อีกหลายสิบปีกว่าลูกจะโต แต่พ่อแม่จะรู้ได้ยังไงว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหนในวันที่ลูกเริ่มทำงาน รีบสร้างทักษะที่จำเป็นต่อการเอาตัวรอดในอนาคตให้ลูกตั้งแต่ยังเล็กดีกว่า #สอนลูกเขียนโปรแกรม ขอนำเสนอ 7 ทักษะที่จำเป็นต่อลูก และการทำงานในโลกอนาคต เพื่อสอนลูกให้ “คิดเป็น”
เทรนด์อาชีพในอนาคต ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจแห่งความรู้และเทคโนโลยีดิจิทัล
สภาเศรษฐกิจโลก(World Economic Forum) เป็นองค์กรที่ได้รับความเชื่อถือในระดับโลก ด้านการวิจัยและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่าง ๆ ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ 7 องค์ประกอบหลัก ที่จำเป็นสำหรับเด็กทุกคน เพื่อที่จะเอาชีวิตรอดในชีวิตการทำงานในอนาคตซึ่งเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง
โดยข้อมูลนี้มาจากหนังสือชื่อ The Global Achievement Gap ของ ดร.โทนี่ แว็กเนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและผู้ร่วมบริหารกลุ่ม Harvard’s Change Leadership งานวิจัยของเขาค้นพบว่าเด็กนักเรียนทุกวันนี้ต้องเผชิญกับ “ช่องว่างทางความสำเร็จของโลก” (global achievement gap) นั่นคือโรงเรียนไม่ได้สอนทักษะที่จำเป็นจริงๆ สำหรับนักเรียน
ดร.โทนี่ เขียนไว้ในหนังสือของเขาว่า เด็กรุ่นใหม่ที่จะต้องพบเจอกับความเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬารในโลกยุคหน้า ต้องมีทักษะที่ตอบโจทย์เทรนด์หลักๆ ในโลก 2 เรื่อง อย่างแรกคือการที่โลกเปลี่ยนผ่านจากระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไปสู่ระบบเศรษฐกิจแห่งความรู้(knowledge economy) หรือเศรษฐกิจที่มีฐานจากความรู้ และสองคือต้องตอบสนองต่อยุคที่อินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีดิจิทัลครองโลกโดยสมบูรณ์
- การคิดเชิงวิเคราะห์และการแก้ปัญหา
บริษัทต่างๆ จำเป็นที่จะต้องมีความสามารถในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิตและบริการเพื่อการแข่งขันในตลาด และเพื่อจะคงความสามารถนั้นได้ พวกเขาจึงต้องการพนักงานที่มีทักษะด้านการคิดเชิงวิเคราะห์ ผู้ที่สามารถจะวิเคราะห์อย่างถูกจุดต่อก้นบึ้งของปัญหาที่เกิดขึ้น
- การทำงานร่วมกันข้ามเครือข่ายและมีความเป็นผู้นำ
การทำให้เกิดการเชื่อมโยงกันในโลกธุรกิจ ทักษะความเป็นผู้นำ และความสามารถในการมีอิทธิพลเหนือผู้อื่นและทำงานร่วมกันเป็นทีมได้ กำลังกลายเป็นสิ่งสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเป็นกุญแจในการก้าวสู่การเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพ และจะยิ่งดีขึ้นเป็นสองเท่า หากมีคุณสมบัติในเรื่องของ “การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์และการมีกรอบแนวคิดทางจริยธรรมที่ชัดเจน”
- ความคล่องตัวและความสามารถในการปรับตัว
ความสามารถในการปรับตัวและมีทักษะใหม่ๆ อย่างรวดเร็วเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งต่อการประสบความสำเร็จ พนักงานต้องสามารถใช้เครื่องมือต่างๆ อย่างกว้างขวางเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งทักษะนี้เรียกว่า “ความสามารถในการเรียนรู้” (learnability) ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นที่เสาะหาในหมู่ผู้สมัครงานทั้งหลาย
- ความคิดริเริ่มและความเป็นผู้ประกอบการ
ไม่มีผลร้ายอะไรเลยในการลองพยายาม ผู้คนและธุรกิจมีแนวโน้มที่จะรังเกียจความเสี่ยง มันจะดีกว่ามั๊ยถ้าเราทดลองทำซัก 10 เรื่อง และประสบความสำเร็จซะ 8 เรื่อง เมื่อเทียบกับทดลองทำ 5 เรื่อง แล้วทำสำเร็จหมด
- การสื่อสารด้วยการพูดและเขียนอย่างมีประสิทธิภาพ
การรับพนักงานที่มีความคิดยุ่งเหยิงและไม่สามารถอธิบายความคิดของตนออกมาอย่างชัดเจนได้ เป็นเรื่องพื้นฐานที่บริษัทต่างๆ รู้ว่าไม่ควรทำ นี่คือสิ่งที่ดร.โทนี่ ค้นพบในการทำวิจัยเพื่อเขียนหนังสือของเขา เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการที่คนรุ่นใหม่ใช้ไวยากรณ์ต่างๆ หรือสะกดคำไม่ค่อยถูกต้องนัก แต่มันเกี่ยวกับการจะสื่อสารด้วยการพูดอย่างไรให้ชัดเจน รวมทั้งการเขียนและการพรีเซนท์งาน “ถ้าคุณมีไอเดียเยี่ยมมาก แต่ไม่สามารถสื่อสารมันออกมาได้ ก็จบกัน”
- ความสามารถในการเข้าถึงและวิเคราะห์ข้อมูล
พนักงานจำนวนมากที่ต้องรับมือกับข้อมูลปริมาณมหาศาลในแต่ละวัน ความสามารถในการค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ
การทำงานเป็นเรื่องที่ท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ข้อมูลต่างๆ มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
- ความสงสัยใคร่รู้และจินตนาการ
ความสงสัยใคร่รู้และจินตนาการเป็นแรงขับในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และเป็นกุญแจในการแก้ปัญหา “เราต่างเกิดมาพร้อมกับความสงสัยใคร่รู้ ความสร้างสรรค์และจินตนาการ” ดร.โทนี่ กล่าว “โดยเฉลี่ยแล้ว เด็ก 4 ขวบ ถามเป็นร้อยๆ คำถามต่อวัน แต่เมื่อเด็กๆ อายุ 10 ขวบ พวกเขามักจะหันเหความสนใจไปที่การเสาะหาคำถามที่ถูกต้องเพื่อใช้กับการเรียน มากกว่าการตั้งคำถามเจ๋งๆ เหมือนเมื่อยังเล็ก “เราซึ่งเป็นครูและพ่อแม่จำเป็นต้องทำให้ความสงสัยใคร่รู้และจินตนาการของเด็กๆ มีชีวิตชีวาอยู่เสมอ ซึ่งเป็นธรรมชาติที่ติดตัวเด็กมาโดยกำเนิด”