บทความที่แล้วสอนลูกเขียนโปรแกรม By Dek-D ได้พาไปทำความรู้จักกับบอร์ดสมองกล ที่ชื่อว่า KidBright กันไปแล้ว คลิ๊กที่นี่ ต้องบอกว่าคุณสมบัติของบอร์ดตัวนี้ไม่ธรรมดาเลยล่ะค่ะ เพราะไม่เพียงเด็กจะได้สนุกกับการเขียนโปรแกรมควบคุมอุปกรณ์จริงบนบอร์ดได้แล้ว เด็กยังสามารถต่อยอดจินตนาการ พัฒนาเป็นโครงงานที่ใช้ได้จริงได้ด้วย
และที่สำคัญ KidBright นี่ล่ะคะที่จะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้เด็กได้ค้นหาความชอบด้านเทคโนโลยีได้ด้วย วันนี้สอนลูกเขียนโปรแกรม By Dek-D จะพาไปพูดคุยกับ ดร.ชานนท์ ตุลาบดี CEO บริษัทกราวิเทคไทย ผู้ผลิต KidBright ค่ะ
KidBright จะเป็นเครื่องมือให้เด็กค้นหาตัวเองว่าชอบในเรื่องเทคโนโลยีหรือไม่?
ในส่วนของโครงการสื่อการสอนโปรแกรมมิ่งในโรงเรียน (Coding at School Project) ที่แจกทั้งหมด 200,000 ตัว รัฐบาลเล็งเห็นว่าตรงนี้มันตอบโจทย์ เพราะปัญหาของคือเราขาดแคลนบุคลากรทางด้านวิศวกรรมอะไรต่างๆ เราก็เลยย้อนกลับมาดูว่าและเล็งเห็นว่า ถ้าจะเริ่มสร้างบุคลากรต้องเริ่มตั้งแต่ช่วงม.ต้น เพราะเป็นช่วงที่เขาจะต้องไปเลือกระหว่างที่จะไปเรียนสายวิทย์หรือสายศิลป์ โครงการนี้จะทำให้เขาจับต้องเพื่อให้เขาเห็นว่าเทคโนโลยีเป็นอย่างนี้ มีการเขียนโปรแกรมแบบนี้ เป็นสิ่งที่น้องๆ ชอบไหม? หรือว่าเห็นแล้วมีจินตนาการอะไรไปกับมัน เพื่อที่จะส่งเสริมให้คนมาเรียนทักษะนี้มากขึ้น แล้วก็สุดท้ายก็เป็นทางด้านวิศวกรหรือทางด้านไอทีที่มาช่วยพัฒนาประเทศให้มันไปสู่ 4.0ได้ ก็เลยเป็นที่เริ่มต้นของโครงการนี้ แต่มันมีด้วยกัน 2 ฝั่งก็คือฝั่งแรกก็คือฝั่งของโครงการที่ว่า 200,000 ตัว แต่อีกฝั่งนอกเหนือจาก 200,000 ตัวแล้ว ในเมื่อเราเป็นเอกชนที่ License ผลงานวิจัยตัวนี้ออกมา เราก็จะทำขายทั่วโลกด้วย เพราะฉะนั้นไม่ใช่เด็กไทยอย่างเดียวที่จะได้เล่น เด็กทั่วโลกก็จะได้เล่น ได้เรียนรู้จากชุดพัฒนาคำสั่งตัวของ KidBright ตรงนี้ด้วย
KidBright ผลิตขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อให้คนจำนวนมากเข้าถึงได้
มีการพัฒนามาเรื่อยๆ หลายเวอร์ชั่น KidBright เริ่มต้นพัฒนาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ปี 2016 เป็นตัวเริ่มโครงการ เราจำหน่าย KidBright ชุดแรกเมื่อต้นปี 2017 ตอนนั้นเราเรียกว่า KidBright รุ่น classic รุ่นแรกเราก็จำหน่ายมาครึ่งค่อนปี ประมาณปลายปี 2017 ก็เริ่มที่จะพัฒนาตัวใหม่เป็นเวอร์ชั่นที่ 2 เราเรียกว่า KidBright 32 เพราะเราใช้ตัวไมโครคอมเพรสเซอร์ที่เป็น 32 bit จากนั้นก็ได้ตัวต้นแบบมาให้ทาง Maker ใช้เมื่อต้นปี 2018 เพราะอย่างนั้นกว่าจะเป็น KidBright ตัวล่าสุดมันมีพัฒนาการของมันอยู่ทั้งทางด้านฮาร์ดแวร์และซอฟแวร์ทั้งคู่เลย อย่างรุ่นแรกเราผลิตมาประมาณ 1,000 กล่อง ขายรุ่นแรกตัวละ 990 บาท ส่วนรุ่นนี้ขายอยู่ 600 บาท เราทำถูกกว่าเดิมแต่เราจะตัดบางส่วนออกไป เช่นกล่องจะไม่มี เราจะทำให้ราคาถูกลงเพราะว่าเราอยากจะได้จำนวนมากเพื่อให้คนจำนวนมากเข้าถึง เรามองกลับไปว่าหากราคาสูงอาจจะไม่ตอบโจทย์เท่าไหร่ เราก็เลยคิดว่าเอาราคาลงมาให้ได้ถึงระดับต้นทุนแต่ต้นทุนที่เราพอจะอยู่ได้ แล้วเราก็ขายราคานั้น
KidBright จะจุดประกายให้เด็กไทยหันมาเรียนด้านเทคโนโลยีมากขึ้น
โครงการสื่อการสอนโปรแกรมมิ่งในโรงเรียน (Coding at School Project) จะทำให้เราได้ศึกษาพฤติกรรมของเด็กด้วยว่าเด็กชอบเล่นโปรเจ็คต์ไหนมากกว่ากัน บางคนชอบเล่นแสง ชอบเล่นเสียง เราจะได้รู้ว่าอะไรที่เด็กพัฒนาขึ้นมา และเด็กไทยมีความสนใจทางด้านไหนเป็นพิเศษ เราสมควรที่จะโฟกัสเพิ่มเติมในส่วนไหนเป็นพิเศษ แล้วก็ยังสามารถเพิ่มศักยภาพให้เด็กได้ แล้วผมคิดว่าในอนาคตจะมองเห็นคนที่มาสนใจทางด้านสายไอทีมากขึ้น เพราะว่าตอนนี้เราก็ขาดแคลนมากเหลือเกิน แล้วโลกเราก็จะรู้ๆ กันอยู่ว่าจะใช้หุ่นยนต์ ใช้อะไรที่แทนคนมากขึ้น เพราะถ้าเกิดเราไม่โฟกัสเรื่องการศึกษาให้เด็กสามารถที่จะมาใช้ในเทคโนโลยีมากขึ้นได้ ในอนาคตที่จบมาแล้วไม่มีงานทำก็มีสูง เพราะอย่างนั้นเราก็เลยพยายามอยากจะให้เห็นว่า KidBright เป็นเครื่องมือ เป็นจุดๆ หนึ่งที่จุดประกายเด็กให้มาทำงานสายเทคโนโลยีมากขึ้น
พ่อแม่ก็สามารถใช้ KidBright สอนลูกเขียนโปรแกรมได้
นอกเหนือจาก 200,000 เครื่อง พ่อแม่ก็สามารถซื้อให้เป็นของขวัญเพื่อส่งเสริมลูก ถือว่าเป็นของเล่นชิ้นหนึ่งที่สามารถช่วยพัฒนาในเรื่องของ Stem ได้ เราก็มีคอร์สเทรนนิ่งอยู่ทุกๆ 2 สัปดาห์ ที่จะให้เด็กหรือทางผู้ปกครองมาเรียนรู้แล้วก็เอาไปสอนลูกก็ได้ สำหรับการสอนเป็นเรื่องที่ไม่ยาก และยังสนุกกันได้ทั้งบ้าน เพราะว่าเรามีหนังสือคู่มือให้เริ่มต้นว่าทำยังไงแบบไหนแล้วก็มาลองเล่น ทางด้านผู้ปกครองเองก็สามารถที่จะฝึกสมองให้ลูกคิดแบบเป็นขั้นเป็นตอนว่าอะไรเกิดก่อนอะไรเกิดหลัง เพื่อฝึกให้เด็กคิดว่าการที่จะทำโปรแกรมให้คอมพิวเตอร์มันทำงานตามระบบจะต้องเป็นอย่างไรแบบไหน
KidBright กับ micro:Bit ต่างกันอย่างไร?
มีความแตกต่างอยู่หลายจุดอยู่เหมือนกัน micro:bit เองจะไม่มี wifi จะมีแต่บลูทูธ การใช้งานโปรแกรมและเซนเซอร์ที่อยู่บนบอร์ดก็ไม่ได้เยอะเท่านี้ ส่วนไมโครคอนโทรลเลอร์ที่อยู่ในตัวข้างในที่เป็นหัวใจของการเขียนโปรแกรมของเราค่อนข้างจะดีกว่าและมีความแรงมากว่า ทำให้สามารถซัพพอร์ตโปรเจคต์ตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงต่อยอดที่เขาจะไปใช้ภาษาอื่นเขียนได้ด้วย และที่สำคัญที่สุดก็คือว่าถ้าพูดถึงในมุมมองของประเทศไทย KidBright คนไทยเป็นคนออกแบบเอง 100 เปอร์เซ็นต์ ผลิตที่เมืองไทย 100 เปอร์เซนต์ และเพื่อให้เด็กไทย 100 เปอร์เซนต์ ตอนนี้เราเริ่มต้นมาใหม่เราด้อยกว่าในเรื่องของ Community ในเรื่องของคนที่เรียนรู้แต่เราก็พยายามจะผ่านสื่อ เพื่ออยากให้คนมาร่วมกัน มาช่วยกัน Support และมาช่วยกันทำเป็นธุรกิจทั้งทำเป็นสื่อการสอนก็ช่วยให้มันเกิดขึ้นมาให้ได้ แล้วสุดท้ายถ้าพูดถึงมุมมองประเทศไทยแล้วนี้ในเมื่อเราทำ Local content ทุกอย่างเป็นภาษาไทยมากกว่า มันก็จะมีเรื่องราวที่เป็นไทยมากกว่า micro:biit อยู่แล้ว
KidBright ใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนวิชาวิทยาการคำนวณได้
KidBright สามารถใช้เป็นเครื่องมือในส่วนหนึ่งของวิชาวิทยาการคำนวณได้ เพราะว่าถ้าเกิดเราเรียนแต่ทฤษฎี มันก็จะไม่มีภาคปฏิบัติที่จะสามารถทำออกมาให้เป็นรูปธรรมได้ ตัวนี้ก็เป็นเครื่องมือตัวหนึ่งที่มันจะทำให้ทฤษฎีที่เรียนมาออกมาแสดงจากจินตนาการของเขาออกมาสู่โลกแห่งความเป็นจริงได้ มาแสดงผลให้เห็น แล้วเอามาทำมาเป็นโครงงานได้
เรียกได้ว่านี่ก็เป็น “โอกาส” สำหรับเด็กไทยที่จะได้เรียนรู้เครื่องไม้เครื่องมือทางเทคโนโลยีที่มีคุณภาพ และเป็นโอกาสสำคัญที่เด็กไทยจะได้ค้นหาความถนัดด้วยว่ามีความสนใจทางด้านเทคโนโลยี และพร้อมที่จะไปพัฒนาต่อยอดทักษะนี้ต่อไปหรือไม่ ซึ่งเป้าหมายก็คือการสร้างคนที่มีคุณภาพทางด้านเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาประเทศต่อไปนั่นเองค่ะ