรรมแบบ Unplugged ของ Code.org ซึ่งเด็กๆ สามารถเล่นสนุกกับเพื่อนได้ เช่นกิจกรรมที่ให้เด็กจับคู่กันโดยให้คนหนึ่งจำลองเป็นหุ่นยนต์ แล้วให้เด็กอีกคนนึงเขียนชุดคำสั่งให้หุ่นยนต์ปฎิบัติตามเพื่อทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ซึ่งเด็กจะได้สนุกและเคลื่อนไหวร่างกาย ไม่ถูกจับให้นั่งนิ่งๆ อยู่หน้าจอ และได้ปฎิสัมพันธ์กับเด็กคนอื่นด้วย
ความท้าทายของการสอนเขียนโปรแกรมทั่วโลก
ในปัจจุบันมีมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการเรียนคอมพิวเตอร์ ซึ่งอ.แพทภูมิใจที่หลักสูตรของไทยมองการณ์ไกล และเป็นประเทศแรกๆ ในโลกที่สามารถบังคับใช้หลักสูตรได้ ซึ่งจะทำให้เกิดโอกาสอย่างมากมายกับเด็กของเรา และสิ่งที่อ.แพทมองว่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้การสอนประสบความสำเร็จได้คือการดึงให้หลายๆ ฝ่ายมีส่วนร่วม ทั้งมหาวิทยาลัย, โรงเรียน, รัฐบาล และ เอกชน
สำหรับปัญหาของการสอนคือการอบรมครูให้เพียงพอต่อการสอน อ.แพทยกตัวอย่างประเทศอังกฤษที่ได้บังคับใช้หลักสูตรตั้งแต่เมื่อ 5 ปีที่แล้วว่า ถึงแม้จะมีการจัดอบรมครูมาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา แต่รัฐบาลเพิ่งอนุมัติงบเพิ่มเติมในการอบรมครูอีกถึง 50 ล้านปอนด์ เมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมา นั่นแปลว่าการอบรมครูนั้นมีความต้องการที่สูงกว่าที่คาดไว้มาก
อ.ผนวกเดชเล่าว่าสสวท.ได้จัดอบรมครูแกนนำคอมพิวเตอร์ในเดือนสิงหาคม 2560 และทดลองทำกิจกรรมในหลักสูตรไปด้วยกัน เพื่อให้ครูแกนนำนำไปเผยแพร่ต่อกับเพื่อนๆ ครูต่อไปได้ โดยในการอบรมครั้งนั้น ได้เพื่อนๆ ที่เชี่ยวชาญมาช่วยกันอบรมเช่น ดร.ธรรมนิติ์ พิพัฒน์ศรีสวัสดิ์ ซึ่งเป็น Software Engineer อยู่ที่ Google
และเร็วๆ นี้จะมีจัดอบรมเพิ่มทั้งทางออนไลน์ และออฟไลน์อย่างต่อเนื่อง สามารถติดตามข่าวสารการอบรมได้ทางเฟซบุคเพจ สาขาคอมพิวเตอร์ สสวท. โดยในการอบรมแบบออนไลน์ซึ่งจัดขึ้นระหว่างกลางเดือนเมษายนจนถึงกันยายน สสวท. จะอัพโหลดวีดีโอการอบรมไว้บน Youtube ให้พ่อแม่ที่สนใจสามารถเข้ามาเรียนได้เช่นกัน
นอกจากนี้อ.ผนวกเดชเล่าว่า สสวท.ได้ทำงานวิจัยกับครูในกลุ่มเครือข่ายที่เอาหลักสูตรไปทดลองสอนในโรงเรียนจริงๆ ในจังหวัดต่างๆ รวมถึงพื้นที่ทุรกันดาร และขาดแคลนคอมพิวเตอร์ ซึ่งนักวิจัยจากสสวท.ได้ลงพื้นที่ไปดูว่าการใช้กิจกรรมต่างๆ จากหนังสือเรียนแล้วเป็นอย่างไรบ้าง และได้รับฟังผลตอบรับของเด็กๆ ที่เรียนว่าเด็กๆ มีความสนุกที่ได้หัดคิดอย่างเป็นขั้นตอน เป็นระบบ และได้ใช้จินตนาการของตัวเองโดยไม่มีการปิดกั้นว่าถูกหรือผิด
อ.แพทเล่าถึงการอบรมครูของ Code.org ว่าในระดับเล็กๆ เช่น ป.1 – ป.2 ใช้เวลาอบรมครู 1-2 วัน แต่ในระดับที่สูงๆ ใช้เวลา 9-10 วัน โดยแบ่งเป็นการอบรม 5 วันในช่วงปิดเทอมฤดูร้อน และอบรมอีก 1 วันในทุกๆ 3 เดือน
โอกาสมหาศาลของประเทศไทย
อ.แพทบอกว่าเขาเห็นโอกาสมหาศาลของประเทศไทยในการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของเอเชียและโลกในอนาคต เพราะเราเป็นประเทศแรกๆ ในโลกที่เริ่มสอนวิชานี้ ซึ่งตามหลังประเทศอื่นไม่นาน เช่นอังกฤษ 5 ปี และสิงคโปร์ 2 ปี ถ้าเราสามารถพัฒนาการเรียนการสอนวิชานี้อย่างต่อเนื่อง ในอนาคตไทยสามารถเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้าน Computer Science ได้เลย ซึ่งถ้าสามารถทำได้สำเร็จ คุณแพทคาดการณ์ว่าจะเกิดผลลัพธ์มากมายในระยะ 10 ปี เช่น แรงงานไทยเป็นที่รู้จักและยอมรับในด้าน computer science ไปทั่วโลก จนพบว่าบริษัทใหญ่ๆ ระดับโลกต้องการโปรแกรมเมอร์ชาวไทยไปทำงานเป็นจำนวนมาก และทำให้เศรษฐกิจดิจิตัลของไทยเองพัฒนาขึ้น และมีบริษัทเทคโนโลยีต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนเปิดออฟฟิศหลักในไทย ใช้ไทยเป็นฐานในการวิจัยมากขึ้น