Home CoachDD เจาะลึกสาขา เทคนิคการแพทย์ เรียนอะไร จบมาแล้วเป็นหมอได้หรือเปล่า?

เจาะลึกสาขา เทคนิคการแพทย์ เรียนอะไร จบมาแล้วเป็นหมอได้หรือเปล่า?

0
2008

น้องๆ เคยสงสัยกันไหมว่า เทคนิคการแพทย์ เขาเรียนอะไรกัน เหมือนหรือแตกต่างจากจากการเรียนแพทย์ยังไง  จบมาแล้วทำงานอะไรได้บ้าง จะเป็นหมอได้หรือเปล่า วันนี้พี่ภูมิรุ่นพี่จาก คณะสหเวชศาสตร์ สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่คอยให้คำแนะนำน้อง ๆ อยู่ที่ CoachDD จะพาไปเจาะลึกการเรียนในสาขานี้อย่างละเอียด เพื่อเป็นข้อมูลให้กับน้องๆ ที่กำลังสนใจในสาขานี้อยู่ จะเป็นยังไง ไปติดตามได้เลยค่ะ 

แนะนำตัวหน่อยค่ะ

สวัสดีครับ ภูมิ, ภูมิ โชติวัฒนสิริ นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะสหเวชศาสตร์ สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครับ (Dek64)

เทคนิคการแพทย์ VS แพทย์ ต่างกันยังไง?

ถ้าหากให้เปรียบเทียบนักเทคนิคการแพทย์กับแพทย์ แพทย์จะเป็นผู้ซักประวัติผู้ป่วยเพื่อหาความผิดปกติเบื้องต้นที่อาจดูได้จากลักษณะภายนอกของคนไข้ จากนั้นแพทย์จะขอให้นักเทคนิคการแพทย์ทำการตรวจวิเคราะห์สิ่งส่งตรวจและนำค่าที่ได้ส่งกลับให้กับแพทย์เพื่อวินิจฉัย อย่างเช่น คนไข้ 2 คนเดินเข้าโรงพยาบาลมา เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนไหนเป็นโรค covid-19 จุดนี้แหละครับ แพทย์/พยาบาลก็จะตรวจโรคตามขั้นตอนไป หากมีการตรวจแลป เช่นการทำ Realtime RT-PCR นักเทคนิคการแพทย์จะเป็นคนทำครับ

มารู้จักกับงานของนักเทคนิคการแพทย์กันก่อนเลย

พี่ภูมิ เทคนิคการแพทย์

สำหรับวิชาชีพเทคนิคการแพทย์จะเป็นผู้ค้นหาความผิดปกติและโรคในคนไข้ผ่านการตรวจวิเคราะห์สิ่งส่งตรวจ (เลือด ปัสสาวะ น้ำไขข้อ ฯลฯ) ภายในห้องปฎิบัติการทางการแพทย์ (Lab) เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับค่าปกติ นำไปสู่วินิจฉัยโรคของผู้ป่วย ซึ่งนักเทคนิคการแพทย์เองนี่แหละครับที่เป็นผู้ดูแลส่วนงานเหล่านี้ เช่น การพิจารณาลักษณะของเม็ดเลือดประเภทต่างๆ การตรวจลักษณะทางกายภาพและเคมีของปัสสาวะ การตรวจปริมาณ enzyme ที่ถูกหลั่งโดยระบบต่างๆ ของร่างกาย ฯลฯ รวมไปถึงการให้คำปรึกษาระหว่างสหวิชาชีพ (แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักโภชนาการและกำหนดอาหาร ฯลฯ) เหล่านี้ล้วนเป็นหน้าที่ของนักเทคนิคการแพทย์ทั้งสิ้นครับ

เทคนิคการแพทย์ แต่ละมหาวิทยาลัยจะมีเรียกคณะ/สาขาที่ต่างกัน

เนื่องด้วยเหตุผลหลายๆ ประการ แต่ละมหาวิทยาลัยจะมีการใช้คำเรียกคณะ/สาขาที่ต่างกัน จึงอยากให้ดูตารางด้านล่างก่อนนะครับ

จากตารางนี้จะเห็นว่าใน 1 วิชาชีพอาจอยู่ได้ในหลายคณะ ไม่ตายตัว ต้องตรวจสอบเป็นรายมหาวิทยาลัยไป และแม้ว่าจะอยู่คณะเดียวกัน แต่ในแต่ละสาขาวิชาชีพก็เรียนต่างกันออกไปอย่างมากเลยครับ ดังนั้นสำหรับน้องๆ ที่อยากจะเข้ามหาวิทยาลัย แล้วสงสัยว่าวิชาชีพนี้อยู่ในคณะหรือสาขาอะไร สามารถเช็กได้กับ web-site สภาวิชาชีพนั้นๆ ครับ

แล้ว เทคนิคการแพทย์ จุฬาฯ อยู่ในคณะไหน

ส่วนของหลักสูตรเทคนิคการแพทย์ที่จุฬาฯ จะอยู่ในคณะสหเวชศาสตร์ โดยประกอบด้วยวิชาชีพวิทยาศาสตร์สุขภาพทั้ง 4 สาขาได้แก่ เทคนิคการแพทย์ รังสีเทคนิคและฟิสิกส์ทางการแพทย์ โภชนาการและการกำหนดอาหาร กายภาพบำบัด ซึ่งก็จะเรียนอยู่บริเวณแถวๆ ศูนย์การค้า mbk ยกเว้นสาขา รังสีเทคนิค ที่จะเรียนที่คณะแพทย์เป็นหลัก อยากรู้หลักสูตรคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ อย่างละเอียด คลิกเลย

จบเทคนิคการแพทย์ไม่ได้รับวุฒิแพทย์

เมื่อเรียนจบจะได้รับวุฒิการศึกษา วิทยาศาสตรบัณฑิต (เทคนิคการแพทย์) และหากจะเข้าทำงานเป็นนักเทคนิคการแพทย์ จะต้องสอบใบประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ที่ได้รับรองโดยสภาเทคนิคการแพทย์ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพอื่น ๆ เช่น แพทย์ ที่จะมีความเข้าใจผิดอยู่บ่อยๆ ครับ

ถ้าให้นิยามการเรียน เทคนิคการแพทย์ ให้น้องๆ เข้าใจจะนิยามว่าอะไรดีคะ

มีคำกล่าวนึงที่รุ่นพี่ได้กล่าวเอาไว้นั่นก็คือ “เรา เกิด แก่ เจ็บ ตาย ในแลป” โดยส่วนตัวคิดว่าจริงมากๆ เพราะเราเรียนแลปเยอะมากๆ เรียกได้ว่าเสมือนรายวิชาคูณ 2 คณะอื่นๆ เพราะจะมีรายวิชาบรรยายคู่กับรายวิชาปฏิบัติการ (แลป) เสมอ เป็นต้นว่าตอนเช้าเรียน lecture ในหัวข้อความปกติของเม็ดเลือด ตอนบ่ายก็เรียนแลปส่องดูเม็ดเลือดเลย

สำหรับเนื้อหาวิชาการนั้น ถ้าจะนิยามสั้นๆ คือ กว้างและลึกครับ เราเรียนกว้างไปในการตรวจสิ่งส่งตรวจเพื่อนำไปสู่ความผิดปกติในด้านต่างๆ ในสารชีวโมเลกุล, เชื้อโรค, ยีน , เม็ดเลือด, ฯลฯ มากไปกว่านั้นเทคนิควิธีการตรวจและการเทคโนโลยีทางการแพทย์ยังมีการพัฒนาอยู่ตลอด เราจึงต้องศึกษาหลักการทำงานของเครื่องตรวจอัตโนมัติ วิธีการใช้งานและการประกันคุณภาพ ซึ่งมีขอบเขตของเนื้อหาเลยเยอะมากๆ ครับ

ทำไมถึงเลือกเรียนเทคนิคการแพทย์ ที่จุฬาฯ คะ 

โดยส่วนตัวที่ตัดสินใจเรียนเพราะชื่อเสียงของตัวมหาวิทยาลัยครับ ซึ่งหลังจากที่เข้ามาเรียนแล้วนั้น ก็ตรงตามความคาดหวังครับ เพราะอาจารย์แต่ละท่านเป็นตัวจริงในเรื่องนั้นๆ มากถึงมากที่สุดครับ โดยอาจารย์ที่คณะจะมีการทำวิจัยเยอะมากๆ ซึ่งทำให้อาจารย์มีความชำนาญเฉพาะ เวลาเรียนเราก็จะสามารถสอบถามอาจารย์ได้อย่างไร้กังวล อีกอย่างหนึ่งที่พบเมื่อเข้ามาเรียนแล้วคือความพร้อมของอุปกรณ์การเรียน เป็นต้นว่ามีกล้องจุลทัศน์ให้ใช้แบบ 1-1 หรือชุดแลปหลอดทดลองก็มีระบุตายตัวไปเลยว่าชุดนี้ของใคร ฯลฯนอกจากความพร้อมของอุปกรณ์การเรียนแล้ว สำหรับหลักสูตรเทคนิคการแพทย์ จุฬาฯ นั้น จะมีการเรียนการใช้เครื่องอัตโนมัติอย่างละเอียด โดยไม่ได้เรียนแค่วิธีการใช้งานเท่านั้น แต่เรียนลึกลงไปถึงหลักการเบื้องหลัง ทำให้สามารถประยุกต์ใช้เนื้อหาที่เรียนได้อย่างเต็มที่ครับ

ตอนเตรียมสอบยากไหม อัตราการแข่งขันสูงไหม เตรียมตัวสอบยังไงบ้าง

โดยส่วนตัวมองว่าอัตราการแข่งขันก็ไม่ได้สูงหรือต่ำกว่าคณะอื่นๆ โดยทั่วไป แต่จะต่ำกว่ากลุ่มกสพท.  รายวิชาที่ใช้สอบก็มักคล้ายๆ เดิม เช่น TGAT (GAT) ภาษาอังกฤษ ชีวะ เคมี เลข ฯลฯ  การเตรียมตัวโดยส่วนตัวอยากจะแนะนำให้เริ่มตอน ม.5 เทอม 2 ครับ ค่อยๆ เต็มเนื้อหาวิชาต่างๆ ไปจนถึงเดือน พฤศจิกายน – ธันวาคม หลังจากนั้นก็ทำข้อสอบจริง ทั้งนี้ก็ต้องดูรายวิชาที่ใช้สอบให้ดีด้วยนะครับ สำหรับเรื่องอัตราการแข่งขันที่มักติด TOP มาหลายปีนั้น ส่วนตัวมองว่าไม่อยากให้ใช้เป็นเกณฑ์พิจารณาเพราะหลายๆ หลักสูตรไม่ได้กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำสูงนัก ถ้าอยากเรียนแล้วคะแนนผ่านขั้นต่ำ ถ้าอันดับเหลือ ก็ใส่มาได้ครับ

จุดเด่นเทคนิคการแพทย์ จุฬาฯ

สำหรับจุดเด่น นั้นคิดว่ามี 3 Point หลักๆ ครับ คือ

  • อาจารย์มีความชำนาญในการประยุกต์ใช้เทคนิคทางอณูชีววิทยา (Molecular biology) ซึ่งเป็นเทคนิคการตรวจโรคที่มีบทบาทอย่างมากในปัจจุบัน ที่น่าจะคุ้นหูทุกๆ คน เช่น การทำ Realtime RT-PCR ซึ่งจริงๆ แล้วมันมีเยอะมากครับและมีการพัฒนาอยู่ตลอด อาจารย์ไม่ว่าจะภาควิชาไหนก็ล้วนชำนาญ เทคนิคทางอณูชีววิทยาทั้งสิ้นครับ ซึ่งจากจุดนี้ก็ทำให้นิสิตได้เรียนความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอครับ
  • เราได้เรียนการใช้เครื่องอัตโนมัติอย่างละเอียด ซึ่งเราเรียนละเอียด เรียนลึกมากๆ ครับ และได้เรียนในหลายๆ วิชาด้วย รวมถึงมีการเรียนเปรียบเทียบกับวิธีมาตรฐาน ทำให้เราเห็นภาพมากขึ้นครับ
  • สภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกของจุฬาฯ โดยส่วนตัวมองว่าที่จุฬาฯจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกของส่วนกลางเยอะมากๆ รวมถึงมีกิจกรรมต่างๆ ทั้งของส่วนกลาง และชมรมให้ได้เลือกสรร ซึ่งช่วยในการพัฒนา softskill ของเราได้ดีมากครับ

เรียนกี่ปีแต่ละปีเรียนอะไรบ้าง ?

หลักสูตรการเรียนเราจะเรียน 4 ปี โดยอาจแตกต่างกันในแต่ละมหาวิทยาลัย สำหรับจุฬาฯ จะเป็นแบบนี้ครับ

ปี 1 เทอม 1 : เรียนรายวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐานครับ ตัวที่เราเรียนจะไม่เหมือนของคณะวิทย์/วิศวะเรียน เช่น 

  • General Chem (GenChem) : เป็นการเรียนเคมีม.ปลายทุกบทยกเว้นเคมีอินทรีย์ในครึ่งเทอม และอีกครึ่งเทอมเรียนเนื้อหาเพิ่มเติม เช่น thermodynamics
  • Physics for Medical student (Phymed) : โดยความเห็นส่วนตัวคิดว่าเป็นฟิสิกส์ตัวที่ง่ายแทบจะที่สุดในจุฬาฯ เพราะออกแบบมาให้สายวิทย์สุขภาพเรียน เรียนกลศาสตร์และไฟฟ้าบางส่วน โดยเนื้อหาไม่ยาก เช่น ให้คำนวณหาแรงที่ใช้ในการเจาะเลือด หลักการประมาณอย่างมีเหตุผล ฯลฯ
  • Computer Health Science : เป็นวิชาคณะตัวแรกที่เราจะได้เรียน เป็นการเรียนการใช้โปรแกรมต่าง ๆ เพื่อประยุกต์ใช้กับการจัดการข้อมูลทางการแพทย์เบื้องต้นครับ เช่น Excel Pubmed Endnotes

ปี 1 เทอม 2 : เรียนรายวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ในวิชาที่ลึกขึ้นครับ เช่น 

  • General Biology (Gen Bio) : เป็นการเรียนชีววิทยาโดยทั่วไป เรียนคล้ายๆ ม.ปลายแต่เนื้อหากว้างและลึกกว่าเล็กน้อย
  • Organic Chemistry (Org Chem) : เป็นวิชาที่ว่าด้วยการศึกษาสารอินทรีย์เป็นหลัก ซึ่งจะเน้นไปที่การศึกษาโครงสร้างและปฏิกิริยาของสารอินทรีย์เป็นส่วนมาก 
  • Analytical Chemistry (Anal Chem) : เป็นวิชาเคมีวิเคราะห์ ซึ่งเป็นการศึกษาวิธีการตรวจวิเคราะห์สารเคมีในเชิงประมาณและคุณภาพ โดยส่วนตัวคิดว่าสำคัญที่สุดใน ปี 1 เพราะความรู้ที่ได้จากวิชานี้ได้เอามาต่อยอดในการเรียนวิชาชีพอย่างมาก เช่นการคำนวณสารต่างๆ การวิเคราะห์ข้อผิดพลาดในการทำปฏิการ ฯลฯ
  • Calculus : เรียนไม่ละเอียดเท่าคณะวิทย์ เนื้อหาก็ตามชื่อวิชา ครึ่งเทอมแรกเรียนถึงเทคนิคการอินทีเกรต function trigonom ครึ่งเทอมหลังเรียนถึงสมการเชิงอนุพันธ์

ปี 2 เทอม 1 : จะเข้าสู่วิชาชีพเต็มตัวละครับ โดยได้เรียนใน 4 ศาสตร์หลัก ๆ ได้แก่

  • Clinical Chemistry (เคมีคลินิก) : เรียนเกี่ยวกับ enzyme ในร่างกายและการตรวจต่าง ๆ
  • Microbiology (จุลชีววิทยา) : เรียนเกี่ยวกับเชื้อโรคต่างๆ และการแยกแยะ
  • Hematology (โลหิตวิทยา) : เรียนเกี่ยวกับความปกติของเลือดทั้งหมดครับ
  • Molrcular Biology (อณูชีววิทยา) : เรียนเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้เทคนิคทางอณูชีววิทยาเพื่อการตรวจโรคครับ

ปี 2 เทอม 2 : จะเป็นการต่อจากเทอมแรกเป็นส่วนใหญ่ครับ และจะมีการเรียนวิชาของคณะแพทย์ด้วย เช่น

  • Anatomy (กายวิภาคศาสตร์) : เรียนแบบ system base (เรียนตามระบบร่างกาย ค่อยๆ เรียนไปที่ละระบบ)
  • Physiology (สรีรวิทยา) : เรียนเกี่ยวกับความปกติของร่างกาย
  • Pathology (พยาธิวิทยา) : เรียนเกี่ยวกับความผิดปกติของร่างกาย

ในเทอมนี้เรายังเรียนการตรวจน้ำไข้สันหลัง ปัสสาวะ และ sperm ด้วยนะ

Summer ขึ้น ปี 3 : มีการดูงานโรงพยาบาล ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในกรุงเทพ และทบทวนสิ่งที่เรียนมาครับ

ปี 3 : เนื้อหาจะต่อยอดจากปี 2 เว้นแต่มีการเรียนภูมิคุ้มกันวิทยา และ การธนาเลือดเพิ่มเข้ามา รวมถึงมีการปูพื้นฐานการทำวิจัยใน ปี 4 ด้วย

  • Clinical Chemistry (เคมีคลินิก) : เรียนเกี่ยวกับ enzyme ในร่างกายและการตรวจต่าง ๆ แบบลึกมาก ๆ
  • Microbiology (จุลชีววิทยา) : ในปี 3 จะเรียนละเอียดในเทอม 2 โดยละเอียดอย่างมากกก
  • Hematology (โลหิตวิทยา) : เรียนเกี่ยวกับโรคและความผิดปกติของเลือด
  • Immunology (ภูมิคุ้มกันวิทยา) : เรียนเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันลงลึกไปชนิดที่ว่ารู้ยัน cytokine ที่เม็ดเลือดขาวแต่ละชนิดหลั่งออกมาอย่างละเอียดครับ
  • Advance Molrcular Biology (อณูชีววิทยา) : ใน ปี 3 จะเป็นวิชาเลือก โดยถ้าเรียนและสอบผ่านจะสามารถเป็นผู้ปฏิงานในห้องปฏิบัติการทาง เวชศาสตร์จีโนมได้เลย (หากไม่เรียนต้องมาอบรมเพิ่มภายหลัง) เนื้อหาจะลึกขึ้นและกว้างขึ้นครับ

Summer ขึ้น ปี 4 : เริ่มทำวิจัยครับ

ปี 4 : เป็นการประยุกต์เนื้อหาที่เรียนมาเป็นส่วนใหญ่ โดยทำวิจัยในเทอมแรก (มีเรียนตามปกติ) และฝึกงานในเทอม 2

นอกเหนือจากนี้ก็จะมีวิชาที่เรียนรวมกับคณะอื่น เช่น ภาษาอังกฤษ (เรียนเหมือนกับคณะอื่น 2 วิชา และ เรียนเฉพาะของคณะสหเวชศาสตร์ 2 วิชา) และ รายวิชาศึกษาทั่วไป (GenEd) + รายวิชาเลือกเสรีรวม 36 หน่วยกิต (ประมาณ 12 วิชา) ทั้งนี้ที่จุฬาฯ ไม่มีบังคับเรียนวิชากีฬาครับ แต่ถ้าอยากเรียนก็มีให้เรียนเยอะมากกก

อยากให้แชร์การเรียนและบรรยากาศการเรียนที่นี่ให้ฟังหน่อยค่ะ

พี่ภูมิ เทคนิคการแพทย์

บรรยากาศการเรียนโดยรวมดีครับ สังคมมีความหลากหลาย เพื่อนๆ เก่งกันมากๆ แต่ก็ช่วยเหลือกัน hightlight ของที่จุฬาฯ เลยคือ อาจารย์ครับ อาจารย์ที่นี่จะสนิทกับนิสิตมากๆๆๆๆ อาจารย์นอกจากจะเก่งแล้ว ยังมีความเมตตาและมีความเห็นอกเห็นใจนิสิตอย่างมากครับ ตึกเรียนและอุปกรณ์การเรียนค่อนข้างทันสมัยครับ รวมถึงเครื่องอัตโนมัติที่มีให้เรียนพอสมควรครับ แต่ข้อเสียคือมันอยู่ไกลจากคณะอื่นครับ เป็นฝั่งเล็กในเล็กอีกที กิจวัตรของนิสิตจะไม่ค่อยเหมือนนิสิตคณะอื่นเท่าไร ส่วนกิจกรรมของคณะมีงานกีฬา ค่ายรับน้อง ค่ายเพื่อนกาวน์ (ค่ายแนะแนวรุ่นน้องมัธยมปลาย) ฯลฯ

เทคนิคการแพทย์ได้เรียนกับอาจารย์ใหญ่ไหมคะ กลัวผี กลัวเลือด เรียนสาขานี้ได้ไหม

ได้เรียนกับอาจารย์ใหญ่ด้วยครับ โดยเรียนกับอาจารย์ที่ถูกผ่ามาแล้วในวิชา Anatomy (กายวิภาคศาสตร์) แต่ในอีกมุมนึงเราก็ได้เรียนกับเลือดคนไข้จริงๆ เชื้อก็เป็นเชื้อจริงๆ รวมถึงสิ่งส่งตรวจอื่นๆ ก็เป็นของจริงครับ กลัวผี ไม่มีผลแน่นอนครับ ไม่มีใครคิดถึงเรื่องนี้เลยในความเป็นจริง ทุกคนกลัวแลปไม่เสร็จมากกว่าครับ กลัวเลือดอยากให้ถามตัวเองก่อนว่ากลัวเลือดจากอะไร ถ้ากลัวจากหนังสยองขวัญหรืแฉากทรมานน่ากลัว อันนั้นพี่ก็กลัวครับ ทุกวันนี้ก็ยังกลัว ถ้าไม่มั่นใจแนะนำให้ลองไปบริจาคเลือดครับ และตอนถูกเจาะเราก็โอเคมั้ย ทั้งนี้บางคนไม่ทราบจนมาเรียนแล้วก็มี แต่ก็ไม่มีปัญหาขนาดนั้นครับ (ทั้งนี้แล้วแต่คนด้วย มีการสอบเจาะเลือดผู้อื่น แต่จากปสก.ส่วนตัว คนที่แม้จะเป็นลมตอนถูกเจาะก็สามารถเจาะเลือดผู้อื่นได้อย่างไม่มีปัญหาครับ)

คุณสมบัติของผู้สมัครเรียน ต้องเป็นยังไงบ้างคะ?

สำหรับวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ ผู้เรียนจะต้องไม่เป็นผู้มีภาวะตาบอดสีขั้นรุนแรง โดยให้ดูรายละเอียดในประการรับสมัครนะครับ โดยส่วนตัวคิดว่าต้องเป็นคนละเอียดรอบคอบและมีสติครับ เพราะตอนทำแลป ถ้าเน้นรีบๆ เร็วๆ แม้จะท่องหนังสือมาอย่างดี ก็อาจพลาดได้ กลับกันถ้ามีสติ ใจเย็นๆ ไม่ทำช้าจนเกินไป จะดีที่สุดครับ หากแต่สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ฝึกฝนกันได้ ไม่มีตอนนี้ก็ไม่เป็นไร

จบไปสามารถทำงานอะไรได้บ้าง?

เมื่อเรียนจบแล้วต้องสอบใบประกอบให้ผ่านก่อนครับ โดยหลักๆ แล้วจะมี 2 อาชีพหลักๆ ครับ คือ 

นักเทคนิคการแพทย์ตามโรงพยาบาล ซึ่งเงินเดือนก็แตกต่างกันตามโรงพยาบาล จากที่สอบถามรุ่นพี่ เงินเดือนก็มีตั้งแต่ 15,000 – 25,000 บาท ค่าใบประกอบ 1,000+ ค่าเวรแล้วแต่โรงพยาบาล ในโรงพยาบาลใหญ่ๆ ก็อาจต้องมีการสอบเข้าทำงานครับ ทั้งนี้โดยทั่วไปโรงพยาบาลเอกชนจะเงินเดือนสูงกว่า และได้ค่าภาษา (เช่นว่าได้ TOEIC 750 ได้เงินเดือนเพิ่ม … บาท)

ผู้แทนเครื่องมือแพทย์ เงินเดือนจะดีกว่าอาชีพนักเทคนิคการแพทย์มากๆ ทั้งนี้ก็แล้วแต่บริษัทไป แต่บางบริษัทจากที่เคยเห็นประการรับสมัครงาน จะรับเฉพาะวุฒิเทคนิคการแพทย์​เลย ตรงนี้เราจึงได้เปรียบ

ทั้งนี้บางคนก็อาจเลือกศึกษาต่อในระดับ ป.โท ป.เอก แล้วเป็นนักวิจัย/อาจารย์ จากการสอบถามรุ่นพี่ในสายรหัสตัวเอง งานที่รับวุฒิป.โทก็ยังมีอยู่ในปัจจุบัน โดยจะเป็นงานห้องปฏิบัติการที่เฉพาะทางขึ้น

สุดท้ายอยากให้ฝากถึงน้องๆ ที่อยากเข้าคณะนี้หน่อย

พี่คิดว่าน้องๆ ที่อ่านมาถึงตรงนี้ก็คงเข้ามาอ่านเพราะต้องหาข้อมูลประกอบการเลือกคณะเป็นแน่ และคงจะยังมีคำถามอยู่ว่าสิ่งนี้ใช่กับเราหรือไม่นะ พี่เข้าใจนะมันต้องยากเลยละ แต่ที่พี่อยากจะแนะนำด้วยความสัตย์จริงเลยคือ อยากให้หาอ่านบทความรีวิวต่างๆ ของคนอื่นประกอบด้วย มนุษย์ทุกคนล้วนมี Bias ในสิ่งที่นำเสนอ การอ่านหลายๆ มุมจะช่วยให้เราแยกแยะสิ่งนี้ได้ และหากน้องมีเวลา พี่อยากแนะนำให้น้องไปขอฝึกงานในโรงพยาบาล เราจะได้เห็นสภาพจริง ที่สำคัญคือเรามีบุคลากรในวิชาชีพนั้นตัวเป็นๆ ให้ได้สอบถามในมุมที่อยากรู้ด้วย ตรงนี้แหละสำคัญสุด น้องๆ สามารถขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากครูแนะแนวและเว็บไซต์โรงพยาบาลต่างๆ นะ

พี่เชื่อว่าวิชาชีพในด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพคงเป็นความฝันของหลาย ๆ คน ไม่ว่าจะด้วยความมั่นคงทางรายได้ก็ดี ชื่อเสียงหรือภาพลักษณ์ที่ดีก็ดี หรือไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ถ้าเป็นสิ่งที่เราต้องการจริงๆ ก็ขอให้ลุยให้เต็มที่นะครับ ในชีวิตการเรียน น้องๆ จะได้ล้มเหลวอีกหลายครั้งแน่นอน แต่ไม่ว่าเมื่อไร ก็ขอให้น้องๆ ลุกได้และทำตามฝันให้สำเร็จนะ ขอให้ทุกคนโชคดีครับ


อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว น้องๆ ที่กำลังหาข้อมูลสาขาเทคนิคการแพทย์อยู่ น่าจะได้ข้อมูลเกี่ยวกับการเรียนและวิชาชีพนี้ไปมากพอสมควรแล้ว และน้องๆ ก็น่าจะพอได้คำตอบแล้วว่าการเรียนเทคนิคการแพทย์นั้นเหมาะกับตัวเองหรือไม่  หรือหากน้องๆ ยังไม่มั่นใจและมีข้อสงสัยในประเด็นอื่นๆ เพิ่มเติมที่อยากจะปรึกษาพี่ภูมิตัวต่อตัว สามารถมานัดวิดีโอคอลกับพี่ภูมิได้เลย โดยน้องๆ สามารถจองคิวขอคำปรึกษาพี่ภูมิได้ที่นี่ หรือค้นหาพี่คนอื่น ๆ ได้เลยที่ www.coachdd.app

www.coachdd.app เว็บไซต์วิดีโอคอลปรึกษารุ่นพี่เรื่องเรียน-สอบเข้ามหาวิทยาลัย อยู่ที่ไหนก็คุยได้ ใช้เพียงมือถือ คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต น้องๆ สามารถถามคำถามได้ไม่อั้น ได้คำตอบชัดเจน เจาะลึกแบบเรียลไทม์ และที่สำคัญสามารถเลือกรุ่นพี่ที่สนใจ เลือกเวลาที่สะดวก และเลือกแพ็กเกจที่ต้องการได้เลย

ทั้งนี้น้องๆ ยังสามารถติดตามสาระความรู้และข่าวสารสำหรับการสอบได้ที่ Facebook : CoachDD by Dek-D  หรือสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ฟรีที่ LINE Official Account: @coachdd