Homeสอนลูกเขียนโปรแกรมวิทยาการคำนวณหลักสูตรวิทยาการคำนวณของประเทศอังกฤษ

หลักสูตรวิทยาการคำนวณของประเทศอังกฤษ

อังกฤษบรรจุวิชาด้านวิทยาการคำนวณไว้ในหลักสูตรระดับชาติ มาตั้งแต่ปี 2557 เพื่อเสริมทักษะด้านการคิดเชิงตรรกะ และแก้ปัญหาระยะยาวด้านตลาดงานสายเทคโนโลยี ให้มีบัณฑิตด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่มีคุณภาพเพิ่มมากขี้น โดยเริ่มเรียนเขียนโปรแกรมตั้งแต่ 5 ขวบ ไปจนถึงระดับมัธยมต้น

 

ด้วยการมองการณ์ไกลของกระทรวงศึกษาธิการอังกฤษ เพื่อส่งเสริมให้เด็กพัฒนาแนวคิดเชิงวิทยาการคำนวณ และการสร้างบัณฑิตด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่มีคุณภาพ เพื่อตอบโจทย์สายงานด้านนี้ที่ยังต้องการกำลังคนอีกมากในอนาคต ด้วยเหตุนี้ หลักสูตรวิทยาการคำนวณจึงประกาศใช้กับโรงเรียนทั่วประเทศ มาตั้งแต่ พ.ศ.2557  โดยให้เด็กเริ่มเรียนตั้งแต่ระดับประถมจนถึงมัธยมต้น

เด็กอังกฤษเรียนเขียนโปรแกรมยังไงในแต่ละระดับชั้น

การเขียนโปรแกรมที่เริ่มบังคับใช้มาแล้ว 4 นี้ เป็นความร่วมมือของหลายองค์กรในการพัฒนาหลักสูตร ประกอบด้วยกระทรวงศึกษาธิการเป็นตัวหลัก บริษัทไมโครซอฟท์และกูเกิ้ล  BCS ซึ่งเป็นสถาบันชาร์เตอร์สำหรับ IT  คณะทำงานด้านวิทยาการคำนวณในโรงเรียน รวมทั้งสถาบันด้านวิศวกรรมศาสตร์ โดยก่อนที่จะเริ่มประกาศใช้หลักสูตรนี้ ไมเคิล โกฟ เลขากระทรวงศึกษาธิการอังกฤษ ได้ให้แนวคิดในการบรรจุหลักสูตรวิทยาการคำนวณไว้เป็นหลักสูตรแกนกลางว่า

“หลักสูตรใหม่ของเราสอนเด็กเกี่ยวกับวิทยาการคอมพิวเตอร์ ความรู้ด้านสารสนเทศ สอนเขียนโปรแกรม และสอนให้รู้เท่าทันเทคโนโลยีดิจิตัล ทั้งหมดนี้เพื่อให้เด็กสร้างสรรค์โปรแกรมใหม่ๆ ที่เป็นของตัวเอง ไม่ใช่แค่เพียงใช้คอมพิวเตอร์เป็น แต่รู้ลึกว่าคอมพิวเตอร์จะทำงานให้เราได้ยังไง”

ทุกฝ่ายจึงยึดแนวทางที่กระทรวงศึกษาธิการได้วางโร้ดแมพเอาไว้ และร่วมกันออกแบบหลักสูตรวิทยาการคำนวณ ให้มี 3 ความแตกต่างกันในแต่ละช่วงวัยของเด็ก ดังนี้

Key Stage 1 (5-6 ปี) เทียบเท่าระดับประถมศึกษา 1-2 :

เด็กๆ จะเรียนรู้ว่าอัลกอริทึ่มคืออะไร ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์เสมอไป ครูอาจจะอธิบายด้วยภาพ หรือขั้นตอนของกิจวัตรประจำวันในตอนเช้าของเด็กๆ แต่เด็กจะสร้างและแก้ไขข้อบกพร่องในกิจวัตรง่ายๆ ของตัวเอง เช่น การทำความสะอาดห้องนอน มีการพัฒนาทักษะด้านการคิดเชิงตรรกะ และเรียนรู้การใช้อุปกรณ์และดีไวซ์ต่างๆ ของคอมพิวเตอร์อย่างง่ายๆ อย่างการจัดเก็บและกู้คืนข้อมูลดิจิตัล

.

Key Stage 2 (7-11 ปี)  เทียบเท่าเด็กประถม 3-6 :

เด็กประถมที่โตขึ้นอีกหน่อยจะสร้างสรรค์และแก้ข้อบกพร่องของโปรแกรมที่ซับซ้อนขึ้น มีเป้าหมายเฉพาะมากคิด เข้าใจพื้นฐานของการเขียนโปรแกรมเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตัวแปร ลำดับเหตุการณ์ การเลือก และการทำซ้ำของโปรแกรม มีพัฒนาการของทักษะการคิดเชิงตรรกะมากขึ้น เรียนรู้ในการใช้เว็บไซต์และบริการอื่นๆ บนอินเตอร์เน็ต และจะมีแบบฝึกหัดมากขึ้นในการใช้ดีไวซ์ต่างๆ ในการเก็บและวิเคราะห์และพรีเซนต์ข้อมูล

.

Key Stage 3 (11-14 year-olds) เทียบเท่าเด็กมัธยมต้น :

เมื่อเด็กขึ้นมัธยม พวกเขาจะเริ่มใช้ภาษาโปรแกรมสองแบบหรือมากกว่านั้น  เพื่อสร้างโปรแกรมของตัวเอง โรงเรียนและคุณครูมีอิสระในการเลือกภาษาโปรแกรมเฉพาะและเครื่องมือในการเขียนโปรแกรม นักเรียนจะได้เรียนตรรกะบูลีนแบบง่ายๆ ( การดำเนินการด้วย AND, OR และ NOT เป็นต้น) การทำงานด้วยเลขฐานสอง และเรียนว่าฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ทำงานร่วมกันอย่างไร ทุกๆ ระดับการศึกษา เด็กจะได้เรียนเกี่ยวกับการท่องโลกอินเตอร์เน็ตอย่างปลอดภัย

ใช้หลักสูตรวิทยาการคำนวณมา 4 ปี มีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง

แม้ว่ารัฐบาลอังกฤษจะทุ่มงบประมาณ 1.1 ล้านปอนด์เพื่อเทรนครูระดับประถมหลายหมื่นคน ให้มีความรู้ด้านการเขียนโปรแกรมเพิ่มขึ้น แต่การติดตามผลล่าสุดในกลางปี 2560 กลับยังไม่เป็นที่น่าพอใจนัก เพราะผลการสอบ GCSE ซึ่งเป็นการทดสอบความรู้ความสามารถของเด็ก โดยกระทรวงศึกษาธิการและวิทยาศาสตร์ของอังกฤษ ได้คะแนนด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ไม่ค่อยสูงนัก

ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่าอาจเป็นเพราะหลักสูตรใหม่มีวิชาที่หลากหลายเกินไป ซึ่งความสับสนที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ใช่ความผิดของนักเรียน นอกจากนั้น ครูผู้สอนเองต้องปรับตัวจากหลักสูตรเดิม เพื่อมาสอนในหลักสูตรที่มีการผสมผสานของหลายวิชา ทั้งการเขียนโปรแกรม วิทยาการคอมพิวเตอร์ การคิดเชิงวิทยาการคำนวณ และการรู้เท่าทันเทคโนโลยีดิจิตัล จึงอาจต้องมีการเทรนครูเพิ่มมากขึ้น ส่วนเรื่องผลคะแนนสอบ คำแนะนำเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องนี้ คือนักเรียนควรใช้เวลามากกว่าสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง ในการเรียนวิชาด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ ก่อนจะถึงปีที่มีการสอบ GCSE

ครั้งหน้ามาต่อกับเรื่องราวของหลักสูตรวิทยาการคำนวณของสิงคโปร์กันนะ ในตอนที่ 3 และปิดจบด้วยหลักสูตรวิทยาการคำนวณใหม่ล่าสุดของไทยเรา พ่อแม่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง!

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular

Recent Comments