HomeCoachDDHow to สอบติดรอบพอร์ต + เทคนิคเตรียมสอบ นิเทศศาสตร์ สื่อสารการแสดง จุฬาฯ

How to สอบติดรอบพอร์ต + เทคนิคเตรียมสอบ นิเทศศาสตร์ สื่อสารการแสดง จุฬาฯ

โค้งสุดท้ายสำหรับการเตรียมสอบ TCAS แล้ว มีน้องๆ คนไหนที่เตรียมตัวสอบ TCAS ไปพร้อมๆ กับการจัดเตรียมผลงานเพื่อสมัครสอบในรอบพอร์ตบ้าง? วันนี้พี่แบมแบม ที่ให้คำปรึกษาน้องๆ ที่ COACH DD รุ่นพี่จากนิเทศ จุฬาฯ ที่ สอบติดรอบพอร์ต จะมาแชร์ทริคการทำพอร์ตให้สอบติดพร้อมๆ กับการเตรียมสอบ TCAS รอบ 3 ไปด้วย  พี่แบมแบมเตรียมตัวยังไงบ้างไปติดตามได้เลยค่ะ

ก่อนอื่นให้น้องแนะนำตัวหน่อยค่ะ

สวัสดีค่า แบมแบม ธารน้ำทิพย์ กิตติพจน์พงศ์ นะคะ จบชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สายการเรียนภาษา-ภาษาเกาหลี ปัจจุบันเรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาสื่อสารการแสดง ค่ะ

ตั้งเป้าอยากเข้า สื่อสารการแสดง (PA) นิเทศ จุฬาฯ

เรารู้ตัวว่าอยากเข้านิเทศจุฬาฯ มาตั้งแต่เนิ่นๆ แล้ว เพราะไลฟ์สไตล์กับสิ่งที่เราชอบค่อนข้างคลุกคลีกับศิลปะการแสดง การใช้สื่อ พอตั้งเป้าหมายแล้วว่าจะเข้าที่นี่แน่ๆ เราก็เริ่มเตรียมตัวสอบเข้ามาตั้งแต่ม.5 ไม่เคยคิดเลยว่าจะเข้ามหาวิทยาลัยด้วยพอร์ตโฟลิโอ แต่พอมีประกาศออกมาแบบเป็นทางการว่า ปี 65 นิเทศจุฬาฯ เปิดให้ยื่นพอร์ตเข้า TCAS รอบ 1 ของ PA ซึ่งเป็นเอกที่เราสนใจพอดีเป็นปีแรก เราก็อยากจะลองสักตั้ง ถือว่าเราเพิ่มความเป็นไปได้ที่จะติดให้มันมากขึ้นอีก

สอบติดรอบพอร์ต PA นิเทศ จุฬาฯ รุ่นแรก เตรียมตัวยังไงบ้าง?

ตอนเตรียมตัวต้องบอกว่าค่อนข้างหนักใจเลยค่ะเพราะตอนที่ประกาศรับสมัครออกมาเป็นช่วงเวลาที่กระชั้นชิดมากๆ แล้ว อีกไม่กี่เดือนก็จะต้องส่งพอร์ต และอีกไม่กี่เดือนต่อมาก็ต้องสอบ TCAS รอบ 3 เราต้องแบกรับความเสี่ยงทั้งรอบ 1 และรอบ 3 เพราะเราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทำได้แค่เตรียมตัวให้พร้อมกับทุกอย่างที่เข้ามา

สำหรับการเตรียมตัว เราเริ่มหาข้อมูลทันทีที่ตัดสินใจได้ว่าจะส่งพอร์ต เรามีเวลาอีกแค่ 3 เดือน (ประกาศรับสมัครเดือนก.ย. หมดเขตส่งเดือนธ.ค.) ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ เพราะเราไม่เคยเตรียมพอร์ตเอาไว้เลย ตอนที่ยังไม่มีเอกสารประกาศรับสมัครทางการว่าต้องใช้อะไรบ้าง เราก็ลิสต์ผลงานไว้รอ คัดแยกไฟล์งาน รูป ฟุตเทจต่างๆ ไว้เป็นหมวดหมู่ว่าเรามีอะไรในมือที่พอจะใส่ลงไปในพอร์ตได้บ้าง แต่ละงานเกี่ยวข้องกับสาขายังไง ต้องเพิ่มอะไรอีก ยิ่งเป็นรุ่นแรก หลายๆ อย่างต้องกรุยทางเองทั้งหมด ไม่มีพอร์ตตัวอย่างให้ดูเลย มีไปดูพอร์ตของพี่ๆ สาขาอื่นๆ ที่มีอยู่แล้วมาบ้าง แต่มันก็แทนกันไม่ได้เพราะสิ่งที่กรรมการต้องการไม่เหมือนกัน พอประกาศรับสมัครอย่างเป็นทางการออกมา ในนั้นจะมีรายละเอียดต่างๆ ที่จำเป็นต้องมีในพอร์ตบอกไว้หมด พวกเอกสาร, ผลงานเก่า-บังคับสร้างขึ้นใหม่, ระยะเวลาการรับสมัคร เกณฑ์การให้คะแนนแต่ละส่วน ทั้งตัวเล่มพอร์ต, solo performance และรอบสัมภาษณ์ เราก็มานั่งอ่านทำความเข้าใจ ไฮไลต์ ตีโจทย์ให้แตก แล้วก็เริ่มลงมือทำตัวเล่มพอร์ต กับส่วนที่เป็น solo performance มันเป็นงานที่เราต้อง craft ขึ้นมาใหม่ เราเลยให้เวลากับตัวเองไปเรื่อยๆ ลองตีโจทย์ ลองเสพผลงานอื่นๆ เพิ่มพูนไอเดีย ปรึกษาคนรอบข้างบ้างให้เห็นมุมใหม่ๆ งานนี้เราทำแล้วก็โละทิ้งทำใหม่ก่อนหมดเขตส่งไม่นาน เป็นอะไรที่เสี่ยง แต่ไม่อยาก force เอาไอเดียที่มันเร่งๆ ตื้นๆ ไปส่ง เลยเน้นเอาผลงานที่เราชอบ พอใจที่สุดดีกว่า

เคล็ดลับสำคัญในการยื่นรอบพอร์ตเข้า PA นิเทศ จุฬาฯ ให้เข้าตากรรมการ

พี่แบมแบม สอบติดรอบพอร์ต

เราถือคติว่าถ้าเราไม่ชอบผลงานตัวเองแล้วใครจะชอบ 555 เลยทำพอร์ตแบบที่ตัวเองจะชอบที่สุดคิดซะว่างานนี้ก็งานของเราเอง พวกรูปแบบเราจะทำแบบไหนก็ได้ตามชอบ ตามถนัด พอมันดีไซน์จากความเป็นตัวเอง มันจะไม่ซ้ำใคร ถึงอิสระแต่ก็ไม่ลืมเกณฑ์การรับสมัครควบคู่ไปด้วย ขนาด canvas ขนาดฟอนต์ ต้องเขียนวันที่อะไรยังไง ส่วนตัวเราเป็นคนค่อนข้างละเอียด อะไรที่ทางคณะกำหนดมาให้เราจะไม่ลืมเด็ดขาด อีกสิ่งที่เราเห็นว่าสำคัญและไม่ควรมองข้ามเลยคือ การสะกดคำให้ถูกต้องและการจัดวาง layout ให้น่าอ่าน การที่เราใส่ใจกับอะไรเล็กๆ น้อยก็เพิ่มเสน่ห์ให้งานของเราได้เหมือนกันและสองอย่างนี้ก็เป็น skill ที่สำคัญกับนิเทศศาสตร์เหมือนกัน เราเป็นนักสื่อสารก็ต้องรู้จักวิธีการออกแบบสื่อที่ถูกต้องและเหมาะสมกับผู้รับสารด้วย ส่วนตัวเนื้อหาด้านในเล่มที่เป็นผลงาน กิจกรรมต่างๆ ในประกาศรับสมัครจะมีบอกว่าต้องการผลงานประเภทไหนบ้าง ย้อนหลังกี่ปี ของเราและของน้องๆ ปีล่าสุดก็มีความแตกต่างกันนิดหน่อย แนะนำให้พิจารณาจากสัดส่วนคะแนนและประกาศรับสมัครที่อัปเดตในปีนั้นๆ ดีกว่าค่ะ

PA นิเทศ จุฬาฯ อัตราการแข่งขันสูงไหม

รอบพอร์ต PA นิเทศจุฬาฯ ปีแรกของเรามีผู้สมัคร 384 คน (อ้างอิงจากเพจ Performing arts Chula) มีสิทธิสัมภาษณ์ 15 คน จำนวนรับ 10 คน เรียกว่าอัตราการแข่งขันค่อนข้างสูงเลยค่ะ

สอบติดรอบพอร์ตจำเป็นไหมต้องมีรางวัลจากการแข่งขันเยอะๆ

ส่วนตัวเราคิดว่าไม่จำเป็นนะคะเพียงแต่ต้องมีจุดขายของตัวเอง เรามองว่าทุกคนมี condition ไม่เหมือนกัน โอกาสในการทำกิจกรรมต่างๆ ก็ไม่เท่ากันอยู่แล้ว เราเองก็เป็นหนึ่งในคนที่ไม่ได้มีโอกาสไปแข่งขันมากนักเลยลองหาจุดขายของตัวเอง พอหาเจอก็ตั้งใจเขียนชูสิ่งนั้นให้กรรมการเห็นว่า สิ่งที่เรามีอยู่มันดียังไง ทำให้สิ่งที่เรามีไม่เท่าคนอื่นมันโดดเด่น และแสดงความเป็นตัวเราให้ได้ ดังนั้นถ้าไม่ได้มีผลงานที่ได้รับรางวัลมากมายก็ยังมีโอกาสติดอยู่นะคะ

แชร์เทคนิคการสัมภาษณ์ให้โดนใจกรรมการ

พี่แบมแบม สอบติดรอบพอร์ต

เรื่องเทคนิคเราว่าอาจจะต้องดูสไตล์การพูดของแต่ละคนค่ะ อย่างเราไม่ค่อยถนัดด้นสด แน่นอน เรามีคำตอบในใจอยู่แล้วแต่ถ้าไม่เรียบเรียงก่อนแล้วพูดไปเลย มันจะรวนและไม่รู้เรื่อง 555 เราเลยคิดวิธีที่เหมาะกับเราคือการลิสต์ทุกคำถามที่จะเป็นไปได้เอาไว้ก่อน อย่างน้อยเราก็ได้เตรียมตัวตอบตัวเองก่อนว่าเราคิดยังไงก่อนจะไปตอบให้กรรมการฟัง เรื่องคำถามก็จะเป็นคำถามทั่วๆ ไปในการสอบสัมภาษณ์ ในประกาศรับสมัครระบุไว้แล้วว่าจะมีคำถามหมวดอะไรบ้าง เท่าที่แลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ รอบพอร์ตมา แต่ละคนก็มีน้ำหนักของประเภทคำถามแตกต่างกัน เราเห็นตรงกันว่ามันขึ้นอยู่กับพอร์ตของเราและสิ่งที่เราตอบไปก่อนหน้า อาจารย์มักจะถามอะไรที่มันเกี่ยวกับตัวเรานั่นแหละ แล้วค่อยๆ ลงรายละเอียดต่อยอดไปเรื่อยๆ ถ้าเรารู้จักตัวเอง รู้จักผลงานตัวเอง ก็ไม่มีอะไรต้องกลัว ถ้าอยากตอบเรื่องที่ไม่เคยรู้ให้ได้ก็ต้องเตรียมข้อมูลมาดีๆ อย่างจริยธรรมสื่อนี่อาจจะไกลตัวนิดหน่อยสำหรับเราที่ยังเป็นเด็กม.6 เราอยากให้ทุกคนที่จะไปสัมภาษณ์อะไรก็ตาม กล้าที่จะบอกว่า ‘ไม่รู้’ แล้วแสดงความจริงใจว่าเราอยากจะเรียนรู้เรื่องนี้จากกรรมการ ดีกว่าตอบมั่วๆ แล้วมันไม่ถูกต้อง เราว่าคีย์เวิร์ดสำหรับรอบสัมภาษณ์ก็คือ ตอบตัวเองให้ได้มากที่สุด นี่แหละ

ทำไมน้องแบมแบมถึงเตรียมสอบรอบ 3 ไปพร้อมๆ กับรอบพอร์ต

ถึงรอบพอร์ตจะเป็นโอกาสที่เพิ่มขึ้นแต่มันก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ ทำได้แค่เตรียมตัวให้พร้อมกับทุกอย่าง ก็เลยเลือกที่จะเตรียมรอบ 1 กับ 3 ไปพร้อมๆ กันค่ะ เราวางนิเทศฯ จุฬาฯ ไว้อันดับหนึ่ง ต้องใช้คะแนน GAT ไทย-อังกฤษ กับ PAT7 (เลือก PAT7.3) แล้วก็มีสำรองวารสาร มธ. กับอักษรฯ จุฬาฯ ไว้ เลยต้องสอบวิชาสามัญ ไทย-อังกฤษ-สังคมด้วย แต่สารภาพตามตรงว่าเราไม่คิดจะให้มันไปถึงคณะอันดับ 2-3 เลย จังหวะนั้นคือนิเทศจุฬาฯ เท่านั้น ก็เลยค่อนข้างเน้น GAT PAT กับรอบพอร์ตเป็นหลักค่ะ แพลนตอนนั้นก็คือช่วงเดือน ก.ย. – ธ.ค. จะให้เวลาหนักไปที่รอบพอร์ตก่อน เพราะเราติวสอบรอบ 3 มาตั้งแต่ม.5 แล้ว เลยสบายใจได้เปราะหนึ่ง เน้นทบทวนเรื่อยๆ กันลืม แล้วค่อยไปเริ่มติวหนักๆ อีกทีหลังจากส่งพอร์ตเสร็จช่วงสิ้นปีเลย

แชร์ประสบการณ์เตรียมตัวสอบ TCAS รอบ 3 ทั้ง PAT7.7, 7.3(ภาษาเกาหลี,ญี่ปุ่น) GAT (ไทย-อังกฤษ)

กับภาษาเกาหลีเราเรียนที่โรงเรียนทุกวันอยู่แล้วพื้นฐานเลยค่อนข้างแน่นพอสมควร ไม่น่าเป็นห่วงเท่าไรค่ะ ก็มีลงคอร์สติว PAT7.7 ไว้ให้สบายใจก่อน แต่หลักๆ ที่เรียนเพิ่มก็คือภาษาญี่ปุ่นค่ะ (ก่อนปี 65 นิเทศจุฬาฯ ยังไม่เปิดรับ PAT7.7) เราพอมีพื้นฐานภาษาญี่ปุ่นอยู่บ้าง แต่ค่อนข้างเลือนรางพอสมควร ก็เลยมีเรียนติว PAT7.3 กับรุ่นพี่ติวเตอร์ทุกสัปดาห์ค่ะ ท่องศัพท์ คันจิ เน้นดูสื่ออะไรให้เราจดจำไว้ช่วยในพาร์ทวัฒนธรรมด้วยกับภาษาญี่ปุ่นจะค่อนข้างเคี่ยวหน่อยเพราะยากกว่าภาษาเกาหลีเยอะเลย ส่วน GAT ไทย เราเรียนจากคลิปอ.ขลุ่ยให้พอรู้วิธีทำแล้วก็มาทำแบบฝึกหัดเองเรื่อยๆ และ GAT ภาษาอังกฤษ มีลงคอร์สเตรียมสอบไว้บ้าง แต่ก็เน้นทำโจทย์ ท่องศัพท์วนๆ ไปให้สม่ำเสมอค่ะ

ทำไมถึงเรียนทั้งภาษาญี่ปุ่นและเกาหลี

ท้าวความก่อนว่าปีก่อนๆ นิเทศจุฬาฯ ยังไม่เปิดรับ PAT7.7 เราที่เรียนสายการเรียนภาษา-ภาษาเกาหลีก็เลยต้องหาตัวเลือกอื่นค่ะ ตัวเราพอมีพื้นฐานภาษาญี่ปุ่นอยู่บ้าง เลยตัดสินใจเรียน PAT7.3 เพื่อการสอบเข้ามหาวิทยาลัยไปเลย และก็ติว PAT7.3 เรื่อยๆ มาตั้งแต่ม.5 แต่พอเข้าช่วงใกล้สอบที่แต่ละมหาวิทยาลัยประกาศเกณฑ์การรับสมัครรอบ 3 นิเทศจุฬาฯ ก็ดันเปิดรับ PAT7.7 ในปีนั้น เรากังวลมากว่าเราจะทำอะไรได้ดีกว่ากัน ระหว่างภาษาญี่ปุ่นที่ติวมาตลอดแต่ไม่ค่อยมั่นใจเท่าไร กับภาษาเกาหลีที่คุ้นเคยมากกว่าแต่ก็ไม่ได้ติวมาเยอะเท่าคนที่เขาติว PAT7.7 อยู่แล้ว ลังเลอยู่นานพอสมควรค่ะ แต่สุดท้ายก็เลือกสมัครสอบ PAT7.7 เพราะพอทบทวนกับตัวเองแล้ว ก็พบว่าไม่ได้แฮปปี้กับการเรียนภาษาญี่ปุ่นเท่าไร ตอนนั้นก็นึกถึงความเป็นไปได้ในหัวก่อนว่า สมมติว่าอกหักจากรอบพอร์ตมาคิดว่าพื้นฐานภาษาเกาหลีที่มีในเวลาสั้นๆ ถ้าเราอัดคอร์สติวเพิ่มเติมก็น่าจะพอ boost คะแนนสูงๆ ได้อยู่ ภาษาเกาหลีสำหรับเราเรียนแล้วไม่เครียดเท่าตอนเรียนภาษาญี่ปุ่นด้วย จากเรื่องวุ่นวายนี้สรุปกลายๆ ได้ว่าเราเรียน 2 ภาษาพร้อมกัน ถามว่ายากไหมก็ยากค่ะ มีช่วงที่สับสนอยู่ประมาณนึง แต่พอจับจุดได้ว่าอะไรที่เหมือนและต่าง ไม่เอามาปนกันก็เริ่มไปด้วยกันได้มากขึ้นค่ะ เพราะแกรมม่า คำศัพท์ หลายๆ อย่างของภาษาญี่ปุ่นกับเกาหลีค่อนข้างคล้ายกันเลย

หลักสูตรของนิเทศจุฬา เป็นยังไง แต่ละปีเรียนอะไรบ้าง?

ก่อนอื่นต้องบอกว่าตั้งแต่ปีการศึกษา 66 เป็นต้นไป จะเริ่มใช้หลักสูตรพ.ศ. 2566 ซึ่งก็มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ทั้งวิชา การเลือกเรียน เราเองก็ไม่ค่อยเชี่ยวชาญเท่าไร สามารถไปอ่านเล่ม ‘หลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต’ ทุกฉบับได้ทางเว็บไซต์ของคณะได้เลยนะคะ จะมีรายละเอียดวิชาในแต่ละปีเลยค่ะ  สำหรับหลักสูตรของนิเทศจุฬาฯ ที่รุ่นเราใช้จะเป็นหลักสูตรปี พ.ศ. 2561  ทุกคนจะได้เริ่มเรียนตามสาขาตอนปี 2 ดังนั้นในชั้นปีที่ 1 ก็จะเรียนเหมือนกัน เน้นพวกวิชาพื้นฐานของนิเทศศาสตร์ ปลูกฝังความเป็นนักสื่อสาร เช่น หลักการสื่อสารมวลชน จริยธรรมสื่อ การโฆษณาและการประชาสัมพันธ์เบื้องต้น ประมาณนี้ค่ะ พอขึ้นปี 2 ทุกคนได้เลือกสาขากันแล้ว สำหรับสาขา PA ก็จะค่อยๆ เริ่มตั้งแต่การรู้จักสื่อสารการแสดงเบื้องต้น การแสดงและฝึกฝนเสียง การสร้างสรรค์การแสดง การเขียนบทและวิเคราะห์บทการแสดง รวมถึงรายวิชาเลือกที่เจาะลึกในแขนงต่างๆ ของการแสดง เช่น ละครเพลง การเคลื่อนไหวร่างกายในการแสดง

บรรยากาศการเรียนที่นี่เป็นยังไง

เป็นคณะที่สบายๆ นะคะ หลายอย่างค่อนข้างยืดหยุ่น เช่น ไม่ต้องใส่ชุดนิสิตมาเรียน (แต่ต้องใส่มาสอบนะ) ส่วนการเรียนการสอนก็ไม่เครียดเลย อาจจะเพราะคณะเราสอบไม่เยอะเท่าคณะอื่นหรือเปล่า ส่วนใหญ่จะเก็บคะแนนจากส่งงาน โปรเจ็กต์ ปฏิบัติมากกว่าค่ะ เหมาะกับคนที่ไม่ชอบอ่านหนังสือเยอะๆ แบบเรา แทบทุกวิชาจะมีงานกลุ่ม มี discussion ค่อนข้างเยอะ เลยเหมือนเป็นพื้นที่เปิดโอกาสให้เราฝึกแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนไอเดียบ่อยๆ ส่วนตัวเรารู้สึกว่าเป็นคณะที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย กับอาจารย์ก็สามารถพูดคุย ปรึกษาได้ มีอะไรให้ช่วยเหลือก็ติดต่อได้ตลอด กับเพื่อน รุ่นพี่ รุ่นน้อง ถ้าชอบอะไรเหมือนๆ กัน ได้ทำงานด้วยกันก็จะสนิทกันมาก เฮฮา ไปไหนไปกันสุดๆ ค่ะ

มาดูเรื่องการฝึกงานกันบ้าง

ถ้าในหลักสูตรปี 2561 จะมีวิชาการฝึกงานวิชาชีพสื่อสารการแสดงซึ่งมีทั้งหมด 2 ตัวค่ะ สำหรับ Internship1 จะอยู่ในช่วงปี 3 เทอม 1 เป็นวิชาที่เน้นการค้นคว้าและนำเสนอเกี่ยวกับองค์กรที่เราสนใจเข้าร่วมฝึกงานก่อนค่ะ ส่วน Internship2 อยู่ในช่วงระหว่างปิดเทอมปี 3 ขึ้นปี 4 ตัวนี้แหละที่เราจะได้เข้าไปฝึกงานจริงๆ ในสายงานที่เกี่ยวข้องกับสาขาสื่อสารการแสดง ถ้าพูดถึงสายงาน สำหรับสาขาเราค่อนข้างเปิดกว้างมากๆ อย่างรุ่นพี่ๆ เราก็จะมีทั้งผู้ช่วย acting coach, ผู้ช่วยผู้กำกับ, Stage Crew, เขียนบท, Artist Relations จริงๆ สายงานก็ขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถเชื่อมโยงประสบการณ์สิ่งที่เรียนกับงานนั้นๆ ได้อย่างไรบ้าง

จบมาทำอาชีพอะไรได้บ้างคะ

สายงานของสื่อสารการแสดงค่อนข้างหลากหลายนะคะ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับการผลิตและการสร้างสรรค์ เป็นได้ตั้งแต่นักแสดง ผู้กำกับการแสดง ผู้ช่วยผู้กำกับ ฝ่ายคัดเลือกนักแสดง ครูฝึกการแสดง เขียนบท วิทยากรผู้สอนการแสดงสถาบันการศึกษา หรือถ้าใครชอบเกี่ยวกับการจัดการ จะไปทาง event organizer ก็ได้เช่นกันค่ะ เรามองว่าอาชีพที่ทำก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าจะต่อยอดสิ่งที่เรียนมาอย่างไรได้บ้าง

สิ่งที่อยากบอกน้องๆ ถ้าเข้าคณะนี้ต้องเตรียมตัวเจออะไรบ้าง?

พี่แบมแบม สอบติดรอบพอร์ต

อย่างที่บอกว่าคณะเราจะเน้นกิจกรรมค่อนข้างเยอะ เข้ามาปุ๊บจะมีหลายๆ อย่างเข้ามาให้เราได้ลองทำ ทั้งออกกอง ทำละครคณะ ชมรม  และอีกมากมาย เราก็เป็นอีกคนที่ทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ ค่อนข้างเยอะ บางครั้งก็เพลินจนรู้ตัวอีกทีก็ใกล้สอบแล้ว ดังนั้นสิ่งที่เราอยากจะบอกก็คือเตรียมตัวเตรียมใจไปลุยกับงาน กิจกรรมคณะ อะไรที่อยากทำ ทำแล้วสนุกก็ทำให้เต็มที่ แล้วก็อย่าลืมพักผ่อนและเตรียมตัวสำหรับการสอบด้วยนะคะ

สุดท้ายอยากให้ฝากถึงน้องๆ ที่อยากเข้าที่นี่หน่อยค่ะ

ช่วงเวลาที่ต้องคิดเรื่องมหาลัยเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่มากๆ ครั้งหนึ่ง ถ้าเราค้นหาสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เป็น passion ของเราเจอ ก็อยากให้ลุยให้เต็มที่ไปเลย ไม่ต้องเสียดายหรือเสียใจทีหลัง มั่นใจในตัวเองเข้าไว้ค่ะ สิ่งที่เราแนะนำอาจจะเป็นเทคนิคที่เหมาะกับเรา แต่เราเชื่อว่าแต่ละคนมีปัจจัยคนละแบบและมีวิธีการแตกต่างกัน หวังว่าทุกคนจะหาเส้นทางที่เหมาะกับตัวเองเจอนะคะ เป็นกำลังใจให้ทุกคนค่า


อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว พี่อยากให้น้องๆ ที่เตรียมสอบ TCAS อยู่ลองหาข้อมูลคณะที่ตัวเองอยากจะเข้าว่ามีรับสมัครรอบอื่นๆ ด้วยหรือไม่ เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการสอบให้กับน้องๆ หรือหากน้องๆ อยาก สอบติดรอบพอร์ต แต่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นทำพอร์ตยังไง หรืออยากได้เทคนิคการทำพอร์ตและการเตรียมตัวสอบจากพี่แบมแบมเพิ่มเติม อยากจะปรึกษากับพี่แบมแบมตัวต่อตัว สามารถมานัดวิดีโอคอลกับพี่แบมแบมได้เลย โดยน้องๆ สามารถจองคิวขอคำปรึกษาพี่แบมแบมได้ที่นี่ หรือค้นหาพี่คนอื่น ๆ ได้เลยที่ www.coachdd.app

www.coachdd.app เว็บไซต์วิดีโอคอลปรึกษารุ่นพี่เรื่องเรียน-สอบเข้ามหาวิทยาลัย อยู่ที่ไหนก็คุยได้ ใช้เพียงมือถือ คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต น้องๆ สามารถถามคำถามได้ไม่อั้น ได้คำตอบชัดเจน เจาะลึกแบบเรียลไทม์ และที่สำคัญสามารถเลือกรุ่นพี่ที่สนใจ เลือกเวลาที่สะดวก และเลือกแพ็กเกจที่ต้องการได้เลย

ทั้งนี้น้องๆ ยังสามารถติดตามสาระความรู้และข่าวสารสำหรับการสอบได้ที่ Facebook : CoachDD by Dek-D  หรือสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ฟรีที่ LINE Official Account: @coachdd

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular

Recent Comments