Homeschool เป็นการเรียนรูปแบบหนึ่งที่พ่อแม่เป็นผู้จัดการเรียนการสอนให้กับลูกด้วยตัวเอง ซึ่งประเทศไทยได้รองรับการจัดการศึกษาในรูปแบบนี้มาตั้งแต่ปี 2542 แล้ว และปัจจุบันก็มีพ่อแม่ที่ใช้การเรียนในรูปแบบโฮมสคูลมากขึ้นเรื่อยๆ
แล้วการเรียนแบบ Homeschool เหมาะกับใคร และต้องทำอย่างไรบ้าง วันนี้พี่น้ำจะนำข้อมูลการเรียนแบบโฮมสคูลมาฝากค่ะ
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับ Homeschool กันก่อนนะคะ
Homeschool หรือ บ้านเรียน เป็นการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานที่พ่อแม่ หรือผู้ปกครอง เป็นผู้รับผิดชอบจัดการศึกษาด้วยตนเอง เป็นระบบของการบูรณาการการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้จากวิถีชีวิตจริงจากทุกสถานที่ และกิจกรรมต่างๆ ที่ปฏิบัติในชีวิตประจำวัน มุ่งให้โอกาสผู้เรียนได้ทำในสิ่งที่สนใจ เพื่อการค้นพบความถนัดและความสามารถของตนเอง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ หลายๆ ครอบครัวจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อการพัฒนาทักษะชีวิต และความฉลาดทางอารมณ์ นำไปสู่การเป็นผู้คิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาเป็น รู้วิธีการเรียนรู้ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือของการศึกษาตลอดชีวิต ซึ่งประเทศไทยรับรองการจัดการศึกษาในรูปแบบนี้ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542
จะเห็นว่าการศึกษาแบบ Homeschool เป็นการศึกษาที่คุณพ่อคุณแม่เป็นผู้จัดการศึกษาขึ้นเอง เน้นความสนใจของตัวเด็กเป็นสำคัญ มีคุณพ่อคุณแม่ที่คอยช่วยเหลือชี้แนะ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ที่จัดการศึกษาแบบนี้เชื่อว่า การศึกษาแบบนี้จะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้เอง รักการเรียนรู้ และรู้วิธีสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ นั่นเองค่ะ
รู้จักกับ Homeschool ไปแล้วคราวนี้มาดูกันว่าคุณพ่อคุณแม่จะสามารถเริ่มจัดการศึกษาให้กับลูกได้ในระดับใดบ้าง สำหรับการจัดการศึกษาแบบ Homeschool สามารถเริ่มจัดได้ตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงระดับมัธยมศึกษา โดยสามารถไปจดทะเบียนตามสถานที่ที่ในแต่ละระดับชั้นกำหนดไว้
สำหรับระดับปฐมวัย (อนุบาล) จะสามารถจดทะเบียนเพื่อจัดการศึกษาบ้านได้เมื่อเด็กอายุ 3 ขวบ ซึ่งในระดับอนุบาลคุณพ่อคุณแม่จะจดทะเบียนโฮมสคูลให้กับลูกหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของคุณพ่อคุณแม่ ถ้าหากพร้อมก็สามารถไปยื่นคำอนุญาตจดทะเบียนในเขตพื้นที่การศึกษาได้เลย
ระดับประถมศึกษา ครอบครัวสามารถยื่นขออนุญาตจดทะเบียน และจัดการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาตามภูมิลำเนา
ระดับมัธยมศึกษา ครอบครัวจะต้องยื่นขออนุญาตจดทะเบียนจัดการศึกษาที่
– สำนักงานเขตพื้นที่การมัธยมศึกษา
– ลงทะเบียนเป็นนักเรียนกับ กศน. (การศึกษานอกระบบ)
– ลงทะเบียนเป็นนักเรียนกับ การจัดการศึกษาทางไกล
โดยการจดทะเบียนแบบนี้เมื่อเรียนจบการศึกษาในแต่ระดับ ก็จะได้รับวุฒิการศึกษาในระดับนั้นๆ ซึ่งก็จะสามารถนำวุฒิการศึกษาไปใช้เรียนต่อในระบบได้เลย หรือหากเรียนจบในระดับมัธยมปลายก็จะสามารถนำวุฒิการศึกษาไปสอบเข้าเพื่อเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้ตามปกติค่ะ
เมื่อได้ข้อมูลในการจัดการศึกษาแบบโฮมสคูลแล้ว คราวนี้คุณพ่อคุณแม่จะต้องศึกษาและทำความเข้าใจกับการศึกษาแบบโฮมสคูลอย่างละเอียดในหลายๆ ช่องทางก่อน จากนั้นก็มาดูความพร้อมของคุณพ่อคุณแม่ว่ามีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนด้วยตัวเองมากน้อยขนาดไหน และเมื่อพร้อมแล้วก็สามารถยื่นขออนุญาตจดทะเบียนได้ ในกรณีที่จะยื่นคำขอจดทะเบียนกับเขตพื้นที่การศึกษาจะมีขั้นตอนดังนี้ค่ะ
1.ยื่นคำขออนุญาตจัดการศึกษาที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ครอบครัวมีภูมิลำเนาอยู่ 2.จัดทำแผนการศึกษา ครอบครัวและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะต้องร่วมกันกำหนดตามความมุ่งหมาย หลักการและแนวทางการจัดการศึกษาตามกฏหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ 3.ดำเนินการจัดการศึกษาให้เป็นไปตามแผนการจัดการศึกษาของครอบครัว 4.ดำเนินการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนตามหลักเกณฑ์ และวิธีการวัดผล และประเมินผลของหลักสูตร การศึกษาขึ้นพื้นฐาน 5.จัดทำรายงานการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน รวมทั้งการจัดการเรียนการสอนและสภาพปัญหาที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษา ตามที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากำหนดอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง 6.ปรับปรุงผลการเรียนของผู้เรียน ตามที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเสนอแนะ
ในที่นี้หากจดทะเบียนกับเขตพื้นที่การศึกษาแม้การจดทะเบียนจะมีขั้นตอนที่มากกว่า แต่จะสามารถขอรับเงินค่าอุดหนุนรายหัวตามที่ สพฐ.กำหนดไว้ ตามตารางด้านล่างนี้ค่ะ
หรือถ้าหากคุณพ่อคุณแม่อยากจะขอจดทะเบียนแบบไม่ยุ่งยากซับซ้อนมากนัก ก็สามารถจดทะเบียนกับโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ Homeschool ได้ ซึ่งก็มีโรงเรียนรุ่งอรุณ กทม. และที่หมู่บ้านเด็ก จ.กาญจนบุรี แต่การจดทะเบียนในรูปแบบนี้จะไม่สามารถขอรับเงินอุดหนุนรายหัวได้ค่ะ
การสอบแบบ Homeschool พ่อแม่จะเป็นผู้สอบและผู้วัดผลการสอบด้วยตัวเอง
สำหรับการประเมินผล ครอบครัวจะเป็นผู้ประเมินความรู้ของเด็กตามหลักเกณฑ์ในหลักสูตรขั้นพื้นฐาน หรือตามข้อตกลงที่ตกลงไว้กับทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดยทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะเข้ามาประเมินร่วมกับครอบครัวปีละ 1 ครั้ง ว่ามีพัฒนาการตรงตามที่ครอบครัวประเมินไว้หรือไม่ และกำหนดความสามารถของเด็กว่าเทียบได้ในระดับชั้นใดแล้ว ซึ่งวุฒิการศึกษาที่ได้ก็จะเหมือนกับผู้เรียนในระบบการศึกษาเลยค่ะ และที่สำคัญวุฒิการศึกษาที่ได้จะสามารถนำเข้าไปเรียนต่อในระบบการศึกษาปกติตามระดับชั้นที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้เทียบไว้ได้ด้วย
ทั้งหมดนี้ก็เป็นขั้นตอนการเรียนแบบ Homeschool นะคะ ซึ่งจริงๆ แล้วในเรื่องนี้อาจจะมีรายละเอียดยิบย่อยที่คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องศึกษาในรายละเอียดอีกมากนะคะ แต่ในปัจจุบันก็มีเครือข่ายที่คุณพ่อคุณแม่สามารถเข้าไปปรึกษาการเรียนแบบ Homeschool ได้หลากหลายช่องทางนะคะ ไม่ว่าจะเป็นจากแฟนเพจ Homeschool network หรือ เครือข่ายบ้านเรียน ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะทำให้คุณพ่อคุณแม่ได้ทำความเข้าใจกับการเรียนแบบ Homeschool มากขึ้น และเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจว่าการเรียน Homeschool จริงๆ แล้ว เหมาะสมกับครอบครัวหรือไม่
สำหรับสัปดาห์หน้าสอนลูกเขียนโปรแกรม By Dek-D จะพาไปทำความรู้จักกับการเรียนแบบ Homeschool ในแนวทางของครอบครัวศรียะพันธ์ ที่ใช้การศึกษาแบบ Homeschool ในการเรียนของลูกชายทั้ง 2 คนมา 10 ปีแล้ว และในอีก 2 ปีข้างหน้าลูกชายคนโตมีเป้าหมายจะไปเรียนต่อในคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาคอมพิวเตอร์ มาดูกันว่าเขาต้องเตรียมลูกอย่างไรในเส้นทางนี้
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
10 ปีของการเรียนแบบ HOMESCHOOL สู่เส้นทางการเป็นโปรแกรมเมอร์ต้อง เตรียมตัวอย่างไร?
สอนให้ลูกมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ได้ ในวันที่ไม่มีพ่อแม่อยู่ ด้วยการศึกษาแบบ HOMESCHOOL
เรียนแบบโฮมสคูลสู่เส้นทางการสอบสายวิชาการ