Homeสอนลูกเขียนโปรแกรมวิทยาการคำนวณแอบดูหนังสือวิทยาการคำนวณ ชั้น ป.4 เริ่มใช้ปีนี้!

แอบดูหนังสือวิทยาการคำนวณ ชั้น ป.4 เริ่มใช้ปีนี้!

ข่าวดีสำหรับเด็กๆ รุ่นแรกที่ต้องเริ่มเรียนวิชา”วิทยาการคำนวณ” ต้อนรับเทอมใหม่ 2561 นี้ นั่นคือสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) เพิ่งจะแถลงข่าวเปิดตัวหนังสือวิทยาการคำนวณไปสดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่ 1   ก.พ. 2561 ที่ผ่านมา #สอนลูกเขียนโปรแกรม จึงรวบรวบทุกรายละเอียดของหนังสือมานำเสนอ ทั้งเรื่องของเนื้อหาที่เป็นแนวคิดหลักของวิชา ความแตกต่างในรายละเอียดของแต่ละระดับชั้น และรูปแบบการนำเสนอว่ามีความยากง่ายอย่างไร บอกได้เลยว่าอัดแน่นไปด้วยสาระ แถมนำเสนอได้อย่างสนุกน่าเรียนจริงๆ พร้อมกันรึยัง ไปแอบดูกันเลย!

เน้นเนื้อหาหลัก 3 เรื่อง กระบวนการคิด ประยุกต์ใช้ digital technology และรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล

ทั้งคุณพ่อคุณแม่และเด็กๆ ต่างตื่นเต้นและลุ้นกันมาพักใหญ่แล้ว ว่าหน้าตาของหนังสือเรียนวิชาวิทยาการคำนวณจะออกมาเป็นยังไง ในที่สุดเราก็ได้เห็นว่าหนังสือประกอบการเรียนวิชานี้มีทั้งหมด 4 เล่ม คือเนื้อหาสำหรับ ป. 1. ป.4, ม.1 และ ม.4 โดยนอกจากหนังสือแบบเรียนหลักแล้ว จะมีแบบฝึกหัดและคู่มือครูด้วย เพื่อการปรับใช้ได้อย่างสะดวกขึ้น โดยในวันแถลงข่าวเปิดตัวแบบเรียนวิทยาการคำนวณของทั้ง 4 ระดับชั้น มีทีมอาจารย์และนักวิชาการของสสวท. ผู้ร่วมพัฒนาเนื้อหามาให้ความรู้และอธิบายรายละเอียดต่างๆ อย่างครอบคลุม โดยทีมอาจารย์ผู้พัฒนาเนื้อหาของแบบเรียนวิชาวิทยาการคำนวณทั้งระดับประถมและมัธยม ให้ข้อมูลตรงกันว่า หัวใจหลักของวิชานี้เน้นใน 3 องค์ความรู้ ประกอบด้วย

    • การคิดเชิงคำนวณ (computational thinking) หมายถึง กระบวนการคิดแก้ปัญหาที่ประกอบไปด้วย 4 องค์ประกอบย่อย คือการแบ่งปัญหาใหญ่ให้เป็นปัญหาย่อย การมองหารูปแบบของปัญหา การคิดเชิงนามธรรม และการออกแบบขั้นตอนการคิดเพื่อแก้ปัญหาที่เรียกว่าอัลกอริทึม
    • พื้นฐานความรู้ digital technology องค์ความรู้นี้เน้นให้เด็กรู้จักสื่อใหม่ เข้าใจข้อมูลสารสนเทศต่างๆ และสามารถประยุกต์ใช้เครื่องมือและสื่อต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม  
    • พื้นฐานการรู้เท่าทันสื่อและข่าวสาร (media and information literacy) สาระสำคัญขององค์ความรู้นี้ คือเพื่อให้เด็กสามารถปกป้องตัวเองจากสังคมที่เต็มไปด้วยสื่อและข้อมูลข่าวสารอันหลากล้น สามารถแยกแยะความจริงและความคิดเห็นจากข่าวสารที่รับได้ ปกป้องข้อมูลของตัวเองให้ปลอดภัยในโลกดิจิทัล รวมทั้งมีความรุู้เรื่องความถูกผิดของกฏหมายและลิขสิทธิ์ต่างๆ ในโลกดิจิทัลได้

เมื่อเข้าใจองค์ความรู้หลักทั้ง 3 เรื่อง ของหนังสือแบบเรียนวิทยาการคำนวณทั้ง 4 ระดับชั้นกันแล้ว มาดูกันต่อในรายละเอียดและความแตกต่างของตำราแต่ละเล่ม ซึ่งถูกออกแบบมาให้เหมาะสมตามพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กในแต่ละช่วงวัย

แบบเรียนวิทยาการคำนวณระดับประถม ตำราที่นำเสนอผ่านการ์ตูนแสนสนุก

อาจารย์จินดาพร หมวกหมื่นไวย หนึ่งในคณะออกแบบและพัฒนาแบบเรียนวิทยาการคำนวณสำหรับชั้นประถม ได้ให้ข้อมูลรายละเอียดของแบบเรียนวิทยาการคำนวณสำหรับระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โดยอธิบายว่า มีการนำเสนออย่างแปลกใหม่ในรูปแบบหนังสือการ์ตูนเพื่อทำให้นักเรียนเข้าใจได้ง่าย และเป็นการลดทอนเนื้อหาที่เคร่งเครียดและมีปริมาณมากให้น่าติดตามมากขึ้น โดยโจทย์ของทีมนักวิชาการผู้ผลิตแบบเรียนสำหรับเด็กประถม คือการจะทำอย่างไรให้หนังสือเล่มนี้เข้าใจได้ง่ายขึ้น โดยที่ยังคงความรู้และทักษะทั้ง 3 องค์ประกอบหลักไว้อย่างครบครัน

หนังสือวิทยาการคำนวณ

นอกจากนั้นยังเสริมในเรื่องของแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ที่จะมีมีลิงค์และคิวอาร์โค้ดให้เด็กๆ เข้าไปดูได้ โดยส่วนใหญ่จะเป็นเกมที่เน้นกระบวนการคิด การแก้ปัญหา และฝึกทักษะต่างๆ โดยอาจารย์จินดาพรได้กล่าวทิ้งท้ายถึงความพิเศษอีกเรื่องหนึ่งของตำราเล่มนี้ว่า “ที่น่าจะเร้าความสนใจของเด็กระดับประถมได้ดี คือเรามีตัวละครตัวหนึ่งที่เป็นตัวดำเนินเรื่องเป็นหุ่นยนต์ เด็กๆ น่าจะชอบ เพราะจะมีหลายๆ อิริยาบทและสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับหุ่นยนต์ตัวนี้ เป็นการกระตุ้นให้เด็กๆ อยากติดตามมากขึ้น  พูดได้ว่าตำราเล่มนี้จะได้ทั้งความรู้ ทักษะ และสนุกไปกับการเรียนด้วย”

ม.1 และ ม.4 ออกแบบเนื้อหาตรงตามตัวชี้วัด เข้าใจง่าย ฝึกใช้ได้จริง

ในส่วนของแบบเรียนวิทยาการคำนวณสำหรับมัธยมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 4 ได้อาจารย์ทัศนีย์ กรองทอง หนึ่งในทีมผู้ออกแบบและพัฒนาเนื้อหาของหนังสือ มาอธิบายถึงรายละเอียดต่างๆ อย่างน่าสนใจ โดยเริ่มต้นจากสำหรับหนังสือวิชาวิทยาการคำนวณของม.1 อาจารย์ได้ให้รายละเอียดว่าหนังสือมี 6 บท ด้วยกัน แต่ละบทสอดคล้องกับตัวชี้วัดหลักแต่ละตัว เช่น บทแรกเป็นเรื่องแนวคิดเชิงคำนวณ ที่เน้นในเรื่องแนวคิดเชิงนามธรรม บทที่สองก็จะเป็นเรื่องของกระบวนการแก้ปัญหา ทั้ง 4 ขั้นตอน ซึ่งจะทำให้เด็กๆ เริ่มทำความรู้จักในเรื่องของตัวแปรและพื้นฐานภาษาโปรแกรม

หนังสือวิทยาการคำนวณ

ส่วนความพิเศษของเนื้อหาวิชาในระดับชั้นมัธยมที่ต่างจากระดับประถม คือจะเพิ่มในเรื่องของการเขียนโปรแกรมเข้าไปด้วย  โดยอาจารย์เน้นว่า “อยากจะบอกว่าจริงๆ เราไม่ได้เน้นที่จะให้นักเรียนเป็นโปรแกรมเมอร์ แต่เราจะเอาเรื่องการเขียนโปรแกรมมาเพื่อช่วยพัฒนาทักษะในการคิดเชิงคำนวณ เราจะมีสองบทที่ให้โรงเรียนได้เลือกตามความเหมาะสมของโรงเรียน คือเรื่องของภาษาไพธอน (python) กับสแครช (scratch) โดยที่เราไม่ได้บังคับให้ต้องเรียนทั้งสองบทนี้ แต่ออกแบบมาเพื่อเป็นตัวเลือก เช่น บทที่ 3 ในเรื่องของ scratch  ถ้าโรงเรียนไหนอยากจะลองเล่น ก็เปิดดูแล้วจะให้คุณครูสอนให้ได้”

สำหรับเนื้อหาในบทที่ 5 ของแบบเรียนวิชาวิทยาการคำนวณสำหรับ ม.1 เน้นในเรื่องของข้อมูลและการประมวลผล เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกเก็บรวบรวมข้อมูล และนำไปประมวลผล โดยใช้ซอฟท์แวร์ในอินเตอร์เน็ตซึ่งเป็นซอฟท์แวร์ฟรี ในบทนี้ยังมีเรื่องของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศให้ปลอดภัย เพื่อให้นักเรียนรู้จักปกป้องข้อมูลส่วนตัว และรู้จักกลลวงทุกรูปแบบในสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อเรียนรู้ที่จะป้องกันตนเอง

หนังสือวิทยาการคำนวณ

ส่วนแบบเรียนวิชาวิทยาการคำนวณของระดับชั้น ม.4 อาจารย์ทัศนีย์ให้ข้อมูลว่า ระดับชั้นนี้มีเพียงตัวชี้วัดเดียว       (ประยุกต์ใช้แนวคิดเชิงคำนวณในการพัฒนาโครงงาน ที่มีการบูรณาการกับวิชาอื่นอย่างสร้างสรรค์ และเชื่อมโยงกับชีวิตจริง) เนื้อหาในหนังสือประกอบด้วย 3 บท บทแรกเน้นแนวคิดเชิงคำนวณ หรือกระบวนการ computational thinking ทั้ง 4 เรื่อง บทที่สองจะเป็นเรื่องของการแก้ปัญหาออกแบบอัลกอริทึ่ม และในบทสุดท้ายคือบทที่ 3 เน้นในเรื่องของการพัฒนาโครงงาน

นับว่าเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่งของวงการศึกษาไทยของเรา ทั้งเนื้อหาวิชาวิทยาการคำนวณ และแบบเรียนที่ออกแบบมาอย่างสร้างสรรค์ มีสาระ และสนุกน่าติดตาม หากพ่อแม่และคุณครูต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้าไปติดตามได้ในเฟซบุ๊คแฟนเพจของงานเทคโนโลยีทางการศึกษา ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้ สสวท หรือเพจของสาขาคอมพิวเตอร์สสวท. นอกจากนี้ #สอนลูกเขียนโปรแกรม จะคอยติดตามสถานการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับวิชาวิทยาการคำนวณมานำเสนออย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เด็กๆ และพ่อแม่ได้ก้าวไปสู่อนาคตด้วยกันอย่างมั่นใจ

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพ : สาขาคอมพิวเตอร์ สสวท. , IPST Thailand

 

 

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular

Recent Comments