หากจะก้าวสู่โลกแห่งอนาคต ทักษะที่จำเป็นสำหรับเด็กไทยก็คือทักษะดิจิตอล นี่เป็นคำยืนยันจากดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ที่มองว่า โลกอนาคตคือโลกดิจิตอลและเด็กไทยต้องมีทักษะดิจิตอล
ทำไมเด็กไทยต้องมีทักษะดิจิตอล สอนลูกเขียนโปรแกรม By Dek-D จะพาไปพูดคุยกับ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ในเรื่องนี้ค่ะ
เมื่อโลกอนาคตคือโลกดิจิตอล…ทักษะที่จำเป็นสำหรับเด็กไทยคือทักษะดิจิตอล
โลกรอบตัวเรามันเป็นโลกดิจิตอลไปหมดแล้ว มันมาเร็วกว่าที่พวกเราเคยคิดกันเยอะ แล้วมันจะมีผลเปลี่ยนธุรกิจต่างๆ งานที่แต่ละคนทำถูกเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีดิจิตอล มีทั้งงานที่หายไปเลยมีทั้งงานที่ไม่หายแต่ยังอยู่ แต่ต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานที่เยอะแยะมาก เพราะฉะนั้นทักษะดิจิตอลก็กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 องค์ประกอบหนึ่งที่จะทำให้ได้ทักษะของดิจิตอลก็คือการเข้าไปเรียนอย่าง Active learning วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือการเรียนการเขียนโค้ดดิ้ง อย่างประเทศฟินแลนด์ เกาหลีใต้ เอสโตเนีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน เด็กจากประเทศเหล่านี้เรียนเขียนโปรแกรมมาได้น่าจะปีสองปีแล้ว ประเทศไทยก็ถือว่าเริ่มได้ค่อนข้างเร็ว พยายามจะเอาวิทยาการคำนวณให้เด็กประถมฯได้เรียนกัน แล้วก็เริ่มในปีการศึกษานี้ซึ่งก็เป็นโครงการที่ดีมากๆ
ตัวอย่าง 10 อาชีพที่กำลังจะหายไปภายในปี พ.ศ. 2575 https://www.dek-d.com/studyabroad/48106/
วิทยาการคำนวณต้องเรียนแบบ Active learning ไม่ใช้คอมพิวเตอร์ก็เรียนได้
วิธีการคิดที่สำคัญของวิทยาการคำนวณที่ทำได้ก็คือการเรียนรู้อัลกอริทึม เพราะทำได้โดยไม่ต้องเรียนแบบนักศึกษาที่เรียนคอมพิวเตอร์เรียนกัน แต่เป็นการเรียนจากชีวิตประจำวัน เช่น เอาหนังสือมาเรียงในห้องสมุดแล้วเอาเด็กมาแข่งกันเรียงว่าทีมไหนสามารถจัดเรียงหนังสือ 1,000 เล่มตามตัวอักษรได้เร็วกว่ากัน เพราะถ้าทำอย่างนี้ก็มีกระบวนการคิดที่มาทบทวนกันว่า ทีมที่ทำได้เร็วทำไมถึงทำได้เร็ว มันจะเป็น Active learning เป็นการเรียนรู้ที่เด็กเป็นศูนย์กลางและเด็กจะได้เรียนรู้เยอะ Active learning จะมีประโยชน์ในการเอาโค้ดดิ้งวิทยาการคำนวณมาเรียน ถ้าเรียนแบบบรรยายมันจะเป็นสิ่งที่ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย เนื่องจากเป็นการนำครูมาบรรยายในสิ่งที่ครูเองไม่เข้าใจ สำหรับเด็กที่ไม่มีโอกาสแตะคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ให้เล่นก็ไม่มี เด็กจะไปทดลองทำอะไรก็ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นเรียนด้วยการบรรยายเด็กจะไม่ได้ประโยชน์เลย แต่ถ้ามีอุปกรณ์ มีของเล่น หรือถ้าไม่มีอุปกรณ์พวกไอทีเลยก็เรียนจาก ชีวิตประจำวัน ก็จะทำให้เกิดทักษะได้แม้จะไม่มีอุปกรณ์ราคาแพง
วิทยาการคำนวณสามารถช่วยสร้างทักษะอื่นๆ ได้ด้วย
ถ้าเรามองว่าเด็กไม่มีทักษะวิทย์ฯ คณิตฯ แล้วไปเรียนวิทยาการคำนวณ ถ้าเป็นสมัยก่อนคงต้องบอกว่าไม่มีความหวัง แต่ถ้ากลับหัวกลับหางแล้วเรียนด้วยการทำจริง เช่นถ้าโรงเรียนมีสตางค์น้อย แค่มีอุปกรณ์ไมโครคอนโทรลเลอร์เอามาต่อกับเซ็นเซอร์ตัวนั้นตัวนี้ให้ทำงานอย่างนั้นอย่างนี้ เด็กก็จะค่อยๆ ซึมซับเข้าไป อย่างเอาไมโครคอนโทรลเลอร์มาต่อกับเซ็นเซอร์วัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เด็กก็อาจยังไม่รู้ว่าคาร์บอนไดออกไซด์คืออะไร แต่พอมาต่อยอดแล้วค่อยๆ สอนไปทีละเรื่อง จากโครงงานที่ทำจริงมันก็จะทำให้มีความซาบซึ้ง มีความเข้าใจวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเข้าใจการอ่านตามมา
เขียนโค้ดดิ้งได้ไม่ตกงาน
ภาพในอนาคตเด็กไทยที่ควรจะเป็น คือจะต้องเป็นเด็กที่มีทักษะดิจิตอล เข้าใจโคดดิ้งพอสมควร ถ้าโคดดิ้งได้เก่งก็จะเอาเป็นอาชีพได้เลย ปัจจุบันเรามีโปรแกรมเมอร์อยู่ในตลาดแรงงานไทยที่ได้ยินผู้ประกอบการพูดกันก็อยู่ราวๆ 1,200 คนทั้งประเทศซึ่งมันน้อยมาก ยังมีความต้องการมหาศาลเพราะคนที่ตั้งบริษัทซอฟแวร์จะบ่นว่าขาดคนตลอด แล้วรัฐบาลจะไปไทยแลนด์ 4.0 เพราะฉะนั้นความต้องการแรงงานด้านนี้มีมหาศาลเลย เพราะฉะนั้นใครโคดดิ้งเก่งมีอาชีพให้ แต่ถึงไม่ต้องเอาโค้ดดิ้งเป็นอาชีพ ความเข้าใจเรื่องโค้ดดิ้งก็จะเป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตในโลกอนาคต และเป็นประโยชน์เฉพาะหน้าเลย ก็คือทำให้ได้ทักษะการคิดหลายอย่างเป็นระบบขึ้น เข้าใจตรรกศาสตร์ เข้าใจวิธีการแก้ปัญหา เข้าใจการทำงานเป็นทีม แต่ของพวกนี้จะไม่เกิดอัตโนมัติ ต้องเกิดจากการจัดการเรียนการสอนที่เป็นระบบการสอนแบบ Active learning
Digital Skill ต้องสร้างควบคู่ไปกับ Soft Skill
แม้ว่าต่อไปในอนาคตทักษะดิจิตอลจะเป็นทักษะที่ตลาดต้องการและสำคัญมาก แต่ Soft Skill ที่ฝึกควบคู่กันไปด้วย มันก็จะมีภาพลักษณ์ที่ว่า เก่งโค้ดดิ้ง เก่งคำนวณแต่ขาด Soft Skill เพราะฉะนั้นสองด้านมันต้องไปด้วยกัน ไม่ได้แปลว่าเอาตัวนี้มาเพื่อไปทิ้งตัวอื่น แต่เอาตัวนี้มาเพื่อเป็นทักษะในการสร้างทักษะอื่น เช่น ถ้าออกแบบการเรียนให้ทำงานกันเป็นทีมเพื่อต่อหุ่นยนต์ไปแข่งกัน เด็กก็จะได้ในเรื่องการทำงานเป็นทีม สื่อสารเป็น เมื่อทำโครงงานเสร็จแล้วให้เด็กมาพรีเซนต์ด้วย ซึ่งก็จะได้ฝึกทักษะอื่นๆ ไม่ใช่เพื่อให้โค้ดดิ้งเป็นอย่างเดียว
แม้ว่าทักษะดิจิตอลจะสำคัญมากขนาดไหน แต่อย่างที่ ดร.สมเกียรติได้บอกไปแล้วข้างต้นนะคะว่าทักษะดิจิตอลควรพัฒนาคู่ไปกับ Soft Skill ด้วยจึงจะสามารถสร้างคนเก่ง ที่สามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้ด้วยค่ะ