HomeCoachDDรู้จักกับ“นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย” และเรื่องต้องรู้ก่อนเลือกสาขานี้

รู้จักกับ“นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย” และเรื่องต้องรู้ก่อนเลือกสาขานี้

หากพูดถึงอาชีพ “นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย” หรือนักแก้ไขการพูดและการได้ยิน พี่เชื่อว่าน้องๆ หลายคนอาจจะยังไม่คุ้นเคยหรือแทบจะไม่เคยได้ยินมาก่อนว่าอาชีพนี้เป็นยังไงและเขาทำอะไรกันบ้าง วันนี้พี่แพม ปพิชญา สุขประสงค์ จากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี สาขาความผิดปกติของการสื่อความหมาย ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ให้คำปรึกษาอยู่ที่ Coach DD จะพาน้องๆ ไปทำความรู้จักกับ “นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย” อะไรที่ต้องรู้หากอยากไปเป็นนักเวชศาสตร์การสื่อความหมายบ้าง ไปติดตามจากพี่แพมได้เลยค่ะ

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับ “สาขาความผิดปกติของการสื่อความหมาย” กันก่อน

สาขานี้จะเรียนเกี่ยวกับความผิดปกติทางด้านการสื่อความหมายทั้งการพูดและการได้ยินค่ะ เราไม่ได้จบมาแล้วเป็นแพทย์นะคะ เราจบไปแล้วเป็น “นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย” ค่ะ ถ้าถามว่างานนี้ต่างจากแพทย์ยังไงสำหรับงานแพทย์จะเน้นการรักษาในขณะที่วิชาชีพนี้เราจะเน้นไปที่การฟื้นฟูค่ะ

รู้ไหม? “นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย” เรียนคณะแพทยศาสตร์ แต่ไม่ได้จบมาเป็นแพทย์

คณะนี้เรียนจบไปแล้วจะได้วุฒิการศึกษาเป็น “วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาความผิดปกติของการสื่อความหมาย” ค่ะ และจะต้องสอบใบประกอบวิชาชีพอีกด้วยค่ะ ซึ่งสาขานี้จะแยกเป็น 2 เอก คือ

  • เอกแก้ไขการพูด เรียนเกี่ยวกับความผิดปกติทางด้านการพูดและภาษาต่าง ๆ โดยจะลงลึกถึงกระบวนการในการออกเสียง การฝึกผู้ป่วยที่มีความผิดปกติที่เกี่ยวกับข้องกับการพูด พัฒนาการและภาษา
  • เอกแก้ไขการได้ยิน เรียนเกี่ยวกับการวินิจฉัยผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางการได้ยิน หรือตรวจการได้ยินในเด็กแรกเกิดโดยใช้เครื่องมือเป็นส่วนใหญ่

เรียนจบแล้วสามารถทำงานอะไรได้บ้าง?

พี่แพม นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย
  • นักแก้ไขการพูดหรือนักแก้ไขการได้ยินในโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน
  • อาจารย์ นักวิชาการ
  • นักวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ สาขาการสื่อความหมาย หรือศึกษาต่อต่างประเทศในระดับสูง

แต่ละปีจะรับเพียง 30-35 คน เท่านั้น

ในแต่ละปีจำนวนที่รับจะแตกต่างกันค่ะ”

ในปี 65 รับทั้งหมด 30 คน โดยเปิดรับเฉพาะ รอบ3 (รับตรงร่วมกัน)

  • เอกแก้ไขการพูด 15 คน 
  • เอกแก้ไขการได้ยิน 15 คน

ในปี 66 รับทั้งหมด 30 คน รวมทั้งสองเอก

โดยจะเปิดรับรอบ1 (Portfolio) และรอบ3 (รับตรงร่วมกัน) ในแต่ละรอบจำนวนรับจะไม่เท่ากันเหมือนปี 65 

ในปี 67 รับ ทั้งหมด 35 คน โดยเปิด

  • รอบ 1 (Portfolio)
    เอกแก้ไขการพูด รับ 8 คน
    เอกแก้ไขการได้ยิน รับ 10 คน
  • รอบ 3 (รับตรงร่วมกัน)
    เอกแก้ไขการพูด รับ 7 คน
    เอกแก้ไขการได้ยิน รับ 10 คน

หากน้องๆ สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่เลย

เป็นสาขาที่มีสอนเพียงที่เดียวในประเทศไทยทำให้เป็นอาชีพที่ขาดแคลน

พี่แพม นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย

แพมมองว่าสาขาความผิดปกติของการสื่อความหมายเป็นวิชาชีพที่ค่อนข้างสำคัญ เพราะเป็นสาขาที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันของเราโดยตรงแต่ปัจจุบันยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในประเทศไทยมากนักเพราะเปิดสอนที่มหิดลในระดับปริญญาตรีเพียงที่เดียว ทำให้บัณฑิตที่จบใหม่ในแต่ละปีน้อยจึงขาดแคลนมาก แพมเห็นว่าหลักสูตรน่าสนใจจึงเลือกเรียนสาขานี้ค่ะ

สาขานี้เขาเรียนอะไรกัน?

  • ปี 1 เรียนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์คล้ายๆ ม.ปลายเลยค่ะ ในเทอม 2 จะมีวิชาคณะเพิ่มเข้ามา 1 ตัว คือพัฒนาการเด็ก วิชานี้จะได้เรียนเกี่ยวกับจิตวิทยาในเด็กและพัฒนาในแต่ละช่วงวัย เช่น เดินได้ตั้งแต่กี่ขวบ ควรอ่านหนังสือได้ตั้งแต่กี่ขวบ และได้เรียนอนาโตมี่ด้วยค่ะ จะได้เรียนกับอาจารย์ใหญ่จริงๆ รวมกับเพื่อนพยาบาลและฉุกเฉินการแพทย์
  • ปี 2 เรียนพื้นฐานของสาขาวิชาชีพ ทำให้เราได้เห็นภาพมากขึ้นว่าเราทำงานกับคนไข้กลุ่มไหนบ้างมีอาการเบื้องต้นอย่างไร สามารถฟื้นฟูได้ด้วยวิธีใด ในเทอม 2 จะย้ายไปเรียนที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ซึ่งจะได้ลงคลินิกสังเกตุการณ์ในการฝึกคนไข้และได้ลองจับเครื่องมือตรวจการได้ยินจริงๆ
  • ปี 3 เริ่มแบ่งเรียนตามแต่ละเอก เอกแก้ไขการได้ยินก็จะเริ่มเรียนเนื้อหาเกี่ยวกับการตรวจการได้ยินแบบพิเศษ รวมถึงเรื่องเครื่องช่วยฟัง หลักการในการให้เครื่องช่วย ส่วนเอกแก้ไขการพูดจะเริ่มเรียนเกี่ยวกับความผิดปกติทางภาษาและการพูดในเด็กที่มีความผิดปกติแต่ละประเภท เช่น เด็กที่มีภาวะออทิสซึมสเปกตรัม หรือเด็กที่มีภาวะสติปัญญาบกพร่อง โดยในเทอมที่ 1 จะเริ่มมีการลงคลินิกที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ร่วมกันทั้งสองเอก แต่ในเทอมที่สองจะย้ายมาเรียนที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ในช่วงนี้จะแยกลงคลินิกในเอกของตนเองแล้ว วิชาเดียวที่เรียนร่วมกันคือวิชาการฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยิน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูการได้ยินของผู้ป่วยที่มีภาวะหูพิการ
  • ปี 4 ทั้งสองเอกจะแยกกันเรียนเลคเชอร์และลงคลินิกในเอกของตนเอง เอกแก้ไขการได้ยินจะเพิ่มการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการตรวจการได้ยินระดับก้านสมองเพิ่มขึ้น ส่วนเอกแก้ไขการพูดจะเรียนและลงคลินิกผู้ป่วยผู้ใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยที่มีปัญหาเสียงผิดปกติและผู้ป่วยที่มีปัญหาภาษาจากความผิดปกติของระบบประสาท จะมีวิชาเลคเชอร์ที่เรียนร่วมกันคือวิชาที่สอนเกี่ยวกับผู้พิการ ทั้งลักษณะ การใช้ชีวิต รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้พิการ 

ความยากของการเรียนคณะนี้คือข้อมูลที่เรียนส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ

เนื่องจากเป็นวิชาชีพเฉพาะทางทำให้ในแต่ละวิชาที่เรียนมีข้อมูลในสื่อต่างๆ เป็นภาษาไทยค่อนข้างน้อย ส่วนมากจะเป็นข้อมูลภาษาอังกฤษ แต่ถ้าถามว่าไม่เก่งภาษาอังกฤษสามารถเรียนได้ไหมจริงๆ สามารถเรียนได้ค่ะ เพราะแม้ในสไลด์จะเป็นภาษาอังกฤษแต่อาจารย์สอนเป็นภาษาไทย ไม่ต้องห่วงเลยค่ะ แล้วก็ถ้าเข้าเรียนปี 1 ที่มหิดลจะได้เรียนวิชาภาษาอังกฤษตามเกณฑ์ของเราค่ะ

สาขานี้ต้องย้ายไปเรียนวิทยาเขตอื่นบ่อยๆ 

  • ศาลายา เนื่องจากเป็นวิทยาเขตหลักทำให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบ เน้นธรรมชาติ เจอเพื่อนหลากหลายคณะ มีกิจกรรมทุกเดือน 
  • สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ เป็นวิทยาเขตที่เพิ่งตั้งได้ประมาณ 5-6 ปี ทำให้อาจจะห่างไกลความเจริญอยู่บ้าง แต่ภายในสถาบันมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้นักศึกษาครบครัน  มีกิจกรรมให้เข้าร่วมค่อนข้างบ่อย รวมทั้งมีการอำนวยความสะดวกในการเดินทางจากโรงพยาบาลรามาธิบดีค่อนข้างดีเช่นกัน
  • พญาไท กลับกันกับทางสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลที่ค่อนข้างเก่า จึงมีผู้ป่วยเข้ามาใช้บริการค่อนข้างมาก ค่อนข้างพลุกพล่าน เดินทางค่อนข้างสะดวกเพราะอยู่ในตัวเมือง ไม่ค่อยมีกิจกรรม

ได้ “ฝึกงาน” ที่คลินิกจริงและได้ออกไปปฏิบัติงานจริงนอกสถานที่ด้วย

การฝึกงานหรือการขึ้นคลินิกนั้นโดยส่วนใหญ่จะฝึกปฏิบัติงานในคลินิก ซึ่งก็คือคลินิกที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์และโรงพยาบาลรามาธิบดี แต่นอกเหนือจากนี้ก็จะมีการออกไปปฏิบัติงานนอกสถานที่ด้วย เช่น เอกแก้ไขการพูดมีไปฝึกพูดในเด็กที่อยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์บ้านเด็กอ่อนพญาไท และเอกแก้ไขการได้ยินมีการออกไปศึกษางานนอกสถานที่ มีไปออกตรวจการได้ยินที่โรงพยาบาลสมุทรปราการ และไปตรวจวัดความดังในบริเวณที่เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลรามาธิบดีอาจต้องมีการสัมผัสเสียงดังด้วยเช่นกัน

กิจกรรมที่นี่มีเยอะมากๆ อย่างการรับน้อง Open house และค่ายต่างๆ

  • รับน้อง : ให้รุ่นน้องเฟรชชี่ได้ทำความรู้จักกัน มีกิจกรรมสันทนาการและฐานเกมสนุกๆ ให้ได้เล่นกัน
  • Open house : เป็นงานที่จะเปิดให้น้องๆ มัธยมได้เข้ามาทำความรู้จักคณะต่างๆ รวมถึงสาขาความผิดปกติของการสื่อความหมายด้วยค่ะ งานนี้เป็นงานที่เราจะได้ขายสาขาอย่างเต็มที่เลย
  • ค่าย 4 ชั้นปี : เป็นค่ายที่ทุกชั้นปีจะได้ทำกิจกรรมร่วมกัน โดยตอนเช้าจะทำกิจกรรมอาสานอกสถานที่ ในตอนบ่ายเป็นกิจกรรมสันทนาการร่วมกันค่ะ
  • ค่าย CDream : จะเป็นค่ายสำหรับน้องๆ มัธยมที่มีความสนใจในสาขาความผิดปกติของการสื่อความหมาย ให้ได้ดูสถานที่ปฏิบัติงานจริงและสัมผัสถึงลักษณะงานที่ทำในอนาคต

เป็นวิชาชีพที่สำคัญมากเพราะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยได้

พี่แพม นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย

ขอบคุณน้องๆ ที่สนใจสาขาเล็กๆ ของเรา ถึงแม้ว่าจะเป็นสาขาเล็กๆ แต่สิ่งที่อาชีพเราทำได้ไม่เล็กเลย เราสามารถทำให้ผู้ป่วยคนหนึ่งสามารถสื่อสารออกมาตามความต้องการได้ สามารถทำให้ผู้ป่วยกลับมาได้ยินได้ สามารถทำให้เด็กคนหนึ่งมีพัฒนาการที่ตรงตามวัยได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยให้ดีขึ้นได้โดยใช้สองมือเรา หวังว่าจะได้พบกันนะคะ (ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจากพี่แป้ง RACD รุ่นที่ 17)

อ่านมาถึงตรงนี้น้องๆ น่าจะรู้จักกับ “นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย” กันมากขึ้นแล้ว และหากน้องๆ เริ่มสนใจสาขานี้ขึ้นมา และอยากทำความรู้จักกับสาขานี้ให้มากขึ้น อยากจะปรึกษากับพี่แพมตัวต่อตัว สามารถมานัดวิดีโอคอลกับพี่แพมได้เลย โดยน้องๆ สามารถจองคิวขอคำปรึกษาพี่แพมได้ที่นี่ หรือค้นหาพี่คนอื่น ๆ ได้เลยที่ www.coachdd.app

www.coachdd.app เว็บไซต์วิดีโอคอลปรึกษารุ่นพี่เรื่องเรียน-สอบเข้ามหาวิทยาลัย อยู่ที่ไหนก็คุยได้ ใช้เพียงมือถือ คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต น้องๆ สามารถถามคำถามได้ไม่อั้น ได้คำตอบชัดเจน เจาะลึกแบบเรียลไทม์ และที่สำคัญสามารถเลือกรุ่นพี่ที่สนใจ เลือกเวลาที่สะดวก และเลือกแพ็กเกจที่ต้องการได้เลย

ทั้งนี้น้องๆ ยังสามารถติดตามสาระความรู้และข่าวสารสำหรับการสอบได้ที่ Facebook : CoachDD by Dek-D หรือสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ฟรีที่ LINE Official Account: @coachdd

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular

Recent Comments