การสอบ สอวน. หรือที่รู้จักในฐานะการสอบเข้าค่ายโอลิมปิกวิชาการนั้น แม้ชื่อจะบอกว่าเป็น “วิชาการ” แต่เนื้อหาที่เด็ก ๆ ผู้ได้เป็นส่วนหนึ่งของค่าย สอวน. จะได้เรียนรู้นั้น ก็มิใช่เพียงแค่วิชาการที่เจอแบบในห้องเรียนเท่านั้น แต่เป็นวิชาการประยุกต์ สร้างสรรค์ และลงลึกในศาสตร์แขนงนั้น ๆ มากขึ้น และในหมู่ “วิชาการ” ของค่ายโอลิมปิกทั้งหมด ก็ยังมีวิชาที่เป็นศาสตร์ผสมผสานหลายแขนง เรียกว่าผสานไว้ทั้งจักรวาลเลยก็ว่าได้อย่าง “ดาราศาสตร์” อีกด้วย
ค่ายโอลิมปิก “ดาราศาสตร์” แตกต่างจากวิชาอื่นมากน้อยแค่ไหน เด็กไทยจะได้เรียนรู้อะไรจากวิชาแห่งดาวดาวนี้บ้าง เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับวิชาดาราศาสตร์ และค่าย สอวน. ดาราศาสตร์ จากอาจารย์ ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ แห่งคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานศูนย์มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) วิชาดาราศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“จริง ๆ ดาราศาสตร์ มันให้หลักการคิดที่เป็นเหตุผล และความเข้าใจธรรมชาติ”
อาจารย์สธน กล่าวถึงวิชาดาราศาสตร์ว่า “มันอยู่ในชีวิตรอบตัวทุกคน” เราเห็นปรากฎการณ์ดาราศาสตร์อยู่ทุกวัน พระอาทิตย์ตก พระจันทร์ขึ้น ลม พายุ ฝน มันจึงเป็นเรื่องความเข้าใจในปรากฎการณ์ต่างๆ รอบตัวเรา และยังนำไปใช้ในงานอื่น ๆ เช่น การใช้ระบบ GPS การคำนวณการเคลื่อนที่ของดาวเทียม เป็นต้น มันแทรกอยู่ในทุกเรื่องที่เราสัมผัสได้ เพียงแต่มันไม่ได้เด่นชัดออกมา มันเป็นหลักการพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์แบบหนึ่ง
วิชาดาราศาสตร์มีเสน่ห์ที่ต่างจากวิชาอื่น ๆ ด้วยตัวมันนำวิชาต่าง ๆ มาประยุกต์กับดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ เช่น ตรีโกณมิติ มันก็ไม่ใช่ sin cos tan เป็นสามมิติที่เรียนกัน แต่เป็นตรีโกณมิติบนผิวทรงกลม เป็นคณิตศาสตร์แบบที่ไม่มีสอนในโรงเรียน ไม่มีทั้งในระดับ ม.ต้น และ ม.ปลาย
ซึ่งในส่วนของโครงการ สอวน. ดาราศาสตร์ โดยกลไกการดำเนินงานคล้ายคลึงไม่ต่างกับค่ายโอลิมปิกวิชาอื่นนัก มีสอบเข้า สอวน.ค่าย 1 ค่าย 2 หาผู้แทนศูนย์ไปสอบแข่งขันจนไปถึงค่ายระดับชาติ และแข่งหาตัวแทนไปแข่งขันระดับนานาชาติ (IAO, IOAA)* เช่นเดียวกัน เพียงแต่การสนับสนุนมาจากมูลนิธิ สอวน. โดยตรง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่สิ่งที่แตกต่างที่สุดก็คือ “ตัวเนื้อหา” อย่างในส่วนค่ายเราจะมี “ภาคสังเกตการณ์” เป็นการไปดูดาวกับท้องฟ้าจริง ออกไปต่างจังหวัด เรียนดูดาวจริง เรื่องการใช้กล้องโทรทรรศน์ และมี NARIT (สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ) ร่วมดูแลและประเมินในภาคสังเกตการณ์ เราจะไม่ได้อยู่ในห้องปฏิบัติการเหมือนวิชาอื่น ๆ
IAO: International Astronomy Olympiad การแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ IOAA: International Astrophysics and Astronomy Olympiad การแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ
โดยการรับผิดชอบจัดค่าย สอวน. ก็แบ่งดูแลตามภาคตามพื้นที่การศึกษาของนักเรียนที่มาสมัครเข้าโครงการ ในส่วนศูนย์ สอวน.ดาราศาสตร์ จุฬาฯ จะรับผิดชอบภาคกลางตอนกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก – ใต้ตอนบน ส่วนภาคอื่น ๆ ก็จะมีศูนย์ ม.เชียงใหม่ มขอนแก่น มอุบล วลัยลักษณ์ และสงขลานครินทร์ ปัตตานี นอกจากนี้ก็จะมีศูนย์เสริมเป็นศูนย์ที่ดูแลจัดการภายในโรงเรียนเอง เช่น ศูนย์โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เป็นต้น
“สอวน. เป็นโครงการที่เปิดประตูสู่อนาคตอีกเส้นทางที่ไกลไปข้างหน้า”
ซึ่งอาจารย์สธนก็ได้กล่าวสรุปไว้ว่า แม้ประโยชน์ของนักเรียนที่ได้เข้าค่าย สอวน. ดาราศาสตร์ จะได้โอกาสในการศึกษาต่อทั้งระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและมหาวิทยาลัยในคณะและมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศแล้ว คือเป็นโครงการที่เปิดประตูสู่อนาคตอีกเส้นทางที่ไกลไปข้างหน้า ได้ความรู้หรืออาจได้เป็นผู้แทนนักเรียนไทยไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับนานาชาติ ไม่ต่างจากค่ายโอลิมปิกวิชาการอื่น ๆ
แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่เด็ก ๆ จากค่ายดาราศาสตร์จะได้รับนอกเหนือจากเหรียญรางวัลต่าง ๆ ก็คือ การได้เรียนในสิ่งที่รัก และการได้เจอเพื่อนที่รักในสิ่งเดียวกัน ซึ่งมันเป็นแรงผลักดันให้เด็กทุกคนได้มีแรงบันดาลใจในการทำงานต่าง ๆ ในชีวิต เด็ก ๆ จากค่ายดาราศาสตร์ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นนักดาราศาสตร์หรือนักวิทยาศาสตร์ไปทุกคน ก็มีทั้งเป็นหมอ เป็นวิศวกร เป็นเภสัช แต่ไม่ว่าเด็ก ๆ จะไปทำอะไรหรือประกอบอาชีพใด พวกเขาทุกคนก็จะกลับมาดูดาวร่วมกัน เป็นความความสุขของชีวิตที่ได้ทำสิ่งที่รักนั่นเอง
รวมระเบียบการสอบคัดเลือกโครงการโอลิมปิกวิชาการ สอวน. (ค่าย1) ทุกวิชา ปี 2561 >> คลิกที่นี่
ระเบียบการรับสมัครโครงการดาราศาสตร์โอลิมปิก 2561 >> คลิกที่นี่