ตอบข้อสงสัยของคุณพ่อ-แม่ กับวิชาวิทยาการคำนวณ

ตอบคำถามที่คุณพ่อคุณแม่หลายๆ คนสงสัย เรียนไปทำไม บังคับใช้โรงเรียนไหนบ้าง

0
2781

หลังจากที่ เพจสอนลูกเขียนโปรแกรม by Dek-D.COM  นำเสนอเรื่องราวของวิชา วิทยาการคำนวณ (Computing Science) ซึ่งเป็นวิชาบังคับใหม่ในปีการศึกษา 2561 หรือก็คือทุกโรงเรียนจะต้องสอนวิชานี้

ตั้งแต่เทอมหน้านี้ ก็มีความคิดเห็น และข้อสงสัยจากผู้ปกครองและนักเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทีมงานสอนลูกเขียนโปรแกรมได้รวบรวมคำถามที่น่าสนใจมาตอบ รวมถึงได้ความอนุเคราะห์จาก อ. ผนวกเดช สุวรรณทัต ซึ่งเป็นผู้ร่วมร่างหลักสูตร ร่วมเขียนหนังสือแบบเรียนของวิชานี้ มาช่วยไขข้อข้องใจคุณพ่อ คุณแม่ดังนี้

คำถาม: วิชาวิทยาการคำนวณต่างจากวิชาคอมพิวเตอร์ที่สอนอยู่เดิมอย่างไร ?

วิชาวิทยาการคำนวณ สอนให้คิดเป็น ใช้เป็น และรู้เท่าทันเทคโนโลยี โดยประกอบด้วย 3 องค์ความรู้ดังนี้

  1. การคิดเชิงคำนวณ (computational thinking) สอนวิธีคิดและแก้ปัญหาเชิงวิเคราะห์ เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบได้ในทุกๆ เรื่อง
  2. พื้นฐานความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (digital technology) สอนให้เด็กเรียนรู้เทคโนโลยีจนสามารถประยุกต์มาสร้างสรรค์งานได้อย่างเหมาะสม
  3. พื้นฐานการรู้เท่าทันสื่อและข่าวสาร (media and information literacy) สอนให้แยกแยะได้ว่าข้อมูลใดเป็นความจริงหรือความคิดเห็น, การตรวจสอบข่าวปลอม, ความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ รู้กฎหมายและลิขสิทธิ์ทางปัญญาต่างๆ

คำถาม: วิชาใหม่นี้จะบังคับสอนในทุกโรงเรียนหรือไม่ ?

หลักสูตรจะบังคับใช้ในใช้ทุกโรงเรียนที่อยู่ในการดูแลของ สพฐ. ซึ่งรวมถึง ร.ร.รัฐฯ ร.ร.เอกชนโดยทั่วไป และโรงเรียนขยายโอกาสต่างๆ ยกเว้นโรงเรียนนานาชาติบางแห่งอาจมีหลักสูตรของตนเอง โดยจะต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวง​ศึกษาฯ

ในปี 2561 วิชาวิทยาการคำนวณจะเริ่มสอนในระดับชั้น ป.1, ป.4, ม.1, และ ม.4 แล้วจึงเพิ่มระดับชั้นอื่นๆ ไล่ขึ้นไปในปีถัดๆ ไป

หนังสือวิทยาการคำนวณ หนังสือวิทยาการคำนวณ

คำถาม: เนื่องจากปีแรกจะเริ่มบังคับเรียนกับระดับป. 1, ป.4, ม.1, และม.4 นักเรียนที่ไม่ได้อยู่ในชั้นเรียนที่บังคับ เช่น ป.3 แล้วปีถัดไปต้องบังคับเรียน ป. 4 เลย จะตามเนื้อหาทันหรือไม่

หนังสือแบบเรียนของ สสวท. ถูกออกแบบให้เริ่มเรียนตอน ป.4 ได้เลย  อย่างไรก็ตามคนที่ได้เรียน ป.1-3 ตามหลักสูตรใหม่มาก่อน อาจจะได้ฝึกกระบวนการคิดมาก่อนล่วงหน้า ทำให้เข้าใจได้ง่ายและลึกซึ้งมากขึ้น

นักเรียน ป.4 อาจซื้อหนังสือ ป.1 อ่านเพิ่มเติมได้ แต่ไม่จำเป็น ส่วนหนังสือ ป.2-3 ยังไม่มีจำหน่าย

คำถาม: ถ้าลูกไม่ได้อยากเป็นโปรแกรมเมอร์ แต่ทำไมต้องบังคับเรียนวิชานี้

จากมาตรฐานและตัวชี้วัด จะเน้นไปที่กระบวนการสร้างความคิด ไม่ใช่การสอนให้เขียนโค้ด หรือสร้างเด็กเป็นโปรแกรมเมอร์

การรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล ทั้งในเรื่องสิทธิ หน้าที่ ความปลอดภัย จริยธรรม ก็เป็นทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของนักเรียนในอนาคต และความผาสุขของสังคมโดยรวม

การสร้างสรรค์ผลงานด้วยคอมพิวเตอร์ ทั้งงานศิลปะ และงานที่เกี่ยวกับข้อมูล การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสร้างทางเลือก และตัดสินใจบนฐานของข้อมูล เป็นทักษะสำคัญต่อการดำรงชีวิตในสังคมไม่ว่านักเรียนจะประกอบอาชีพใดในอนาคต

คำถาม: หากลูกคิดคำนวณไม่เก่งจะเป็นปัญหากับการเรียนวิชานี้หรือไม่ จำเป็นต้องปูพื้นด้วยตนเองมาก่อนอย่างไร

เรื่องราวในหนังสือแบบเรียนของ สสวท. ถูกออกแบบให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในชีวิตประจำวัน มีการยกตัวอย่างบทบาทของอาชีพต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ เช่น อาชีพคนขายก๋วยเตี๋ยว อาชีพน้กร้องนักเต้น อาชีพเกษตรกร เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงบทเรียนเข้ากับประสบการณ์และความถนัดของตนเองได้ง่ายขึ้น

ภาพจากหนังสือเรียนวิชาวิทยาการคำนวณ ชั้น ป.1
ภาพจากหนังสือเรียนวิชาวิทยาการคำนวณ ชั้น ป.1 ของสสวท.

คำถาม: ครูผู้สอนจะมีความพร้อมกับหลักสูตรใหม่นี้หรือไม่

มีการจัดอบรมครูไปแล้วประมาณ 80 ท่านแบบ face-to-face โดย 80 ท่านนี้เป็นครูวิทยากรแกนนำที่มาจากภาคต่างๆ ทุกภูมิภาค ที่มีศักยภาพในการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์สู่ครูท่านอื่นๆ ในท้องที่ของตน และกำลังจะมีการอบรมครูเพิ่มอีกประมาณ 400 ท่าน ในเดือนมีนาคม 2561 และจะมีการอบรมครูแบบ online ตามมาในภายหลัง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สสวท. จะประกาศให้ทราบต่อไป

สุดท้ายนี้ จากการที่ทีมงานได้ติดตามข่าวของหลักสูตรนี้อย่างใกล้ชิดตั้งแต่ช่วงการเขียนหลักสูตร จนถึงการจัดอบรมครู และการผลิตแบบเรียนและสื่อการสอน เราเชื่อมั่นในความทุ่มเทของผู้ที่เกี่ยวข้อง และเห็นด้วยว่าวิชานี้จะช่วยพัฒนาเยาวชนที่มีคุณภาพและพร้อมกับโลกยุคต่อไป

รู้จักวิชา “วิทยาการคำนวณ”