การได้พูดคุยกับผู้คนหลากหลาย ทำให้เราพบมุมมองใหม่ ๆ และได้เก็บเรื่องราวของผู้คนเก่ง ๆ มาย้อนคิดทำให้เราได้ข้อคิดนำมาปรับใช้กับตัวเราเองได้ เช่นเดียวกับทีมงาน Dek-D’s School ที่ได้พูดคุยกับ น้องเป๊ป ผู้มาเล่าประสบการณ์เข้าร่วมค่ายโอลิมปิกวิชาการ และการเป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าแข่งขันเคมีโอลิมปิกวิชาการโลก ซึ่งต้องบอกเลยว่ามุมมองของน้องเป๊ปนั้นทำให้ผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ต้องหันกลับมามองตนเองว่า “เคยทำเต็มที่หรือยัง” และที่สำคัญยังเป็นเคล็ดลับดี ๆ สำหรับน้อง ๆ ว่าที่เด็กค่าย สอวน. และว่าที่ผู้แทนนักเรียนไทยไปแข่งโอลิมปิกวิชาการนานาชาติอีกด้วยค่ะ เป็นแรงบันดาลใจดี ๆ ที่พลาด(อ่าน)ไม่ได้เลยล่ะ !
นายวัชระ อวยสินประเสริฐ (เป๊ป)
ปัจจุบันศึกษาที่ MIT (Massachusetts Institute of Technology) ประเทศสหรัฐอเมริกา สาขาวิชา Chemical Engineering และ Finance
- นักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงสาย วิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ประจำปีพุทธศักราช 2558
- ผู้แทนประเทศไทย เหรียญเงินจากการแข่งขันเคมีโอลิมปิกวิชาการ (IChO) ครั้งที่ 46 ที่เมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม
- ผู้แทนประเทศไทย เหรียญเงินจากการแข่งขันเคมีโอลิมปิกวิชาการ (IChO) ครั้งที่ 45 ที่เมืองมอสโก ประเทศรัสเซีย
- นักเรียนโครงการความสามารถพิเศษทางด้านคณิตศาสตร์โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (Gifted Math) รุ่นที่ 10 จบการศึกษาด้วยเกรดเฉลี่ยรวม 4.00
แรงบันดาลใจ และการเริ่มต้นเป็นเด็กค่าย สอวน.
ย้อนกลับไปตอนเด็ก ผมชอบดูแฮร์รี่ พอตเตอร์ เราก็เข้าใจว่าปรุงยาคือเคมี อารมณ์ประมาณแบบผสม ๆ ของแล้วก็ได้ยา รู้สึกว่าน่าสนใจจัง แต่ความสนใจตอนเด็กตอนนั้นก็ค่อย ๆ จางไป ตอนแรกที่ต้องตัดสินใจว่าจะเข้าค่ายวิชาอะไรก็พอดีกับที่คิดว่าทำเลขได้แต่เคมีก็ชอบ ตอน ม.1 ก็เลยเลือกสอบเลขและเคมี และได้เข้าค่าย สอวน. คณิตศาสตร์ก่อน เพราะคิดว่าคณิตศาสตร์มันน่าจะเป็นพื้นฐานของอะไรหลาย ๆ อย่าง ถึงเราไปไม่สุด แต่ก็น่าจะได้อะไรหลาย ๆ อย่าง แต่พอเข้าไปก็รู้สึกว่ามันยังไม่ใช่สิ่งที่เราชอบ ไม่ใช่สิ่งที่เราสามารถทำได้อย่างเข้าใจจริง ๆ ก็เลยกลับมาที่ความฝันในวัยเด็กของเรา ตอน ม.2 เลยสมัครเข้าค่ายวิชาเคมี แล้วก็ถึงไปรอบผู้แทนเลย ที่สำคัญก็มีรุ่นพี่ที่เป็นผู้แทนประเทศตั้งแต่ ม.3 ดูเท่ดี ผมก็อยากเป็นผู้แทนตั้งแต่ยังอยู่ ม.ต้น บ้าง แล้วตัวผมก็อยากรู้ว่าศักยภาพของตัวเองอยู่ตรงไหน คือตอนนั้นผมก็สับสนกับชีวิตว่า เราจะเป็นยังไง เราทำอะไรได้แค่ไหน ก็เลยทุ่มเทเข้าค่ายโอลิมปิกวิชาการให้เต็มที่สุด ๆ
เราควรตั้งเป้าหมายในชีวิต และอย่าคิดว่าตัวเองไม่เก่ง เพราะทุกคนมีความเก่งในตัว และที่สำคัญยิ่งกว่า คือ ทุกคนมีความ “เก่ง” ที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น อย่าปล่อยให้ไฟในตัวเราหมดไป
ซึ่งผมว่าการผลักดันตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ และเป็นสิ่งที่คนไทยและเด็กไทยควรมี เพราะมันคือความกระหายที่จะไปให้ถึงจุดใดจุดหนึ่ง ผมคิดว่าแรงขับเคลื่อนที่มาจากตัวเองนี่แหละ มันมีอิทธิพลสูงมาก เราควรตั้งเป้าหมายในชีวิต และต้องมีความเชื่อในตัวเอง อย่าคิดว่าตัวเองไม่เก่ง เพราะทุกคนมีความเก่งอยู่ในตัว และที่สำคัญยิ่งกว่า คือ ทุกคนมีความ “เก่ง” ที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น อย่าปล่อยให้ไฟในตัวเราหมดไป เพียงเพราะคนอื่นบอกว่าเราไม่เก่ง เพราะหากเราได้พยายามสุด ๆ แล้ว แม้เราจะไม่ถึงเป้าหมายที่สุดของเรา แต่ระหว่างทางที่เราก้าวไป สิ่งที่เราพบเจอข้างทาง ก็อาจเป็นหนทางใหม่ ๆ ได้อีกมากมาย และมันอาจเป็นความสำเร็จอีกเส้นทางที่อาจดีกว่าการที่เราไปถึงเส้นชัยก็ได้
การเตรียมตัวสอบเข้าค่าย สอวน.
ตอนช่วงค่าย 1 ตอน ม.2 นั้นก็ฝึกทำโจทย์ ตัวโจทย์จะเนื้อหาช่วงเริ่มต้น ม.ปลาย (ประมาณ ม.4 – ม.5) แล้วในค่ายมันจะมีเนื้อหาพิเศษ เราก็ต้องค่อย ๆ ทำความเข้าใจคอนเซ็ปต์ของมัน ซึ่งผมเรียน ม.ต้นที่สวนกุหลาบวิทยาลัย ก็จะมีรูปแบบรุ่นพี่ติวน้อง เราก็จะติวกันมาเรื่อย ๆ และได้ติวเพิ่มเติมกับพี่เต้ (อาจารย์โรจน์ฤทธิ์ โรจนธเนศ) พี่เต้ทำให้รู้สึกสนุกกับการเรียนเคมีและรับรู้เลยว่าทำไมลูกศิษย์พี่เต้นับร้อยนับพันถึงมีความโดดเด่นกว่าคนอื่น ๆ
เนื้อหาในค่าย สอวน. ช่วยสนับสนุนการเรียนในห้องเรียนของเราอย่างไร
การเรียนในค่ายมันจะเป็นรูปแบบการเรียนมหาวิทยาลัย อาจารย์มีความรู้เฉพาะทางเลย ดังนั้นในค่าย อาจารย์จะสอนเจาะลึกถึงขั้นที่มาต่าง ๆ “ทำไมมันถึงเกิดสิ่งนี้ก่อน แล้วจึงได้สิ่งนี้ และสิ่งนี้ แล้วจึงเกิดเป็นทฤษฎีหนึ่ง ๆ” แต่ในโรงเรียนมัธยมมันเหมือนเป็นการสอนท่องทฤษฎีหรือสูตร และจะสอนลึกเกินเนื้อหาหลักสูตรก็ไม่ได้ คือ ในห้องเรียนก็เรียนแค่จำสูตรไป แต่เนื้อหาในค่ายจะลงลึกกว่า ดังนั้นเนื้อหาในค่ายจะเป็นเหมือนการมองภาพผ่านแว่นขยาย ทำให้เราเข้าใจว่าสิ่งที่เราเรียนในห้องเรียนมันมีที่มาที่ไปอย่างไร แล้วเราก็จะเข้าใจเนื้อหาที่เราเรียนในห้องเรียนชัดเจนมากขึ้น และสำหรับตัวผมเอง มันก็ทำให้ผมเห็นความสวยงามและความน่าตื่นเต้นของวิชาเคมีที่ไม่สามารถหาได้แค่ในห้องเรียนอีกด้วย
(บทความเพิ่มเติม: แนะนำหนังสือเตรียมพิชิตเหรียญโอลิมปิกวิชาการ สำหรับเด็กค่าย )
ประโยชน์ที่ได้จากค่ายโอลิมปิกวิชาการ
- ด้วยลักษณะของค่าย มันจะรวมเด็กที่มีความชอบในลักษณะเดียวกัน แล้วมาเป็นเพื่อนกัน ได้มิตรภาพจากเพื่อนจากรุ่นพี่ซึ่งยังติดต่อกันจนถึงปัจจุบัน
- ถ้าได้เข้าค่าย สอวน. ก็จะได้โควตาเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำ และถ้าได้มาถึงค่ายสุดท้าย (สสวท.) ก็จะได้ทุนโอลิมปิกวิชาการ และถ้าได้เป็นผู้แทนประเทศก็จะได้ทุนอื่น ๆ อีก เช่น ทุนเล่าเรียนหลวง ซึ่งเราสามารถเลือกรับทุนใดก็ได้ และอย่างคนที่เป็นผู้แทนประเทศ ก็จะได้โอกาสในการเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก อย่าง MIT Harvard Stanford หรือกลุ่มไอวี่ลีก เรียกว่าการมีเหรียญโอลิมปิกก็มีโอกาสในการเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกได้เพิ่มมากขึ้น
- ผมคิดว่าตัวโครงการ สอวน. ช่วยผลักดันขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ของนักเรียนไทย แม้ว่าจะมีผู้แทนฯ ได้แค่ 4 คนต่อปีต่อวิชา แต่ระหว่างทางที่ทุกคนได้เข้าค่ายก็จะได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ในมุมมองที่ท้าทายกว่าเด็กในรุ่นเดียวกัน และก็ยังช่วยสร้างแรงผลักดันให้ทุกคนได้เกิดแรงจุดประกายและค้นพบความชอบความสนใจในตัวแต่ละวิชา มันต่างจากการเรียนตามตารางของเด็กไทยปกติที่เรียนไปเรื่อย ๆ แต่ไม่ค่อยช่วยให้ค้นพบความสนใจอะไร แต่เมื่อมาเข้าค่ายก็จะค้นพบความชอบ “เออ วิชานี้มันน่าสนใจสำหรับเรานะ” และมันก็นำไปสู่การพัฒนาวงการวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย บางคนมาเข้าค่ายแล้วได้เจอบางเนื้อหาก็รู้สึกอยากไปเป็นหมอ หรือรู้สึกชอบเคมีมากก็เลือกเรียนต่อเคมีเลย ซึ่งเรียนในโรงเรียนเฉย ๆ มันไม่ได้ทำให้เด็กเห็นโอกาสแบบนี้ จึงต้องบอกเลยว่า ค่าย สอวน. หรือค่ายอื่น ๆ ในรูปแบบนี้ ได้เปิดโลกให้เด็ก ม.ต้น ม.ปลายในประเทศไทยเลย คือถึงแม้ตอนนี้จะเน้นด้านวิทยาศาสตร์ แต่ปัจจุบันมันก็มีการขยายโอกาสไปสู่วิชาสายอื่น ๆ มากขึ้น เช่น ภูมิศาสตร์โอลิมปิก
ประสบการณ์ (สุดพีค) ในฐานะผู้แทนนักเรียนไทยไปแข่งเคมีโอลิมปิกโลก
จริง ๆ ก็มีหลายเรื่องนะ มีแบบทุกเรทเลย แต่เรื่องที่จะเล่าขออนุญาตเป็นเรื่องไม่ติดเรทละกันครับ ฮ่า ๆ ตอนไปแข่งที่มอสโก รัสเซีย มีเรื่องเกิดขึ้นตอนมื้ออาหารทุก ๆ มื้อที่โรงแรมซึ่งทางคณะกรรมการจัดให้คนที่เข้ามาแข่งจากหลาย ๆ ประเทศมาอยู่รวมกัน วันแรกทุกคนก็ตื่นเช้ามากินข้าวเช้าตามปกติ รสชาติมันก็ไม่ได้แย่ ทุกคนก็กินไปตามปกติ ทีนี้ปัญหามาอยู่ตรงน้ำดื่มนี่แหละ มันมีน้ำอยู่สองแบบให้เลือก แบบแรกก็คือน้ำเปล่าธรรมดาทั่วไป ส่วนแบบที่สองมันคือน้ำที่เรียกว่า Sparkling water เป็นน้ำซ่า ๆ คล้ายโซดาของบ้านเรา ซึ่งคนเอเชียส่วนมาก ดื่มน้ำแบบนี้ไม่เป็น เพราะงั้นน้ำเปล่าธรรมดามันเลยหมดเร็วมาก คนที่มาช้าก็บ่นว่าเอาน้ำอะไรมาให้กินไม่รู้ หลังจากมื้อแรกวันนั้นเป็นต้นมา ก็จะเห็นภาพคนรีบวิ่งลงมาจากรถเพื่อที่จะมาแย่งกันเอาน้ำเปล่า หลังจากนั้นทุกคนจะตรงเวลามาก (เดี๋ยวไม่ทันน้ำ) และก็มีสงครามกักตุนน้ำเปล่าเกิดขึ้น เพราะน้ำที่แถมไว้ในห้องนอน ก็ดันเป็น Sparkling water อีก ก็สนุกดีตอนเห็นคนแย่งน้ำกัน ฮ่า ๆ ๆ เป็นสีสันอีกอย่างของการแข่งขันครับ
สุดท้ายนี้ผมอยากฝากน้อง ๆ ว่า ทุกคนในค่ายมีสิทธิ์เป็นผู้แทน “ตัวเราสามารถเป็นผู้แทนประเทศได้” อย่าหยุดผลักดันตัวเอง อย่าให้ความรู้สึกว่าคนอื่นเก่งกว่ามากดทับเรา ให้คิดเสมอว่าเรานี่แหละคนที่จะเป็นหนึ่งในสี่ของประเทศในปีนี้
———————————–
หลังจากได้ฟังสิ่งที่น้องเป๊ปพูด และกลับมาพิมพ์สิ่งที่น้องพูดให้ทุกคนได้อ่านอีกครั้ง ก็ยิ่งรู้สึกว่าพลังในการใช้ชีวิตของคนเราอยู่ที่ “แรงผลักดันในจิตใจตัวเอง” และการลงมือทำอย่างตั้งใจจริง ๆ ค่ะ ความสำเร็จของตัวเรา อยู่ที่ความพยายามของตัวเราจริง ๆ นะคะ เด็กไทยหัวใจวิทย์ทั้งหลายก็อย่าลืมผลักดันตัวเองให้ไปถึง ค่าย สอวน. และอย่าหยุดเชื่อมั่นพยายามที่จะเป็นผู้แทนประเทศไทยนะคะ เราเลือกเส้นทางสายโอลิมปิกวิชาการเพื่อเป็นโอกาสคว้าเส้นทางความสำเร็จในอนาคตของเราได้ค่ะ