HomeTCASPAT2 ขวดสีฟ้าของเฌอปรางคืออะไร? (The Blue Bottle Experiment)

PAT2 ขวดสีฟ้าของเฌอปรางคืออะไร? (The Blue Bottle Experiment)

เป็นยังไงกับบ้างคะน้องๆ กับการสอบ PAT2 ที่ผ่านมาทำได้กันไหมเอ่ย พี่มุกเข้าไปเเอบส่องในทวิตเตอร์เห็นน้องๆ หลายคนหลายคนพูดถึง การทดลองขวดสีน้ำเงิน (The Blue Bottle Experiment) ของพี่เฌอกันหนาหูมาก พี่มุกเดาว่าคงมีน้องๆ ที่เคยฟังแคปเฌอเล่าเรื่องนี้บ้างเวลา Live (พี่ก็เป็นหนึ่งในคนที่ดู Live ของแคปเฌอเสมอจ้า) เเต่สำหรับใครที่ยังสงสัยว่า The Blue Bottle Experiment ที่เจอในข้อสอบ PAT2 นั้นคืออะไรกันเเน่วันนี้พี่มุกจะมาสรุปให้จ้า ถ้าพร้อมเเล้วไปดูกันเลย 🙂

The Blue Bottle Experiment หรือปฎิกิริยาขวดสีน้ำเงิน เป็นการทดลองที่ใช้ศึกษาปฎิกิริยาเคมีผ่านการจำลองปฏิกิริยารีดอกซ์ (รับ-ส่ง e ) โดยอาศัยกระบวนการเกิดสีเมื่อเขย่าและจางไปเมื่อตั้งทิ้งไว้ ถ้าใครยังนึกภาพไม่ออกลองมาดูเป็นวีดีโอกันเลย

ขอขอบคุณวีดีโอจาก MEL Science

เห็นไหมว่าเหมือนเป็นการเล่นมายากลที่เเค่เขย่าขวดก็เกิดการเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำเงินเเละเมื่อตั้งทิ้งไว้ก็กลับมาเป็นสีใสเหมือนเดิม  น้องๆ สงสัยไหมว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนเเปลงนี้หรือสารละลายที่อยู่ในขวดทำปฏิกิริยาเคมีกันยังไง พี่มุกจะมาไขข้อสงสัยให้น้องๆ ทีละข้อเลย

อันดับเเรกเริ่มจากสารละลายที่อยู่ในขวดประกอบด้วยอะไรบ้าง?

  • Glucose : สารตั้งต้นไม่มีสี เป็น Reducing sugar (มีหมู่อัลดีไฮด์) สามารถถูกออกซิไดซ์กลายเป็นกรดได้ (เช่นกลูโคสกลายเป็น gluconate ion) เป็นพระเอกของปฎิกิริยานี้ (ในงานวิจัยพี่เฌอใช้เป็น Dextrose ซึ่งก็เป็นน้ำตาลเหมือนกันจ้า )
  • Potassiam hydroxide (KOH) มีฤทธิ์เป็นเบสใช้เป็นตัวเร่งปฎิกิริยาทำให้เกิดได้เร็วขึ้น
  • Methylene blue (Redox dyes) เป็นอินดิเคเตอร์ (ซึ่งถ้าเป็นอินดิเคเตอร์สารอื่นก็จะได้สีต่างๆขึ้นอยู่กับสีของอินดิเคเตอร์)

เเล้วสาร 3 ชนิดนี้ทำปฏิกิริยากันยังไง ? เกิดอะไรขึ้นภายในขวด ?

ภายในขวดนั้นเกิดการรับเเละจ่าย e  ระหว่าง น้ำตาลกลูโคส กับ Methylene blue โดยที่ น้ำตาลทำหน้าที่จ่าย  e (เมื่อกลูโคสอยู่ในสารละลายเบสจะมีสมบัติเป็นตัวรีดิวซ์ทำให้ e– หลุด) เเละเมื่อเติม Methylene blue ลงไปจะทำหน้าที่รับ e ทำให้เปลี่ยนเป็นไม่มีสี เรียกว่า Leucomethylene blue (จากตอนเเรกเป็นสีฟ้าพอเติมลงไปไม่มีสี)

สมการ รับ-จ่าย  e ของ Methylene blue

ขอขอบคุณรูปภาพจาก : บทความวิชาการ การทดลองขวดสีน้ำเงิน The Blue Bottle Experiment

เเล้วการเขย่ามีผลยังไงล่ะ ? 

ขอขอบคุณรูปภาพจาก MEL science

คำตอบคือเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้กับระะบบเพราะถึงเเม้จะเป็นระบบปิด (ปิดฝาขวดไว้) เเต่ในขวดก็ยังมีเเก๊สออกซิเจนอยู่ เมื่อเขย่าขวดจะทำให้ออกซิเจนในสารละลายเพิ่มขึ้น (อากาศละลายลงในสารละลาย เกิดได้เร็วเมื่อเขย่าขวด) โดยที่รอบนี้จะสลับกันคือ Leucomethylene blue จะจ่าย e ให้กับ O(รับ e) ทำให้ methylene blue ถูกออกซิไดซ์กลับคืนเป็นสีฟ้า

เเล้วทำไมถึงกลับมาเป็นสีใสได้อีกล่ะ ?

เมื่อตั้งทิ้งไว้ให้ออกซิเจนระเหยออก methylene blue จะถูกรีดิวซ์ด้วยน้ำตาลกลูโคสในสภาวะที่ไม่มีออกซิเจนทำให้กลับไปเป็นสารละลายใสไม่มีสี แต่ถ้าน้องๆ สังเกตุดูในคลิปตรงบริเวณผิวสัมผัสกับอากาศจะยังเห็นเป็นสีน้ำเงินอยู่เนื่องจากเป็นจุดที่สัมผัสกับออกซิเจน

เห็นไหมว่าไม่ยากเลย การทดลองนี้มีความน่าสนในเป็นอย่างมาก เราสามารถทำให้สีของ methylene blue กลับไป-กลับมาได้หลายครั้ง(จนกว่ากลูโคสจะหมดเปลี่ยนไปเป็น gluconate ion) และยังแสดงถึงสมดุลของปฏิกิริยารีดอกซ์อีกด้วย เเต่พี่มุกอยากจะบอกน้องๆ ไว้ว่าสีหายเเต่สารไม่ได้หายนะจ๊ะ (ตัวสาร methylene blue ยังอยู่เเค่สีถูกทำให้หายไป(ถูกรีดิวซ์)ด้วยกลูโคส ) 

หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้น้องๆ เข้าใจเรื่อง The Blue Bottle Experiment ได้มากขึ้นนะคะส่วน PAT2 ที่ผ่านไปเเล้วถ้าใครกังวลว่าทำได้น้อยหรือคิดว่าตัวเองทำไม่ได้ไม่เป็นไรนะยังมี O-net กับ 9 วิชาสามัญให้น้องๆ ได้เก็บคะเเนนอีกพี่เชื่อว่าน้องๆ ผ่านมาได้ถึงตรงนี้น้องๆ ทุกคนเก่งมากเเล้วค่ะ อย่าเพิ่งท้อ อย่าเพิ่งหมดหวัง พี่ๆ Dek-D’s School เป็นกำลังใจให้นะคะเราจะผ่าน TCAS ครั้งนี้ไปด้วยกัน Dek62 ทุกคนจะต้องติดคณะที่ตัวเองอยากได้ #คำว่าพยายามไม่เคยทำร้ายสักคนที่ตั้งใจ #You can do it

สอบถามเพิ่มเติม และปรึกษาพี่ๆ Dek-D School ได้เลยที่ Line @schooldekd

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular

Recent Comments