ในทางวิชาการ การแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ ถือได้ว่าเป็นเส้นทางในฝันของใครหลายๆ คน แต่จะมายืนตรงนี้ จะต้องพิสูจน์ทั้งความรู้ ความสามารถ และความอดทนค่ะ วันนี้จะพาน้องๆ ไปทำความรู้จักกับค่าย สอวน. และเส้นทางสู่เด็กโอลิมปิกวิชาการ จากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญและคลุกคลีอยู่ในแวดวงโอลิมปิก
ค่าย สอวน. คืออะไร
สอวน. หรือ มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ค่ายนี้เป็นเสมือนประตูสู่การสอบแข่งขันโอลิมปิกวิชาการทั้งในระดับชาติและนานาชาติ
โดยการสอบแข่งขันจะมีวิชา เคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ดาราศาสตร์ และภูมิศาสตร์ สำหรับน้องๆ ที่สนใจ ค่าย สอวน. ปีนี้กำลังเปิดรับสมัครอยู่จนถึงเดือนกรกฎาคม จากนั้น น้องๆ จะเริ่มสอบพร้อมกันในเดือนกันยายน 64 น้องๆ สามารถอ่านรายละเอียดกำหนดการเพิ่มเติม
สอบเข้าค่าย สอวน. ต้องเตรียมตัวอย่างไร
การจะเข้าสู่ค่าย สอวน. ได้ จะต้องมีการสอบแข่งขันเข้ามาก่อน ซึ่งทุกๆ ปี แต่ละสาขาจะมีผู้สมัครสอบนับหมื่นคน และมีศูนย์ สอวน. อยู่ทั่วประเทศ โดยข้อสอบ สอวน. จะเป็นข้อสอบที่ต้องใช้ความคิดและความเข้าใจมากกว่าข้อสอบในโรงเรียนหรือข้อสอบสอบเข้ามหาวิทยาลัย เนื่องจากเป็นการเตรียมตัวเพื่อไปสอบโอลิมปิก ข้อสอบจึงออกแบบมาเพื่อการเตรียมสู่การแข่งขันโอลิมปิกโดยเฉพาะ
ดังนั้น น้องๆ ที่มีความฝันอยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของค่าย สอวน. ต้องเตรียมตัวให้พร้อม หาเทคนิคพิชิตค่าย สอวน. ที่เหมาะกับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการทบทวนบทเรียน ฝึกทำโจทย์ต่างๆ โดยเฉพาะโจทย์ข้อสอบระดับชาติ ซึ่งส่วนมากแล้ว จะมีการเตรียมความพร้อมกันตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เพราะแต่ละสาขามีเงื่อนไขการรับสมัครที่ต่างกัน
- วิชาคณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ และดาราศาสตร์ เปิดสอบสำหรับน้องๆ ม.1 – ม.5
- วิชาเคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์ และภูมิศาสตร์ เปิดสอบสำหรับน้องๆ ม.3 – ม.5
จากเด็กค่ายจะโกอินเตอร์ ไปแข่งขันโอลิมปิกนานาชาติได้อย่างไร
ประเทศไทยได้ส่งเยาวชนเข้าร่วมโอลิมปิกวิชาการมาตั้งแต่ปี 2532 มีหน่วยงานที่เป็นผู้คัดเลือกร่วมกัน 2 หน่วยงาน คือ มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
กว่าจะไปถึงขั้นระดับแข่งขันโอลิมปิกนานาชาติ หรือ โอลิมปิกระหว่างประเทศ น้องๆ จะต้องผ่านทั้งหมด 3 ค่าย โดยแบ่งเป็น สอวน. 2 ค่าย และ สสวท. อีก 1 ค่ายเป็นค่ายสุดท้าย
ซึ่ง อาจารย์กิ๊ฟ ผศ.ดร.วิทวัชร์ โฆษิตวัฒนฤกษ์ ได้อธิบายเสริมว่า สำหรับ สอวน. ที่แบ่งเป็น 2 ค่ายนั้น ในปลายเดือนสิงหาคมของทุกๆ ปี สอวน. จะจัดสอบแข่งขันและคัดเลือกไปอบรมในค่ายที่เรียกว่า “สอวน. ค่าย 1” ในศูนย์ย่อยทั่วประเทศที่น้องๆ ได้เลือกไว้ เนื้อหาที่เรียนในค่ายก็จะลึกกว่าที่ได้เรียนในห้องเรียน และมีบุคลากรจากมหาวิทยาลัยต่างๆ มาช่วยกันติว ทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติ เมื่อเรียนจบค่าย 1 ก็จะมีการสอบเกิดขึ้นเพื่อไปสู่ “สอวน. ค่าย 2” เนื้อหาที่ได้เรียนก็จะลึกขึ้นกว่าเดิม หลังจากที่น้องๆ ผ่านการสอบคัดเลือกค่าย 2 แล้ว ก็จะเป็นตัวแทนศูนย์เพื่อไปแข่งขันกับเพื่อนๆ ศูนย์อื่นจากทั่วประเทศ เรียกว่าการแข่งขันโอลิมปิกระดับชาติ
เมื่อเข้ามาถึงขั้นแข่งขันโอลิมปิกระดับชาติแล้ว จะคัดคนออกอีกเพื่อไปค่ายสุดท้ายคือ ค่ายของ สสวท. ซึ่งเป็นค่าย 3 เป็นค่ายที่ยากที่สุด ข้อสอบโหดที่สุด เพื่อคัดคนเหลือแค่ 4 คน เป็นตัวแทนประเทศ ในการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการสาขาต่างๆ
เป็นเด็กค่าย สอวน. แล้วได้อะไร
อาจารย์เต้ ผศ.ดร.โรจน์ฤทธิ์ โรจนธเนศ เล่าว่า ถ้าน้องๆ ได้เข้ามาเป็นเด็กค่าย สอวน. แล้วสิ่งที่น้องๆ จะได้รับกลับไปนั้นมีคุณค่าและคุ้มค่ามาก เมื่อเทียบกับความตั้งใจที่ได้ทุ่มเทลงไป อย่างแรก เมื่อน้องๆ สอบผ่านการคัดเลือกเข้าสู่ค่าย สอวน. แล้ว เราจะได้มีโอกาสเรียนวิชาการต่างๆ ในระดับที่ลึกขึ้นจากอาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ นอกจากนั้นก็มีโอกาสได้ทำแล็บจริงๆ ด้วย
ถ้าน้องได้ผ่านค่ายทั้ง 2 เรียบร้อยแล้ว เราก็จะมีสิทธิ์สอบโอลิมปิกระดับชาติ ซึ่งเหรียญของโอลิมปิกระดับชาติจะเป็นโควตาที่จะทำให้น้องๆ สามารถเข้ามหาวิทยาลัยได้โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นคณะวิทยาศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยไม่ต้องผ่านการคัดเลือกด้วยวิธีปกติ แต่ถ้าน้องๆ ไปได้ไกลกว่านั้น ได้เหรียญโอลิมปิกระดับนานาชาติแล้ว มหาวิทยาลัยชั้นนำในโลก ไม่ว่าจะเป็นแสตนฟอร์ด MIT หรือประเทศอื่นๆ ก็จะเข้าสู่มหาวิทยาลัยต่างๆ เหล่านี้ได้ง่ายขึ้น เหนือสิ่งอื่นใด ถ้าน้องได้เข้าค่าย สอวน. แล้ว ก็จะได้สนุกไปกับมัน และได้ประสบการณ์ที่ในโรงเรียนให้น้องไม่ได้
ถ้าน้องๆ ยังอยากรู้ว่าเป็นเด็กค่าย สอวน. ได้อะไรมากกว่าที่คิดอีกบ้าง อ่านบทความเลย
เป็นอย่างไรบ้างคะ บอกแล้วว่าค่าย สอวน. เป็นค่ายที่ปลุกพลังด้านวิชาตัวจริงเสียงจริง แม้เป้าหมายสูงสุดของน้องๆ ที่เข้าค่ายนี้คือ การแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับชาติ หรือเป็นตัวแทนประเทศไปแข่งขันในโอลิมปิกวิชาการระดับนานาชาติ แต่แค่น้องๆ ได้เข้ามาค่ายนี้ ก็จะได้รับความรู้ในสายวิทยาศาสตร์ที่หาไม่ได้จากหลักสูตรโรงเรียนทั่วไปค่ะ ดังนั้น น้องๆ ที่ฝันอยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของค่าย ก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อม ฝึกทำข้อสอบทุกวัน และทำข้อสอบให้เต็มที่ หากพยายามมากพอ “ค่าย 1” อยู่ไม่ไกลแน่นอนค่ะ สำหรับน้องๆ ที่ไม่รู้จะเริ่มยังไงดี พี่มีบทความ เทคนิคพิชิตค่าย สอวน. มาแนะนำ น้องๆ ลองเก็บเทคนิคแล้วปรับใช้ดูนะคะ
ส่วนน้องๆ คนไหนที่สนใจอยากติวออนไลน์เพื่อสอบ สอวน. ตอนนี้ Dek-D School เปิดติว คอร์สพิชิต สอวน. 3 วิชา ได้แก่ คณิต เคมี และฟิสิกส์ คอร์สนี้สอนโดยอาจารย์ตัวจริงของวงการโอลิมปิกไทย อดีตตัวแทนประเทศไทยคว้าเหรียญระดับนานาชาติกว่า 3 สมัย ปิดจุดอ่อน เสริมจุดแข็งผ่านการทำความเข้าใจเนื้อหา ที่มาของสูตร และนำมาประยุกต์ใช้ผ่านการทำโจทย์ที่หลากหลาย ที่สำคัญที่สุดแม้ว่าจะเป็นการเรียนออนไลน์ แต่น้องๆ ทุกคนสามารถสอบถามข้อสงสัยกับอาจารย์ผู้สอนได้ สนใจคอร์สไหนคลิกที่รูปเพื่อดูรายละเอียดได้เลยค่ะ
ติดตามข่าวสารสำหรับการสอบ สอวน. เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของ มูลนิธิ สอวน. หรือ FB : Dek-D School และน้องๆ สามารถวางแผนเตรียมสอบ สอวน. กับ พี่ๆ Dek-D School ได้ฟรี! ที่ line @schooldekd เลย พี่ๆ ทีมงานยินดีให้คำปรึกษาน้องๆ ทุกคน
น้องๆ ที่ยังลังเลสามารถทดลองเรียนคอร์สติวออนไลน์พิชิต สอวน. ครบทั้ง 3 วิชา คณิต เคมี และฟิสิกส์ ได้ด้วยตัวเอง คลิกเลย