สอนลูกเขียนโปรแกรม By Dek-D ได้นำเสนอแบบเรียนวิชาวิทยาการคำนวณของ สสวท. ในระดับ ชั้น ป.1 และ ป.4 ให้คุณพ่อคุณแม่ได้เห็นกันไปแล้วนะคะ เชื่อว่าคุุณพ่อคุณแม่จะสามารถเห็นภาพของการเรียนวิชาวิทยาการคำนวณได้ชัดเจนมากขึ้น แต่ในระดับชั้น ม.1 แบบเรียนวิชาวิทยาการคำนวณ จะเป็นอย่างไร เนื้อหาเป็นแบบไหน ตามมาดูกันเลยค่ะ
แบบเรียนวิชาวิทยาการคำนวณในระดับชั้น ม.1 เนื้อหาก็จะพัฒนาขึ้นตามพัฒนาการของผู้เรียน แบบเรียนจะมีความแตกต่างจากแบบเรียนในระดับชั้นประถมฯ อย่างชัดเจนนะคะ อย่างแรกเลยคือแบบเรียนเล่มนี้จะไม่ใช้การ์ตูนนำเสนอ ไม่มีตัวละครอย่างโป้ง ก้อย และอิ่ม เหมือนแบบเรียนในระดับชั้นประถมฯ ไม่มีการเล่าเรื่องแบบการ์ตูนที่สนุกสนาน แต่เนื้อหาจะมีความเป็นทางการและเข้มข้น สอดแทรกด้วยรูปภาพประกอบที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เรียนค่ะ แต่ก็ยังมีภาพน่ารักๆ สีสวยๆ สอดแทรกในบทเรียนเล่มนี้ค่ะ
นี่ก็เป็นแบบเรียนวิชาเทคโนโลยี (วิทยาการคำนวณ)
แบบเรียนเทคโนโลยี (วิทยาการคำนวณ) ม.1 ของสสวท. เนื้อหาจะเป็นอย่างไร เรามาเปิดเข้าไปดูพร้อมๆ กันค่ะ
ในระดับชั้น ม.1 เด็กจะได้อะไรจากการเรียนแบบเรียนเล่มนี้
- ออกแบบอัลกอริทึมที่ใช้แนวคิดเชิงนามธรรมเพื่อแก้ปัญหาหรืออธิบายการทำงานที่พบในชีวิตจริง
- ออกแบบและเขียนโปรแกรมอย่างง่าย เพื่อแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์
- รวบรวมข้อมูลปฐมภูมิ ประมวลผล ประเมินผล นำเสนอข้อมูล และสารสนเทศ ตามวัตถุประสงค์ โดยใช้ซอฟต์แวร์หรือบริการบนอินเตอร์เน็ตที่หลากหลาย
- ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างปลอดภัย ใช้สื่อและแหล่งข้อมูล ตามข้อกำหนดและข้อตกลง
จะเห็นว่าในระดับชั้น ม.1 เนื้อหาดูมีความซับซ้อนมากขึ้น เน้นการออกแบบและการเขียนโปรแกรมด้วยการใช้คำสั่งที่มากขึ้น เน้นการนำความรู้ในวิชาอื่นๆ มาประยุกต์ใช้ และการใช้เครื่องมือต่างๆ เพื่อรวบรวมข้อมูล แต่การออกแบบเนื้อหาในเล่มนี้ก็ยังเน้นการนำสิ่งรอบๆ ตัวของเด็กมาออกแบบเป็นเนื้อหา ซึ่งนี่ถือเป็นจุดเด่นของแบบเรียนวิชาวิทยาการคำนวณของ สสวท.ค่ะ
เนื้อหาเป็นอย่างไร
แนวคิดเชิงนามธรรม
แนวคิดเชิงนามธรรมเป็นอย่างไร และมีความสำคัญอย่าไร? แนวคิดเชิงนามธรรมจะเป็นองค์ประกอบหนึ่งของแนวคิดเชิงคำนวณ ซึ่งในบทนี้นักเรียนจะได้ออกแบบการแก้ปัญหาโดยนำแนวคิดเชิงนามธรรมมาประยุกต์ใช้ ซึ่งจะทำให้การแก้ปัญหามีประสิทธิภาพมากขึ้นค่ะ
อย่างในหน้านี้เด็กจะต้องหาคำตอบเชิงนามธรรมได้ในเรื่องการเดินทาง จากแผนภาพแสดงที่ตั้งของสถานที่ต่างๆ
สิ่งที่เด็กจะต้องทำได้ ก็คือ การนำข้อมูลมาเขียนแผนภาพเชิงนามธรรมโดยใช้สัญลักษณ์ อย่างการใช้สัญลักษณ์รูปวงรีแทนสถานที่ เส้นตรงแทนถนนที่เชื่อมโยงระหว่างสถานที่ ตัวเลขจะกำกับเส้นแทนระยะทางของถนน และเส้นสีเขียวจะแทนถนนที่มีร่มเงา จากนั้นเด็กก็จะต้องใช้แนวคิดเชิงนามธรรมใช้หาเส้นทางเดินตามเงื่อนไขที่กำหนดได้
การแก้ปัญหา
แม้การแก้ปัญหาด้วยการเขียนโปรแกรมแม้จะมีความสำคัญกับการใช้งานอุปกรณ์ทางเทคโนโลยี แต่การเขียนโปรแกรมในบทเรียนนี้จะบอกว่า การเขียนโปรแกรมเพื่อแก้ปัญหานั้นไม่จำเป็นต้องใช้กับสถานการณ์ที่ซับซ้อนเสมอไป แต่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วย
นี่ก็เป็นสัญลักษณ์ที่เป็นมาตรฐานในการเขียนผังงาน ที่ทางสถาบันมาตรฐานแห่งชาติอเมริกา (ANSI)กำหนดไว้
อย่างการเขียนผังงานก็ใช้เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวางแผนหรือออกแบบการแก้ปัญหา เพื่อให้สามารถนำไปปฏิบัติตามหรือเขียนโปรแกรมเพื่อสั่งให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานได้งานได้ง่ายขึ้น
อย่างในภาพก็จะเป็นสถานการณ์หลังรับประทานข้าว ถ้านักเรียนมีเงินเหลือจะซื้อขนม จากสถานการณ์นี้นักเรียนก็จะต้องวางแผนเขียนผังงานด้วยสัญลักษณ์ออกมาได้ ซึ่งการเขียนผังงานในระดับ ม.1 จะไม่เพียงแค่เรียงคำสั่งตามลำดับ แต่จะมีคำสั่งในรูปแบบอื่น อย่างแบบมีเงื่อนไข และแบบวนซ้ำด้วย
การเขียนโปรแกรมด้วยภาษาไพทอน
ทำไมต้องเขียนโปรแกรมด้วยภาษาไพทอน? ก็เพราะภาษาไพทอนเป็นภาษาที่ง่ายต่อการเริ่มต้นเรียนรู้การเขียนโปรแกรม เพราะมีโครงสร้างคำสั่งที่ไม่ซับซ้อน มีชุดคำสั่งที่ทำงานด้านกราฟิกให้เลือกใช้งานได้สะดวก สามารถทดสอบการทำงานตามคำสั่งและตรวจสอบผลลัพธ์ได้ทันที ซึ่งเด็กจะสามารถนำภาษาไพทอนไปใช้ในการเขียนโปรแกรมที่ซับซ้อนเพื่อการทำงานจริงได้ในอนาคต
นี่ก็เป็นตัวอย่างการเขียนโปรแกรมด้วยภาษาไพทอน
ส่วนนี่เป็นการเขียนโปรแกรมกับเต่าไพทอน
สำหรับการฝึกเขียนโปรแกรมขั้นเริ่มต้นนั้น จะใช้การฝึกเขียนโปรแกรมกับเต่าไพทอน ซึ่งจะใช้เต่าในการลากเส้นหรือวาดรูป แต่เมื่อเด็กเริ่มเขียนโปรแกรมด้วยภาษาไพทอนจนชำนาญแล้ว ก็จะนำไปสู่การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในระดับสูงต่อไป
การเขียนโปรแกรมด้วย Scratch
ปัจจุบันแม้จะมีภาษาโปรแกรมมากมาย แต่ Scratch ก็เป็นโปรแกรมที่ง่ายต่อในการเริ่มต้นเขียนโปรแกรม เพราะมีโครงสร้างที่ไม่ซับซ้อน มีบล็อกคำสั่งให้เลือกใช้งานได้สะดวก และยังสามารถนำไปใช้สร้างงานที่น่าสนใจได้ด้วย
แบบเรียนในระดับชั้น ป.4 เด็กจะได้ลองเขียนโปรแกรมง่ายๆ ผ่าน Scratch ด้วยการนำบล็อกคำสั่งมาวางต่อกันเพื่อให้โปรแกรมทำงานตามที่ต้องการ แต่ในระดับชั้น ม.1 การใช้ Scratch จะไม่เพียงทำตามลำดับคำสั่งเท่านั้น แต่จะมีเงื่อนไขต่างๆ ที่เพิ่มเข้ามา ซึ่งก็จะต้องนำความรู้พื้นฐานด้านอื่นๆ มาประยุกต์ใช้
นี่ก็เป็นตัวอย่างโปรแกรม Scratch
ส่วนนี่จะเป็นการใช้โปรแกรม Scratch เขียนโปรแกรมให้ตัวละครแมวเดิน
ในบทนี้เด็กจะไม่เพียงแค่นำบล็อกคำสั่งมาวางต่อกันเป็นลำดับให้สำเร็จเท่านั้น แต่จะมีการเขียนโปรแกรมที่เกี่ยวกับการคำนวณต่างๆ จำเป็นต้องมีการตรวจสอบเงื่อนไขการทำงาน หรือการกำหนดให้มีการวนซ้ำ ซึ่ง Scratch ก็มีบล็อกคำสั่งต่างๆ ให้เลือกใช้งานได้ตามต้องการ ซึ่งก็เหมาะสำหรับการเริ่มต้นเขียนโปรแกรมค่ะ
ข้อมูลและการประมวลผล
ในยุคที่ข้อมูล ข่าวสารมากขึ้น การรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ที่มีความน่าเชื่อถือจึงมีความสำคัญ บทเรียนนี้นักเรียนจะได้เรียนรู้การรวบรวมข้อมูลด้วยเครื่องมือต่างๆ อย่างการสัมภาษณ์ การสำรวจ การสังเกต ซึ่งการรวบรวมข้อมูลก็ทำให้ข้อมูลที่ได้ถูกต้อง ทันสมัย และตรงกับความต้องการในการนำไปใช้งาน
ตัวอย่างแบบเก็บข้อมูล
นี่ก็เป็นตัวอย่างแบบเก็บข้อมูลในการสัมภาษณ์เพื่อนเป็นรายบุคคลในเรื่องกีฬาที่ต้องการส่งเข้าแข่งขัน นักเรียนจะได้ลองเก็บข้อมูลด้วยรูปแบบที่ต่างกัน และเมื่อรวบรวมข้อมูลแล้ว เด็กก็จะต้องมาตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล
และเพื่อให้เห็นภาพและเข้าใจมากขึ้น บทนี้จึงนำเรื่องการเก็บข้อมูลบันทึกบัญชีรายรับรายจ่ายประจำวันของตนเอง ซึ่งการบันทึกแบบนี้เด็กก็สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วยค่ะ
การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างปลอดภัย
เทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอที เป็นเครื่องมือและมีบทบาทสำคัญต่อการเรียนรู้ และการใช้ชีวิตประจำวัน รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายได้ ซึ่งในบทเรียนนี้นักเรียนจะได้รู้จักวิธีคุกคามรูปแบบต่างๆ และแนวทางป้องกันเพื่อให้ใช้งานไอทีได้อย่างปลอดภัย
คำแนะนำในการตั้งและใช้งานรหัสผ่าน เพื่อให้การใช้งานมีความปลอดภัยที่สุด
อย่างการกำหนดรหัสผ่านจะเป็นวิธีการตรวจสอบตัวตนที่นิยมมากที่สุด เนื่องจากเป็นวิธีที่ง่ายและค่าใช้จ่ายต่ำเมื่อเทียบกับวิธีอื่น ในบทนี้ก็จะให้คำแนะนำในการการกำหนดรหัสผ่านให้มีความปลอดภัยไว้อย่างละเอียดค่ะ
นอกจากเนื้อหาการเรียนแล้วแบบเรียนวิชาวิทยาการคำนวณชั้น ม.1 เล่มนี้ จะมีแบบฝึกหัดท้ายบทให้เด็กได้ฝึกปฏิบัติในแต่ละบทเรียน เพื่อให้เด็กนำความรู้ที่เรียนมาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหา และที่สำคัญในบางบทเรียนจะเปิดโอกาสให้เด็กสามารถศึกษาได้แบบอิสระอีกด้วยค่ะ