ในการพัฒนาโปรแกรมหรือระบบต่างๆ โปรแกรมที่ดีต้องเริ่มจากการออกแบบ Flowchart ที่ดี สำหรับเด็กที่เริ่มเรียนเขียนโปรแกรมต้องเรียนการเขียน Flowchart ก่อน เพื่อฝึกลำดับความคิดอย่างเป็นขั้นเป็นตอน หากเป็นเด็กเล็กการใช้แบบฝึกหัดของ Flowchart ก็จะช่วยฝึกลำดับความคิด และใช้ตรรกะในการแก้ปัญหาอย่างง่ายๆ ได้ด้วย ซึ่งการเขียน Flowchart คุณพ่อคุณแม่สามารถนำเรื่องราวในชีวิตประจำวันมาเล่นกับลูก เพื่อสร้างเด็กให้เป็นนักคิดและปูพื้นฐานสู่การเรียนในอนาคตได้ด้วยค่ะ
แค่เริ่มต้นก็น่าสนใจแล้วใช่ไหมล่ะค่ะ ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับ Flowchart กันก่อนค่ะ
ผังงาน (Flowchart) คือ รูปภาพ หรือสัญลักษณ์ ที่ใช้เขียนแทนขั้นตอน คำอธิบาย ข้อความ หรือคำพูด ที่ใช้ในอัลกอริทึม (Algorithm) เพราะการนำเสนอขั้นตอนของงานให้เข้าใจตรงกัน ระหว่างผู้เกี่ยวข้อง ด้วยคำพูด หรือ ข้อความ ทำได้ยากกว่าเมื่อใช้รูปภาพ หรือสัญลักษณ์
เราลองมาดูว่าเมื่อเด็กๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับ Flowchart แล้วเด็กจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง
- เด็กๆสามารถรู้จักการตัดสินใจ และสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
- ในโลกของการทำงานแทบทุกองค์กรใช้ Flowchart ในการทำงาน
- ช่วยลำดับขั้นตอนการทำงานของโปรแกรม และสามารถนำไปเขียนโปรแกรมได้โดยไม่สับสน
- ช่วยในการตรวจสอบ และแก้ไข ดัดแปลง โปรแกรมได้ง่าย เมื่อเกิดข้อผิดพลาด
- ช่วยให้ผู้อื่นสามารถศึกษาการทำงานของโปรแกรมได้อย่างง่าย และรวดเร็วมากขึ้น
- ช่วยวางแผนชีวิตประจำวันและการทำงานได้ง่ายมากขึ้น
รู้จักความหมายและประโยชน์ของ Flowchart กันไปแล้วคราวนี้เราลองมาดูสัญลักษณ์ของ Flowchart กันบ้างค่ะ
นี่ก็เป็นสัญลักษณ์ของ Flowchart ซึ่งสัญลักษณ์ของ Flowchart ที่เห็นเป็นสัญลักษณ์ที่มืออาชีพนำมาใช้งานจริงๆ เลยนะคะ จะเห็นว่าแต่ละสัญลักษณ์จะมีชื่อและความหมายที่แตกต่างกันค่ะ แม้จะเห็นมีสัญลักษณ์ที่หลากหลายแต่จริงๆ แล้วการเขียน Flowchart เด็กๆ ไม่จำเป็นต้องใช้สัญลักษณ์ครบทุกสัญลักษณ์ก็ได้นะคะ เพราะความสำคัญจริงๆ อยู่ที่การเรียบเรียงคำสั่งและการสร้างเงื่อนไขในการทำงานนั่นเองค่ะ
เริ่มต้นฝึกเขียน Flowchart จากกิจวัตรประจำวัน
เริ่มต้นคุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะให้เด็กได้ลองฝึกเขียน Flowchart ในเรื่องราวง่ายๆ อย่างเหตุการณ์ที่เด็กๆ พบในชีวิตประจำวัน อย่างการตื่นนอนแล้วไปโรงเรียน เบื้องต้นคุณพ่อคุณแม่อาจจะให้เด็กๆ ได้ลองคิดก่อนว่า หากจะไปโรงเรียนต้องเริ่มต้นจากอะไรแล้วมีลำดับขั้นตอนอะไรบ้าง เมื่อได้ลำดับขั้นตอนในใจแล้ว จากนั้นก็ลองเริ่มลงมือเขียน Flowchart อย่างง่ายๆ ซึ่งตรงนี้สิ่งที่สำคัญก็คือการเข้าใจในการเรียบเรียงคำสั่งและการใช้สัญลักษณ์ของ Flowchart นั่นเองค่ะ
นี่ก็เป็นตัวอย่างการเขียน Flowchart การไปโรงเรียนที่เป็นการทำงานแบบตามลำดับ แบบนี้ไม่ยากเพียงแต่ต้องเด็กจะต้องจัดลำดับความคิดได้ก็จะสามารถเขียน Flowchart ออกมาได้ค่ะ
หรือหากเด็กๆ เกิดอยากกินมาม่าคราวนี้ก็อาจจะให้ลองเขียน Flowchart การทำมาม่าในแบบฉบับของเด็กๆ กันค่ะ
นี่ก็เป็น Flowchart ขั้นตอนการทำมาม่า จะเห็นว่าหลักการง่ายๆ คือเด็กจะต้องคิดแล้วเรียงลำดับก่อนหลังให้ได้ก่อน จากนั้นจึงค่อยลงมือเขียน Flowchart
การเขียน Flowchart แบบมีทางเลือก
คราวนี้เรามาลอง Flowchart ในรูปแบบที่ซับซ้อนมากขึ้น คราวนี้พี่น้ำจะให้ลองเขียน Flowchart การเดินทางไปโรงเรียนโดยรถโดยสารสาธารณะ คราวนี้เด็กๆ ลองวางแผนการเดินทางของตัวเองกันเลยนะคะ
อย่าง Flowchart การเดินทางไปโรงเรียนโดยรถโดยสารสาธารณะ ในตัวอย่างนี้จะเห็นว่า Flowchart ที่เห็นจะเป็น Flowchart โครงสร้างแบบมีทางเลือกที่มีสัญลักษณ์เงื่อนไขเพิ่มเข้ามาด้วย ซึ่งในเงื่อนไขก็จะมีตัวแปรเข้ามากำหนดความเปลี่ยนแปลง และมีทางเลือกที่กำหนดขึ้นนั่นเองค่ะ
ทั้งหมดนี้ก็เป็นขั้นตอนง่ายๆ เพื่อให้เด็กได้ลองเขียน Flowchart ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งพี่น้ำเชื่อว่าสิ่งที่เด็กๆ จะได้หลังการฝึกเขียน Flowchart ก็คือเด็กจะสามารถคิดได้ แก้ปัญหาเป็น ซึ่งนี่ล่ะค่ะที่จะเป็นทักษะความรู้ ที่จะนำไปใช้ในการเรียนและการใช้ชีวิตได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว ว่าแล้วก็ลองมาเริ่มต้นฝึกเขียน Flowchart กันเลยค่ะ โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถนำโจทย์ง่ายๆ เหล่านี้ไปฝึกเล่นกับลูกได้
ตัวอย่างโจทย์
- ลำดับขั้นตอนการหุงข้าว
- ลำดับขั้นตอนการปลูกต้นไม้
- ลำดับขั้นตอนการทอดไข่เจียว
- ลำดับขั้นตอนการซักผ้า
- ลำดับขั้นตอนการไปซื้อขนมที่เซเว่น
- ลำดับขั้นตอนการอ่านหนังสือ
- ลำดับขั้นตอนการเตรียมตัวไปเที่ยวต่างจังหวัด