HomeReviewบัณฑิตอักษร จุฬาฯ น.ศ. ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น กับความฝันที่จะเป็น "หมอ"

บัณฑิตอักษร จุฬาฯ น.ศ. ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น กับความฝันที่จะเป็น “หมอ”

พี่น้ำเชื่อว่าน้องๆ หลายคนคงจะเคยถามตัวเองใช่ไหมคะว่าจริงๆ แล้วเราชอบเรียนวิชาอะไร และในอนาคตฝันอยากเป็นอะไรกันแน่  หากน้องๆ มีความฝันเพียงอย่างเดียวคำถามเหล่านี้ก็คงไม่เกิดขึ้นแน่ๆ ค่ะ แต่ถ้าหากน้องๆ มีความสนใจและอยากทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมกันล่ะคะ จะวางแผนและตัดสินใจอย่างไรดี? วันนี้พี่น้ำจะพาไปพูดคุย น้องน้ำตาล นางสาวเพ็ญพิสุทธิ์ เขตต์กัน บัณฑิตอักษร จุฬาฯ และ น.ศ. ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น น้องน้ำตาลเป็นอีกคนที่ชื่นชอบทั้งในวิชาวิทยาศาสตร์และภาษาญี่ปุ่น แต่สุดท้ายตัดสินใจเลือกเรียนศิลป์ภาษา-ญี่ปุ่น โดยมีเป้าหมายสู่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การตัดสินใจในวันนั้นเป็นอย่างไร และการเตรียมตัวสู่คณะอักษรศาสตร์ต้องทำอย่างไรบ้าง ไปติดตามกันเลยค่ะ

ก่อนอื่นให้แนะนำตัวก่อนค่ะ

พี่น้ำตาล นักศึกษา ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น

สวัสดีค่ะ ดิฉันนางสาวเพ็ญพิสุทธิ์ เขตต์กัน ชื่อเล่น น้ำตาลค่ะ ตอนนี้ได้ ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น มาเรียนปริญญาโทอยู่ที่มหาวิทยาลัยโอซาก้า สาขาภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่นค่ะ ส่วนปริญญาตรีจบจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เอกภาษาญี่ปุ่น ตอน ม.ต้นอยู่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยรังสิตค่ะ ส่วน ม.ปลายอยู่สายศิลป์-ญี่ปุ่น โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาค่ะ

ย้อนกลับไปตอน ม.ต้น เป็นเด็ก ม.ต้นที่ถนัดสายวิทย์แต่ตัดสินใจเลือกเรียนสายศิลป์-ภาษา

จริงๆ ช่วงจะจบม.ต้นนี่ลังเลอยู่นานมาก เพราะเดิมทีชอบและถนัดวิชาสายวิทย์คณิตมากกว่า แต่ตอนนั้นไม่ได้มีคณะในสายวิทย์ที่อยากเข้าเป็นพิเศษ  ยิ่งช่วงนั้นเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นและเห็นว่าสนุกดี เลยเริ่มถามตัวเองจริงๆ จังๆ ว่าจะเอาดีทางญี่ปุ่นไปเลยดีไหม พอลองมองหลายๆ ทางเลือกแล้ว ก็สนใจสายมนุษยศาสตร์ขึ้นมาด้วย ก็เลยเบนเข็มมาสอบเข้าสายศิลป์ญี่ปุ่นค่ะ โดยมีอนิเมฯ เกม และนิยายญี่ปุ่นเป็นแรงบันดาลใจการเรียนสายศิลป์ภาษาญี่ปุ่น

แม้จะตัดสินใจเรียนสายศิลป์-ภาษาญี่ปุ่น แต่ก็ยังชอบวิทยาศาสตร์เป็นงานอดิเรก

อย่างวิชาวิทย์คณิต ชอบเรียนด้วยอารมณ์เหมือนเรียนเป็นงานอดิเรกค่ะ ชอบอ่านพวกบทความทางสายนี้ แล้วก็ชอบเรียนคอร์สออนไลน์ แต่ที่แล้วๆ มาคิดว่าแค่ชอบเป็นงานอดิเรกเฉยๆ ไม่ได้คิดจะต่อยอดทางนี้

เปลี่ยนสิ่งที่ชอบสู่โอกาสและประสบการณ์การแข่งขันในค่ายสอวน.

ตอนเรียน ม.4 สายศิลป์-ญี่ปุ่นอยู่ที่สวนกุหลาบ รังสิต ก็ได้เรียนชีวะแค่พื้นฐานของสายศิลป์ ตอนนั้นก็เรียนวิชาสายวิทย์เป็นงานอดิเรกเฉยๆ ไม่ได้เรียนพิเศษข้างนอกเลย และใช้การอ่านเอาเองตลอด  พอทางโรงเรียนรับสมัครนักเรียนเข้าค่ายสอวน. พร้อมมีติวฟรีให้ตอนเย็นก็เห็นว่าน่าสนใจ เลยไปเข้าร่วมด้วย ตอนนั้นเลือกสอบ สอวน.วิชาชีวะค่ะ พอไปค่ายแล้วก็ได้เรียนเนื้อหาที่ลึกขึ้น แถมยังได้ทำ Lab ทุกวัน ทางค่ายทางอาจารย์ก็ดูแลดีมาก เป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ เลยค่ะแต่เข้าถึงค่าย 2 ก็สละสิทธิ์มา เพราะช่วงนั้นเวลาค่อนข้างคาบเกี่ยวกับช่วงสอบเข้าเตรียมอุดมฯ พอดี

สละสิทธิ์ค่าย 2 สอวน. และตัดสินใจเลือกเรียนสายศิลป์-ภาษาญี่ปุ่น

พี่น้ำตาล นักศึกษา ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น

ตอนช่วงม.4 ที่สวนกุหลาบ รังสิตเหมือนไปเอาดีทางสอวน. มากกว่าทางสายศิลป์-ญี่ปุ่นด้วยซ้ำ ก็เริ่มถามตัวเองจริงๆ จังๆ ว่าตกลงอยากจะเอายังไงกันแน่ ชีวะก็ชอบ แต่ยังชอบแบบเป็นงานอดิเรกอยู่ ส่วนมนุษยศาสตร์ก็เป็นสายที่อยากเรียนจริงๆ แล้วพอดีช่วงนั้นไปรู้มาว่าโรงเรียนเตรียมอุดมฯ  มีโครงการนำร่องพัฒนานักอักษร ซึ่งพอจบ ม.6 ก็เอาเกรดไปยื่นเข้าไปยื่นเข้าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ได้เลย ก็เลยสนใจมาก จึงตัดสินใจไปสอบเข้าเรียน ม.4 สายศิลป์-ญี่ปุ่นที่เตรียมอุดมฯ ค่ะ

ไม่ว่าจะเรียนอะไรควรเลือกเรียนจากสิ่งที่ตัวเองชอบ

พี่น้ำตาล นักศึกษา ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น

ถามตัวเองก่อนว่าสิ่งที่เลือกชอบจริงๆ ไหม ถ้าไม่ชอบแล้วมาเรียนนี่ก็หนักเหมือนกัน  ส่วนการเตรียมตัวอื่นๆ ก็พวกเรื่องพื้นฐานทั่วไปเหมือนเวลาเรียนภาษาต่างประเทศอื่นๆ เลยค่ะ เช่นจะเรียนญี่ปุ่นก็ต้องเริ่มจากจำตัวอักษรให้ได้ จำศัพท์ได้ เข้าใจไวยากรณ์ ทางที่ดีก็หาสื่ออะไรสักอย่างที่ชอบมาช่วยอีกแรง จะช่วยให้เข้าใจและมีแรงบันดาลใจได้มากขึ้นเยอะ

เส้นทางสู่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

พี่น้ำตาล นักศึกษา ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น

เรื่องเข้ามหาวิทยาลัยตามที่บอกไว้ตอนแรกว่าสนใจมาสอบเข้าเตรียมฯ เพราะทราบว่ามีโครงการนำร่องพัฒนานักอักษรศาสตร์อยู่ หลังจบ ม.4 เกรดถึงเกณฑ์สอบได้ ก็ไปสอบเข้าโครงการนี้ค่ะ การสอบก็จะสอบพวกการเขียนเรียงความ การแปล และสอบสัมภาษณ์ ซึ่งก็รับค่อนข้างยากเลยค่ะ ตอนนั้นมีเงื่อนไขคือเกรดวิชาที่กำหนดต้องถึงเกณฑ์ (ถ้าจำไม่ผิดน่าจะพวกไทย อังกฤษ สังคม) และเป็นเด็กโรงเรียนที่อยู่ใกล้คณะอักษรฯ จุฬาฯ (อย่างเตรียมอุดม สาธิตจุฬาฯ สาธิต มศว. ปทุมวัน) เพราะต้องเข้ากิจกรรมและฟังบรรยายกับทางคณะบ่อยๆ รับรุ่นละประมาณ 30 คนค่ะ พอเข้าร่วมโครงการนี้ก็เลยได้เข้าอักษรฯ ด้วยการยื่นเกรดเลย ซึ่งโครงการนี้ก็ต้องร่วมกิจกรรมกับทางคณะ ส่งงาน แล้วก็ยื่นเกรดเข้าค่ะ

จบปริญญาตรีตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทโดยการสมัคร ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น

พี่น้ำตาล นักศึกษา ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น

ตอนนั้นยังคิดจะเรียนต่อโท-เอกและกลับมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเพราะอยากทำวิจัยค่ะค่ะ แล้วทั้งอาจารย์และรุ่นพี่ที่กลับมาเป็นอาจารย์ก็สมัคร ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น กันทั้งนั้นก็เลยตัดสินใจสมัคร พอเข้ามหาวิทยาลัยไปแล้วก็เลยเข้าหลักสูตรเกียรตินิยมเพื่อจะได้ฝึกทำวิจัยเต็มที่ แต่ลึกๆ แล้วก็ยังชอบวิชาสายวิทย์และเรียนเป็นงานอดิเรกมาตลอด จนถึงสองปีที่แล้วก็ยังคิดแบบนี้นะคะ

สอบทุนรัฐบาลญี่ปุ่นต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

กรณีของตัวเองคือเป็นทุนแนะนำผ่านมหาวิทยาลัยค่ะ คือต้องส่ง study plan และเปเปอร์วิจัยสั้นๆ ให้มหาวิทยาลัยที่ญี่ปุ่นพิจารณา จากนั้นก็จะเป็นการสอบสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ การเตรียมตัวก็คือต้องกำหนดหัวข้อว่าตัวเองอยากจะไปทำวิจัยเรื่องอะไร แล้วก็ศึกษางานวิจัยในสาขานั้นๆ ให้มากๆ เพื่อดูว่าเราสามารถต่อยอดวิจัยตรงไหนได้บ้าง จากนั้นก็เอามาเขียนเป็น study plan ตอนสัมภาษณ์ก็ถามพวกเรื่องใน study plan นี่แหละค่ะ แต่ถ้าจะไปสอบระบบแนะนำผ่านสถานทูตก็อาจจะมีสอบข้อเขียนเพิ่มมา

การเรียนเป็นยังไงบ้างคะ แตกต่างจากที่ประเทศไทยอย่างไรบ้าง

พี่น้ำตาล นักศึกษา ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น

ตอนที่ไปเรียนเป็นป.โท ก็คือต้องเจาะเฉพาะทางไปแล้วว่าจะทำวิจัยหัวข้ออะไร วิชาที่ลงก็เลยจะโยงกับธีสิสที่ต้องเขียนหมด จำนวนชั่วโมงและหน่วยกิตน้อยกว่าสมัยปริญญาตรีมากๆ แต่ก็ต้องอ่านเปเปอร์และเอาเวลาไปศึกษาด้วยตัวเองมากขึ้น รูปแบบการเรียนก็ไม่ใช่การนั่งฟังอาจารย์บรรยาย แต่ว่าออกไปทาง discuss กันมากกว่า

สิ่งที่ชอบที่สุดในการเรียนคือวิชาในหมวดมนุษยศาสตร์

เอาจริงๆ สิ่งที่ชอบที่สุดในการเรียนสายนี้ไม่ใช่ภาษาหรือวัฒนธรรมญี่ปุ่น แต่เป็นตัววิชาในหมวดมนุษยศาสตร์มากกว่า อย่างตอนเรียนที่อักษรศาสตร์ วิชาที่ชอบที่สุดก็พวกวิชาปรัชญาที่ต้องเรียนตอนปี 1 เพราะสนใจเกี่ยวกับมนุษย์ค่ะ อย่างที่ชอบชีวะก็เพราะสนใจเกี่ยวกับมนุษย์เหมือนกัน สนใจทั้งในแง่โครงสร้างการทำงานระบบต่างๆ แล้วก็สนใจในเชิงความนึกคิดด้วย

อยากเอาสิ่งที่ชอบไปต่อยอด จึงวางแผนสอบหมอหลังจบป.โท

ระหว่างที่เรียนป.ตรี ลึกๆ แล้วก็คิดว่าเริ่มเอนเอียงมาทางอยากเรียนคณะแพทย์ฯรวมถึงคณะวิทย์ฯ อย่างตอนเรียนวิชาปรัชญามีการโยงเรื่องสมองเข้ากับระบบประสาทส่วน limbic system ก็สนใจ เคยอยากเรียนพวก neuroscience ด้วย แต่ตอนนั้นคิดเหมือนเดิมว่าสนใจแล้วจบแค่เป็นงานอดิเรกพอ แต่พอผ่านประสบการณ์มามากขึ้น ก็เริ่มคิดว่าอยากเอาสิ่งที่ชอบมากจริงๆ ขนาดนี้ไปต่อยอดให้เป็นประโยชน์กว่านี้ ไม่ใช่จบแค่งานอดิเรกเฉยๆ

นี่ก็เป็นประสบการณ์เส้นทางสู่คณะอักษรศาสตร์ของน้องน้ำตาล นางสาวเพ็ญพิสุทธิ์ เขตต์กัน แต่อย่างที่น้องน้ำตาลทิ้งท้ายไว้นะคะ ว่าเป้าหมายของน้องน้ำตาลไม่ได้จบแค่ปริญญาโท สาขาภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่น  แต่น้องน้ำตาลตั้งเป้าหมายไว้ว่าอยากนำสิ่งที่ชอบอีกด้านมาพัฒนาความรู้ความสามารถ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์กับคนรอบข้างและส่วนรวมด้วยการเตรียมตัวเข้าสอบหมอ ด้านจิตเวชต่อไปค่ะ

จากคณะอักษรศาสตร์สู่การเตรียมสอบหมอต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง? บทความหน้าน้องน้ำตาล จะมาแชร์ประสบการณ์การเตรียมสอบหมอจากประเทศญี่ปุ่น น้องน้ำตาลต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ติดตามได้ในบทความหน้าค่ะ

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular

Recent Comments