Homeเรียนแบบโฮมสคูลสู่เส้นทางการสอบสายวิชาการ

เรียนแบบโฮมสคูลสู่เส้นทางการสอบสายวิชาการ

เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่ก็คงมีคำถามเกี่ยวกับกับการเรียนแบบโฮมสคูลนะคะว่า จริงๆ แล้วการเรียนแบบโฮมสคูลท้ายสุดแล้วจะทำให้เด็กค้นหาตัวตนได้จริงหรือไม่ และท้ายสุดแล้วปลายทางของเด็กโฮมสคูลจะไปประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง?

วันนี้พี่น้ำจะพาไปคุยกับแม่เค็น นางชัชรัช ปลั่งพงษ์พันธ์ คุณแม่ของน้องชิงชิง วัย 17 ปี และน้องอิงอิง วัย 14 ปี  ซึ่งเป็นอีกหนึ่งครอบครัวที่ตัดสินใจให้ลูกทั้งสองคนเรียนแบบโฮมสคูลมา 14 ปี แล้วค่ะ เส้นทางการเรียนโฮมสคูลของครอบครัวนี้น่าจะเป็นแนวทางให้กับครอบครัวอื่นๆ ได้ว่าจริงๆ แล้วการเรียนโฮมสคูลไม่ได้จำกัดแค่การไปทำงานสายงานใดสายงานหนึ่งเท่านั้น แต่การเรียนโฮมสคูลยังสามารถใช้ไปเรียนต่อ และทำงานในสายงานที่ต้องใช้ทักษะทางวิชาการได้ด้วย

หากย้อนไปเมื่อ 14 ปีที่แล้ว บ้านแม่เค็นก็วางแผนการศึกษาให้กับลูกเหมือนๆ กับครอบครัวอื่นค่ะ คือการมองหาและเลือกโรงเรียนที่ดีที่สุดให้กับลูก  แต่สุดท้ายเมื่อลูกไปโรงเรียนแม่เค็นกลับพบว่าลูกเริ่มต่อต้านการไปโรงเรียนและไม่ได้มีความสุขกับการไปโรงเรียน ด้วยความที่แม่เค็นมีเวลาในการเลี้ยงลูกอยู่แล้ว  จึงตัดสินใจพาลูกลาออกจากโรงเรียน และจัดการศึกษาแบบโฮมสคูลให้กับลูก

“เริ่มแรกเลยก็เหมือนทั่วๆ ไป เราก็พยายามหาโรงเรียนที่คิดว่าโอเคที่สุดแถวบ้าน แล้วน้องก็ลองไปเข้าดู ปรากฏว่าน้องไม่ชอบ ต่อต้านมาก  ต่อต้านขนาดไหน บางคนก็บอกว่าเด็กทุกคนก็เป็นอย่างนั้น แต่เราไม่รู้สึกว่าเป็นอย่างนั้น เพราะว่ามีรุ่นพี่คนหนึ่งเขาบอกว่า ถ้าเราปล่อยไปแล้วน้องยอมอยู่ มันเป็นการยอมจำนน ไม่ใช่ปรับตัวอะไรอย่างนี้ ซึ่งก็แล้วแต่ความเชื่อ แล้วคุณแม่ก็เชื่อแบบนั้น สมัยก่อนมันจะมีรุ่นพี่ที่เขาทำเป็นสมาคมบ้านเรียนไทย พยายามติดต่อไปก็คุยกับพวกรุ่นพี่สมัยนั้น ก็เลยคิดว่าอยากจะลองออกมาจัดเองค่ะ”

จากการที่ได้ศึกษาแนวทางการทำโฮมสคูลอย่างละเอียด ต่อมาแม่เค็นก็ได้เริ่มต้นทำโฮมสคูล ให้กับลูกสาวคนโต และเมื่อชัดเจนว่าแนวทางนี้น่าจะเหมาะกับครอบครัว จึงเลือกที่จะจัดการศึกษาแบบโฮมสคูลให้กับลูกสาวคนเล็กต่อ

อนุบาล-ประถม สอนแบบไม่ได้เน้นวิชาการ

เมื่อเริ่มต้นการทำโฮมสคูลแม่เค็นยอมรับว่าการทำโฮมสคูลในช่วงอนุบาลและประถม ไม่ได้มีแบบแผน และไม่มีรูปแบบใดๆ  ในการสอน และที่สำคัญโฮมสคูลในแบบฉบับแม่เค็นเป็นการสอนที่ไม่ได้เน้นวิชาการเลยแม้แต่นิดเดียว แต่จะเน้นการอ่านนิทานให้ลูกฟังเป็นหลัก

“การสอนก็ไม่ได้เน้นอะไรเลย เราเรียนรู้ไปพร้อมลูก ปรับไปเรื่อยๆ ก็ไม่ได้ทำอะไร เพราะเราไม่ได้เน้นวิชาการอยู่แล้ว  ไม่ได้มีวิชาการอะไรเลย แต่เมื่อลองดูเขาก็ได้ทุกวิชาจากทักษะชีวิต จากชีวิตประจำวัน จากในนิทาน จากสิ่งที่เขาเรียนรู้รอบตัว มันก็ได้จริงๆ มันก็พิสูจน์ได้ว่ามันเป็นจริงตามนั้น ไม่ได้เป็นอุดมคติ

น้องชิงชิงได้รับโอกาสเข้าร่วมกับ คณะนักร้องประสานเสียงเยาวชนไทย เข้าแข่งขันร้องเพลงประสานเสียง world choir game ที่ประเทศรัสเซีย

แม้ในช่วงอนุบาล-ประถม แม่เค็นจะไม่ได้ส่งลูกเรียนเพื่อเพิ่มทักษะวิชาการเลย แต่สิ่งที่แม่เค็นส่งเสริมให้กับลูกทั้งสองคนตั้งแต่เด็กๆ ก็คือทักษะดนตรี  ซึ่งจากการเรียนดนตรีอย่างต่อเนื่องและด้วยความชอบในเสียงดนตรี ก็ทำให้ในปี 2016 น้องชิงชิงลูกสาวคนโตมีได้รับโอกาสเข้าร่วมคณะนักร้องประสานเสียงเยาวชนไทย เข้าแข่งขันร้องเพลงประสานเสียง world choir game ทีประเทศรัสเซีย

Photo credit : pixabay

และจากการที่เน้นการทำกิจกรรมเป็นหลัก และมีความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษ ยังทำให้น้องชิงชิงได้รับการคัดเลือกเป็นอาสาสมัครเลี้ยงหมีแพนด้าที่ประเทศจีนอีกด้วย   

เลี้ยงลูกเหมือนกันแต่ความชอบต่างกัน

น้องอิงอิงกำลังเขียนนิทานภาษาอังกฤษเรื่อง Identity of Encil เป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตนักเรียนชั้น ป.6 ของโรงเรียนแห่งหนึ่งที่มีความลึกลับซับซ้อนมาเกี่ยวข้อง

แม่เค็นบอกว่าลูกสาวทั้ง 2 คน แม้จะเลี้ยงมาในแนวทางเดียวกัน  แต่เด็กทั้งสองคนความชอบแตกต่างกันอย่างชัดเจน คนโตจะชอบทางด้านวิทยาศาสตร์ ส่วนคนเล็กจะชอบไปทางด้านศิลปะและเริ่มชอบการเขียนหนังสือมากกว่า

“การเรียนโฮมสคูลมีข้อดีข้อเสีย สำหรับคุณแม่ข้อดีมากกว่าเพราะมีอิสระ พอมันอิสระ เราก็สามารถที่จะดึงความสนใจความชอบออกมาได้ ถ้าสนใจและชอบก็จะสามารถทำได้ดีเอง ก็จะขวนขวายเอง”

เมื่อลูกสาวคนโตอยากเป็นหมอจึงวางแผนสอบเข้าเตรียมอุดมฯ  

แม่เค็นเล่าว่าด้วยเพราะที่บ้านมีห้องสมุดขนาดเล็กซึ่งเป็นแหล่งความรู้ให้กับเด็กๆ  การค้นคว้าและอ่านหนังสือด้วยตัวเองทำให้ลูกสาวคนโตชอบวิชาเคมีเป็นพิเศษ และมีความฝันอยากเป็นหมอ  เมื่อเป้าหมายในอนาคตชัดเจน ทางครอบครัวจึงเริ่มวางแผนเพื่อให้น้องชิงชิงเข้าสู่ระบบการศึกษาในระดับมัธยมปลาย เพราะมองว่าหากจะเป็นหมอก็น่าจะต้องเข้าเรียนในโรงเรียน

“ก็ลองไปสอบสายวิทย์-คณิตฯ ที่ รร.เตรียมอุดมฯ ดู  ก็ไปติวเหมือนคนอื่นเขา ติวสถาบันที่ดัง ที่ฮิตๆ กัน ติวหมดทุกวิชา ยกเว้นภาษาอังกฤษ ก็ไปเรียนเอาใหม่เลย มาแบบไม่รู้เรื่องเลย เริ่มต้นจากศูนย์ ซึ่งมันก็มีข้อดีนะ เพราะเขาจะเปิดรับได้ง่าย สนใจเพราะไม่ได้ถูกบังคับมา และเป็นสิ่งใหม่ๆ ของเขา ทำให้รับกับสิ่งที่เรียนได้เยอะ”

สุดท้ายน้องชิงชิงก็ได้เข้าเรียนต่อชั้น ม.4 สายวิทย์-คณิต ในรั้วโรงเรียนเตรียมอุดมฯ ซึ่งแม่เค็นก็ยอมรับว่าการเข้ามาเรียนในระบบการศึกษาแตกต่างจากการเรียนแบบโฮมสคูล  โดยเฉพาะเรื่องของเวลาเพราะการเรียนแบบโฮมสคูลจะสามารถแบ่งเวลาได้อย่างชัดเจน แต่การไปเรียนในโรงเรียนไม่สามารถแบ่งเวลาที่แน่นอนได้ เพราะนอกจากจะต้องใช้เวลาไปกับการเรียนในโรงเรียนแล้ว การไปเรียนยังต้องใช้เวลาไปกับการเดินทาง ส่วนหลังเลิกเรียนยังต้องทำการบ้าน และยังต้องเรียนพิเศษเพิ่มเติมอีกในวันเสาร์และวันอาทิตย์  ทำให้น้องชิงชิงไม่มีเวลาพอที่จะทำในสิ่งที่ชอบต่อ คือการเป็นนักร้องประสานเสียง ดังนั้นหลังจากเรียนได้เพียง 1 ปี ก็พบว่าการศึกษาในรูปแบบนี้ไม่น่าจะตอบโจทย์จึงตัดสินใจลาออกจากโรงเรียน และกลับเข้าสู่การเรียนแบบโฮมสคูลอีกครั้ง

กลับมาเรียนโฮมสคูลตั้งเป้าสอบเข้าหมอรอบ 1 (รอบพอร์ตฟอลิโอ)

สำหรับการเรียนแบบโฮมสคูลนั้นจะสามารถสอบคณะแพทยศาสตร์ ในระบบ TCAS ได้ตั้งแต่รอบแรก  ด้วยการยื่นพอร์ตฟอลิโอ และใช้เกณฑ์คัดเลือกตามที่มหาวิทยาลัยแต่ที่กำหนด ร่วมกับการใช้ผลการสอบ BMAT (ข้อสอบจากประเทศอังกฤษ ที่ใช้ยื่นของคณะสายสุขภาพ และหลายๆ มหาวิทยาลัยในประเทศไทยก็นำเข้ามาใช้คัดเลือกนักศึกษาเข้าเรียน) โดยน้องชิงชิงก็ตั้งใจสอบเข้าหมอในรอบแรกด้วยการใช้พอร์ตฟอลิโอก่อน

โดยการวางแผนเพื่อเตรียมสอบหมอของน้องชิงชิง จะใช้การเรียนพิเศษควบคู่ไปกับการทบทวนบทเรียนด้วยตัวเอง และยังมีคุณพ่อให้คำแนะนำในวิชาคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ ซึ่งแน่นอนว่าการการกลับมาเรียนแบบโฮมสคูลในครั้งนี้แตกต่างจากการเรียนในโรงเรียน คือ เวลาที่น้องชิงชิงสามารถนำไปทำกิจกรรมที่ชอบ ทั้งการเรียน การเล่นดนตรี รวมไปถึงการทำกิจกรรมจิตอาสาได้

“ก็โตถึงเป้าประสงค์ที่เราต้องการแล้วคือเป็น Self  Learnner คือเขาอยากได้อะไรก็จัดการเอง เพียงแต่ว่าเราเป็นคน support เช่นเรื่องเงิน เรื่องหนังสือ เรื่องพาไปส่ง นอกนั้นเขาก็ต้องจัดการเอง ดูว่าจะต้องสอบอะไร รายละเอียดการสอบทั้งหมดเขาจะดูเอง  อย่างการสอบหมอเขาก็จะใช้การสอบโดยใช้พอร์ตฟอลิโอก่อน ก็เตรียมพอร์ตฟอลิโอเอาไว้เหมือนคนอื่นๆ คือถ้าได้ก็เอาเลย แต่ถ้าไม่ได้ก็จะยื่นรอบต่อๆ ไป

“จริงๆ แล้วอย่างที่บอก ถ้าเด็กตั้งใจจะไปทางไหน มันก็ได้ทั้งนั้น ทุกอย่างลงมือทำ ลงมือไขว่คว้า ลงมือเตรียมตัวให้มันเป็นไปในทางนั้น มันก็ต้องถึงจุดหมายทุกคน”

แม้เป้าหมายในขณะนี้ของน้องชิงชิงคือการสอบเข้าเรียนต่อหมอ แต่ในที่สุดหากสอบไม่ได้จริงๆ น้องชิงชิงก็มีแผนสำรองในใจ  ก็คือการเป็นนักร้อง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำมาตั้งแต่เล็กๆ และคิดว่ายังสามารถพัฒนาต่อยอดไปได้ ส่วนน้องอิงอิงลูกสาวคนเล็กแม้ช่วงนี้จะชอบไปทางการเขียนหนังสือ แต่วันนี้ก็กำลังอยู่ในช่วงค้นหาตัวเองว่าชอบการเขียนหนังสือจริงหรือไม่และมีอาชีพที่จะรองรับการทำงานในอนาคตอย่างไรบ้าง

นี่ก็เป็นตัวอย่างอีกหนึ่งครอบครัวที่จัดการศึกษาแบบโฮมสคูลให้กับลูกทั้งสองคน จะเห็นว่าสุดท้ายแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุด ก็คือการที่ให้ลูกได้ค้นหาตัวเองว่าชอบอะไร และมีความฝันอยากเป็นอะไรกันแน่     และสุดท้ายจะวางแผนอย่างไรเพื่อจะไปให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้นั่นเองค่ะ

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

สอนลูกด้วย HOMESCHOOL ต้องทำอย่างไร?

10 ปีของการเรียนแบบ HOMESCHOOL สู่เส้นทางการเป็นโปรแกรมเมอร์ต้อง เตรียมตัวอย่างไร?

สอนให้ลูกมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ได้ ในวันที่ไม่มีพ่อแม่อยู่ ด้วยการศึกษาแบบ HOMESCHOOL

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular

Recent Comments