สรุปเรื่องต้องรู้และเจาะลึก Blueprint 65 แบบละเอียด ในวิชา PAT1 PAT2 PAT3 และวิชาสามัญทั้ง 7 วิชา พร้อมด้วยเทคนิคการทำข้อสอบ และตัวอย่างข้อสอบจริง สำหรับน้องๆ #Dek65 เตรียมตัวสอบได้ในเวลากระชั้นชิด โค้งสุดท้ายก่อนสอบ
เลือกอ่านวิชาที่ต้องการได้เลย
เจาะลึก Blueprint PAT1
สิ่งที่ข้อสอบต้องการวัด
- การเชื่อมโยงความรู้ (10-14 ข้อ) ถ้ามีโจทย์สถานการณ์มาให้ ไม่ได้เจาะจงว่ามาจากเรื่องไหน น้องๆ จะต้องคิดหาวิธีการจากบทเรียนมาเชื่อมโยงแก้ปัญหากับโจทย์
- การแก้ปัญหาและการให้เหตุผล (20-24 ข้อ) คือการหาวิธีการแก้โจทย์ วิธีไหนก็ได้ที่จะทำให้ได้คำตอบในสิ่งที่โจทย์ต้องการ และสามารถหาคำตอบออกมาได้
- การสื่อสารและการสื่อความหมายทางคณิตศาสตร์ (10-14 ข้อ) โจทย์ให้ข้อมูลมาเป็นรูปแบบตารางหรือกราฟ แล้วให้เลือกใช้ข้อมูลให้ถูกต้อง
**สามารถออกหลายๆ ด้านในข้อเดียวได้
ตัวอย่างโจทย์ PAT1
ข้อนี้น่าจะช่วยให้เห็นภาพจากสิ่งที่ข้อสอบอยากจะวัดอะไรจากเราข้างต้นได้เลย เพราะโจทย์จะเป็นสถานการณ์มารัวๆ แทบไม่มีภาษาคณิตศาสตร์ ซึ่งน้องๆ ต้องมาคิดเองว่าจะใช้ความรู้จากเรื่องอะไรมาหาคำตอบข้อนี้ซึ่งตรงกับข้อแรก การเชื่อมโยงความรู้ และเมื่อน้องๆ รู้ว่าต้องใช้ความรู้เรื่องไรแล้ว น้องๆ จะต้องเอาความรู้นั้นมาทำอะไร วางแผน หาวิธีคิดเป็นขั้นเป็นตอน จนกว่าจะได้คำตอบในสิ่งที่โจทย์ต้องการออกมา นั่นคือข้อที่ 2 การแก้ปัญหาและการให้เหตุผล
ข้อนี้ก็น่าจะทำให้สิ่งที่ข้อสอบต้องการวัดข้อที่ 3 ชัดเจนขึ้น โจทย์ให้ข้อมูลมาเยอะมากเลย แล้วให้เราเลือกว่าต้องใช้ข้อมูลตรงไหนมาตอบคำถาม นั่นคือ การสื่อสารและการสื่อความหมายทางคณิตศาสตร์ รวมทั้งการสื่อสารรูปแบบกราฟด้วย และโจทย์แนวแก้สมการคณิตศาสตร์ที่ไม่ได้เป็นสถานการณ์พี่ก็คิดว่ารวมอยู่ในข้อนี้ด้วยนะ เหมือนมันจะวัดว่าเราเข้าใจสัญลักษณ์และตัวแปรทางคณิตศาสตร์มากแค่ไหน
เนื้อหาที่ควรเน้น
เนื้อหาแนวสถานการณ์ที่ควรเน้นและน่าเก็บ
- สถิติ กับการนับและความน่าจะเป็น เซต เรื่องพวกนี้จะออกเป็นโจทย์สถานการณ์มาตลอดอยู่แล้ว และจากปี 64 ก็ไม่ได้ออกโดดจากปีก่อนหน้านี้มาก รูปแบบจะค่อนข้างตายตัว
- ดอกเบี้ยและค่างวด โจทย์ประยุกต์จากเรื่องลำดับอนุกรม เรื่องนี้ออก concept อย่างเดียวเลย ไม่ต้องคิดเลข เพราะ choice มีเป็นแบบสมการที่แทนค่าไว้ให้อยู่แล้ว
- การเพิ่มขึ้นของประชากร โจทย์ประยุกต์จาก Expo & Log จากข้อสอบปี 64 เรื่องนี้ออกค่อนข้างยากนิดนึง แต่ถ้าน้องๆ อ่านไว้ก็ดี ไม่เสียหาย เพราะมันอาจจะออกอีกก็ได้ แล้วโจทย์ประยุกต์ของ Expo ที่อยากให้ศึกษาเพิ่มอีกอย่างคือ ครึ่งชีวิต อาจจะเอามาออกได้เช่นกัน
- ฟังก์ชัน จำนวนจริงจะเป็นแนวพื้นฐาน แก้สมการ เขียนฟังก์ชัน ซึ่งโจทย์แนวเชื่อมโยงก็สามารถเชื่อมโยงมาหัวข้อนี้ได้เยอะเหมือนกัน
- โจทย์ประยุกต์ตรีโกณประเภทมุมก้ม มุมเงย พีทาโกรัส เป็นเรื่องที่ยังน่าเก็บอยู่นะ เพราะว่าใช้ความรู้เรื่องมุม และพีทาโกรัส ซึ่งไม่ได้ซับซ้อนมากเหมือนเนื้อหาฟังก์ชันตรีโกณที่สูตรเยอะยุบยิบ
นอกนั้นก็จะมีตรรกศาสตร์เป็นเรื่องที่ไม่ควรทิ้งเลย เพราะเนื้อหาไม่เยอะ ใช้เวลาเรียนไม่นานก็จบ ข้อสอบก็ออกไม่ยากแค่เข้าใจ concept พื้นฐานก็สามารถทำได้แล้ว
เจาะลึก Blueprint PAT2
สิ่งที่ข้อสอบต้องการวัด
- การเชื่อมโยงความรู้ (15-19 ข้อ) โจทย์จะเป็นแบบมีสถานการณ์มาให้ แล้วน้องๆ จะต้องมาตีความเอง ว่าต้องเอาความรู้จากบทไหนมาแก้ปัญหานี้ ในข้อเดียวอาจจะใช้ความรู้จากหลายๆ บทมาประยุกต์ด้วยกัน ซึ่งน้องๆ จะต้องเข้าใจเนื้อหาหลายๆ บทเลย เช่น ในข้อเดียวกันต้องใช้ความรู้เรื่องเสียงและกฎอนุรักษ์พลังงาน แต่น้องเข้าใจแค่เรื่องเสียง ไม่เข้าใจกฎการอนุรักษ์พลังงาน น้องๆ ก็จะทำโจทย์ข้อนี้ไม่ได้ไปเลย
- การประเมินและการออกแบบกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ (24-28 ข้อ) คือการหาวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาหาสิ่งที่โจทย์ต้องการ โจทย์อยากรู้อะไร เราก็ต้องคิดวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบนั้น พูดแค่นี้อาจจะยังไม่เห็นภาพ เดี๋ยวไปลองดูจากตัวอย่างโจทย์กัน
- การสื่อสารและการสื่อความหมายข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ (15-19 ข้อ) การตีความข้อมูลจากที่โจทย์ให้มา ทั้งรูปแบบการทดลอง ตารางหรือกราฟ แล้วตอบคำถาม เลือกใช้ข้อมูลที่โจทย์ให้มาให้ถูก อย่างเช่นในข้อสอบปี 64 จะมีโจทย์ที่ตารางและกราฟที่ให้ข้อมูลมาเยอะมาก แต่เราเลือกใช้จริงๆ นิดเดียว ซึ่งเราต้องดูตารางหรือกราฟพวกนี้ให้เป็น
**สามารถออกหลายๆ ด้านในข้อเดียวได้
ตัวอย่างโจทย์ PAT2
จาก Test Blueprint ปี 65 ออกมาแล้วแทบไม่ต่างจากของปี 64 เลย ฉะนั้นน้องๆ สามารถใช้ข้อสอบปี 64 เป็นแนวได้เลย แล้วก็มีโจทย์ที่วัดสมรรถภาพตาม 3 ข้อก่อนหน้านี้ด้วย ยกตัวอย่างเช่นโจทย์ข้อนี้ จะตรงกับการสื่อสารและการสื่อความหมายข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เพราะต้องมีดูข้อมูลจากตารางที่เยอะๆ นี้เอามาคำนวณค่ะ
เนื้อหาที่ควรเน้น
- แรง กฎการเคลื่อนที่ และการเคลื่อนที่แบบต่างๆ เป็นเรื่องควรเก็บ เพราะออกบ่อย และเจอในข้อสอบหลายๆ แบบ และยังใช้ความรู้กับเรื่องอื่นๆ เยอะด้วย
- การหาปริมาณต่างๆ จากกราฟ และการอ่านกราฟการเคลื่อนที่
- เสียง ในข้อสอบปี 64 ออกเยอะมาก เพราะสามารถประยุกต์กับโจทย์ได้หลายแบบ
- แสง แม่เหล็ก และไฟฟ้า ของแข็งและของไหลเน้นเข้าใจที่ไปของเนื้อหา เพราะอาจจะออกแนวตีความทดลอง หรือสถานการณ์
- PAT2 ชีวะ โจทย์หลายๆ ข้อจะเป็นแนวการทดลอง ตีความหมายของข้อมูลมากกว่าส่วนของเคมี และฟิสิกส์ น้องๆ จะต้องเข้าใจที่มาที่ไปของเนื้อหา อย่าจำอย่างเดียวนะ
- ระบบการทำงานต่างๆ ของสัตว์และมนุษย์ การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม นิเวศวิทยา เป็นเรื่องที่ไม่ยาก และออกข้อสอบเยอะ
- ข้อสอบ PAT2 จะเน้นแนวโจทย์ประยุกต์ โจทย์ทดลองมากขึ้น โจทย์เคมีก็จะมีความผสมหลายๆ เรื่องในข้อเดียวกัน น้องๆ จะต้องเข้าใจแก่นแท้ของเนื้อหา และเข้าใจความเกี่ยวข้องกันของแต่ละเรื่องในวิชาเคมี
- เนื้อหาแนวสมบัติอะตอม พันธะเคมี เน้นเข้าใจสมบัติทางกายภาพ เช่น จุดเดือด, จุดหลอมเหลว, การละลายน้ำ
เจาะลึก Blueprint PAT3
โครงสร้างข้อสอบ
จากโครงสร้างข้อสอบ จะเห็นว่าเนื้อหาที่ออกสอบแทบไม่ต่างจากปีก่อนๆ เลย แต่มีส่วนของพื้นฐานวิศวกรรมศาสตร์ และการเขียนแบบเชิงวิศวกรรมเพิ่มเข้ามา ซึ่งก็ไม่ใช่เนื้อหาใหม่ ข้อสอบปีก่อนๆหน้านี้ ก็เคยออกเรื่องนี้เหมือนกัน ฉะนั้นน้องๆ สามารถใช้แนวข้อสอบจากปี 64 และปีก่อนหน้านั้นเป็นแนวทางได้เลย
เนื้อหาที่ควรเน้น
- พาร์ทฟิสิกส์เป็นพาร์ทที่ออกเยอะที่สุด ซึ่งออกครึ่งนึงของข้อสอบเลย เนื้อหาที่ต้องเน้น คือ กลศาสตร์ ความร้อน แก๊ส แสง เสียง ซึ่งจากข้อสอบปี 64 PAT3 จะออกทั้งเนื้อหาจากหลักสูตรใหม่และเก่าเลย น้องๆ อาจจะต้องไปศึกษาเนื้อหาของหลักสูตรเก่าที่หลักสูตรใหม่ตัดออกไปด้วย เช่น การเคลื่อนที่แบบหมุน
- พาร์ทคณิตศาสตร์ ออกสอบเยอะรองลงมาจากฟิสิกส์เลย เนื้อหาจะออกแบบคละๆ กันไป และออกไม่ยากเหมือน PAT1 ถ้าน้องๆ เตรียมสอบ PAT1 อยู่แล้ว ก็ใช้ความรู้เดียวกันมาทำส่วนนี้ได้เลย
- พาร์ทเคมี ออกสอบสัดส่วนน้อยพอๆ กับพาร์ทศักยภาพเลย ในส่วนของเคมีก็ไม่ยากขนาด PAT2 โจทย์คำนวณก็ไม่ซับซ้อน คิดแบบตรงไปตรงมาได้เลย
- พาร์ทศักยภาพ ก็คือ พื้นฐานวิศวกรรม และการเขียนแบบนั่นแหละ ซึ่งส่วนนี้เก็บคะแนนค่อนข้างง่าย ไม่ควรทิ้งเลย และในส่วนของความรู้ทั่วไปต่างๆ อันนี้เหมือนจะสุ่มๆ ออก ไม่ได้ฟิกตายตัวว่าเป็นเรื่องไหน ซึ่งอันนี้พี่ว่าถ้าน้องรู้คำตอบก็ตอบไปได้เลย แต่ถ้าไม่รู้ก็มั่วไปได้เลย เพราะข้อสอบส่วนนี้จะเป็นแบบตัวเลือก
ตัวอย่างโจทย์ PAT3
- ตัวอย่างโจทย์ฟิสิกส์ข้อนี้เป็นอัตนัย ใช้ความรู้เรื่องกฎการอนุรักษ์พลังงาน การเคลื่อนที่แบบวงกลม สิ่งที่ต้องระวังในข้อนี้คือต้องเขียนพลังงานทั้งหมดที่เกิดขึ้นให้ครบ
- ตัวอย่างโจทย์เคมี ข้อนี้เป็นเรื่องปริมาณสารสัมพันธ์ เป็นข้อที่คิดตรงไปตรงมาได้เลย แต่ต้องต้องระวังว่าปฏิกิริยาเกิดที่ STP ดังนั้นต้องใช้ค่าแก๊ส 1 โมลที่ STP เท่ากับ 22.4
- โจทย์ศักยภาพข้อนี้ก็ตรงไปตรงมาเลย ดูว่า choice ไหนที่สามารถสวมเข้ากับโจทย์ได้อย่างพอดี อย่าง choice 1, 2 นี่ตัดออกไปได้เลย เพราะเกลียวอยู่ด้านนอก ยังไงก็สวมไม่พอดี แล้วต่อไปเช็กที่รู 2 รูข้างๆ ตัด choice 3, 4 ได้เลย เพราะมีรู 2 ข้างเหมือนกัน ต้องเป็นแง่งเหมือนตัวเลือกที่ 5 จะลงตัวพอดี ข้อแบบนี้ง่ายมาก น้องๆ ต้องเก็บคะแนนให้ได้นะ
- โจทย์คณิต ข้อนี้เป็นโจทย์ตัวอย่างจาก blueprint 65 ทีให้มา ซึ่งบอกระดับความยากว่าเป็นข้อง่าย เป็นเรื่องลำดับอนุกรม แล้วข้อสอบปี 64 พาร์ทคณิตหลายๆ ข้อความยากก็ประมาณนี้เลย เป็นอีกพาร์ทที่ไม่ควรทิ้ง
เจาะลึก Blueprint คณิต วิชาสามัญ
เรื่องไหนที่ควรเน้น
คณิตวิชาสามัญ แนวข้อสอบจาก Blueprint ก็ไม่ได้ต่างจากปี 64 เท่าไร เพิ่มเติมก็คือมีช่วงของจำนวนข้อให้ ลักษณะข้อสอบถ้าอ้างอิงจากปี 64 ข้อสอบก็จะเน้นวัดความรู้คณิตศาสตร์ ไม่ได้มีโจทย์ประยุกต์มากๆ เหมือน PAT1 ยังมีโจทย์ที่เป็นแนวแก้สมการอยู่ และ blueprint บอกว่าบางข้อมีการบูรณาการระหว่างเนื้อหา นั่นคือ บางข้อก็จะใช้ความรู้จากหลายๆ เรื่องมาแก้โจทย์ข้อเดียวนั่นเอง
ส่วนเรื่องของเนื้อหา จาก blueprint ก็คือออกทุกบทในหลักสูตร ม.ปลายเลยค่ะ ถ้าน้องๆ ที่เตรียมตัวมาเยอะแล้ว สามารถเก็บเนื้อหาได้ทั้งหมดก็จะยิ่งดีเลย เพราะนอกจากใช้ในวิชาสามัญนี้แล้วยังสามารถใช้ความรู้เดียวกันทำโจทย์ประยุกต์ในข้อสอบ PAT1 ได้ด้วย แต่ถ้าเก็บทั้งหมดไม่ไหว ต้องเลือก พี่ก็แนะนำกลุ่มจำนวนและพีชคณิต เพราะออกเยอะสุด และก็มีเรื่องน่าเก็บคะแนน เช่น เซต ตรรกศาสตร์ แล้วเนื้อหาจำนวนจริง ฟังก์ชัน เอ็กซ์โพ & ลอการิทึม ก็เป็นพื้นฐานต่อยอดเรื่องอื่นๆ ได้อีก นอกจากกลุ่มนี้พี่ก็แนะนำกลุ่มสถิติและความน่าจะเป็น โดยเฉพาะสถิติ จะออกหลายข้อหน่อย แล้วไม่ยากมากด้วย แทบจะหยิบตัวเลขจากโจทย์มาแทนค่าหาคำตอบได้เลย บทนี้ก็เป็นบทที่ไม่ควรทิ้งอย่างยิ่ง
ตัวอย่างโจทย์คณิต วิชาสามัญ
อย่างข้อนี้ก็เป็นโจทย์สถิติ ซึ่งเป็นเรื่องตัวแปรสุ่มและการแจกแจงความน่าจะเป็น ซึ่งสามารถแทนสูตรค่าคาดหมายหาคำตอบได้เลย แต่เราต้องไปคิดหาความน่าจะเป็นของผลลัพธ์เพิ่มมาเท่านั้น
เจาะลึก Blueprint ฟิสิกส์ วิชาสามัญ
เรื่องไหนที่ควรเน้น
จาก blueprint บทกลศาสตร์ออกเยอะสุด เพราะเป็นบทที่เนื้อหาเยอะที่สุด และน้องๆ ไม่ควรทิ้งเพราะสามารถใช้ความรู้กับเรื่องอื่นๆ และยังบูรณาการระหว่างเนื้อหาอื่นๆ ได้ด้วย อย่างน้อยๆ เลยน้องๆ ควรได้ แรงและกฎการเคลื่อนที่ การเคลื่อนที่แนวตรง งานและพลังงาน เพราะมีความเป็นพื้นฐานของกลศาสตร์เลย ส่วนเนื้อหาอื่นๆ ที่นอกเหนือจากกลศาสตร์ก็พวก คลื่น เสียง แสง ที่ควรเก็บ เพราะเนื้อหาไม่ซับซ้อน แก้โจทย์ง่าย
จาก blueprint ก็คือออกทุกบท ทุกเรื่อง ถ้าน้องๆ สามารถเก็บมันได้ทั้งหมดก็ดี แต่ถ้าไม่ได้ก็เก็บเรื่องที่ตัวเองแม่น หรือเรื่องที่ออกเยอะ อย่างที่พี่เกร็งไว้ให้ข้างต้น ซึ่งแนวข้อสอบก็คล้ายๆ กันกับปี 64 และข้อสอบปี 64 ก็จะเป็นแนวแก้โจทย์ฟิสิกส์ทั่วๆ ไป ถามเนื้อหาตรงๆ คิดเลขไม่ยาก มีโจทย์แนวคำนวณติดตัวแปรมาบ้างประปราย คล้ายๆ PAT2 แบบเก่าซึ่งถ้าน้องๆ เคยทำโจทย์ PAT2 แบบเก่ามาบ้างก็น่าจะช่วยน้องๆ ในส่วนฟิสิกส์วิชาสามัญได้พอสมควรเลย
ตัวอย่างโจทย์ฟิสิกส์วิชาสามัญ
เช่นข้อนี้น้องๆ อ่านโจทย์ก็จะรู้ได้เลยว่าคือเรื่องเสียง ซึ่งตัวเลือกคำตอบก็จะเป็นตัวเลขจากการคำนวณปกติ ไม่ได้ติดตัวแปรไว้ เป็นข้อที่ถามตรงๆ คิดเลขง่ายๆ เลย
เจาะลึก Blueprint ชีวะ วิชาสามัญ
เรื่องไหนที่ควรเน้น
ระบบและการทำงานต่างๆ ของสัตว์และมนุษย์ ออกเยอะ เพราะว่ามีเนื้อหาค่อนข้างจะเยอะ ซึ่งในปี 65 นี้ออกเยอะกว่าปี 64 อีกนะ ในปี 64 ออก 13 ข้อ แต่ปี 65 ออก 15-17 ข้อเลย ส่วนในปี 64 เนื้อหาก็จะออกแบบกระจายๆ แต่ละระบบ ไม่ได้ออกระบบไหนเยอะพิเศษ ส่วนเนื้อหาอื่นๆ ที่ควรเน้นก็ระบบนิเวศ เป็นเรื่องที่ไม่ยากและออกเยอะมาตลอด ของปี 64 ออกถึง 5 ข้อเลย แล้วก็โครโมโซมและสารพันธุกรรมก็เป็นอีกเรื่องที่น่าเก็บและออกเยอะในปีที่แล้ว
จากข้อสอบปี 64 สามัญชีวะ ยังมีโจทย์แบบถามความจำอยู่บ้าง ในบางข้อมีการรวมเนื้อหาจากหลายๆ บทเข้าด้วยกัน มีข้อสอบที่เน้นวิเคราะห์จากตารางมากขึ้น โจทย์ยาวขึ้น ซึ่งพี่คิดว่าข้อสอบปี 65 ก็ไม่ต่างจากนี้มาก แต่เนื่องจากโจทย์วิเคราะห์เยอะขึ้น และโจทย์ก็ยาวขึ้นน้องๆ ก็จะต้องจัดว่าเวลาทำโจทย์ให้ดีๆ เลย ไม่งั้นจะทำข้อสอบไม่ทันเอาได้นะ
ตัวอย่างโจทย์ชีวะ วิชาสามัญ
ข้อนี้โจทย์ไม่ยาวมาก แต่ก็ต้องวิเคราะห์เนื้อหาจากเหตุการณ์ที่โจทย์ให้มา อย่างข้อนี้คำตอบคือข้อ 3 เพราะว่า การสะสมสารต่าง ๆ ภายในรากเป็นการเพิ่มความเข้มขึ้นของรากทำให้รากมีความเข้มข้นสูงขึ้น ทำให้น้ำในดินยังเคลื่อนที่เข้าสู่รากได้
เจาะลึก Blueprint เคมีวิชาสามัญ
เรื่องไหนที่ควรเน้น
- ปริมาณสารสัมพันธ์, อัตราการเกิดปฏิกิริยา, สมดุลเคมี, กรด-เบส, ไฟฟ้าเคมี เป็นแนวคำนวณ บางเนื้อหามีความเกี่ยวเนื่องกันอยู่ น้องๆ ควรจะเข้าใจ concept พื้นฐานของแต่ละหัวข้อ
- อะตอมและตารางธาตุ พันธะเคมี เคมีอินทรีย์มีเนื้อหาเยอะมาก แต่ถ้าเข้าใจพันธะเคมีดี ก็จะเข้าใจเคมีอินทรีย์ได้ไม่ยาก และถ้าเข้าใจเคมีอินทรีย์แล้วก็จะเข้าใจพอลิเมอร์ได้ไม่ยากเช่นกัน
จากข้อสอบปี 64 โจทย์จะคำนวณด้วยตัวเลขที่ไม่ยาก เน้นเข้าใจทฤษฎีพื้นฐานมากขึ้น แล้วในโจทย์จะใช้กราฟและตารางมากขึ้น ซึ่งถ้าน้องๆ อ่านมาตั้งแต่ต้นจะเห็นว่าตั้งแต่ข้อสอบ PAT1 PAT2 วิชาสามัญ คณิต ฟิสิกส์ ชีวะ ก็ใช้กราฟและตารางเยอะเหมือนกัน น้องๆ ที่ใช้ข้อสอบปี 64 เป็นแนวก็ควรจะฝึกดูกราฟ ดูตาราง เลือกใช้ข้อมูลให้คล่อง เพราะพี่คิดว่าในข้อสอบ 65 มีกราฟมีตารางมาอีกเพียบแน่นอน
ตัวอย่างโจทย์เคมีวิชาสามัญ
เช่นข้อนี้เป็นโจทย์ที่มีตาราง ซึ่งถ้าน้องๆ อ่านตารางไม่สับสนก็จะสามารถเรียงลำดับความสามารถในการเป็นตัวรีดิวซ์ได้ง่ายๆ เลย
เจาะลึก Blueprint ภาษาอังกฤษ
ภาษาอังกฤษ TCAS65 เรื่องไหนที่ควรเน้น
ข้อสอบภาษาอังกฤษที่ Test Blueprint ออกมา หัวข้อ เนื้อหาที่จะออกสอบก็ยังเหมือนเดิมเลย ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
- ข้อสอบ GAT พาร์ท Structure and writing นี้เป็นพาร์ทที่ควรเก็บเลย เพราะเป็น Grammar และ Grammar มันจะมีกฎที่ค่อนข้างจะตายตัว ข้อสอบก็จะดิ้นไม่ได้ และ Expression จะเป็นพวกประโยคและบทสนทนา แทบจะไม่มีสำนวนยากๆ โผล่มาเลยส่วน Vocab ที่ผ่านมาจะเน้นเรื่อง Synonym ถ้าน้องๆ ฝึกทำข้อสอบบ่อยๆ เจอศัพท์ผ่านตาเยอะๆ หัดแตกศัพท์จากราก ก็จะทำข้อสอบพาร์ทนี้ได้ง่ายขึ้น ส่วนข้อสอบ Vocab อีกแบบจะเป็นการเติมคำศัพท์ลงในช่องว่าง น้องๆ ต้องหัดเดาศัพท์จากบริบท และหาคำใบ้ให้เจอ
- ข้อสอบวิชาสามัญ ในส่วนของ Listening and Speaking จะเป็น conversation แต่ในวิชาสามัญจะยากกว่า GAT เพราะจะมีสำนวนออกมาด้วย เยอะมาก ส่วน Reading นี่คือส่วนที่ยากที่สุดเลย และเยอะมากด้วย เป็นส่วนที่กินเวลาทำข้อสอบของน้องๆ พอสมควรเลย ถ้าบริหารเวลาไม่ดี และในส่วนของ Writing จะเน้น Grammar แต่ก็มีส่วนง่าย ที่เป็นตัวช่วยน้องๆ อยู่นั่นคือ Paragraph Organization ที่มีเทคนิคเรื่องคำเชื่อม สรรพนามต่างๆ มาช่วยให้ทำข้อสอบได้แบบสบายๆ โดยที่ไม่ต้องอ่านให้จบทุกประโยคด้วยซ้ำ
ตัวอย่างข้อสอบ GAT
จากที่ดูคำศัพท์ในโจทย์และ Choice แล้ว ถือว่าข้อนี้ไม่ยากเลย ถึงแม้จะเป็นข้อสอบในพาร์ท Vocab แต่ถ้าน้องๆ มีความรู้ในเรื่อง Grammar อยู่บ้าง ก็จะช่วยให้ตัด Choice ได้ง่ายขึ้น เพราะหลัง Struggle to ควรตามด้วย Verb แต่ตัวเลือกที่ 1 และ 2 นั้น เป็น Adj. ไม่สามารถใช้ได้ ก็จะเหลือแค่ข้อ 3-5 ทีนี้ก็มาดูความหมายของโจทย์และ Choice จะพบว่าข้อ 4. adapt (ปรับตัว) เหมาะสมที่จะเติมในประโยคนี้ที่สุด
จากตัวอย่างข้อสอบนี้ น้องๆ จะเห็นว่าศัพท์นั้นไม่ยาก ถ้าความยากประมาณนี้ถูกจัดอยู่ในระดับปานกลาง แสดงว่าน้องๆ มีโอกาสตุนคะแนนจากข้อที่ง่ายและปานกลางได้เยอะมาก ควรเก็บคะแนนให้ได้มากที่สุด
ตัวอย่างข้อสอบวิชาสามัญ
จากที่ดูคำศัพท์ในโจทย์และ Choice แล้ว ถือว่าข้อนี้ง่ายกว่าข้อสอบวิชาสามัญปีก่อนๆ มาก เพราะมี Choice ที่เป็นสำนวนเพียงแค่ Choice เดียวคือ What a pity นอกนั้นเป็นประโยคที่แปลได้ตรงตัวทั้งหมด
จากตัวอย่างข้อสอบนี้ น้องๆ จะเห็นว่าศัพท์นั้นไม่ยากเลย ถ้าความยากประมาณนี้ถูกจัดอยู่ในระดับปานกลาง แสดงว่าน้องๆ มีโอกาสตุนคะแนนจากข้อที่ง่ายและปานกลางได้เยอะมาก
เจาะลึก Blueprint ภาษาไทย
เรื่องไหนที่ควรเน้น
ข้อสอบวิชาสามัญ จะแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือหลักภาษา และการอ่าน/ การพูด/ การฟัง
- หลักภาษา ควรเก็บคะแนนให้ได้ หลักภาษาไทย 85 เรื่องต้องแม่น เพราะแค่เข้าใจหลักการก็ทำได้แล้ว และแนวข้อสอบออกเหมือนเดิมทุกปี ฝึกทำข้อสอบบ่อยๆ ช่วยได้เยอะมาก
- การอ่าน/ การพูด/ การฟัง เน้นคิดวิเคราะห์ ต้องแม่นหลักการและวิเคราะห์ให้เป็น หา Keyword ของสิ่งที่โจทย์บอกมาให้ได้ก็จะได้คำตอบ
ตัวอย่างข้อสอบไทย วิชาสามัญ
ข้อสอบวิชาสามัญภาษาไทย ข้อที่ 1 ออกเรื่องสะกดคำทุกปี และจากตัวอย่างข้อสอบของปีนี้ก็เลือกคำง่ายมาออกด้วย ถ้าข้อสอบจริงระดับความยากใกล้เคียงกับตัวอย่างที่ให้มา น้องๆ น่าจะเก็บคะแนนได้แน่นอน
จากตัวอย่างข้อนี้ต้องตอบ 1 กะเพาะปลา และทุพลภาพ
ที่บอกว่าเป็นคำง่ายเพราะเป็นคำที่เราเห็นผ่านตาบ่อยๆ อยู่แล้วนั่นเอง
รู้แล้วว่าข้อสอบง่ายแบบนี้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะอยู่สายไหน อย่าเทภาษาไทยเด็ดขาด เพราะวิชานี้ง่ายและเป็นตัวช่วยดึงคะแนนรวมขึ้นมา และช่วยให้น้องๆ ติดคณะในฝันได้
เจาะลึก Blueprint สังคม
เรื่องไหนที่ควรเน้น
- ศาสนามักจะออกตรงตัว เป็นความจำ และมีวิเคราะห์สถานการณ์อยู่บ้าง
- หน้าที่พลเมือง ซึ่งเนื้อหาจะประกอบไปด้วย สังคมวิทยา รัฐศาสตร์ และกฎหมาย ในส่วนของสังคมวิทยาจะเป็นส่วนที่ง่ายที่สุด วิเคราะห์ไม่ยาก แต่ส่วนของรัฐศาสตร์ และกฎหมาย เราต้องแม่นเนื้อหาในระดับนึงก่อน ถึงจะสามารถวิเคราะห์ได้
- เศรษฐศาสตร์ ก็จะวิเคราะห์หนักๆ เลยเช่นกัน แต่จะมีส่วนยากง่ายปนๆ กันไป ส่วนยากก็อย่างเช่น การหางบเกินดุล ขาดดุล ส่วนง่ายเลยก็เช่นพวก อุปสงค์ อุปทาน
- ประวัติศาสตร์ เนื้อหาจะเยอะมาก ซึ่งถ้าน้องๆ Grouping เนื้อหา เรียง Timeline เหตุการณ์ต่างๆ ว่าอันไหนเกิดก่อนเกิดหลัง จะช่วยน้องๆ ได้เยอะมากเลย
- ภูมิศาสตร์ ข้อสอบชอบออกพวกคำนวณมาตราส่วนในแผนที่ ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ องค์กรเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
ตัวอย่างข้อสอบสังคม วิชาสามัญ
ข้อนี้มี Keyword คือคำว่า นักเรียน = สถาบันการศึกษา, คุณยาย = สถาบันครอบครัว, ตักบาตร = สถาบันศาสนา การมองโจทย์แล้วเห็น Keyword แบบนี้ได้เลยนั่น น้องๆ ต้องผ่านการทำโจทย์บ่อยๆ และฝึกหา Keyword แบบนี้ซ้ำๆ มันจะช่วยให้น้องๆ ทำโจทย์ได้เร็วขึ้น และมีเวลาไปโฟกัสกับข้ออื่นๆ ได้มากขึ้นด้วย
น้องๆ ที่กำลังเตรียมตัวสอบ TCAS65 มีเวลาเตรียมตัวสอบเหลือน้อยลงทุกที และเนื้อหาก็ยากและเยอะมากๆ อย่างที่เห็น ถ้าไม่อยากเสียใจที่หลังตอนสอบไม่ติด หรือไม่ได้คะแนนตามเป้า ฮึดสู้ตอนนี้ยังทัน เลือกติวออนไลน์กับ Dek-D School เลย เพราะเราสอนตรงจุดที่ออกสอบแบบเน้นๆ ไม่นอกเรื่องให้เสียเวลา พร้อมคลังข้อสอบจัดเต็มเฉลยละเอียดทุกข้อพร้อมเทคนิคไม่มีกั๊กให้น้องๆ ได้ฝึกทำก่อนสอบจริง
อยากรู้ว่าติวกับ Dek-D School ดีกว่ายังไง ทดลองเรียนฟรีได้เลย 7 วิชา 7 หัวข้อ
ทดลองติวแล้วถูกใจ อยากสมัครเรียนเพิ่ม ปรึกษาพี่ๆ โค้ช Dek-D School ได้ที่ Line @SchoolDekD และอย่าลืมติดตามข้อมูลข่าวสาร และเทคนิคการติวต่างๆ เพิ่มเติม ได้ทาง Social media ของ Dek-D School เลย