HomeCoachDDเจาะลึกหลักสูตรคณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ มธ. เรียนอะไร? จบแล้วทำงานอะไรได้บ้าง?

เจาะลึกหลักสูตรคณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ มธ. เรียนอะไร? จบแล้วทำงานอะไรได้บ้าง?

บทความที่แล้วพี่แยมได้มา แนะเทคนิคค้นหาตัวตนจนสอบติด คณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ มธ. แล้ว ตอนนี้มีน้องๆ คนไหนที่อยากทำความรู้จักกับคณะคณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ มธ.ให้มากขึ้นกว่านี้แล้วบ้าง สำหรับน้องๆ ที่ยังแอบสงสัยอยู่ว่าจริงๆ แล้วคณะศิลปศาสตร์เรียนเกี่ยวกับอะไรกันแน่ วันนี้พี่แยมจะพาไปเจาะลึกหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างละเอียด พร้อมแชร์ตลาดการทำงานของสาขานี้ด้วย ไปติดตามได้เลยค่ะ

คณะศิลปศาสตร์เรียนเกี่ยวกับอะไรกันแน่

หากพูดถึงคณะศิลปศาสตร์ ก็ต้องเจอคำถามยอดฮิต ว่าเรียนอะไร? ศิลปะนี่ใช่วาดรูปหรือเปล่า? โนๆๆๆ ศิลปศาสตร์จริงๆ แล้วแปลว่าศาสตร์ที่เรียนรู้วิชาใดก็ตามที่ไม่ใช่เทคนิคหรือวิชาชีพ เช่น ภาษา การเรียนรู้และเข้าใจมนุษย์ ปรัชญา ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ บลาๆๆ ถ้าเป็นในบางมหาวิทยาลัย จะใช้ชื่อว่า คณะมนุษยศาสตร์ หรืออักษรศาสตร์ นั่นแหละ หรือหากน้องๆ อยากรู้ความแตกต่างของคณะ อักษรศาสตร์ มนุษยศาสตร์  ศิลปศาสตร์ ว่าเรียนอะไร ต่างกันยังไงบ้าง คลิกเลย

ศิลปศาสตร์ มธ. มีเรียนเอกอะไรบ้าง ต้องเรียนที่ไหน

พี่แยม เจาะลึกหลักสูตรคณะศิลปศาสตร์

ในส่วนของศิลปศาสตร์ มธ. จะมีทั้งเอกภาษาทั้งหลายและเอกประยุกต์อย่างจิตวิทยา ภูมิศาสตร์ ปรัชญา และยังมีหลักสูตรนานาชาติอีกด้วย หรือหากน้องๆ อยากเข้าไปดูเอกทั้งหมดคลิกที่นี่ได้เลย โดยส่วนใหญ่คณะนี้จะเรียนที่ศูนย์รังสิตนะคะ ในแต่ละเอกหรือแผนการเรียนจะแยกกันเรียนแต่ก็ไม่ได้แยกถึงขนาดนั้น เพราะจะมีอาคารเรียนรวมสังคมศาสตร์หรือเรียกว่า อาคาร SC ที่ทุกคณะในสายสังคมจะมาเวียนใช้ห้องเรียนตามอาคารนี้ ไม่แปลกที่จะได้กระทบไหล่กับเพื่อนต่างเอกหรือต่างคณะแทบจะตลอด ในส่วนของหลักสูตรขออธิบายในพาร์ทถัดไปน๊า

มาทำความรู้จักกับหลักสูตรคณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ มธ. กัน

สำหรับหลักสูตรของเอกอิ๊ง มธ. จะไม่ได้สอนแค่วิชาภาษาอังกฤษ แต่จะเป็นการประยุกต์ใช้ภาษาในทุกแง่มุมมากกว่าทักษะฟังพูดอ่านเขียนที่เราเรียนตอนม.ปลาย อย่างเช่น วิชาบังคับอย่างการเขียนอังกฤษ หลักสูตรก็จะให้เราเรียนตามเลเวล เริ่มปี 1 จะบังคับเรียนการเขียนระดับ Paragraphs ปี 2 อัปเลเวลเป็นการเขียนระดับความเรียง ปี 3 และ 4 ก็จะมีให้เลือกเรียนการเขียนเชิงสร้างสรรค์, Journalistic Writing, Academic Writing, Business Writing เป็นต้น ซึ่งแต่ละวิชาก็จะมีทักษะ เทคนิคต่างกัน และอาจารย์ผู้สอนก็จะมีประสบการณ์หลากหลายมาเล่าเสริมเนื้อหานั้นๆ นอกจากนี้ยังมีวิชาที่ประยุกต์ในเชิงมนุษยศาสตร์อย่าง Intercultural Communication in the English Speaking World (ชื่อยาวไปไหนอ่ะ 555) ส่วนตัวเราชอบวิชานี้มากเพราะเป็นการเข้าใจผู้คนที่ใช้ภาษาอังกฤษในเชิงสังคมและวัฒนธรรม และการเรียนจะเน้นพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกันมากกว่าเลคเชอร์ตามตำรา อ่ะนี่ก็แค่ส่วนหนึ่ง เพราะอีกไฮไลท์คือคณะสายสังคมของที่นี่สามารถเลือกวิชาโทกับวิชาเสรีได้ ซึ่งจะเป็นวิชาใดที่ไม่ใช่วิชาในเอกเราก็ได้ อย่างแยมเลือกเรียนวิชาโทการตลาดของคณะพาณิชยศาสตร์ฯ และเลือกลงวิชาเสรีอย่างร้องเพลงของคณะศิลปกรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่เราชอบและหาโอกาสเรียนด้วยตัวเองยากมาก อีกทั้งเรายังได้เจอบรรยากาศการเรียนที่แตกต่างจากในเอก และเจอเพื่อนใหม่ต่างคณะอีกด้วย บอกเลยว่าเป็นการเรียน 4ปีที่คุ้มมาก!

ปี 1 – ปี 4 เรียนอะไรบ้าง?

คณะสายสังคม ของมธ. จะสามารถเลือกแผนการเรียนและจัดตารางเรียนได้ด้วยตัวเอง โดยมีเกณฑ์ให้เรียนเก็บหน่วยกิตของวิชาบังคับ และเสริมด้วยวิชาโท หรือวิชาเลือกเสรีใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับวิชาเอกเราก็ได้ ให้ครบตามหน่วยกิตรวมของเราทั้ง 4 ปี ขอยกตัวอย่างแผนการเรียนแต่ละปีของแยม

เริ่มจาก ปี 1 ส่วนใหญ่จะเรียนคล้ายกันเกือบทุกคนคือเน้นเก็บวิชาบังคับมหาวิทยาลัย เช่น วิชา TU100 หน้าที่พลเมืองและจิตสาธารณะซัมติง วิชา TU103 เกี่ยวกับความยั่งยืน เป็นต้น ซึ่งจะเป็นวิชาเรียนรวมกับคณะอื่นด้วย 
พอปี 2 จะได้เรียนวิชาเอกที่เป็นตัวบังคับก่อน ซึ่งจะเป็นวิชาเริ่มต้นการฟัง-พูด-อ่าน-เขียนทั่วไป เสริมด้วยวิชาโทซึ่งแยมเลือกเป็นการตลาดและบริหารธุรกิจ 
ส่วนปี 3 และ 4 จะได้เลือกเรียนวิชาที่ประยุกต์ทักษะภาษาอังกฤษที่เราสนใจมากขึ้น และเราสามารถเลือกวิชาที่ไว้ต่อยอดในการทำงานในอนาคตได้ เช่น การแปล ล่าม หรืออื่น ๆ 

ส่วนตัวจะแนะนำให้น้อง ๆ เรียนเก็บวิชาบังคับให้หมดในปี 1-2 เพื่อจะได้เหลือ Slot คาบเรียนว่างไว้ทำกิจกรรมหรือเรียนวิชาเสรีเท่ๆ ในปี 3-4 ได้ แต่ละเทอมพี่ลงตารางเรียนอยู่สัปดาห์ละ 6-7 วิชา ก็สามารถจบได้ภายใน 4 ปีแบบกำลังดีเลย หรือเพื่อนพี่บางคนก็เก็บหน่วยกิตจนเรียนจบภายใน 3 ปีครึ่ง ก็อยู่ที่การจัดสรรเวลาและเป้าหมายการใช้ชีวิตของตัวเอง

จุดเด่นของเอกอิ๊ง มธ. คือ เปิดโอกาสให้ได้เรียนในสิ่งที่ชอบด้วย

เอกอิ๊ง มธ. เปิดกว้างกว่าที่คิด ไม่ใช่ว่าเอกนี้จะมีแต่เด็กสายศิลป์ และไม่ใช่เด็กเอกอิ๊งทุกคนจะชอบการอ่านตำราหนาเท่าฝาบ้าน ที่นี่เปิดโอกาสให้ได้เรียนในสิ่งที่ชอบหรือถนัดนอกเหนือจากวิชาเอก และในปี 3-4 เราสามารถเลือกวิชาเอกแตกต่างจากเพื่อนได้ เช่น ใครชอบอ่านชอบวรรณกรรม ก็ไปเน้นวิชาสายวรรณกรรม ใครชอบภาษาอังกฤษเชิงประยุกต์ก็มีทั้งภาษาในเชิงธุรกิจ หรือการแปลและล่ามโดยเฉพาะก็มี ถือว่าเป็นการเรียนภาษาที่เปิดกว้างให้ทุกๆ สายอาชีพที่น้องๆ สนใจ 

สอบเข้าว่ายากแล้ว แล้วพอมาเรียนจริงๆ ยากไหม

พี่แยม เจาะลึกหลักสูตรคณะศิลปศาสตร์

เมื่อเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ไม่ว่าคณะไหน หรือเอกไหนๆ ก็ยากหมดเมื่อเทียบกับการเรียนตอนมัธยม สิ่งสำคัญคือ ที่นั่นใช่ที่ของเราไหม? หากเป็นที่ของเราจริงๆ ความเหนื่อยนั้นมันคือความคุ้มค่า! การเตรียมตัวที่ดีที่สุดคือการปรับตัวค่ะ ทั้งวิชาต่างๆ จะอัปเลเวลความยากขึ้น ส่วนไหนที่เราไม่ถนัดก็ต้องหาเวลาเตรียมตัวมาเผื่อบ้าง สำหรับแยมมองว่าเรื่องสำคัญสุดที่ต้องปรับตัวคือเรื่องสังคม ส่วนตัวแยมมองว่าสังคมมหาวิทยาลัยมีข้อดีเยอะกว่าข้อเสีย มันคือการปรับพื้นฐานเราสู่สังคมการทำงานในอนาคต แต่แน่นอนว่าระหว่างทางมันมีสิ่งล่อลวงเยอะ ทั้งอิสระในการใช้ชีวิต เพื่อนมากมาย และกิจกรรมต่างๆ มันอยู่ที่ว่าน้องๆ ทุกคนจะปรับตัวตั้งรับสิ่งเหล่านั้นอย่างไร ให้เหมาะสมกับความเป็นเรา อย่างแยมบอกได้เลยว่า เหนื่อย! เพราะแยมทำกิจกรรมหลายอย่างมาก ควบคู่ไปกับการรักษาเกรดเพื่อรับทุนคณะในแต่ละปี แล้วยังต้องแบ่งเวลาสอนพิเศษด้วยในสมัยนั้น เหนื่อยค่ะ แต่ก็ผ่านมาได้ ไม่ได้จะสื่อว่าเราควรใช้ชีวิตสุดเหวี่ยงในรั้วมหาวิทยาลัยขนาดนั้นนะ แต่หมายถึงเมื่อเราได้มีโอกาสอยู่ในที่ที่เหมาะสมกับเรา ให้ไปเรียนรู้และลองใช้ชีวิตหลายๆ แบบดู น้องๆ ที่อ่านอยู่อาจจะได้มีโอกาสที่ต่างไปจากของพี่ก็ได้ เช่น ได้เป็นผู้นำเชียร์หรือดรัมเมเยอร์เท่ๆ ได้เข้าชมรมตามความสนใจ มีแก๊งเพื่อนไปเล่นบอร์ดเกมส์ ได้ทำค่ายอาสา หรือได้พบรักดีๆในรั้วมหาวิทยาลัย

บรรยากาศการเรียนที่นี่เป็นยังไง?

แม้จะเข้ามาเรียนเอกอิ๊ง มธ. แบบงงๆ พอเข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัยตั้งแต่ Day 1 แยมไม่เคยรู้สึกว่าเสียดายเลยที่ได้มาเรียนที่นี่! อย่างที่บอกว่าวัฒนธรรมของที่นี่ตอบโจทย์ตัวตนของแยมมากๆ เพราะแยมเป็นเด็กกิจกรรมตั้งแต่ม.ปลายอยู่แล้ว พอมาที่นี่ก็เหมือนเราเจอสนามเด็กเล่นอ่ะ >_< อีกอย่างคือคณะนี้ขึ้นชื่อเรื่องของกิจกรรมสันทนาการมาก ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการรับน้อง แต่เป็นกิจกรรมเสริมที่นักศึกษาสามารถเข้าร่วมได้ตามสมัครใจ เน้นความเป็นอิสระและเป็นกันเอง เช่น งานรับเพื่อนใหม่ งานสืบสานตำนานศิลป์ กิจกรรมโต๊ะ เป็นต้น ส่วนเพื่อนๆ ก็หลากหลายแนวสมกับชื่อคณะเลยค่ะ แยมมีเพื่อนทุกรูปแบบ ทั้งสายเรียน สายกิน สายเที่ยว สายกิจกรรม สายเม้าเมามันส์ และสายเสมอเมื่อเป็นคลาสเช้า 5555 ในปีแรกๆ แยมเลือกอยู่หอในโซนที่ใกล้ตึกเรียนมาก ปกติเลยเดินไปเรียนตลอด สะดวกสุดๆ จะมีช่วงฟิตๆ ก็จะมีเวลาว่างออกกำลังกายเช้า-เย็น พอได้เจอเพื่อน ได้ทำกิจกรรมเยอะขึ้น เราก็ได้ลอง Routines แปลกใหม่ ไม่ว่าจะเป็น การเข้าชมรม ทำค่ายอาสา ทำสตาฟงานฟุตบอลประเพณี ไปปั่นจักรยาน พายเรือ เดินตลาดอินเตอร์โซน เป็นต้น ชีวิตมหาวิทยาลัยที่นี่ไม่มีเบื่อเลย

ชอบอะไรของคณะนี้เป็นพิเศษไหมคะ

ประเพณี L’Arts Crazy Week ของชาวสินสาด (ศิลปศาสตร์) เป็นวีคที่สองหลังเปิดภาคเรียนที่1 ที่ชาวสินสาดจะพร้อมใจกันแต่งกายตาม Theme ในแต่ละวัน เช่น Back to school, On the beach, ปาร์ตี้ชุดนอน เป็นต้น อย่างที่ทราบกับดีว่า นักศึกษา มธ. โดยเฉพาะคณะสายสังคมไม่มีกฎกำหนดการแต่งกายชุดนักศึกษา ขอเพียงให้เรียบร้อยสวยสมวัยเป็นพอ ประเพณีนี้เป็นการเน้นย้ำอิสระทางการแต่งกายและความครีเอทของชาวสินสาด สมชื่อคณะ “Liberal Arts” อย่างเช่น Theme “Back to school” หลายคนคงนึกออกแค่การใส่ชุดนักเรียนย้อนวัยใช่มั้ยล่ะ แต่ของที่นี่แยมเคยเห็นเพื่อนใส่ชุดภารโรง ครูใหญ่ หรือแม้แต่ชุดลูกเสือ-เนตรนารี ครีเอทเบอร์นี้จะเป็นคณะไหนได้ >_<!

เมื่อเรียนจบเอกอิ๊ง สามารถทำงานอะไรได้บ้าง?

พี่แยม เจาะลึกหลักสูตรคณะศิลปศาสตร์

ถ้าตรงสายสุดๆ เลยเนี่ย ก็คงต้องตอบว่า ไปเป็นพนักงานต้อนรับในโรงแรม เป็นแอร์ฯ หรือนักแปล ล่าม อะไรพวกนี้ แต่จริงๆ แล้วหลักสูตรศิลปศาสตร์ที่แยมเรียนก็เน้นทักษะ soft skill ที่กำลังฮิตในปัจจุบัน เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาทักษะในยุคใหม่ที่นอกเหนือจากด้านวิชาชีพและดิจิตอล และเป็นส่วนสำคัญมากกกกก! ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม น้องๆ รู้ไหมว่าการพัฒนาทักษะ soft skill นั้นทำยากกว่าด้านวิชาชีพเยอะเลย เพราะมันจับต้องไม่ได้ (ไม่ใช่การคำนวณสักหน่อย) อีกทั้งยังผันผวนไปตามเทรนด์ตลอดเวลา ดังนั้นทุกองค์กรไม่ว่าจะอุตสาหกรรมใด ก็ต้องพึ่งพาทักษะของเด็กศิลปศาสตร์ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น HR นักการตลาด นักการขาย โดยเฉพาะงานใดก็ตามที่ต้องมีการประสานงาน หรือเจรจาสื่อสารกัน ปัจจุบันแยมเป็น Account Executive หรือ AE ซึ่งเป็นงานที่ต้องเจรจากับคนทุกฝ่าย ทั้งรับฟังความต้องการลูกค้าเพื่อนำมาวิเคราะห์เป็นผลิตภัณฑ์หรือ Solution ที่ตอบโจทย์ แต่เราก็ไม่ได้เป็นคนทำเองนะ เพราะต้องนำข้อมูลเหล่านี้ไปบรีฟให้ฝ่ายเทคนิคที่เขาเชี่ยวชาญงานนั้นๆ จัดการให้ตรงตามความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด ซึ่งงานนี้ใช้ทั้งความรู้ด้านภาษาอังกฤษบวกกับทักษะในการเจรจาต่อรอง การคิดอย่างมีวิจารณญาณ การเข้าใจผู้คน และ soft skills อีกมากมาย คงจะเคยได้ยินคำว่า เด็กศิลปศาสตร์ก็เป็น “เป็ด” ใช่มั้ยล่ะคะ? เพราะเราอาจจะไม่ได้เก่งสุดๆ ในด้านใดด้านหนึ่ง แต่เราเรียนรู้ทักษะหลายด้านเพื่อประยุกต์ให้เหมาะสมกับงานที่สุด

ในส่วนของเงินเดือนจะผันแปรไปตามปัจจัยต่างๆ ค่ะ เช่น ถ้างานของเราต้องเดินทางหรือออกต่างจังหวัดบ่อยๆ ก็จะต้องมีค่าใช้จ่ายเป็นสวัสดิการมารองรับ ถ้างานเรามีที่ตั้งในเมืองและต้องอาศัยภาพลักษณ์อย่าง Sales ก็จะมีฐานเงินเดือนค่อนข้างสูงหรืออาจมีค่าคอมมิชชั่นควบคู่ไปตามยอดขายที่เราทำได้ กับอีกปัจจัยหนึ่งคือลักษณะองค์กร ถ้าเป็นองค์กรขนาดใหญ่จะมีการจ่ายเงินเดือนพนักงานตามลำดับขั้นชัดเจน ไม่มากหรือน้อยไปแต่การันตีความมั่นคง ถ้าบางองค์กรเป็นสตาร์ทอัพหรือสร้างรายได้จากของที่จับต้องไม่ได้ เช่น ซอฟท์แวร์ ก็อาจจะลงทุนจ้างเราในราคาสูงหน่อยแต่แลกมาด้วยความแอคทีฟในงานนั่นเอง แต่สำหรับแยมมองว่าในสายงานที่เด็กศิลปศาสตร์สามารถทำได้ เงินเดือนเริ่มต้น 20K++ จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่องานของเรา

อยากให้ฝากถึงน้องๆ ที่อยากเข้าคณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ มธ. หน่อยค่ะ

อ่ะ ได้เวลาขายของแล้ว! สำหรับน้อง ๆ สายศิลป์หรือใครที่ชอบด้านภาษา หากมองหาคณะสายสังคมที่สามารถชี้แนวทางให้เรานำความถนัดด้านภาษาไปประยุกต์ใช้ให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงานในอนาคต คณะศิลปศาสตร์ของที่นี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจ ขอแค่น้องเตรียมตัวให้ดีและอย่าท้อค่ะ! ที่สำคัญอย่าลืมติดตามข่าวสารจาก Dek-D เพื่อไม่ให้พลาดเทรนด์การศึกษาจากพี่ ๆ Coach DD นะคะ


อ่านมาถึงตรงนี้น้องๆ น่าจะได้ข้อมูลในเรื่องหลักสูตรและการเรียนของคณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ ม.ธรรมศาสตร์ มากในระดับหนึ่งแล้ว หรือหากน้องๆ ยังมีข้อสงสัยในประเด็นอื่นๆ ที่อยากจะปรึกษาพี่แยมตัวต่อตัว สามารถมานัดวิดีโอคอลกับพี่แยมได้เลย โดยน้องๆ สามารถจองคิวขอคำปรึกษาพี่แยมได้ที่นี่ หรือค้นหาพี่คนอื่น ๆ ได้เลยที่ www.coachdd.app

www.coachdd.app เว็บไซต์วิดีโอคอลปรึกษารุ่นพี่เรื่องเรียน-สอบเข้ามหาวิทยาลัย อยู่ที่ไหนก็คุยได้ ใช้เพียงมือถือ คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต น้องๆ สามารถถามคำถามได้ไม่อั้น ได้คำตอบชัดเจน เจาะลึกแบบเรียลไทม์ และที่สำคัญสามารถเลือกรุ่นพี่ที่สนใจ เลือกเวลาที่สะดวก และเลือกแพ็กเกจที่ต้องการได้เลย

ทั้งนี้น้องๆ ยังสามารถติดตามสาระความรู้และข่าวสารสำหรับการสอบได้ที่ Facebook : CoachDD by Dek-D  หรือสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ฟรีที่ LINE Official Account: @coachdd

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular

Recent Comments