HomeCoachDDแชร์เทคนิคปั้นพอร์ตให้สอบติด รอบ1 วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มศว

แชร์เทคนิคปั้นพอร์ตให้สอบติด รอบ1 วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มศว

มีน้องคนไหนที่กำลังเล็งๆ อยากเข้ารอบพอร์ตที่ วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มศว บ้าง? วันนี้พี่แม็กซ์ รุ่นพี่ วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม เอกการผลิตภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล ปี 3 มศว ที่ให้คำแนะนำน้อง ๆ ที่ CoachDD จะมาแชร์ทริคในการทำพอร์ตให้สอบติด พี่แม็กซ์เริ่มต้นหาข้อมูลยังไงและเลือกใส่อะไรลงไปในพอร์ตบ้าง ไปติดตามได้เลยค่ะ

ก่อนอื่นให้น้องแม็กซ์แนะนำตัวได้เลยค่าาา

สวัสดีครับผมชื่อ แม็กซ์ อิมโมเนน ชื่อเล่นก็ชื่อ แม็กซ์ครับ ที่นามสกุลแปลกๆ ไม่ต้องตกใจไปครับ ผมเป็นลูกครึ่งไทย-ฟินแลนด์ครับ จบมัธยมปลายจากโรงเรียนสาธิตอุดมศึกษา จังหวัดชลุบรี สายศิลป์-คำนวณ ปัจจุบันเรียนอยู่ วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม เอกการผลิตภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล ปี 3 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ทำไมถึงเลือกสอบเข้า วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม

ต้องบอกก่อนครับว่าผมรู้ตัวเองมาตั้งแต่ ม.4 เลยว่าอยากเรียนต่อทางด้านสายนิเทศ ตอนแรกก็มีเล็งๆ ไว้หลายที่ แต่หนึ่งในสาเหตุที่ตกลงปลงใจเลือกเรียนที่วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม เพราะว่าที่นี่คือหลักสูตรสองภาษา (ก็คือเราจะเป็นคณะสายสื่อที่ได้เรียนรายวิชาภาษาอังกฤษด้วย) กับอีกอย่างคือที่นี่สามารถเลือกเอกได้ตั้งแต่สอบเข้าเลย เนื่องจากผมชอบการถ่ายและตัดต่อมาตั้งนานแล้ว เลยรู้สึกว่าอยากโฟกัสด้านนี้เป็นหลักเลย ผมจงเลือกเรียนสาขาการผลิตภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล มศว ครับ

“ในตอนหาข้อมูลเกี่ยวกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในระบบ TCAS ทำให้รู้ว่ามีรอบ 1 อยู่ ก็เลยมุ่งมาทางรอบ 1 ตั้งแต่ ม.4 เป็นต้นมา”

อยากยื่นพอร์ทต้องเริ่มต้นยังไงดี?  

ตอนนั้นคือผมไล่ดูคลิปเปิดพอร์ตรุ่นพี่ทุกคลิปใน Youtube ทุกช่องที่มี ไปจนถึงดูกัปตันของเด็กดีที่รีวิวการสอบเข้า เรียกได้ว่าคลิปไหนมีเนื้อหาเกี่ยวกับวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคมผมดูหมดเลยครับ และอีกอย่างคือตอนนั้นที่ผมหาข้อมูลเกี่ยวกับการสอบเข้าของวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม เอกการผลิตภาพยนตร์และสื่อดิจิตอลแรกๆ กำหนดการของรอบพอร์ตในปีนั้นยังไม่ออก ผมก็เลยใช้วิธีไปดูของปีที่แล้วจากนั้นก็ปั้นพอร์ตรอเลยครับ เพราะผมรู้สึกว่าถ้ารอทางม.ประกาศมันจะตรงกับช่วงที่โรงเรียนสอบกลางภาค กลัวจะไม่มีมีเวลาจนไม่สามารถเต็มที่กับอะไรได้เลย กับอีกอย่างผมรู้สึกว่าการทำพอร์ตเหมือนกับเขียนหนังสือเกี่ยวกับชีวิตเราช่วง ม.4-6 ถ้าเราทำตอนใกล้ๆ เราจะจมกับงานจนมองจนบกพร่องของพอร์ตเราไม่ได้เลย แต่ในทางกลับกันถ้าเราค่อยๆ ทำจนเสร็จ แล้วค่อยกลับมาดูมันจะทำให้เราเห็นข้อผิดพลาดของพอร์ตเรามากขึ้นด้วยครับ ถ้าถามว่าตั้งใจจะยื่นที่นี้ตั้งแต่แรกเลยมั้ย ตอบได้อย่างมั่นใจเลยว่าใช่ครับ มั่นใจตั้งแต่เข้าค่าย COSCI New Zeed (ค่ายที่จำลองว่าเราเป็นนิสิตใน COSCI 2 วัน 1 คืน ครับ) 

ค่าย COSCI New Zeed เป็นยังไง

Cosci New Zeed เป็นค่ายที่จัดปีละครั้ง โดยค่ายที่ให้เราจำลองการเป็นนักศึกษาของวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม ในเวลา 2 วัน 1 คืน จัดโดยวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม โดยในการเข้าค่ายนี้เราจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม การสร้างสรรค์นวัตกรรมและจะมีการแข่งกันคิด project สร้างนวัตกรรม เพื่อช่วยแก้ปัญหาสังคม โดยจะเป็นการแข่งกันในค่าย และมีการประกาศที่ 1-3 โดยจะต้องนำเสนอต่อหน้าอาจารย์ประจำนวัตกรรมสื่อสารสังคม ซึ่งการเข้าค่ายนี้มีประโยชน์สำหรับน้อง ๆ ที่อยากเข้าวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม แต่ยังไม่แน่ใจเรื่องเอก ซึ่งค่ายนี้จะช่วยให้รู้ว่าตัวเองเหมาะกับเอกไหนมากขึ้นด้วยครับ และที่สำคัญการเข้าค่ายนี้มีผลต่อพอร์ตด้วยครับ เพราะค่ายนี้จะมีใบประกาศให้หลังจบค่ายซึ่งนำมาใส่พอร์ตเพื่อเพิ่มผลงานได้ด้วยครับ

อยากเข้านิเทศที่ไหนให้ลองไปเข้าค่ายนิเทศที่สถาบันนั้นๆ จัดขึ้นก่อน

ในช่วง ม.5 ผมได้ลองไปเข้าค่ายนิเทศของหลายมหาวิทยาลัย เพราะรู้สึกว่าแค่อ่านรีวิวมันไม่พอ การไปเข้าค่ายของแต่ละมหาวิทยาลัยจะช่วยให้ผมได้เห็นถึงบรรยากาศการเรียน สังคม หรือแม้แต่รุ่นพี่ หรือบางครั้งก็ได้เรียน workshop สั้นๆ กับอาจาร์ยประจำคณะนั้นๆ อีกด้วย ซึ่งพอผมได้ไปเข้าค่าย COSCI New Zeed รุ่นที่ 4 (ซึ่งเป็นค่ายของวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม) ทุกคนเชื่อคำว่าถ้าเหยียบที่ไหนครั้งแรก แล้วรู้สึกว่าใช่จะติดมั้ยครับ 5555 ผมมั่นใจในตอนนั้นทันทีเลยว่าวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม คือที่ที่ผมอยากสอบเข้าเป็นที่แรกในตอนยื่นรอบพอร์ต และอีกอย่างคือผมเป็นคนที่ตั้งใจว่าอยู่แล้วว่า ถ้าจะเข้าคณะด้านนิเทศ ตั้งใจอยากจะเข้า คณะสายนิเทศอันดับต้นๆ ในประเทศให้ได้ต่อให้มันจะยากแค่ไหนก็ตาม ซึ่งในตอนนั้นถ้าพูดถึงคณะสายนิเทศในประเทศไทยวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคมก็คงเป็นหนึ่งในที่ลำดับต้นๆ อย่างแน่นอน

มาดูรายละเอียดการรับสมัครกันบ้าง

สำหรับสาขาการผลิตภาพยนตร์และสื่อดิจิทัลจะเปิดรับปีละ 2 รอบ คือรอบที่ 1 และ 2 โดยทั้งสองรอบจะรับรอบละ 15 คน (รวมเป็น 30 คน) อัตราการแข่งขันสูงมากกกกกกครับ สูงจนน่ากลัวเรียกได้ว่าอัตราการแข่งขันสูงเป็นอันดับต้นๆ ของมศวเองเลย หรือหากๆ น้องอยากเข้าไปดูสาขาและรายละเอียดการรับสมัครของนวัตกรรมสื่อสารสังคมสาขาต่างๆ สามารถเข้าไปดูได้ที่นี่ 

เตรียมตัวเก็บผลงานทำพอร์ตตั้งแต่ม.4

เตรียมตัวกับการทำพอร์ตมา 3 ปีเลยครับ ตั้งแต่ ม.4 (นานที่สุดเท่าที่จะเตรียมตัวได้เลยครับ) การเตรียมตัวอย่างแรกเลยก็คือการเข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานสายนิเทศทุกอย่างในโรงเรียนที่แสดงถึงความกล้าแสดงออก ความเป็นผู้นำ ความเสียสละ กิจกรรมที่เกี่ยวกับอะไรพวกนี้ผมทำหมด (เพราะในกำหนดการเขาเขียนว่าอยากได้เด็กที่มีคุณสมบัติแบบนี้) ตั้งแต่การมีจิตสาธารณะไปจนถึงการได้เป็นประธานนักเรียน ผมทำทั้งหมดจริงๆ ครับ นอกจากนั้นผมยังทำกิจกรรมนอกโรงเรียนพวกการแข่งศิลปหัตถกรรม (ต้องบอกก่อนว่าผมเรียนที่พัทยา ซึ่งแต่ละปีจะมีงานที่ทุกโรงเรียนในพัทยาจะส่งเด็กมาแข่งกันในแต่ละรายวิชาชื่อว่า ศิลปหัตถกรรม) ซึ่งพอมันมีแค่ปีละครั้งที่ผมจะสามารถเก็บผลงานทางสายนิเทศได้ ผมก็ทำอย่างเต็มที่ซึ่งผลออกมาคือได้รางวัลเหรียญเงิน 3 ปีซ้อน 

สรุปกิจกรรมที่ต้องทำไว้ใส่พอร์ตสไตล์พี่แม็กซ์

  • กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับคณะที่เราจะเข้าโดยตรง เช่น ถ้าจะเข้านิเทศก็ควรมีผลงานตัดต่อ ถ่ายคลิป
  • มีผลงานที่แสดงถึงความกล้าแสดงออก ความเป็นผู้นำ ความเสียสละ เช่น ประธานนักเรียน การเป็นพิธีกรโรงเรียน จิตอาสาโรงเรียน
  • งานอดิเรกที่โยงเข้ากับคณะได้ (ถ้าทำได้จะดีมาก) เช่น ถ้าเราเป็นคนชอบดูหนังแล้วอยากเข้าคณะด้านนิเทศก็สามารถเอาใส่พอร์ตได้เช่นกัน

ในพอร์ต 10 หน้าควรมีอะไรบ้าง

  • หน้าปก (หน้าที่ 1)
  • ประวัติส่วนตัว + ประวัติการศึกษา (หน้าที่ 2)
  • ผลงานที่ผ่านมา และเกียรติบัตร (หน้าที่ 3-9)
  • งานอดิเรกของตัวเอง (หน้าที่ 10)

แต่ที่สำคัญที่ทุกหน้าจะต้องมีเลยคือ ความเป็นตัวเอง และรายละเอียดของงานที่เราได้ทำ ให้เราลองจินตนาการว่าคนที่มาอ่านพอร์ตเราคือคนที่ไม่เคยรู้จักเรา จะเขียนยังไงให้เขาเข้าใจว่างานนี้สำคัญยังไงหรือเราได้เรียนรู้อะไร มีหลายครั้งที่มีน้องๆมาถามพี่เรื่องไม่มีผลงานยิ่งใหญ่เลย สำหรับพี่นะ การมีผลงานยิ่งใหญ่ หรือธรรมดา จะไม่มีผลเลย ถ้าเราเขียนอธิบายผลงานไม่ดี เพราะอาจารย์เขาไม่ได้พิจารณาจากความยิ่งใหญ่ของงานเพียงอย่างเดียว เขาพิจารณาสิ่งที่เขียนอธิบายลงไปด้วย

ยื่นพอร์ตเข้าเอกภาพยนตร์ควรมีผลงานอะไรที่โดดเด่นไหม

พี่แม็กซ์ วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มศว

หลักๆ แล้วหลายคนเข้าใจว่าเอกนี้ต้องมีผลงานยิ่งใหญ่หรือต้องมีผลงานระดับประเทศใหญ่โต แต่บอกตรงๆ ว่าเราในตอนนั้นมีแค่ผลงานในและนอกโรงเรียนที่ไม่เคยได้รางวัลยิ่งใหญ่อะไร แต่เราว่าสิ่งที่ต้องโดดเด่นกว่าผลงานในพอร์ตคือความเป็นตัวเราเองที่เราจะนำเสนอออกมาได้มากแค่ไหน ยกตัวอย่างเช่น เรารู้ตัวว่าในตอนนั้นอัตราการแข่งขันสูงมากและถ้าเอาผลงานสู้คงยาก แต่สิ่งเราเอาสู้คือความเป็นตัวเองที่ใส่เข้าไปในทุกรายละเอียดในทุกๆ หน้าของพอร์ตเรา เราไม่รู้หรอกว่าอาจาร์ยสังเกตไหมแต่ในฐานะคนทำมันก็เหมือนกับการใส่ easter egg ลงในไปหนังนั่นแหละ

สำหรับน้องๆ ที่อยากเข้าเอกอื่นๆ ใน COSCI จะแนะนำน้องยังไงดี

พอร์ตเอกการแสดงและการกำกับการแสดง เอกนี้หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าวิชาเขียนบทเป็นวิชาเอกของเอกแสดง ถ้าใครที่มาสายกำกับหรือชอบเขียนบทเราแนะนำเอกนี้ ใส่ผลงานการเขียนบทเข้าไป หรือผลงานการทำคลิปส่งคุณครูที่โรงเรียนไปก็ได้ เพราะเอกแสดงไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นดาราหรือต้องแสดงหน้ากล้องเสมอไป

พอร์ตเอกออกแบบเพื่องานภาพยนตร์ เอกนี้คือเอกที่เน้นการวาด ออกแบบ ที่เป็นแนวของตัวเองไม่ว่าจะเป็นการออกแบบชุด ฉาก หรือภาพวาดต่างๆ เราสามารถใส่เข้าไปในพอร์ตได้เลย แล้วแนะนำว่าถ้าใครอยากเข้าเอกนี้แล้วรู้สึกว่าผลงานไม่พอ ความพิเศษของเอกนี้ คือเราสามารถวาดผลงานใหม่แล้วใส่ลงไปในพอร์ตได้เลย

พอร์ตเอกการจัดการเพื่องานภาพยนตร์ เอกนี้คือเอกน้องใหม่ อาจไม่มีตัวอย่างให้ดูเยอะมาก แต่ที่แนะนำคือเอกนี้คือสายการจัดการกอง การประสานงาน การบริหารงบ ลองใส่ผลงานการทำเบื้องหลัง หรือการทำงบกองอะไรยังงี้ก็ใส่มาได้เลย 

แชร์ทริคสำคัญที่น้องแม็กเชื่อว่า ถ้าทำพอร์ตแบบนี้จะเข้าตากรรมการแน่นอน

พี่แม็กซ์ วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มศว

อย่างแรกเลยที่ต้องใส่คือการใส่คำอธิบายผลงานในพอร์ต หลายคนที่เราเห็นคือใส่แต่ชื่อผลงานกับใบประกาศ ซึ่งเราบอกเลยว่าน่าเสียดายมาก แนะนำให้ใส่ชื่อผลงานและอธิบายว่างานนี้คืออะไร ใครจัด เราได้รางวัลอะไร (แค่เข้าร่วมก็ใส่ได้) จากนั้นก็ใส่ใบประกาศหรือรูปประกอบ แนะนำว่าถ้าเป็นรูปหมู่ให้ซูมหน้าเราใหญ่ๆ เพราะกรรมการไม่เห็น 5555555 อย่างที่สองเลยคือใส่ความเป็นตัวเองมาเต็มที่ ถ้าเราเป็นคนจอยๆ ตลกๆ ก็สามารถทำพอร์ตออกมาแนวนั้นได้เช่นกัน พอร์ตไม่จำเป็นต้องออกแบบเป็นแนวทางการเสมอไป แต่เน้นความเป็นตัวเองไม่ว่าจะเป็นจากองค์ประกอบการตกแต่งหรือสีของพอร์ต อย่างที่สามคือพยายามโยงผลงานเราเข้ากับคณะที่เรียนให้ได้ การจะเข้าคณะนี้ไม่ได้แปลว่าต้องทำหนังมาอย่างเดียว แต่แนะนำให้น้องๆ ลองไปอ่านในหลักสูตรดูว่าเราจะได้เรียนวิชาอะไรบ้าง แล้วลองโยงผลงานเราเข้ากับวิชานั้นดูๆ จะทำให้พอร์ตของเราดูน่าสนใจขึ้นจริงๆ

มาถึงขั้นตอนการสัมภาษณ์บ้างต้องเตรียมตัวยังไงบ้างคะ 

อย่างแรกเลยคือ ดูคลิปที่เปิดประสบการณ์การสัมภาษณ์เยอะๆ เลย ไม่จำเป็นต้องเป็นของมหาวิทยาลัยนั้นๆ ก็ได้ เพราะตอนนั้นเรารู้สึกว่าอาจารย์ไม่น่าถามคำถามที่แตกต่างไปจากคำถามทั่วไปมาก แต่ถ้าให้ยกตัวอย่างคำถามคร่าวๆเลยคือ

  • ทำไมถึงอยากเรียนที่นี่?
  • รู้มั้ยว่าเอกนี้เรียนอะไรบ้าง?
  • ชอบทำหน้าที่อะไรในกองถ่าย?
  • ชอบดูหนังอะไร เพราะอะไร?

บอกเลยว่าคำถามพื้นๆ แบบนี้ จงฝึกตอบให้คล่อง (แบบไม่ใช่การมีบท เพราะอาจาร์ยดูออกแน่ๆ) ดึงความเป็นตัวเองออกมา ให้อาจารย์รู้จักเราให้ได้ใน 5-10 นาทีนี้ ท่องไว้เลยว่าอยากพูดอะไรในห้องสัมภาษณ์พูดให้หมด อย่าให้มีคำว่า “รู้งี้” ออกมาหลังจากออกจากห้องสัมภาษณ์ ถ้าคำถามไหนตอบไม่ได้บอกอาจารย์ตรงๆ ได้เลย เขาไม่ได้ต้องการเด็กที่สมบูรณ์แบบ แต่เขาต้องการเด็กที่เหมาะสมกับการเรียนคณะนี้

สุดท้ายอยากให้ฝากถึงน้องๆ ที่อยากเข้าที่นี่หน่อยค่ะ

พี่แม็กซ์ วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มศว

อย่าไปกลัวเรื่องอัตราการแข่งขัน เพราะอาจารย์เคยบอกพี่ๆ หลายรอบมากๆ ว่า เขาไม่ได้อยากได้เด็กที่เก่งที่สุด แค่เขาอยากได้เด็กธรรมดาที่พร้อมจะเรียนรู้ในทางสายนี้ พี่เชื่อว่าไม่ว่าเราจะจบจากเรียนโรงเรียนอะไร มีผลงานน้อยหรือมาก แต่ถ้าเรามุ่งมุ่งมั่นและทำพอร์ตเราให้ดีที่สุดเลย พี่มั่นใจว่าอาจารย์จะรับรู้ได้จากพอร์ตเราโดยที่เราไม่ต้องพูดอะไรเลย เข้าใจว่ากดดันแต่อย่าลืมนะ ว่าไม่ใช่แค่ปลายทางที่สำคัญ แต่ระหว่างทางก็สำคัญเช่นกัน หรือถ้ามีคำถามทักมาขอคำแนะนำพี่ได้เลยไม่ต้องเกรงใจ IG: Lord_maximmonen


อ่านมาถึงตรงนี้น้องๆ ที่อยากเข้ารอบพอร์ตวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มศว และกำลังหาข้อมูลในการทำพอร์ตเข้าที่นี่อยู่ ข้อมูลที่พี่แม็กซ์นำมาแชร์น่าจะทำให้น้องๆ มองเห็นภาพการทำพอร์ตและคิดออกแบบพอร์ตที่สามารถพรีเซ็นต์ความเป็นตัวเองได้ และหากน้องๆ อยากปรึกษาหรือขอคำแนะนำในการทำพอร์ตจากพี่แม็กซ์ตัวต่อตัว สามารถมานัดวิดีโอคอลกับพี่แม็กซ์ได้เลย โดยน้องๆ สามารถจองคิวขอคำปรึกษาพี่แม็กซ์ได้ที่นี่ หรือค้นหาพี่คนอื่น ๆ ได้เลยที่ www.coachdd.app

www.coachdd.app เว็บไซต์วิดีโอคอลปรึกษารุ่นพี่เรื่องเรียน-สอบเข้ามหาวิทยาลัย อยู่ที่ไหนก็คุยได้ ใช้เพียงมือถือ คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต น้องๆ สามารถถามคำถามได้ไม่อั้น ได้คำตอบชัดเจน เจาะลึกแบบเรียลไทม์ และที่สำคัญสามารถเลือกรุ่นพี่ที่สนใจ เลือกเวลาที่สะดวก และเลือกแพ็กเกจที่ต้องการได้เลย

ทั้งนี้น้องๆ ยังสามารถติดตามสาระความรู้และข่าวสารสำหรับการสอบได้ที่ Facebook : CoachDD by Dek-D  หรือสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ฟรีที่ LINE Official Account: @coachdd

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular

Recent Comments