Homeเด็กไทยเขียนโปรแกรม คุมอุปกรณ์ สร้างโครงงานได้ตั้งแต่ 7 ขวบ ด้วย KidBright

เด็กไทยเขียนโปรแกรม คุมอุปกรณ์ สร้างโครงงานได้ตั้งแต่ 7 ขวบ ด้วย KidBright

หากจะพูดถึงการเขียนโปรแกรม คุณพ่อคุณแม่อาจจะดูเป็นเรื่องยากสำหรับเด็กใช่ไหมล่ะคะ  แต่จริงๆ แล้วหากมีเครื่องมือที่ง่าย สนุก และทำให้เด็กเรียนรู้อย่างไม่น่าเบื่อ ก็น่าจะทำให้เด็กสนใจและอยากเรียนรู้มากขึ้นค่ะ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทีมนักวิจัยเนคเทค และ สวทช. พัฒนานวัตกรรมที่มีชื่อว่า “KidBright” ขึ้นมาค่ะ  

KidBright คืออะไร ใช้งานอย่างไร เหมาะกับใคร และสามารถนำไปทำอะไรได้บ้าง วันนี้สอนลูกเขียนโปรแกรม By Dek-D จะพาไปทำความรู้จักกับ KidBright บอร์ดสมองกลขนาดเล็กตัวนี้ค่ะ

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับ KidBright กันก่อนค่ะ

KidBright คือ บอร์ดสมองกลขนาดเล็กที่ส่งเสริมการเรียนรู้โปรแกรมมิ่งให้กับเด็ก พัฒนาขึ้นเพื่อกระตุ้นศักยภาพการคิดเชิงระบบและการคิดเชิงสร้างสรรค์ในเด็กวัยเรียนผ่านการเรียนรู้แบบ learn and play  ซึ่ง KidBright จะมุ่งเน้นให้เด็กได้พัฒนากระบวนการคิดเชิงตรรกะร่วมกับความคิดสร้างสรรค์ สามารถต่อยอดสู่การพัฒนาแอปพลิเคชันและเทคโนโลยีด้วยตนเองในอนาคตได้

KidBright มีหน้าตาเป็นอย่างไร?

KidBright เป็นบอร์ดสมองกลฝังตัว สามารถใช้เป็นระบบควบคุมขนาดจิ๋วที่ประกอบด้วย Microcontroller จอแสดงผลและเซ็นเซอร์แบบง่าย

KidBright จะมีลักษณะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก ที่จะฝังตัวประกอบไปด้วย เซนเซอร์พื้นฐาน อย่างเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิ เซ็นเซอร์วัดแสง มีจอแสดงผล นาฬิกา ลำโพง ช่องUSB สวิทซ์ และก็ยังมีพอร์ตเพื่อใช้สำหรับต่อวงจรภายนอกได้ด้วย อุปกรณ์ครบครันขนาดนี้จึงทำให้ KidBright ตัวนี้ถูกเรียกว่า “บอร์ดสมองกล” หรือเป็นเสมือนคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กได้เลย

KidBright ประกอบด้วยอะไรบ้าง?

KidBright ประกอบด้วย 2 ส่วน คือส่วนโปรแกรมสร้างชุดคำสั่ง KidBright program และส่วนบอร์ดสมองกลฝังตัว KidBright board โดยผู้ใช้สามารถสร้างชุดคำสั่งผ่าน KidBright program โดยการ drag and drop (ลากและวาง)บล็อกคำสั่งที่ต้องการ จากนั้นโปรแกรมจะ compile (แปลให้เป็นภาษาคอมพิวเตอร์) และส่งชุดคำสั่งดังกล่าวไปที่ KidBright board เพื่อให้บอร์ดทำงานตามคำสั่ง เช่น รดน้ำต้นไม้ตามระดับความชื้นที่กำหนด หรือเปิดปิดไฟตามเวลาที่กำหนด เป็นต้น

KidBright พัฒนาและผลิตโดยคนไทย

KidBright ตัวนี้พัฒนาขึ้นโดยคนไทย คือทีมนักวิจัยจากเนคเทคและสวทช. ผลิตขึ้นโดยคนไทย คือ บริษัทกราวิเทคไทย และทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็เตรียมทำการแจกจ่ายให้กับเด็กไทยในโรงเรียนมัธยมฯ นำร่อง 1,000 โรงเรียน จำนวน 200,000 ตัว ในโครงการสื่อการสอนโปรแกรมมิ่งในโรงเรียน (Coding at School Project) ด้วยค่ะ

KidBright เหมาะกับใคร?

แม้ในเบื้องต้นโครงการ KidBright จะแจกจ่ายให้ในโรงเรียนระดับมัธยมฯ แต่จริงๆแล้วการใช้งาน KidBright สามารถใช้ได้ตั้งแต่เด็ก 7 ปีขึ้นไป  ด้วยการเริ่มต้นเขียนโปรแกรมและทดลองทำโครงงานที่บ้านร่วมกับคุณพ่อคุณแม่

KidBright ราคาเท่าไร หาซื้อได้ที่ไหน?

นอกเหนือจากโครงการสื่อการสอนโปรแกรมมิ่งในโรงเรียนที่แจกจ่ายให้กับโรงเรียนมัธยมฯ นำร่องจำนวน 200,000 ตัวแล้ว   ทางบริษัทกราวิเทคไทยก็ได้ทำการผลิต KidBright จำหน่ายในราคาตัวละ 600 บาท ซึ่งเป็นราคาที่หวังจะให้ทุกคนได้เข้าถึง KidBright ตัวนี้ได้

ดูข้อมูลได้ที่นี่>>>https://www.kidbright.io/shop

การใช้งาน KidBright ก็แค่เชื่อมต่อ KidBright เข้ากับคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ

KidBright สามารถใช้งานง่ายๆ ด้วยการนำ  KidBright ต่อเข้าไปในคอมพิวเตอร์ หรือหากไม่มีคอมพิวเตอร์ก็สามารถเชื่อมต่อ KidBright ผ่านบลูทูธในโทรศัพท์มือถือระบบ Android ได้ด้วย

เมื่อต่อ KidBright เข้าไปในคอมพิวเตอร์หน้าจอคอมพิวเตอร์ก็จะขึ้นหน้าจอแบบนี้

จากนั้นเด็กก็จะสามารถเขียนโปรแกรมด้วยการ Drag and Drop (ลากและวาง) คำสั่ง ซึ่งในเบื้องต้นก็สามารถฝึกทำตามบทเรียนหรือออกแบบตามแบบฉบับของตัวเองได้เลยค่ะ

นี่เป็นตัวอย่างการเขียนโปรแกรมสร้างโน๊ตเพลงและข้อความในแบบฉบับของตัวเอง จะเห็นว่าการเขียนโปรแกรมจะเป็นลักษณะการนำบล็อกคำสั่งมาวางเรียงกัน

เมื่อเขียนโปรแกรมเสร็จตัวหนังสือก็จะแสดงที่จอแสดงผล ส่วนเสียงก็จะดังออกมาที่ลำโพงบนบอร์ด และที่สำคัญ KidBright ตัวนี้จะจำคำสั่งที่เขียนไว้ เมื่อไปเชื่อมต่อยังอุปกรณ์อื่นๆ KidBright ก็จะทำงานตามโปรแกรมที่เขียนไว้ด้วยค่ะ

หรือหากอยากจะลองนำ KidBright ไปใช้ในการทำโครงงานแบบง่ายๆ โดยไม่ต้องต่อวงจรก็สามารถทำได้ อย่างโครงงานที่เห็นก็เป็นการตรวจสอบความเข้มของแสงอาทิตย์ อุณหภูมิ และความชื้น ที่สามารถทำได้เพียงการใช้ KidBright แค่ตัวเดียวเท่านั้น

จะเห็นว่าการทำงานของบอร์ด KidBright ก็จะทำงานตามคำสั่งที่ผู้ใช้งานสร้างขึ้นนั่นเองค่ะ  นี่เป็นเพียงตัวอย่างแค่การนำ KidBright มาใช้ด้วยการเขียนโปรแกรมอย่างง่ายๆ โดยยังไม่เสริมอุปกรณ์อื่นๆ นะคะ จะเห็นได้ว่าเด็กก็สามารถฝึกเขียนโปรแกรมและสร้างสรรค์ผลงานได้ด้วยตัวเองได้แบบไม่ยากมากนัก

แต่หากอยากลองใช้ KidBright ในระดับที่สูงขึ้นสามารถทำได้หรือไม่นั้น ก็ต้องตอบว่าสามารถทำได้ค่ะ เพราะอย่างที่บอกไปตอนต้นว่า KidBright  มีพอร์ตที่จะใช้สำหรับต่อวงจรภายนอกได้ด้วย ซึ่งนี่ล่ะค่ะก็จะทำให้ KidBright สามารถต่อยอดเป็นโครงงานที่เด็กสนใจได้

เราลองมาดูตัวอย่างโครงงานที่เกิดขึ้นจาก KidBright กันค่ะ

นี่่เป็นตัวอย่างการนำ KidBright มาต่ออุปกรณ์และวงจรเพื่อพัฒนาเป็นรถบังคับให้อยู่ในเส้นทางได้

ส่วนนี่เป็นตัวอย่างในโครงการ Smart Farm ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ของโรงเรียนวัดยายร่ม ที่ใช้ KidBright ตั้งอุณหภูมิในโรงเพาะชำ หากร้อนมากเกินไปก็สั่งเปิดพัดลม เพื่อทำให้อากาศโรงเพาะชำลงมาถึงอุณหภูมิที่ตั้งไว้  

อ่านมาถึงตรงนี้แล้วจะเห็นได้ว่าเด็กสามารถนำ KidBright ไปใช้งานได้ตั้งแต่ระดับการเขียนโปรแกรมพื้นฐาน และค่อยๆ พัฒนาต่อยอด ดัดแปลง และเสริมเติมแต่งอุปกรณ์เป็นนวัตกรรมที่เด็กสนใจได้เลยค่ะ

สำหรับ KidBright  ตัวนี้ถือเป็น Kidbright รุ่นล่าสุดที่ได้พัฒนาต่อยอดจากรุ่นแรก และทางผู้ผลิตก็เตรียมที่จะพัฒนาต่อ เพื่อให้เหมาะกับการใช้งานของเด็กไทยมากที่สุด จุดเริ่มต้นของ KidBright คืออะไร จะพัฒนา KidBright ให้เหมาะกับเด็กไทยได้อย่างไรบ้าง เด็กทั่วไปสามารถนำไปใช้ได้หรือไม่ พ่อแม่จะส่งเสริมทักษะทางเทคโนโลยีให้กับลูกได้อย่างไร บทความหน้าสอนลูกเขียนโปรแกรม By Dek-D จะพาไปพูดคุยกับ  ดร.ชานนท์ ตุลาบดี CEO บริษัทกราวิเทคไทย ผู้ผลิต KidBright ค่ะ


ข้อมูลจาก>>>

https://www.nectec.or.th/innovation/innovation-hardware-electronics/kid-bright.html

https://www.kid-bright.org/info.html

 

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular

Recent Comments