Homeสอนลูกเขียนโปรแกรมวิทยาการคำนวณโรงเรียนวรนารีเฉลิม จ.สงขลา สอนโปรแกรมมิ่ง สร้างเด็กเป็นนักคิดและออกแบบเทคโนโลยีได้

โรงเรียนวรนารีเฉลิม จ.สงขลา สอนโปรแกรมมิ่ง สร้างเด็กเป็นนักคิดและออกแบบเทคโนโลยีได้

เพราะความตั้งใจที่จะสร้างให้เด็กให้เป็นเป็นนักคิด  นักออกแบบ และเป็นผู้สร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้โรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา โรงเรียนมัธยมขนาดใหญ่พิเศษ  เปิดสอนเรื่องโปรแกรมมิ่งเป็นวิชาเพิ่มเติมให้กับนักเรียนห้องเรียนพิเศษ (วิทย์ฯ-คณิตฯ) ตั้งแต่ปี 2558 จนสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์และสามารถใช้งานได้จริง

วันนี้สอนลูกเขียนโปรแกรม By Dek-D จะพาไปย้อนจุดเริ่มต้นของการเรียนโปรแกรมมิ่งของโรงเรียนแห่งนี้ค่ะ

หากย้อนไปเมื่อปี 2558 เป็นปีแรกที่เด็กมัธยมปลายในห้องเรียนพิเศษ (วิทย์ฯ -คณิตฯ) ของโรงเรียนวรนารีเฉลิม จ.สงขลา  ได้เรียนการโปรแกรมมิ่งเป็นวิชาเพิ่มเติม ซึ่งเหตุผลที่ทางโรงเรียนเปิดสอนวิชานี้ก็เพราะมีนักเรียนสนใจในการเรียนโปรแกรมมิ่ง  และทางโรงเรียนก็มีครูที่จบด้านโปรแกรมมิ่งมาโดยตรงอยู่แล้ว จึงเลือกที่จะเปิดสอนโปรแกรมมิ่งเป็นวิชาเพิ่มเติมให้กับเด็กๆ ซึ่งการสอนโปรแกรมมิ่งในครั้งนั้นก็เน้นการสอนเขียนโปรแกรมเพียงอย่างเดียว

แต่ด้วยความที่เด็กนักเรียนในห้องเรียนพิเศษมีทักษะการคิดเชิงคำนวณที่ดี การที่ได้มาเรียนรู้เรื่องโปรแกรมมิ่งเพิ่มเติม ก็ทำให้เด็กๆ สามารถนำความรู้ไปคิด สร้างสรรค์ และออกแบบ เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ได้

หนึ่งในนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากเรียนโปรแกรมมิ่ง ก็คือ อุปกรณ์ต้นแบบเตือนผู้ขับขี่รถจักรยานและรถจักรยานยนต์ที่ลืมยกขาตั้ง ซึ่งเป็นตัวอย่างนวัตกรรมที่คิดและพัฒนาขึ้นโดยนักเรียนชั้น ม.5 เพื่อใช้ในการป้องกันอุบัติเหตุจากการลืมยกขาตั้งขึ้นนั่นเอง  ซึ่งนวัตกรรมนี้ก็เกิดขึ้นจากเรื่องราวใกล้ตัว เนื่องจากที่จังหวัดสงขลาจะมีกลุ่มรถจักรยานและรถจักรยานยนต์ขี่เยอะมากในช่วงเช้าและช่วงเย็น และมักจะเกิดอุบัติเหตุจากการลืมที่ยกขาตั้งขึ้น

นี่ก็เป็นอุปกรณ์ต้นแบบเตือนผู้ขับขี่รถจักรยานและรถจักรยานยนต์ที่ลืมยกขาตั้งที่คิดและพัฒนา โดยเด็กนักเรียนโรงเรียนวรนารีเฉลิม จ.สงขลา ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นชิ้นงานที่เป็นตัวแทนจากเขตพื้นที่ไปแข่งในระดับภาค

หลักการการทำงานของอุปกรณ์นี้ก็คือ เมื่อตัวขาตั้งไม่ได้ทำการยกขึ้นตัวเซ็นเซอร์จับการกีดขวางของตัวขาตั้งจะส่งข้อมูลไปยังบอร์ด Ardunio เพื่อทำการประมวลผลและส่งสัญญาณเสียงเพื่อเตือนผู้ขับขี่

ดร.อุดม ชุลีวรรณ ผอ.รร. วรนาทีเฉลิม จ.สงขลา

“โครงงานของโรงเรียนก็มีโครงงานของนักเรียน ม.5 ที่นักเรียนคิดและเขียนโปรแกรม ที่วางแสตนด์จักรยาน นักเรียนจะเขียนโปรแกรมทำยังไงให้มันเตือน เอามาเตือนเหมือนกับเสียงที่เราไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ถ้าไม่ขึ้นแสตนด์จะมาดังที่หูฟัง เด็กก็ออกแบบโดยการใช้โปรแกรมกันเพราะว่าที่โรงเรียนก็มีครูคอมพิวเตอร์หลายคนที่เรียนด้านการออกแบบและการเขียนโปรแกรมมา” ดร.อุดม  ชุลีวรรณ ผู้อำนวยการโรงเรียนวรนาทีเฉลิม จังหวัดสงขลา  กล่าว

อุปกรณ์ต้นแบบเตือนผู้ขับขี่รถจักรยานและรถจักรยานยนต์ที่ลืมยกขาที่สามารถนำไปใช้งานได้จริง

อุปกรณ์ต้นแบบเตือนผู้ขับขี่รถจักรยานและรถจักรยานยนต์ที่ลืมยกขาชิ้นนี้ได้รับคัดเลือกให้เป็นชิ้นงานที่เป็นตัวแทนจากเขตพื้นที่ไปแข่งในระดับภาคด้วย แต่ถึงแม้ผลงานชิ้นนี้จะไม่ได้รับรางวัลในระดับภาคก็ตาม แต่นี่ก็ถือเป็นตัวอย่างของการนำความรู้จากการเรียนโปรแกรมมิ่ง ไปออกแบบเป็นนวัตกรรมที่จับต้องได้และสามารถใช้งานได้จริง

การฝึกคิดเชิงคำนวณแบบ Unplug

จากการสอนในวิชาเพิ่มเติมในห้องเรียนพิเศษเฉพาะระดับมัธยมปลาย ผ่านมา 3 ปี การสอนโปรแกรมมิ่ง ก็ได้กลายมาเป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งของ วิชาวิทยาการคำนวณ ซึ่งความแตกต่างก็คือการสอนในวิชาวิทยาการคำนวณจะไม่ได้เน้นการเขียนโปรแกรมเพียงอย่างเดียวเหมือนการสอนโปรแกรมมิ่งในวิชาเพิ่มเติม แต่จะเป็นการสอนทฤษฎีควบคู่ไปกับการปฏิบัติอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

ครูธัญญวดี เสพมงคลเลิศ ครูสอนวิชาวิทยาการคำนวณ ชั้น ม.4 รร.วรนารีเฉลิม จ.สงขลา

“จากการสอนในวิชาเพิ่มเติมจะเป็นการสอนเฉพาะการโปรแกรมมิ่งอย่างเดียว  ซึ่งเด็กๆ จะได้เรียนเขียนโปรแกรมด้วยภาษาคอมพิวเตอร์อย่างภาษาจาวา ภาษา html ซึ่งการเรียนรู้ต้องยอมรับว่าเป็นไปแบบข้ามขั้นตอน เพราะเราไม่ได้เตรียมความพร้อมเด็กในการสอนการคิดเป็นระบบ การคิดอย่างมีแบบแผน มีขั้นตอน มีวิธีการอะไรแบบนี้แล้วเด็กจะเรียนรู้ยากไป เพราะฉะนั้นหากเรามาตามหลักสูตรนี้ ระดับประถมวางไว้แค่นี้ มัธยม ม.ต้นวางเป็นขั้นตอนมา เด็กจะเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น แล้วตรงนี้มันจะเป็นขั้นตอนและเด็กน่าจะสนุกมากขึ้น ทำให้การเขียนโปรแกรม การโค้ดดิ้ง ไม่น่าจะยาก” ครูธัญญวดี  เสพมงคลเลิศ ครูสอนวิชาวิทยาการคำนวณ ชั้น ม.4 โรงเรียนวรนารีเฉลิม จ.สงขลา กล่าว

ครูธัญญวดี ยังบอกต่อว่า ความยากของการสอนวิทยาการคำนวณในระดับมัธยมปลาย ก็คือรูปแบบการสอนที่จะต้องปรับการสอนให้เข้ากับเด็กเฉพาะกลุ่ม เพราะหากเป็นเด็กวิทย์จะมีทักษะการคิดเชิงคำนวณที่ดีกว่า แต่หากเป็นเด็กศิลป์ก็ต้องปรับรูปแบบการสอนเพื่อให้เด็กศิลป์เรียนได้อย่างสนุก เพราะหากเขาเรียนได้อย่างสนุก เขาก็สามารถที่จะเรียนรู้ตรงนั้นได้

แม้วันนี้การสอนวิชาวิทยาการคำนวณของในแต่ละโรงเรียนจะเพิ่งเริ่มต้น  แต่เป้าหมายสำคัญของโรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา ก็คือการใช้วิชาวิทยาการคำนวณสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กที่จะคิดค้นนวัตกรรมมากกว่าที่จะเป็นผู้ใช้เพียงอย่างเดียว และที่สำคัญที่สุดก็คือการสร้างให้เด็กเป็นนักคิดและนักประดิษฐ์ของประเทศต่อไปนั่นเองค่ะ

นี่ก็เป็นเรื่องราวการเรียนวิชาวิทยาการคำนวณของโรงเรียนวรนารีเฉลิม จ.สงขลา นะคะ หากโรงเรียนไหนมีเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับการสอนและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีของเด็ก ก็สามารถส่งเรื่องราวมาแบ่งปันได้ที่ prapimpan@dek-d.com ค่ะ เราจะนำเสนอเพื่อเป็นแนวทางในการการใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาเด็กไทยต่อไปค่ะ

 

 

 

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular

Recent Comments