HomeReviewแชร์ประสบการณ์พิชิตคะแนน ชีวะ วิชาสามัญ ปี 64 75 UP จากน้องแพร เภสัช จุฬาฯ

แชร์ประสบการณ์พิชิตคะแนน ชีวะ วิชาสามัญ ปี 64 75 UP จากน้องแพร เภสัช จุฬาฯ

ข้อสอบ ชีวะ วิชาสามัญ ปี 64 เป็นปีที่ข้อสอบเปลี่ยนแนวข้อสอบจากทุกปี หากน้องๆ #Dek65 ยังไม่รู้จะเตรียมตัวสอบชีวะยังไงดีให้ตรงจุด มาฟังประสบการณ์และการเตรียมตัวสอบชีวะรูปแบบข้อสอบใหม่จาก น้องแพร รุ่นพี่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ที่สามารถพิชิตคะแนนสอบชีวะปีนี้ไปได้ถึง 78 คะแนน เทคนิคอะไรที่ทำให้น้องแพรพิชิตคะแนนชีวะได้ ข้อสอบปีนี้เปลี่ยนแนวยังไง และชีวะเรื่องไหนบ้างที่ควรเก็บคะแนน ไปติดตามกันเลยค่ะ

ก่อนอื่นให้น้องแพรแนะนำตัวก่อนค่ะ

น้องแพร เภสัช จุฬาฯ

สวัสดีค่ะ ชื่อ ศรุดา ทรงศิริเดช ชื่อเล่น แพร ค่ะ จบจากโรงเรียนศึกษานารี ตอนนี้ศึกษาอยู่ที่คณะ เภสัชศาสตร์ สาขาการบริบาลทางเภสัชกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ค่ะ

ตั้งเป้าหมายอยากเข้าคณะแพทยศาสตร์ก่อนจะเบนเข็มมาติดคณะเภสัช

ตอนแรกอยากเข้าคณะแพทยศาสตร์ค่ะ แต่ตอนสอบไปพลาดเยอะมากในการสอบเชื่อมโยงในความถนัดแพทย์ค่ะ ตัวนี้เป็นตัวหลักเลยที่ทำให้พลาดคณะแพทย์ศาสตร์ที่หวังไว้ ตอนนั้นก็ลังเลว่าจะเลือกอะไรดีระหว่าง เภสัช สัตวแพทย์ และสหเวชค่ะ แต่อยากทำงานในโรงพยาบาลก็เลยตัดสัตวแพทย์ออก แล้วมาเลือกระหว่างเภสัชกับสหเวชค่ะ รู้สึกว่าเภสัชดูได้เจอคนเยอะกว่าแล้วก็มีหน้างานที่กว้างกว่า เลยเลือกเภสัชค่ะ

สอบเข้าเภสัชฯ ใช้คะแนนอะไรบ้าง?

คะแนนที่ต้องใช้สอบเข้าก็มี O-NET (คะแนนรวมเกิน 300 คะแนน) วิชาสามัญ (ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ คณิต ไทย สังคม ภาษาอังกฤษ) และความถนัดแพทย์ค่ะ หนูเริ่มเตรียมตัวจริงจังตอนปิดเทอม ม.5 ขึ้น ม.6 เริ่มจากเก็บเนื้อหาก่อนแล้วค่อยทำข้อสอบเก่าค่ะ

เลือกเก็บเนื้อหา ชีวะ วิชาสามัญ พร้อมทำสรุปไว้อ่านใกล้สอบ

ชีวะเป็นวิทย์ตัวแรกที่เริ่มเก็บเนื้อหาเลยค่ะ เพราะว่าเนื้อหาเยอะมากต้องใช้เวลานาน หนูเก็บไล่ตามบทที่เรียนที่โรงเรียนทุกบท ยกเว้นเรื่องพืชค่ะ เพราะว่าไม่ถนัด เลยเอาไว้เป็นเรื่องท้ายสุด พอเก็บเนื้อหาครบหมดแล้วหนูจะมาจัดความสำคัญแต่ละบทเป็นสามแบบอีกทีค่ะ แล้วมาอ่านซ้ำๆ พร้อมกับทำแบบฝึกหัด/ข้อสอบเก่า เนื้อหาตรงไหนที่ยังจำไม่ค่อยได้หนูจะจดเป็นข้อๆ ไว้ในสมุดโน๊ตด้วยค่ะ เอาไว้อ่านตอนใกล้สอบ ส่วนบทที่หนูไม่ได้จริงๆ เช่นเรื่องพืชหนูจะท่องจำแค่เรื่องที่ข้อสอบออกบ่อยๆ ก่อนสอบไม่กี่อาทิตย์ค่ะ

เก็บเนื้อหาชีวะด้วยหนังสือ Biology เล่มปลาหมึก

หนังสือชีวะ ปกปลาหมึก

สำหรับหนังสือ Biology หรือหนังสือปลาหมึกคิดว่าเป็นหนังสือที่อธิบายเนื้อหาได้ละเอียดมากๆ เหมาะกับการเก็บเนื้อหาแล้วก็ทำความเข้าใจค่ะ เป็นหนังสือชีวะที่ชอบที่สุดเลยค่ะ ความจริงช่วง ม.4 ที่เพิ่งซื้อหนังสือมาตอนนั้นยังไม่ค่อยชอบเท่าไหร่เพราะไม่ชอบอ่านหนังสือยาวๆ จะอ่านแบบสรุปเป็นหัวข้อมากกว่า แต่พอต้องสอบเข้ามหาลัยก็ชอบขึ้นมาค่ะ เพราะเริ่มรู้สึกว่าหนังสือชีวะแบบสรุปบางทียังให้ข้อมูลไม่พอต้องมีความรู้คร่าวๆ ก่อนมาอ่านถึงจะเข้าใจ แต่เล่มปลาหมึกเขียนอธิบายละเอียดตั้งแต่เริ่มเนื้อหา พออ่านแล้วรู้สึกเหมือนได้ฟังครูสอนน่ะค่ะเลยชอบ คิดว่าถึงจะไม่รู้เรื่องมาก่อนแต่ถ้ามาอ่านดีๆ ก็จะเข้าใจบทนั้นๆ ได้เลย แต่ส่วนตัวเวลาอ่านชีวะจะเปิดหนังสือคู่กันสองเล่มค่ะ เล่มปลาหมึกเล่มนึงแล้วก็เล่มแบบสรุปเล่มนึง เอาไว้ดูคู่กันว่ามีหัวข้อไหนที่ต้องเน้นเป็นพิเศษบ้าง

เก็บเนื้อหาให้แม่นก่อนสอบ เลือกลงคอร์สตะลุยโจทย์ชีวะกับ อ.อุ้ย Dek-D School

ติวออนไลน์ TCAS ชีวะ โดย อ.อุ้ย Dek-D School

คอร์สตะลุยโจทย์หนูเรียนก่อนสอบประมาณหนึ่งเดือนเองค่ะถ้าจำไม่ผิด เพราะตอนนั้นมีความรู้พร้อมแล้ว พอเรียนตะลุยโจทย์เหมือนได้ทวนเนื้อหาอีกรอบจะได้จำได้แม่นๆ ค่ะ แต่ถ้าให้ดีน่าจะเริ่มเรียนสามเดือนก่อนสอบเพราะถ้ามีจุดที่ยังไม่ได้จะได้เหลือเวลาให้อ่านเพิ่มไม่ต้องเร่งเก็บตอนใกล้สอบค่ะ😂

เรียนคอร์สตะลุยโจทย์อ.อุ้ยแล้วรู้สึกชอบเพราะแม้จะเป็นคอร์สตะลุยโจทย์แต่อ.อุ้ยอธิบายเนื้อหาที่เกี่ยวข้องในโจทย์แต่ละข้อให้ฟังตอนเฉลยด้วย รู้สึกเหมือนได้ทวนเนื้อหาไปในตัวค่ะ ข้อสอบของอ.อุ้ยพอทำแล้วทำให้เข้าใจเนื้อหามากขึ้น ก็เลยนำไปใช้ในการสอบได้ค่ะ ซึ่งวิชาชีวะตอนทำข้อสอบเก่าคะแนนไม่ได้เยอะเลยค่ะเพราะไม่ถนัดความจำ ตอนแรกตั้งเป้าชีวะไว้ 60 คะแนนค่ะ แต่พอคะแนนออกมาได้ 78 ก็รู้สึกดีใจมากไม่คิดว่าจะทำได้ขนาดนั้น 

พิชิต ชีวะ วิชาสามัญ ข้อสอบรูปแบบใหม่ด้วยคะแนน 78 เต็ม 100 

คิดว่าวิชาชีวะปีนี้เปลี่ยนแนวค่อนข้างเยอะเลยค่ะ ส่วนตัวคิดว่าข้อสอบแนวเก่าจะเน้นการจำเนื้อหามากกว่า ส่วนข้อสอบของปีนี้จะเป็นการนำความรู้มาวิเคราะห์ แต่ความรู้ที่ต้องใช้ไม่ได้ลึกเท่าข้อสอบแนวเก่าค่ะ

ที่ได้คะแนนค่อนข้างสูงส่วนนึงเพราะเป็นแนวที่ถนัดกว่าข้อสอบแบบเก่าค่ะ ส่วนใหญ่เป็นแนววิเคราะห์ ความเข้าใจ ตอนทำเลยรู้สึกว่าไม่ยากมาก เพราะเป็นคนชอบอ่านหนังสือแล้วค่อยๆ ทำความเข้าใจมากกว่าใช้ความจำ พอเข้าใจเนื้อหาโดยรวมเลยนำมาใช้ในข้อสอบได้ อีกอย่างคือตอนทำข้อสอบไม่ลนไม่ตื่นเต้นด้วยค่ะ เพราะก่อนสอบไม่ได้คาดหวังกับข้อสอบว่าจะออกตามแนวที่เตรียมมาหรือเปล่า พอเห็นข้อสอบจริงเลยมีสมาธิทำ 

อยากเก็บคะแนน ชีวะ วิชาสามัญ ต้องรู้เรื่องไหนควรเก็บ เรื่องไหนไม่ควรเก็บ

คิดว่าข้อสอบปีนี้ออกเฉลี่ยเรื่องได้ดีค่ะ ไม่มีเรื่องไหนที่รู้สึกว่าออกเยอะเป็นพิเศษ ที่ยากตอนทำน่าจะเป็นเรื่องพืชเพราะเป็นเรื่องที่ไม่ถนัดที่สุด แล้วก็การบริหารเวลาค่ะ ตอนสอบจริงๆ ก็ทำทันแต่ใช้เวลาจนหมดเลยค่ะ เพราะข้อวิเคราะห์ต้องคิดละเอียดแล้วก็ใช้เวลานาน บทที่คิดว่าเตรียมตัวแล้วเก็บคะแนนง่ายก็มี Genetics, Basic bio, วิวัฒนาการ, โครงสร้างและหน้าที่ของสัตว์, พฤติกรรมสัตว์ ส่วนบทที่ไม่แนะนำจะเป็นบทอนุกรมวิธาน เพราะเนื้อหาต้องจำเยอะแล้วก็กว้างมาก ข้อสอบก็ไม่ได้ออกเยอะด้วยค่ะ 

แชร์ประสบการณ์เตรียมสอบในช่วงสถานการณ์โควิด

น้องแพร เภสัช จุฬาฯ

เตรียมสอบในช่วงโควิดคิดว่ายากมากเลยค่ะ เรียนออนไลน์ไม่ได้เข้าใจเท่าเรียนที่โรงเรียนอยู่แล้ว ถ้าได้เรียนพิเศษก็อาจจะโชคดีขึ้นมาหน่อย แต่ในกรณีที่บางคนไม่ได้เรียนพิเศษ คิดว่าลำบากก็ต้องพยายามอ่านเองมากๆ ต้องจัดการความเครียดดีๆ ทั้งเรื่องสภาพสังคม โรคระบาด เศรษฐกิจ เรื่องสอบเข้าแล้วก็การแบ่งเวลาค่ะ อย่างหนูตอนแรกก็ติดเล่น รู้ตัวอีกทีก็เหลือเวลาน้อยลงแล้วต้องมารีบเร่งอ่านค่ะ ที่รู้สึกว่าควรทำมากๆ คือ การ list เนื้อหาของแต่ละวิชา แล้วประเมินตัวเองคร่าวๆ เลยว่าบทไหนบ้างที่เก็บได้ เรื่องที่คิดว่าเก็บไม่ได้แน่ๆ ตัดทิ้งหรือเก็บไว้อ่านถ้ามีเวลาเหลือ แล้วเก็บเรื่องที่ถนัดแทนค่ะ ของหนูตอนเลือกบทจะแยกไว้สามแบบ 1.เรื่องที่รู้เรื่องเข้าใจมากอยู่แล้ว 2.เรื่องที่ไม่แม่นมากแต่อ่านเพิ่มแล้วทำได้ 3.เรื่องที่คิดว่าอ่านแล้วไม่คุ้มอ่านแล้วไม่เข้าใจแน่ๆ จะได้จัดลำดับความสำคัญแต่ละบทถูกค่ะ

ฝากถึงน้องๆ #Dek65 ที่กำลังเตรียมตัวสอบหน่อยค่ะ

ขอให้น้องๆ Dek65 สอบติดคณะที่หวังไว้นะคะ ถ้าเป็นไปได้อยากให้ลองทำข้อสอบเก่าให้เร็วที่สุด จะได้รู้ตัวเองว่าพลาดตรงไหนไปบ้างแล้วจะมีเวลาแก้ไขทันค่ะ ถึงคะแนนจะออกมาน้อยก็อย่าท้อนะคะ คิดไว้ว่าเรายังมีเวลาแก้ไขยิ่งเลอะยิ่งเยอะประสบการณ์ค่ะ😂 ใช้แนวข้อสอบเก่าทำก่อนก็ได้เพราะตอนทำจะรู้ตัวเลยว่าบทไหนที่ยังอ่อน แล้วมาอ่านทวนอีกที พอคิดว่าพร้อมแล้วก็ลองทำข้อสอบแนวใหม่ดูค่ะ เพราะมีแค่ปี 64 ปีเดียว ถ้าทำตั้งแต่ความรู้ไม่พร้อมตอนใกล้สอบอาจไม่ได้ประเมินตัวเองจริงๆ ว่า กับข้อสอบแนวใหม่ทำได้หรือเปล่า เป็นกำลังใจให้น้องๆ ทุกคนนะคะ✌️💪


นี่ก็เป็นประสบการณ์การเตรียบสอบชีวะจากน้องแพร ที่พี่เชื่อว่าประสบการณ์ที่น้องแพรนำมาบอกเล่าในบทความนี้ น้องๆ สามารถนำไปใช้ในการเตรียมสอบชีวะเพื่อพิชิตคะแนนชีวะสูงๆ ได้ และสามารถสอบติดคณะในฝันได้ในที่สุดนั่นเองค่ะ

และสำหรับน้องๆ ที่อยากเพิ่มความมั่นใจในการสอบชีวะสามารถสมัครติวออนไลน์กับอ.อุ้ย ดร.ศุภณัฐ ไพโรหกุล ได้เลย คอร์ส TCAS ชีวะ – สรุปเนื้อหา คอร์สนี้จะสรุปเนื้อหาชีวะ ม.ปลาย ตามหลักสูตรใหม่ สสวท. 60 ไว้ทั้งหมด ครอบคลุมทุกการสอบของ TCAS เนื้อหาอธิบายละเอียด กระชับ มีภาพประกอบ ตาราง และแผนผังต่างๆ ทำให้เข้าใจได้ง่าย พร้อมสรุปเป็นคอนเซ็ปต์สั้นๆ จบได้ภายใน 10 นาที นอกจากนี้ยังมี คอร์ส TCAS ชีวะ -ตะลุยโจทย์ คอร์สนี้นอกจากน้องๆ จะได้ตะลุยโจทย์ TCAS ชีวะ แนวข้อสอบออกใหม่ 625 ข้อแล้ว อ.อุ้ยยังเฉลยละเอียดจัดเต็ม ไม่มีข้าม เพื่อให้น้องๆ ได้ทบทวน เรียนรู้เทคนิคการทำโจทย์แบบต่างๆ และฝึกทำข้อสอบก่อนลงสนามจริงด้วย น้องๆ ที่สนใจสมัครติวออนไลน์กับอ.อุ้ย คลิกเลย

ทุกๆ คอร์สที่น้องๆ ติวออนไลน์กับ Dek-D School สามารถทวนซ้ำได้ไม่จำกัดชั่วโมงตลอด 6 เดือน พร้อมรับหนังสือประกอบการเรียนที่อ.อุ้ยเขียนส่งตรงถึงบ้านฟรี! ที่สำคัญที่สุดแม้ว่าจะเป็นการเรียนออนไลน์ แต่น้องๆสามารถสอบถามข้อสงสัยกับอ.อุ้ยใต้คลิปที่กำลังเรียนอยู่ได้ โดยจะได้รับแจ้งเตือนเมื่อมีการตอบกลับ 

น้องๆ ที่สนใจอยากติวออนไลน์กับ Dek-D School สามารถปรึกษาพี่ๆ เพิ่มเติมได้ที่ Line @SchoolDekD หรือ ติดตามข้อมูลข่าวสาร และเทคนิคการติวต่างๆ เพิ่มเติม ได้ที่ Facebook Dek-D School เลยนะคะ

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular

Recent Comments