สำหรับน้องๆ สายแข่งขันทางวิชาการ พี่เชื่อว่าสนามสอบ สอวน. ก็คงเป็นสนามสอบที่น้องๆ ใฝ่ฝันและอยากไปให้ถึง เพราะหากเราได้เข้าสู่เส้นทาง สอวน.แล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือโอกาส ประสบการณ์ครั้งสำคัญ และการได้เรียนในสิ่งที่น้องๆ ชอบแบบเจาะลึกมากยิ่งขึ้น อย่างเช่นพี่ส้มก็เป็นอีกคนหนึ่งค่ะ ที่ค้นพบตัวเองว่าชื่นชอบวิชาเคมี และก็ไม่รีรอที่จะทำตามความฝัน แม้จะเคยผิดหวังในการสอบ สอวน.เคมี ครั้งแรกตอน ม.3 แต่พี่ส้มก็ไปพัฒนาตัวเองต่อและกลับมาสอบใหม่ตอน ม.4 จนเดินทางไปสู่การได้รับเหรียญเงินเคมีโอลิมปิคระดับชาติ เรื่องราวของพี่ส้มจะเป็นยังไง ไปติดตามได้เลยค่ะ
ก่อนอื่นให้น้องส้มแนะนำตัวก่อนค่ะ
สวัสดีค่ะ ญาดา สิริเพาประดิษฐ์ ชื่อเล่น ส้มค่ะ ปัจจุบันศึกษาอยู่ที่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มัธยมศึกษาตอนต้น ศึกษาอยู่ที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน และมัธยมศึกษาตอนปลาย ศึกษาอยู่ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาค่ะ
จุดเริ่มต้นของสนามสอบ สอวน.เคมี
หนูชอบเรียนวิทยาศาสตร์ตั้งแต่เด็กๆ ค่ะ ตอน ม.ต้นก็จะมีสอบแข่งขัน ตอนนั้นหนูเลยไปลองสอบ IJSO ซึ่งจะมีทั้งฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ตอนหนูเตรียมตัวสอบ ก็มีโอกาสได้เรียนเนื้อหาในระดับ ม.ปลายของทั้ง 3 วิชา และรู้สึกว่าเคมีเป็นวิชาที่หนูเรียนแล้วสนุกที่สุดค่ะ
พอเริ่มสนใจวิชาเคมี หนูก็เลยตัดสินใจไปสอบ สอวน.ตั้งแต่ตอน ม.3 เพราะสนใจที่จะเข้าค่าย อยากเรียนเนื้อหาที่ลึกขึ้น หนูเตรียมตัวสอบด้วยการทำโจทย์เคมี ม.ปลาย แล้วก็พยายามศึกษาเนื้อหาบางส่วนเพิ่มเติม ซึ่งตอน ม.3 หนูไม่ค่อยได้เตรียมตัว เพราะต้องเตรียมสอบเข้า ม.4 ไปด้วยค่ะ ซึ่งการสอบ สอวน.ครั้งนั้นก็ยังสอบไม่ติดรอบแรกค่ะ พอประกาศคะแนนออกมาก็ทราบว่าหนูขาดไปอีก 2 – 3 คะแนน ทำให้หนูตั้งใจเตรียมตัวที่จะกลับมาสอบอีกครั้งในปีถัดไปค่ะ
เตรียมตัวให้พร้อมและกลับมาสอบ สอวน.เคมี อีกครั้งตอน ม.4
ตอนนั้นหนูตั้งใจว่าหลังสอบเข้า ม.4 จะเรียนเคมี ม.ปลายให้จบภายในปิดเทอมนั้นเลยค่ะ เลยตัดสินใจไปลงเรียนพิเศษ อ่านหนังสือของเคมี ม.ปลาย แล้วก็ทำข้อสอบเก่าค่ะ ซึ่งพอหนูเก็บเนื้อหาและฝึกทำโจทย์ไปได้ประมาณหนึ่ง หนูก็แบ่งเวลาบางส่วนไปเตรียมเนื้อหาที่เรียนในค่ายแรกไว้ก่อนด้วยค่ะ
ตอน ม.4 หนูติดไปถึงสอวน.ค่าย 2 ค่ะ ซึ่งสอวน.ค่าย 2 จะคัดผู้แทนศูนย์ทั้งหมด 18 คนไปแข่งเคมีโอลิมปิกระดับชาติ และหนูเองก็ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้แทนศูนย์เลยได้ไปแข่งต่อค่ะ
แชร์ประสบการณ์การสอบคัดเลือก สอวน.เคมี ค่าย 1
สำหรับการสอบคัดเลือกเข้าค่ายแรก เนื้อหาที่ปรากฏในข้อสอบจะเป็นเนื้อหาของระดับ ม.4 เช่น ปริมาณสารสัมพันธ์ พันธะเคมี โครงสร้างอะตอม ข้อสอบจะมีทั้งแบบอัตนัยและปรนัย โดยปริมาณข้อสอบจะค่อนข้างเยอะเทียบกับเวลาที่ใช้สอบ จึงค่อนข้างเป็น speed test ค่ะ ดังนั้นตอนที่ทำข้อสอบ จะต้องมีความละเอียดและรอบคอบมากๆ บทที่ออกค่อนข้างเยอะจะเป็นปริมาณสารสัมพันธ์ค่ะ ซึ่งบทนี้ก็จะมีการคำนวณ ต้องอาศัยความรอบคอบมากๆ จึงจะทำข้อสอบทัน ตอนนั้นหนูเตรียมตัวไปสอบ ก็มีเรียนพิเศษ อ่านหนังสือ ทำข้อสอบเก่าแล้วลองจับเวลาจริง ส่วนมากการเตรียมตัวในรอบนี้จะเน้นไปที่การฝึกโจทย์ให้คล่องค่ะ
ตอนนั้นหนูสอบติดค่ายแรกและได้ไปเข้าค่ายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ก็จะมีอาจารย์มาสอนเนื้อหา สอนทำ lab ค่ายนี้จะใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ค่ะ เนื้อหาที่เรียนในค่ายแรกจะเป็นเนื้อหาระดับมหาวิทยาลัย ปี 1 ซึ่งก็จะมีบางบทที่ตรงกับ ม.ปลาย แต่ความลึกของเนื้อหาจะต่างกัน เช่น พันธะเคมี เนื้อหาที่สอนในค่ายก็จะครอบคลุมไปถึง molecular orbital theory บทที่หนูคิดว่ายากสำหรับค่ายนี้คือ ส่วนที่เป็น เคมีวิเคราะห์ (analytical chemistry) เช่น กรด-เบส ซึ่งการเตรียมสอบบทนี้จะต้องฝึกทำโจทย์ไปพอสมควรค่ะ การเตรียมตัวสำหรับค่ายนี้ค่อนข้างใช้ระยะเวลานาน เพราะเริ่มเตรียมตัวไว้ตั้งแต่ก่อนสอบคัดค่ายแรก โดยหนูก็ได้ไปเรียนพิเศษ อ่านหนังสือ และทำโจทย์ใน textbook ค่ะ
แชร์ประสบการณ์การสอบ สอวน.เคมี ค่าย 2
ค่ายนี้จะเป็นค่ายที่ค่อนข้างยากเพราะเป็นค่ายคัดเลือกผู้แทนศูนย์ ซึ่งคัดเพียง 18 คนจากประมาณ 70 คน เนื้อหาที่เยอะและยากที่สุดสำหรับค่ายนี้ คือ เคมีอินทรีย์ (organic chemistry) ซึ่งจะแตกต่างจากส่วนที่เรียนตอน ม.ปลาย เพราะจะต้องเรียนเนื้อหาที่ละเอียดเกี่ยวกับการเกิดปฏิกิริยาของแต่ละหมู่ฟังก์ชัน รวมถึง stereochemistry ที่ต้องอาศัยทักษะในการมองภาพในสามมิติ ตอนแรกหนูเข้าใจว่าวิชานี้เป็นวิชาที่อาศัยการท่องจำ ท่องปฏิกิริยาต่างๆ แต่พอได้เรียนจริงๆ แล้วก็พบว่าเคมีอินทรีย์เป็นวิชาที่อาศัยความเข้าใจ ซึ่งความเข้าใจนี้ก็จะมาจากการได้เห็นรูปแบบโจทย์ที่หลากหลาย และการอ่านเนื้อหาที่เยอะพอสมควร
ประสบการณ์การแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติ
พอสอบผ่าน สอวน.ค่าย 2 ก็จะได้ไปเข้าร่วมการแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติ ซึ่งปีหนูได้ไปแข่งที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็จะมีนักเรียนจาก สอวน.หลายศูนย์มาร่วมการแข่งขันนี้ ก่อนการแข่งขันก็จะมี preparatory problems ที่จะเป็นแนวว่าเนื้อหาที่ออกข้อสอบปีนี้จะครอบคลุมเนื้อหาส่วนใดบ้าง หนูก็ได้ฝึกทำโจทย์ในส่วนตรงนี้และก็ไล่ทำข้อสอบเก่าย้อนหลัง ซึ่งทางศูนย์ สอวน. ก็ได้มีการจัดติวให้ผู้แทนศูนย์ทุกคน มีการฝึกทำ lab เสมือนสอบจริง ซึ่งตรงนี้ก็เป็นประโยชน์สำหรับการเตรียมตัวมากๆ เช่นกันค่ะ
สำหรับการเตรียมตัวในรอบนี้ก็จะเริ่มจากการทวนเนื้อหาที่เรียนในค่ายที่ผ่านๆ มาและฝึกทำโจทย์ที่เป็นข้อสอบเก่า โดยอาจจะลองจับเวลาดูบางส่วน ส่วนเนื้อหาที่ปรากฏใน preparatory problems ก็พยายามไปทวนโดยเฉพาะส่วนที่ยังไม่แม่น
การแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติจะใช้เวลาทั้งหมด 5 วัน โดยมีการสอบภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ อย่างละ 5 ชั่วโมง สำหรับหนูเป็นการสอบที่ใช้เวลานานมากๆ ดังนั้นการรับมือกับความเครียด ความกดดันในช่วง 5 ชั่วโมงนี้จึงสำคัญมากๆ ค่ะ ผลจากการแข่งขันครั้งนี้ก็คือ หนูได้เหรียญเงินค่ะ โดยรวมแล้วประสบการณ์การไปแข่งขันครั้งนี้สนุกมากๆ เลยค่ะ เนื่องจากได้ไปเที่ยวกับเพื่อนๆ ที่มาจากศูนย์เดียวกันและคนละศูนย์ด้วย นับว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งเลยสำหรับความทรงจำในช่วงชีวิต ม.ปลายค่ะ และเนื่องจากหนูได้เหรียญเงิน ก็จะสามารถผ่านเข้าไปเข้าค่าย สสวท.1 ได้เลยค่ะ
จากเคมีโอลิมปิกระดับชาติถึง สสวท. ค่าย 1 และ สสวท.ค่าย 2
เนื้อหาในค่าย1 จะค่อนข้างเยอะค่ะ ก็จะมีในส่วนของ organic chemistry, inorganic chemistry, physical chemistry, analytical chemistry ซึ่งเนื้อหาที่หนูคิดว่าค่อนข้างยากและต้องใช้เวลาเตรียมเยอะก็คือ physical chemistry และ organic chemistry ค่ะ
Physical chemistry ก็จะมีหลายพาร์ทด้วยกัน ส่วนตัวคิดว่า thermodynamics จะเป็นพาร์ทที่ยากที่สุด เพราะต้องอาศัยความเข้าใจและทักษะการคำนวณ ซึ่งอาจจะต้องใช้ calculus มาช่วยด้วย (ในค่ายก็จะมีสอนอยู่ในวิชา math for chemistry) การทำโจทย์เยอะๆ จะช่วยตรงนี้มากๆ
Organic chemistry ก็จะมีพาร์ทที่ยากขึ้นและต่างจาก สอวน. เช่น pericyclic reactions, organometallic, organic spectroscopy ซึ่งในส่วนของ organic synthesis ก็จะมีปฏิกิริยาที่หลากหลายมากขึ้น และจะเน้นในส่วนของกลไกการเกิดปฏิกิริยามากขึ้น
สำหรับค่าย 2 เนื้อหาจะไม่เยอะเท่ากับ สสวท.ค่าย 1 โดยหัวข้อที่จะเรียนในค่ายจะมีบางส่วนที่เป็นเนื้อหาใน preparatory problems ของ IChO ในปีนั้นๆ
เตรียมตัวอย่างไรสำหรับ สสวท.ค่าย 1 และ สสวท.ค่าย 2
จะต้องแบ่งเวลาเพื่อทำความเข้าใจกับเนื้อหาซึ่งมีปริมาณมาก ต้องฝึกทำโจทย์หลากหลายรูปแบบ ทั้งที่อยู่ใน textbook และที่อยู่ใน preparatory problems ของ IChO ปีที่เราสอบ และที่สำคัญควรฝึกทำข้อสอบเก่าของ IChO ย้อนหลังด้วย และตอนนั้นหนูก็เรียนพิเศษด้วยค่ะ ซึ่งการเรียนพิเศษก็ทำให้หนูได้เห็นแนวโจทย์ที่หลากหลายขึ้นค่ะ
เรียนพิเศษกับ อ.เต้ Dek-D School สร้างพื้นฐานเคมีให้แม่นและนำไปต่อยอดได้
จริงๆ หนูเรียนกับ อ.เต้ตั้งแต่ช่วงที่เตรียมตัวสอบเข้าค่ายแรกตอน ม.4 แล้วค่ะ ตอนนั้นมีรุ่นพี่แนะนำให้มาเรียน พอได้เรียนแล้วก็รู้สึกสนุกกับการเรียนเคมีกับ อ.เต้มากๆ เพราะอาจารย์เน้นสอนให้เกิดความเข้าใจ และโจทย์ของอาจารย์ทำให้หนูได้ฝึกคิดอย่างเป็นระบบ เวลาทำโจทย์ อาจารย์จะเว้นให้หนูได้คิด ทำความเข้าใจกับโจทย์ แล้วค่อยๆ guide ไป แต่จะยังไม่บอกคำตอบ ซึ่งทำให้หนูได้คิดอย่างละเอียดถี่ถ้วนจริงๆ หนูรู้สึกดีใจมากๆ ที่ตัดสินใจมาเรียนกับอาจารย์ เพราะการเรียนตั้งแต่แรกทำให้หนูมีพื้นฐานที่แน่น สามารถต่อยอดความรู้ได้อย่างรวดเร็ว พอหนูสอบติดค่าย สอวน. อาจารย์ก็สอนเนื้อหาที่เป็นระดับมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะในส่วนของเคมีอินทรีย์ อาจารย์ทำให้หนูเข้าใจในหลายๆ บทที่มีความซับซ้อนอย่าง molecular orbital theory ซึ่งสามารถนำไปใช้ในเรื่องที่ยากอย่าง pericyclic reactions หนูเรียนกับอาจารย์ตั้งแต่สอบค่ายแรกจนถึงค่ายสุดท้าย (สสวท.2) ก็รู้สึกสนุกกับโจทย์และแนวการสอนของอาจารย์มากๆ ค่ะ
การเป็นเด็กค่าย ช่วยในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยยังไงบ้าง?
คิดว่าความรู้ความเข้าใจจากการเรียนเคมีในค่ายช่วยประหยัดเวลาในการเตรียมตัวสอบมากๆ เลยค่ะ เนื่องจากหนูเรียนเนื้อหาส่วนใหญ่จบตั้งแต่ช่วงที่เข้าค่าย ทำให้ช่วงใกล้สอบก็ทวนเนื้อหาโดยใช้เวลาไม่มากและสามารถฝึกทำโจทย์ได้เลย การเรียนในค่ายจะมีเนื้อหาที่ค่อนข้างละเอียด อาศัยความเข้าใจ ทำให้สามารถ recall เนื้อหาได้ไม่ยาก ลดการท่องจำเนื้อหาไปได้เยอะเลยค่ะ
นอกจากความรู้ด้านวิชาการที่ลึกขึ้นแล้ว การเป็นเด็กค่ายทำให้ได้รับประสบการณ์อื่นๆ ที่ไม่มีในห้องเรียนด้วย
ในด้านวิชาการ แน่นอนว่าการเข้าค่ายก็ช่วยให้หนูเรียนเคมีด้วยความเข้าใจมากขึ้น เรียนรู้และคิดอย่างเป็นระบบมากขึ้น นอกจากนี้การเข้าค่ายยังทำให้หนูจัดการเวลาชีวิตได้ดีขึ้นมากๆ เพราะหนูจะต้องแบ่งเวลาสำหรับการเตรียมสอบค่ายที่มีเนื้อหาค่อนข้างเยอะและการเรียนที่โรงเรียน หนูมีความสุขมากๆ กับการเรียนเคมี พอมีโอกาสเข้าค่าย ก็ได้เจอเพื่อนๆ รุ่นพี่ รุ่นน้องที่ชอบเรียนเคมีเหมือนกัน ได้ไปแข่งหรือเข้าค่ายด้วยกัน ทำให้หนูรู้สึกว่าสังคมในค่ายก็เป็นอีกสังคมหนึ่งที่ดี การเข้าค่ายยังทำให้หนูจัดการกับความเครียด ความกดดันได้ดียิ่งขึ้น เพราะการเรียนรู้เนื้อหาใหม่ๆในช่วงเวลาอันสั้นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แน่นอนว่าต้องเกิดความรู้สึกเหนื่อยหรือท้อบ้าง ซึ่งหนูก็ได้เรียนรู้ที่จะจัดการกับความรู้สึกเหล่านี้ได้ดียิ่งขึ้น
น้องๆ ที่อยากเป็นเด็กค่ายต้องเตรียมตัวเองยังไงบ้าง?
หนูคิดว่าน้องไม่จำเป็นที่จะต้องเก่งวิชานั้นๆ มาตั้งแต่แรก เพราะทุกคนสามารถพัฒนาหรือเก่งขึ้นได้ในทุกๆ รอบ ขึ้นกับความพยายามและความชอบ แต่น้องจะต้องมีพื้นฐานการคำนวณและการคิดวิเคราะห์ที่ดี จึงจะสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว เนื่องจากการเรียนเคมีให้เข้าใจนั้นจะต้องอาศัยการใช้เหตุผล ซึ่งในบางครั้งต้องอาศัยทักษะการคำนวณเข้ามาช่วย
อยากให้ฝากถึงน้องๆ หรือเป็นกำลังใจให้น้องๆ ที่อยากเป็นเด็กค่ายหน่อยค่ะ
อยากให้น้องๆ เชื่อมั่นในตัวเอง พยายามอย่างเต็มที่ แต่ก็อย่าลืมพักผ่อนและรักษาสุขภาพด้วยนะ สู้ๆค่ะ☺️
อ่านมาถึงตรงนี้แล้วสำหรับน้องๆ ที่กำลังเตรียมตัวสอบสอวน.เคมี ประสบการณ์จริงจากพี่ส้ม ก็น่าจะเป็นประโยชน์ เป็นแนวทางสำหรับการเตรียมตัวสอบให้น้องๆ ได้
สำหรับน้องๆ คนไหนที่อยากประสบความสำเร็จในการสอบ สอวน. สามารถเตรียมตัวสอบ สอวน.ผ่านการติวออนไลน์กับ Dek-D School ทวนซ้ำได้ไม่จำกัดตลอด1ปี สอนโดยอาจารย์อดีตตัวแทนประเทศในการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญและคลุกคลีกับวงการโอลิมปิกวิชาการมากกว่า 10 ปี ปิดจุดอ่อน เสริมจุดแข็งผ่านการทำความเข้าใจเนื้อหา ที่มาของสูตร และนำมาประยุกต์ใช้ผ่านการทำโจทย์ที่หลากหลาย อัปเดคใหม่ทุกปี ที่สำคัญที่สุดแม้ว่าจะเป็นการเรียนออนไลน์ แต่น้องๆ ทุกคนสามารถสอบถามข้อสงสัยกับอาจารย์ผู้สอนได้ น้องๆ ที่สนใจสามารถสมัครเรียนได้โดยการคลิกเลือกรายวิชาที่รูปด้านล่างได้เลยค่ะ
ติดตามสาระความรู้และข่าวสารสำหรับการสอบ สอวน.ได้ที่ Facebook Dek-D School หรือวางแผนเตรียมสอบ สอวน.กับ พี่ๆ Dek-D School ได้ฟรี!!!ที่ Line @schooldekd