HomeReviewพิชิตคะแนนชีวะ 80 UP ด้วยการฝึกทำโจทย์ จาก รุ่นพี่แพทย์ฯ ศิริราช

พิชิตคะแนนชีวะ 80 UP ด้วยการฝึกทำโจทย์ จาก รุ่นพี่แพทย์ฯ ศิริราช

“เทคนิคการจำชีวะได้ดีที่สุดสำหรับผมไม่ใช่การจำเนื้อหาหรือทำสรุป แต่คือการทำโจทย์วนไปเรื่อยๆ ถ้าจำโจทย์ได้แล้วก็ต้องอธิบายได้ด้วยว่าตัวเลือกที่ผิด ผิดเพราะอะไร หรือไม่ก็แตกความรู้จากข้อนั้นๆ ให้ได้มากที่สุด”

สำหรับน้องๆ ที่กำลังเตรียมสอบชีวะอยู่ อาจจะมีเทคนิคการเตรียมสอบชีวะที่ต่างกันตามแต่สไตล์การเรียนของน้องๆ เอง แต่สำหรับน้องๆ ที่เรียนชีวะยังไงก็ไม่เข้าใจสักที ลองนำเทคนิค “การทำโจทย์” จากพี่ธี รุ่นพี่ แพทย์ฯ ศิริราช ไปลองใช้ได้เลย ซึ่งเทคนิคนี้ก็ทำให้พี่ธีพิชิตคะแนนชีวะได้มากกว่า 80 คะแนน จนสอบติดคณะแพทย์ฯ ได้สำเร็จ พี่ธีเลือกทำโจทย์ชีวะแบบไหนและมีเทคนิคในการทำโจทย์ยังไงบ้าง ไปติดตามได้เลยค่ะ

ก่อนอื่นให้น้องแนะนำตัวก่อนได้เลยค่ะ

สวัสดีครับ ผมธีธัช กาญจนหัตถกิ ชื่อเล่นชื่อ ธี เรียนจบจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ปัจจุบันสอบติดคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลครับ

อยากเป็นแพทย์ตั้งแต่ม.ต้น

ตั้งเป้าไว้อยู่แล้วว่าจะเข้าแพทย์ครับรู้สึกว่าอยากเป็นมาตั้งแต่ม.ต้นแล้ว ซึ่งตอนสุดท้ายก็รู้สึกดีใจมากเลยที่ได้ทำตามความฝันของตัวเองได้ด้วยความพยายามและฝีมือของเราเอง ส่วนเรื่องคะแนนที่ต้องใช้นั้นในปีของผมก็ยังเป็น 9 วิชาสามัญ และกสพท.อยู่ แต่ว่าในปีของน้องๆ ต่อๆ ไปก็จะเป็น A-level กับกสพท.ครับ

เตรียมตัวสอบแพทย์รอบ 3 ต้องวางแผนการเตรียมสอบให้ตรงกับสไตล์ของตัวเอง

สำหรับการเตรียมตัวสอบผมเตรียมตัวที่จะเข้ารอบ 3อยู่แล้วครับ แน่นอนว่าในการสอบรอบนี้ก็เป็นอะไรที่ท้าทายพอสมควรทั้งในเรื่องจำนวนวิชาที่ต้องสอบและจำนวนผู้เข้าสอบ ซึ่งการที่เราจะสามารถทำได้ดีในเวลาสอบคือเราก็ต้องมีการเตรียมตัวที่ดีครับ วางแผนให้เข้ากับตัวเองและทำมันอย่างสม่ำเสมอ

เก็บเนื้อหา + ตะลุยโจทย์ สไตล์น้องธีธัชต้องทำยังไงบ้าง? 

ผมเริ่มเก็บเนื้อหาตอนม.5 เรียนเก็บไปเรื่อยๆ (แค่เลข ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ และอังกฤษ) เวลาว่างก็มีทั้งทำกิจกรรมต่างๆ ที่ชอบและทำโจทย์บ้างบางที และเริ่มจริงจังตอนเก็บคอร์ส TCAS ตอนปิดเทอมขึ้นม.6 ช่วงเมษา ผมเป็นคนที่เรียนแบบค่อนข้างตามใจตัวเองก็คือไม่ได้แบ่งว่าครึ่งแรกจะเรียนวิชาคำนวณเช่น เลข ฟิสิกส์ แล้วค่อยไปเรียนวิชาที่ใช้ความจำเอาท้ายๆ แต่จะใช้วิธีการจับคู่เอาเช่น เก็บเลขกับชีวะ ฟิสิกส์กับเคมี ซึ่งในแต่ละวันก็จะเป็นคู่วิชาเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่มีการตั้งเป้าว่าต้องจบประมาณไหน และก็จะมีพวกสังคมภาษาไทยที่เรียนแทรกบ้างเรื่อยๆ ประมาณนี้ครับ  ส่วนตัวผมเป็นคนค่อนข้างอ่อนเลขก็เลยจำเป็นต้องฝึกทุกวัน เพราะฉะนั้นในทุกๆ วันก็จะเป็นวิชาที่เรียนสลับกันแล้วเพิ่มเลขเข้าไปแทรกด้วย อย่างไรก็ตามผมจะมี deadline ของตัวเองว่าจะต้องจบภายในเดือนไหนซึ่งผมสอบเดือนมีนา (ทั้งวิชาสามัญและกสพท.) ในตอนนั้นก็จะกำหนดว่าตัวเองต้องเก็บเนื้อหาวิชาสามัญทั้งหมดภายในก่อนธันวา ซึ่งโดยเฉลี่ยผมใช้เวลาไปกับการเรียนเก็บเนื้อหาในช่วงเปิดเทอมม.6 ก็วันละ 2-4 ชั่วโมงหลังเลิกเรียน และประมาณ 7-8 ชั่วโมงในช่วงปิดเทอม (เรียนสลับกับพักเรื่อยๆ) หลังจากนั้นก็จะเป็นช่วงที่เน้นทำโจทย์มากๆ ซึ่งช่วงนี้ก็สำคัญมากๆ เหมือนกัน มากกว่าการเก็บเนื้อหาด้วยซ้ำ ซึ่งการทำโจทย์ก็จะแบ่งคล้ายๆ กับตอนเก็บเนื้อหาครับ ผมต้องบอกก่อนว่าผมเป็นคนที่ลงคอร์สตะลุยโจทย์ทุกวิชาซึ่งก็จะมี deadline เหมือนกันเช่นเริ่มคอร์สตอนธันวาก็ควรจะจบใหม่เกินเดือนมกราคม แล้วหลังจากนั้นก็จะเป็นช่วงที่จับเวลาทำข้อสอบเก่าเอง แล้วพอใกล้สอบเอามากแล้วผมก็จะมาเริ่มทบทวนทุกอย่างที่เรียนมาเพื่อให้ตัวเองพร้อมที่สุดในวันสอบครับ

วิชาชีวะเนื้อหาเยอะควรอ่านบ่อยๆ ทำสรุป และเน้นทำโจทย์

ชีวะเป็นวิชาที่เนื้อหาเยอะ ผมก็เลยเลือกที่จะเรียนและอ่านเรื่อยๆ มีทำสรุปบ้างบางบทที่คิดว่ายากเช่น genetics แต่ที่รู้สึกว่าที่จำชีวะได้ดีที่สุดสำหรับผมไม่ใช่การจำเนื้อหาหรือทำสรุป แต่คือการทำโจทย์วนไปเรื่อยๆ ถ้าจำโจทย์ได้แล้วก็ต้องอธิบายได้ด้วยว่าตัวเลือกที่ผิด ผิดเพราะอะไร หรือไม่ก็แตกความรู้จากข้อนั้นๆ ให้ได้มากที่สุด ซึ่งโจทย์ที่ทำก็มีตั้งแต่ในคอร์ส TCAS และไปซื้อจากข้างนอกมาทำเอง ผมรู้สึกว่าถ้าจะให้ดีก็ควรทั้งอ่านและทำโจทย์ควบคู่ไปเรื่อยๆครับ (อ่านให้แม่นระดับนึงแล้วทำโจทย์ อย่าเปิดอ่านแล้วทำไปด้วยนะครับ มันจะไม่ค่อยได้อะไร) ถ้าไม่รู้ว่าจะเริ่มเรียนจากตรงไหนดีก็เลือกบทที่ออกสอบเยอะที่สุดก็ได้ ไม่ก็เลือกบทที่ชอบก่อนก็ได้ครับจะได้มีกำลังใจติวมากขึ้น แต่ชีวะเป็นวิชาที่ผมคิดว่าไม่ควรจะอัดตอนท้ายๆ เพราะมันจะเยอะมาก อาจจะทำให้เครียดได้ แนะนำว่าให้อ่านและทำโจทย์ไปเรื่อยๆ ไม่ต้องอัดจะดีกว่าครับ

อยากฝึกทำโจทย์แบบใหม่ๆ จึงเลือกติวคอร์สตะลุยโจทย์ของอ.อุ้ย

เพราะผมได้ยินมาจากเพื่อนๆ หลายๆ คนที่เรียน ว่าอ.อุ้ยสอนดี เข้าใจง่าย เนื้อหาที่สอนคลอบคลุมหมด และที่สำคัญคืออ.อุ้ยคิดโจทย์เอง ผมก็เลยอยากลองทำโจทย์ในรูปแบบที่ไม่เคยเจอมาก่อนเพื่อที่จะทำให้ตัวเองพัฒนาขึ้นได้ สิ่งที่ผมชอบที่สุดในคอร์สนี้เลยก็คือแนวโจทย์ของอ.อุ้ยที่ไม่ซ้ำกับของใคร และอ.อุ้ยสามารถอธิบายทุกข้อได้ชัดเจน มีการแตกความรู้ในแต่ละข้อแล้วทำให้ผมได้มีการเชื่อมโยงความรู้ต่างๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งจุดนี้ทำให้ผมรู้สึกว่าจำชีวะได้มากและแม่นขึ้นจริงๆ และระยะเวลาในแต่ละคลิปมันพอดีๆ ไม่ได้สั้นไปแล้วก็ไม่ได้ยาวเกินจนเรียนเหนื่อย ผมก็เลยรู้สึกว่าเรียนได้เรื่อยๆ ไม่เบื่อเลยครับ

การตะลุยโจทย์สำคัญ ทำให้พิชิตคะแนนชีวะ 80 UP ได้ 

อย่างที่บอกไปครับ โจทย์สำคัญมากๆ ต้องทำจริงๆ ครับ ผมทำสรุปแค่บางบทเพราะส่วนตัวไม่ได้เป็นคนที่ทำสรุปเป็นประจำอยู่แล้ว ผมเน้นเก็บความรู้ยิบย่อยจากโจทย์ แต่ยังไงเนื้อหาหลักก็ควรทวนให้พอจำได้ระดับนึงนะครับ แล้วเสริมด้วยโจทย์อีกทีนึง ทีนี้น้องๆ จะรู้สึกได้เลยว่าได้นำความรู้ที่ได้อ่านมาใช้จริงๆ แล้วเราจะจำได้ดีขึ้นครับ คะแนนชีวะก็เป็นไปตามที่หวังครับ เพราะตอนแรกหวังไว้แค่เกิน 70 ก็ถือว่าโอเคแล้ว แต่ผลลัพธ์ออกมาดีกว่าที่คิดไว้ก็ประทับใจครับที่เราลงแรงแล้วได้ผล

ข้อสอบชีวะวิชาสามัญเป็นยังไง?

ข้อสอบปีนี้ก็ถือว่าวิเคราะห์มากกว่าปีก่อนๆ แต่ความรู้ที่ออกก็ค่อนไปทางพื้นฐาน ไม่ได้ลึกไปหรือตื้นไป ซึ่งบางคนที่ชอบวิเคราะห์ก็อาจจะคิดว่าง่ายกว่าปีก่อนๆ แต่บางคนที่ถนัดเป็นแนวจำก็อาจจะพูดว่ายากกว่าก็ได้ แต่สำหรับผม ผมคิดว่ามันก็กลางๆ ไม่ยากไม่ง่าย  แต่ความรู้ต้องมีครอบคลุมทุกบทแต่ไม่จำเป็นต้องลึกครับ แล้วข้อสอบก็ออกอิงจากหนังสือสสวท.ด้วย ตัวอย่างเช่น ข้อสอบเรื่อง  taxonomy ที่นำ Dichotomous key มาถามแล้วให้เราตอบ อันนี้ก็เป็นการถามเพื่อวัดว่าเราใช้ Dichotomous key ได้มั้ย

แนะนำการเตรียมสอบชีวะให้น้องๆ หน่อยค่ะ

ถ้าจะเตรียมสอบชีวะก็ไม่ควรเป็นการอัดช่วงท้ายๆ ควรจะอ่านสะสมไปเรื่อยๆ มากกว่าเหมือนไทย สังคม อังกฤษ ทำโจทย์ให้สม่ำเสมอ อาจจะทำในคอร์สให้หมดและถ้าจะให้ดีก็ไปซื้อมาทำเพิ่มก็ได้ แต่โจทย์ที่มีการประยุกต์อาจจะยังมีไม่ค่อยเยอะ เพราะฉะนั้นผมก็คิดว่าให้น้องๆ ทำโจทย์ที่มีอยู่ตอนนี้หรือแนวเก่าๆ ให้ได้มากๆ เพราะว่ามันจะทำให้พื้นฐานน้องแข็งแรง และเวลาไปทำโจทย์ประยุกต์ก็จะไม่ต้องเสียเวลาเยอะ ส่วนข้อสอบเก่าก็ต้องทำ แน่นอนว่าข้อสอบเก่าก็จะมีบ้างที่ไปปรากฏให้น้องเห็นในโจทย์ตามคอร์สที่แบ่งเป็นเรื่องๆ แต่ยังไงข้อสอบเก่าที่เป็นชุดๆ น้องก็ควรเอามาทำอยู่ดีครับถึงจะเคยเห็นมาบ้างแล้ว เพราะเวลาทำข้อสอบเก่าทุกบทมันจะคละกันทำให้เราได้ใช้ความคิดมากขึ้น ข้อสอบเก่าก็เอามาทำตอนช่วงตะลุยโจทย์ก็ได้นะครับ ส่วนบทที่ต้องเตรียมก็ต้องไปดู blueprint ของแต่ละปีนะครับว่าเค้าจะออกบทไหนบ้างและกี่ข้อต่อบทครับ

ชีวะสำคัญทั้งการสอบ TCAS และการก้าวไปเป็นเด็กแพทย์ในอนาคต

ถ้าอยากเรียนแพทย์ ชีวะจำเป็นครับแต่ก็แค่บางเรื่องเช่น ระบบต่างๆ ของมนุษย์กับพวกเรื่องเซลล์ แต่ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องลึกมากเพราะว่าเราจะได้มาเรียนใหม่อยู่แล้ว อย่างไรก็ตามมันก็จำเป็นมากๆ ที่จะต้องมีพื้นฐาน เพราะเวลาเรียนเราจะเรียนได้สบายมากขึ้นเพราะถึงจะได้เรียนใหม่ อาจารย์ก็จะพูดทวนแค่คร่าวๆ แล้วก็ลงรายละเอียดต่อเลย เพราะฉะนั้นถ้าพื้นฐานไม่ได้ก็อาจจะทำให้เรียนยากขึ้นได้ ส่วนวิชาชีวะในความเห็นผมก็ต้องบอกว่าไม่ควรทิ้งครับ เพราะมันจะมีโอกาสเป็นตัวที่ฉุดเราลงได้ สามารถเปลี่ยนผลลัพธ์จากติดเป็นไม่ติดได้เลย แต่ถ้ารู้สึกว่าไม่ค่อยไหวกับชีวะเท่าไหร่ก็พยายามให้มันไม่ฉุดก็ได้ครับ ชีวะเก็บคะแนนได้ก็เป็นตัวช่วยที่ดีแต่ถ้าไม่อยากทุ่มให้กับมันขนาดนั้น ก็ควรพยุงไว้อย่าให้มันฉุดคะแนนรวมของเราครับ

เทคนิคการเรียนออนไลน์ที่ดีต้องมี Dedline การเรียนที่ชัดเจน

ผมไม่ได้แบ่งตารางเวลาชัดเจน แต่แบ่งคร่าวมาก แบ่งวันต่อวัน เช่นครึ่งเช้าวิชานึง บ่ายวิชานึง เย็นวิชานึง ประมาณนี้ครับ ส่วนใหญ่อย่างที่บอกในช่วงเปิดเทอมออนไลน์ก็เรียนวันละแค่นิดหน่อยประมาณ 2-4 ชั่วโมงหลังเลิกเรียน ส่วนวันหยุดกับปิดเทอมก็วันละ 7-8 ชั่วโมง แต่ช่วงแรกๆ ก็อาจจะน้อยหน่อย วันละประมาณ 4-5 ชั่วโมง อาจจะดูเยอะแต่มันก็เป็นการอ่านสลับกับพักไปเรื่อยๆ ก็เลยรู้สึกไม่เครียดเท่าไหร่ครับ แล้วก็ทำแบบนี้ทุกวัน ไม่ได้แบ่งว่าวันไหนอ่านวันไหนพักเพราะพักตลอดอยู่แล้ว ส่วนแต่ละคอร์สอันนี้จำไม่ได้จริงๆ ว่าใช้เวลาไปเท่าไหร่เพราะเนื้อหาแต่ละวิชาไม่เท่ากัน แต่ว่าคอร์สเนื้อหาทุกคอร์สจบทันเดดไลน์ที่ตั้งไว้ก็คือก่อนเดือนธันวาคม (เริ่มตอนมีนา-เมษา)

อยากให้ฝากถึงน้องๆ ที่กำลังเตรียมตัวสอบหน่อยค่ะ

สู้ๆ นะครับทุกคน ช่วงเวลานี้สำคัญกับน้องมากจริงๆ น้องๆ อาจจะเครียด บางคนก็อาจจะเครียดมากๆ แต่อย่ากดดันตัวเองมากจนเกินไป ถ้ากำลังใจน้องมา น้องทำได้แน่นอนครับ บางทีน้องอาจจะรู้สึกไม่มั่นใจว่าสิ่งที่น้องกำลังทุ่มเทให้อยู่มันจะเกิดขึ้นจริงมั้ย แต่เชื่อเถอะครับถ้าน้องทำมันต่อไปซักวันเราจะต้องสมหวังแน่นอนครับ พี่เข้าใจมากๆ ว่ามันรู้สึกยังไง แต่พี่ก็ไม่เคยยอมแพ้ เคยลองทำข้อสอบคะแนนออกมาแย่แล้วแย่อีก อ่านหนังสือบางบทให้ตายยังไงก็ไม่เข้าใจ แต่พี่ก็ก้มหน้าก้มตาทำตามแผนของพี่ต่อไปและเชื่อว่ามันจะดีขึ้นจนเราทำมันสำเร็จได้จริงๆ เรื่องกำลังใจสำคัญแล้ว กำลังกายก็เช่นกันครับ พักผ่อนให้มากๆนะครับ ในทุกๆ วันโดยเฉพาะในวันสอบสุขภาพสำคัญมากๆ อย่ามองข้ามเรื่องนี้เด็ดขาดนะครับ  สู้ๆ อีกรอบครับน้องๆ พี่เป็นกำลังใจให้จริงๆ ขอให้สมหวังทุกคนนะครับ


สำหรับน้องๆ ที่อยากเป็นเด็กแพทย์และอยากพิชิตคะแนนชีวะให้ได้สูงๆ สามารถนำเทคนิคจากพี่ธีไปใช้ได้เลยนะคะ

และสำหรับน้องๆ ที่อยากเพิ่มความมั่นใจในการสอบชีวะสามารถสมัครติวออนไลน์กับ อ.อุ้ย ดร.ศุภณัฐ ไพโรหกุล ได้เลย คอร์สพิชิต TCAS ชีวะ – สรุปเนื้อหา A-Level  คอร์สนี้จะสรุปเนื้อหาชีวะ ม.ปลาย ตามหลักสูตรใหม่ สสวท. 60 ไว้ทั้งหมด ครอบคลุมทุกการสอบของ TCAS เนื้อหาอธิบายละเอียด กระชับ มีภาพประกอบ ตาราง และแผนผังต่างๆ ทำให้เข้าใจได้ง่าย พร้อมสรุปเป็นคอนเซ็ปต์สั้นๆ จบได้ภายใน 10 นาที

นอกจากนี้ยังมี คอร์สพิชิต TCAS ชีวะ – ตะลุยโจทย์ A-Level ตะลุยโจทย์ คอร์สนี้นอกจากน้องๆ จะได้ตะลุยโจทย์ชีวะ แนวข้อสอบออกใหม่ 625 ข้อแล้ว อ.อุ้ยยังเฉลยละเอียดจัดเต็ม ไม่มีข้าม เพื่อให้น้องๆ ได้ทบทวน เรียนรู้เทคนิคการทำโจทย์แบบต่างๆ และฝึกทำข้อสอบก่อนลงสนามจริงด้วย

น้องๆ ที่สนใจอยากติวออนไลน์กับ Dek-D School สามารถปรึกษาพี่ๆ เพิ่มเติมได้ที่ Line @SchoolDekD หรือ ติดตามข้อมูลข่าวสาร และเทคนิคการติวต่างๆ เพิ่มเติม ได้ที่ Facebook Dek-D School เลยนะคะ

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular

Recent Comments