สอนลูกเขียนโปรแกรม By Dek-D ได้นำเสนอแบบเรียนวิชาวิทยาการคำนวณไปแล้วใน 3 ระดับชั้น คือ ในระดับชั้น ป.1 ป.4 และ ม.1 ซึ่งก็จะเห็นว่าแบบเรียนในแต่ละระดับนั้นมีความแตกต่าง ทั้งการออกแบบ และเนื้อหาอย่างชัดเจนค่ะ แต่สิ่งที่เห็นเป็นจุดเด่นของแบบเรียนวิชาวิทยาการคำนวณของ สสวท. ก็คือแบบเรียนจะออกแบบเนื้อหาตามพัฒนาการของผู้เรียนเป็นหลัก และเน้นการเชื่อมโยงเรื่องราวในชีวิตประจำวันมาสร้างเป็นเนื้อหา เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ว่า “วิชาวิทยาการคำนวณ” ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปค่ะ
สำหรับแบบเรียนในระดับชั้น ม.4 เนื้อหาการเรียนก็จะเน้นให้เด็กได้นำความรู้ที่เรียนมาทั้งหมด มาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาเป็นโครงงานที่เด็กสนใจค่ะ จะเป็นอย่างไร ตามมาดูกันเลยค่ะ
นี่ก็เป็นแบบเรียนวิชาวิทยาการคำนวณ ชั้น ม.4 ของสสวท.
ในระดับชั้น ม.4 เด็กจะได้เรียนอะไรจากแบบเรียนเล่มนี้
- แนวคิดเชิงคำนวณ
- การแก้ปัญหาและขั้นตอนวิธี
- การพัฒนาโครงงาน
จะเห็นว่าแบบเรียนในระดับชั้น ม.4 ของ สสวท. สิ่งที่เห็นได้เด่นชัดจะไม่ได้เน้นหนักไปในเรื่องการเขียนโปรแกรม และไม่ได้เน้นเนื้อหาการเรียนที่เข้มข้น แต่ในแบบเรียนนี้จะเน้นในเรื่องวิธีคิด ที่เด็กจะสามารถประยุกต์ใช้แนวคิดเชิงคำนวณในการพัฒนาโครงงานที่มีการบูรณาการกับวิชาอื่นอย่างสร้างสรรค์ และเชื่อมโยงกับชีวิตจริงได้ค่ะ
เนื้อหาเป็นอย่างไร
แนวคิดเชิงคำนวณ
เมื่อแนวคิดเชิงคำนวณเป็นพื้นฐานของการคิดแก้ปัญหาต่างๆ ที่สามารถนำไปประยุกต์ในการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้ ในบทนี้เด็กก็จะได้เห็นตัวอย่างของขั้นตอนวิธีการแก้ปัญหาตามแนวทางการคิดเชิงคำนวณ และแก้ปัญหาตามแนวทางการคิดเชิงคำนวณได้ด้วย
ตัวอย่างของขั้นตอนวิธีการแก้ปัญหาตามแนวทางการคิดเชิงคำนวณ
เด็กจะได้วาดรูปบ้านตามขั้นตอนวิธีวาดบ้าน
อย่างขั้นตอนวิธีจะเป็นลำดับขั้นตอนในการแก้ปัญหาหรือการทำงานที่ชัดเจน ซึ่งขั้นตอนวิธีมีบทบาทสำคัญเพราะนอกจากจะมีขั้นตอนวิธีในการคำนวณทางคณิตศาสตร์แล้ว ยังมีขั้นตอนวิธีอื่นๆ ที่สามารถพบได้ในชีวิตประจำวันด้วย
เด็กจะได้ฝึกทักษะการแยกส่วน อย่างหน้านี้จะเป็นการฝึกทักษะการแยกส่วนประกอบของวัตถุต่างๆ ซึ่งทักษะนี้ก็เป็นทักษะที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วย
นี่ก็เป็นกิจกรรมสร้างแบบจำลองซึ่งจะยกตัวอย่างเหตุการณ์จากการ์ตูนเรื่องโดราเอมอน
แม้แบบเรียนเล่มนี้จะดูมีเนื้อหาที่เข้มข้น แต่ในเนื้อหาบางส่วนก็ยังยกตัวอย่างเหตุการณ์ จากในการ์ตูนโดราเอมอนมาให้เด็กได้ลองคิดด้วย
การแก้ปัญหาและขั้นตอนวิธี
หลังจากศึกษาการคิดเชิงคำนวณซึ่งเป็นพื้นฐานของการแก้ปัญหาด้วยคอมพิวเตอร์แล้ว ในบทนี้เด็กก็จะได้ประยุกต์ใช้กระบวนการคิดเพื่อออกแบบขั้นตอนวิธีสำหรับแก้ปัญหา โดยขั้นตอนวิธีนั้นอาจมีทั้งที่ไม่ซับซ้อน และขั้นตอนวิธีที่ซับซ้อนขึ้น
ในบทเรียนก็จะยกตัวอย่างว่าจริงๆ แล้วการแก้ปัญหาด้วยคอมพิวเตอร์ไม่จำเป็นต้องเป็นปัญหาทางคณิตศาสตร์เสมอไป แต่คอมพิวเตอร์จะสามารถแก้ปัญหาได้หลายสิ่งหลายอย่าง หากมีข้อมูลและการตัดสินใจที่ชัดเจน อย่างเช่นการเลือกเมนูอาหาร
การพัฒนาโครงงาน
ในบทเรียนนี้เด็กจะได้พัฒนาโครงงานโดยเริ่มจากการศึกษาสิ่งที่เด็กสนใจ จากนั้นเด็กจะได้ดำเนินการออกแบบ วางแผน ลงมือปฏิบัติจนเกิดเป็นผลลัพธ์ และเผยแพร่ผลงาน
แนวคิดการพัฒนาแบบลีนของอีริค รีส ซึ่งเป็นผู้คิด และนำหลักการพัฒนาแบบลีนมาใช้ในการพัฒนาโครงงานของบริษัทสตาร์ทอัพ
แม้เป้าหมายในบทนี้จะเป็นการพัฒนาโครงงาน แต่สิ่งที่เด็กจะได้จากการพัฒนาโครงงานก็คือเด็กจะเกิดการเรียนรู้และเข้าใจในสิ่งที่สนใจอย่างละเอียด รวมทั้งยังได้รับประสบการณ์โดยตรงจากการปฏิบัติ ได้ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง ได้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสภาพความเป็นจริง และได้ในเรื่องของการทำงานเป็นกลุ่มด้วย