HomeสอนลูกเขียนโปรแกรมวิทยาการคำนวณMindstorms หนังสือที่จุดประกายให้มีวิชาวิทยาการคำนวณ

Mindstorms หนังสือที่จุดประกายให้มีวิชาวิทยาการคำนวณ

รศ.ยืน ภู่วรวรรณ เป็นนักการศึกษาที่หัวก้าวหน้ามาก เพราะอาจารย์สนับสนุนให้เยาวชนได้เรียนเขียนโปรแกรม รวมทั้งทักษะในการคิดเชิงคำนวณมาตั้งแต่ราวๆ 40 ปี ที่แล้ว และในฐานะที่ปรึกษาของสสวท. อาจารย์เป็นกำลังสำคัญที่ทำให้วิชาวิทยาการคำนวณกลายเป็นวิชาพื้นฐานที่เด็กไทยทุกคนต้องเรียน

อาจารย์ได้เล่าถึงหนังสือเล่มหนึง ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการทำให้อาจารย์มีแนวคิดในการส่งเสริมให้เด็กไทยคิดเป็น แก้ปัญหาเป็น ผ่านทักษะการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า Mindstorms เขียนโดย   ซีมัวร์ พาเพิร์ท (Seymour Papert) มาติดตามกัน ว่าหนังสือเล่มนี้จะมีเนื้อหาน่าสนใจเพียงใด

Mindstorms หนังสือดีที่สร้างแรงบันดาลใจ

หนังสือชื่อ “Mindstorms” แต่งโดยนักวิทยาการคอมพิวเตอร์อเมริกันชื่อ ซีมัวร์ พาเพิร์ท เขียนมาตั้งแต่ปี 2523 เนื้อหาพูดถึงประโยชน์ในการสอนความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ให้เด็กระดับประถมและมัธยมต้น ซึ่งในช่วงเวลานั้นถือเป็นเรื่องใหม่และท้าทายสังคมอเมริกันค่อนข้างมาก

“Mindstorm พูดถึงเรื่องที่สำคัญมากเรื่องหนึ่งคือ mathophobia หมายถึงความกลัวคณิตศาสตร์ เขาตั้งข้อสังเกตว่าเด็กส่วนใหญ่กลัวคณิตศาสตร์ โดยมีสาเหตุมาจากการที่การเรียนการสอนคณิตศาสตร์นั้นไม่สนุก นอกจากนั้นยังทำเรื่องง่ายให้เป็นยาก จนทำให้เด็กเรียนคณิตศาสตร์ไม่รู้เรื่อง” อาจารย์ยืนเล่าถึงประเด็นแรกที่น่าสนใจอย่างยิ่งของหนังสือ ซึ่งในฐานะนักวิทยาศาสตร์และนักการศึกษา อาจารย์ยืนเห็นด้วยกับผู้แต่ง ที่ควรเปลี่ยนทัศนคติในเรื่องนี้ คือทำให้เด็กหันมามองการเรียนคณิตศาสตร์ในมุมใหม่

ในหนังสือ Mindstorm ได้อธิบายถึงเรื่อง mathophobia โดยอ้างทฤษฏีการเรียนรู้ของเพียเจต์ นักจิตวิทยาผู้มีชื่อเสียง โดยบอกว่าเด็กๆ นั้นเรียนรู้ได้เองโดยไม่ต้องสอน เช่น หัดพูดตามพ่อแม่หรือคนเลี้ยง เรียนรู้เรื่องรูปทรงต่างๆ จากชีวิตประจำวัน หรือแม้กระทั่งเรียนรู้เรื่องตัวเลขได้ตามธรรมชาติ ยกตัวอย่างในเรื่องของ “คู่” อย่างช้อนกับส้อม พ่อคู่กับแม่ ถุงเท้าคู่กับรองเท้า

แต่เมื่อความรู้เหล่านี้ถูกทำให้ซับซ้อน ยาก และมีความเป็นทางการในวิชาคณิตศาสตร์ กลับทำให้การเรียนรู้ของเด็กช้าลง นอกจากนั้น ยังเกิดจากวัฒนธรรมในสังคมที่มีทัศนคติต่อวิชาคณิตศาสตร์ว่าเป็นเรื่องยาก ทำให้วิชาใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวเลขหรือวิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องที่คนไม่อยากเรียนรู้ ด้วยเหตุผลทั้งสองเรื่องนี้เอง ที่เปลี่ยนให้เด็กน้อยที่พร้อมจะเรียนรู้โลกและสิ่งใหม่ๆ กลายเป็นเด็กที่เฉื่อยเฉยและขี้กลัวจากข้อจำกัดต่างๆ ในระบบการศึกษา

ไม่มีอะไรยากเกินสมองใฝ่รู้ของเด็ก

นอกจากหนังสือเล่มนี้จะพูดถึงเรื่องของทัศนคติของคนส่วนใหญ่ที่กลัวคณิตศาสตร์แล้ว ยังพูดถึงอีกหนึ่งประเด็นสำคัญ คือการสนับสนุนให้เด็กเริ่มเรียนรู้เรื่องคอมพิวเตอร์และการสร้างความคิดอันทรงพลัง ซึ่งแนวคิดนี้เองที่เป็นแรงบันดาลใจให้อาจารย์ยืนเริ่มต้นจัดค่ายการเรียนรู้ให้เด็กๆ ในทุกๆ เดือนเมษายนของทุกปี โดยฝึกการเขียนโปรแกรมเบื้องต้น จากรุ่นภาษาโลโก้จนพัฒนามาเรื่อยๆ สู่ความรู้เกี่ยวกับหุ่นยนต์ตามยุคสมัย ปัจจุบันอาจารย์ได้ผันตัวเป็นที่ปรึกษาและมีผู้ที่จัดกิจกรรมนี้ต่อเนื่องไป  

การเริ่มจัดค่ายครั้งแรกใช้ชื่อว่า “ค่ายทักษะ” เพราะเราเน้นในเรื่องของทักษะและวิธีการคิด ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “ค่ายเยาวชนสมองแก้ว” (crystal brain camp) เพราะว่าสมองของเด็กนั้นเหมือนคริสตัลที่มีแสงกระเจิงเพื่อที่จะแสวงหาหรือเรียนรู้ ถ้าเด็กสนใจหรืออยากเรียนรู้อะไรต่าง ๆ เขาจะเรียนรู้ได้เอง แต่ที่สำคัญอย่างมากคือ ต้องทำยังไงให้เขาจุดประกายความคิด และสามารถเรียนในสิ่งที่เขาอยากรู้ได้”

ค่ายเยาวชนสมองแก้วได้สร้าง “นักคิด” ที่ประสบความสำเร็จมากมายหลายรุ่น และพิสูจน์ให้เห็นว่าไม่มีอะไรที่ยากเกินไปสำหรับสมองของเด็กๆ ที่เป็นนักเรียนรู้ตามธรรมชาติ  ดังเช่นที่ซีมัวร์ พาร์เพิร์ท ได้เขียนไว้ในหนังสือ Mindstorms ว่า

“เมื่อใดก็ตามที่คนในสังคมมีมุมมองที่ถูกต้องในการเขียนโปรแกรม มันจะไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจเลยที่จะให้เด็กเรียนรู้เรื่องนี้ เพราะการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์มันก็คือการสื่อสารนั่นเอง หมายความว่ามนุษย์สื่อสารกับคอมพิวเตอร์ด้วยภาษาที่ต่างฝ่ายต่างเข้าใจซึ่งกันและกัน และสำหรับเด็กๆ แล้ว การเรียนรู้ภาษาใหม่ๆ เป็นเรื่องที่พวกเขาทำได้ดีที่สุด เด็กทุกคนเกิดมาและพร้อมเรียนรู้ที่จะพูด แล้วทำไมเราไม่เปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้ที่จะ “พูด” กับคอมพิวเตอร์ล่ะ”

เป็นเรื่องน่ามหัศจรรย์ที่แนวคิดในหนังสือที่เขียนไว้เกือบสี่สิบปีที่แล้ว แต่ยังคงทันสมัยและเป็นแรงบันดาลใจให้นักวิชาการจากรุ่นสู่รุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมมติฐานสองเรื่องที่หนังสือเล่มนี้ได้ตั้งไว้ คือความกลัวคณิตศาสตร์หรือวิชาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวเลขสามารถแก้ไขได้ และการปล่อยให้เด็กได้เรียนรู้ภาษาโปรแกรมอย่างเป็นธรรมชาติเป็นเรื่องที่เด็กทุกคนทำได้ ทั้งสองสมมติฐานนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นเรื่องจริง ดังที่ รศ.ยืน ภู่วรวรรณ ได้ลงมือทำอย่างต่อเนื่องมาเป็นสิบๆ ปี จนสามารถวางรากฐานให้การเรียนเขียนโปรแกรมในวิชาวิทยาการคำนวณ เป็นหนึ่งในวิชาพื้นฐานที่เด็กไทยทุกคนต้องเรียนได้สำเร็จในปัจจุบัน

ขอขอบพระคุณ : รศ.ยืน ภู่วรวรรณ

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular

Recent Comments