ในสัปดาห์ที่แล้วสอนลูกเขียนโปรแกรม By Dek-D ได้นำเสนอแบบเรียนการ์ตูนเล่มแรกในประเทศไทยในวิทยาการคำนวณ ชั้น ป.1 ให้คุณพ่อคุณแม่ได้เห็นกันไปแล้วนะคะ ต้องบอกว่าเนื้อหาสนุก และเด็กสามารถเรียนได้อย่างไม่เบื่อเลยล่ะค่ะ แต่ในระดับชั้น ป.4 แบบเรียนจะออกแบบอย่างไร เนื้อหาเป็นแบบไหน ตามไปดูกันเลยค่ะ
นี่ก็เป็นหน้าปกของหนังสือวิชาวิทยาการคำนวณชั้น ป.4 สีสัน สดใส ดูน่าเรียนทีเดียวค่ะ
ส่วนนี่ก็เป็นแบบฝึกหัดที่จะใช้เรียนควบคู่กับหนังสือเรียนค่ะ
หนังสือเรียนวิทยาการคำนวณในชั้น ป.4 ก็จะคล้ายๆ กับชั้น ป.1 คือเป็นแบบเรียนการ์ตูน ส่วนเนื้อหาก็ออกแบบการเล่าเรื่องที่สนุกสนาน ภายในมีสีสันสดใส ดึงดูดความสนใจของเด็ก ให้ความรู้สึกเหมือนเด็กกำลังอ่านหนังสือการ์ตูนอยู่ค่ะ
สำหรับตัวละครก็ยังมีโป้ง ก้อย และอิ่ม เป็นตัวละครเอก มีการออกแบบเนื้อหาเป็นเรื่องใกล้ตัวเพื่อให้เด็กเห็นภาพชัดเจนในการเรียนรู้ ภายในเนื้อหาแต่ละบทยังสอดแทรก เกม สื่อเสริมเพิ่มความรู้ ที่อยู่ในรูปของวีดีทัศน์ บทความ เพื่อให้เด็กเห็นภาพและเข้าใจเนื้อหายิ่งขึ้นด้วยค่ะ
ในระดับชั้น ป.4 เด็กจะได้อะไรจากการเรียนแบบเรียนเล่มนี้
- ใช้เหตุผลเชิงตรรกะในการแก้ปัญหา การอธิบายการทำงาน การคาดการณ์ผลลัพธ์จากปัญหาอย่างง่าย
- ออกแบบและเขียนโปรแกรมอย่างง่าย โดยใช้ซอฟต์แวร์หรือสื่อตรวจหาข้อผิดพลาดและแก้ไข
- ใช้อินเตอร์เน็ตค้นหาความรู้ และประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูล
- รวบรวม ประเมิน นำเสนอข้อมูลและสารสนเทศ โดยใช้ซอฟต์แวร์ที่หลากหลายเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน
- ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างปลอดภัย เข้าใจสิทธิและหน้าที่ของตน เคารพในสิทธิของผู้อื่น แจ้งผู้เกี่ยวข้องเมื่อพบข้อมูลหรือบุคคลที่ไม่เหมาะสม
จะเห็นว่าในระดับชั้น ป.4 เนื้อหาดูมีความเข้มข้นมากขึ้น แต่การออกแบบเนื้อหาในเล่มนี้ก็ยังเน้นการนำสิ่งรอบๆ ตัวของเด็กมาออกแบบเป็นเนื้อหา เพื่อให้เด็กเข้าใจในเนื้อหาง่ายมากขึ้น และสามารถนำเอาไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้เลยค่ะ
เนื้อหาเป็นอย่างไร
ใช้อัลกอริทึมในการแก้ปัญหา
หน้านี้เด็กจะได้ลองคิดวิธีในการแยกลูกปิงกับลูกกอล์ฟออกจากกัน ว่าสามารถทำได้ด้วยวิธีไหนบ้าง และวิธีไหนจะทำได้เร็วที่สุด ซึ่งนี่ก็เป็นการแก้ปัญหาโดยใช้สิ่งที่เรียกว่า “อัลกอริทึม”
เขียนโปรแกรมด้วย Scratch
นี่ก็เป็นหน้าตาของโปรแกรม Scratch
ในระดับชั้น ป.4 จะไม่ได้ใช้การเขียนโปรแกรมด้วยบัตรคำสั่งแล้วนะคะ แต่เด็กจะได้ลองเขียนโปรแกรมง่ายๆ ผ่าน Scratch ด้วยการนำบล็อกคำสั่งมาวางต่อกันเพื่อให้โปรแกรมทำงานตามที่ต้องการ ซึ่งเป็นพื้นฐานการเขียนโปรแกรมที่มีความซับซ้อนขึ้น
เนื้อหาแม้จะมีลำดับขั้นตอนที่มากขึ้น แต่ก็ยังออกแบบให้เด็กสนุกไปกับการเรียน ด้วยการเล่าเรื่อง และมีภาพประกอบเหมือนเด็กกำลังอ่านการ์ตูน
ใช้ซอฟแวร์ตารางทำงานได้
ในระดับชั้น ป.4 เด็กจะต้องใช้ซอฟแวร์ตารางทำงานได้ โดยใช้การสำรวจข้อมูล อย่างการสังเกต การวัด การสัมภาษณ์ การทำแบบสอบถามด้วยกระดาษหรือออนไลน์ แม้เนื้อหาจะดูเข้มข้นแต่เรื่องราวที่เรียน เด็กๆ จะสามารถนำไปใช้งานในชีวิตจริงได้เลยนะคะ
ค้นหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต ประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูลและสามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างปลอดภัย
เด็กๆ จะต้องเรียนรู้การค้นหาข้อมูลโดยใช้โปรแกรมค้นหา (Search Engine) และการระบุคำสำคัญในคำค้น อย่างหน้านี้จะเห็นว่าเนื้อหาที่นำมาสอนก็เป็นเรื่ิองใกล้ตัวที่เกิดขึ้นได้
ส่วนการยกตัวอย่างในเนื้อหาก็สามารถอธิบายและยกตัวอย่างให้เห็นภาพอย่างชัดเจน อย่างเช่นการใช้โปรแกรมค้นหา หากระบุคำสำคัญไม่ชัดเจนและเฉพาะเจาะจง ก็ทำให้การค้นหาไม่เป็นตามต้องการ ซึ่งการค้นหาแต่ละครั้งก็ต้องประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูลด้วย
นอกจากนี้เด็กๆจะได้เรียนรู้การประเมินความน่าเชื่อของข่าว ผ่านแบบเรียนเล่มนี้ด้วยค่ะ
การสร้างทางเลือกและการตัดสินใจ
การสร้างทางเลือกและการตัดสินใจ ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ในหน้านี้จะจำลองสถานการณ์ไปเที่ยวทะเล และร้านอาหารชายหาดที่มีหลายร้าน เด็กๆ ก็จะต้องเลือกร้านอาหารด้วยการใช้วิธีเปรียบเทียบ วิเคราะห์ และสร้างทางเลือก เพื่อเลือกทางเลือกที่ดีที่สุด ซึ่งนี่ก็เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตจริง
สามารถทำนายผลลัพธ์จากขั้นตอนการแก้ปัญหา ตรวจหาข้อผิดพลาดและแก้ไขโปรแกรมได้
เมื่อเด็กๆ เขียนโปรแกรมด้วยบัตรคำสั่งและโปรแกรม Scartch แล้ว ก็ต้องสามารถตรวจสอบโปรแกรมได้ด้วยว่าถูกต้องหรือไม่ อย่างหน้านี้จะเป็นการตรวจสอบโปรแกรมเพื่อหาระบบรดน้ำที่มี 4 ระบบ ซึ่งการทำนายผลลัพธ์ของโปรแกรม ก็จะต้องตรวจสอบผลลัพธ์ทีละคำสั่งนั่นเองค่ะ
เป็นยังไงกันบ้างคะกับเนื้อหาของวิชาวิทยาการคำนวณ ชั้น ป.4 ของ สสวท. จะเห็นว่าในระดับ ป.4 สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาคือเด็กจะต้องสามารถเขียนโปรแกรมผ่านโปรแกรม Scartch ได้ และที่สำคัญก็คือเด็กจะต้องเรียนรู้การใช้สื่ออย่างรู้เท่าทันค่ะ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
https://school.dek-d.com/blog/วิทยาการคำนวณ/review-หนังสือ-วิทยาการคำนวณ/